วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เทคนิคการใช้ Mind Map ถอดบทเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ

Mind Map คือ เครื่องมือในการจัดระบบความคิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและเรียบง่ายที่สุด ที่จะใช้ในการถอดบทเรียนของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ซึ่งมีข้อมูลมากมายมหาศาล แต่สามารถย่อมาให้อยู่ภายในหนึ่งหน้ากระดาษได้ ผมทำมาหลายครั้งหลายหนรู้สึกว่าได้ผลดี จึงอยากนำมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ครับ...

เทคนิคการใช้ Mind Map ถอดบทเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของผมมีดังนี้

1. เริ่มจากกลางหน้ากระดาษฟลิปชาร์ทที่วางตามแนวนอน ทำไมต้องเริ่มกลางหน้ากระดาษ เพราะว่าการเริ่มต้นที่จากตรงกลางหน้า ช่วยให้สมองของเรามีอิสระในการคิดแผ่ขยายแขนงกิ่งออกไปได้ทุกทิศทุกทาง

2. ใช้รูปภาพหรือสัญลักษณ์ แทนข้อหัวเรื่องที่เป็นแกนกลางของเรื่องที่เรากำลังคิด เช่น หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบบ้านดอนทอง เป็นต้น เพราะภาพใช้อธิบายแทนความหมายได้เป็นพันคำและยังช่วยให้เราได้ใช้จินตนาการมากขึ้นด้วย

3. ใช้สีสันให้ทั่วทั้งแผ่น เพราะสีสันช่วยเร้าอารมณ์ให้รู้สึกสนุกสนาน เพิ่มชีวิตชีวาให้กับ Mind Map และยังช่วยเพิ่มหลังความคิดสร้างสรรค์ให้เราอีกด้วย

4. เชื่อมโยง “กิ่งแกน” เข้ากับ “หัวเรื่อง” แล้วเชื่อมความคิดย่อย ๆ แตกต่อออกจาก “กิ่งแกน” เป็น “กิ่งแขนง” เป็นขั้นที่ 2 และ 3 ออกไปตามลำดับ เพราะสมองของเราทำงานด้วยการเชื่อมโยงความคิด จะทำให้เราเข้าใจและจดจำง่ายขึ้น

5. วาดกิ่งให้มีลักษณะเส้นโค้ง แทนที่จะเป็นเส้นตรง เพราะเส้นโค้งจะดูเป็นธรรมชาติ ช่วยดึงดูดสายตามากขึ้น

6. ใช้คำหรือประเด็นสำคัญต่อหนึ่งกิ่งเท่านั้น เพราะคำสำคัญที่กินใจความทั้งหมดเพียงคำเดียว จะทำให้ Mind Map ของเรามีพลังและมีความยืดหยุ่นมากกว่า ยิ่งใช้คำสำคัญสั้นมากเท่าใด ยิ่งมีอิสระในการแตกแขนงกิ่งย่อยออกไปได้มากยิ่งขึ้น

7. ใช้รูปภาพประกอบให้ทั่วทั้ง Mind Map เพราะภาพมีความหมายเท่ากับการบันทึกคำพันคำ

8. หัวข้อที่จะใช้เขียนกับกิ่งแกนเพื่อถอดบทเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ได้แก่ กิจกรรม ,สิ่งที่ทำได้ดี ,สิ่งที่ทำได้ไม่ดี ,สิ่งที่ยังไม่ได้ทำ ,สิ่งที่จะทำต่อไป ,ปัญหาอุปสรรค ,ข้อแนะนำ และแหล่งเรียนรู้ เพราะหัวข้อเหล่านี้คือบทเรียนวิธีการพัฒนาของหมู่บ้าน

9. ถ่ายภาพ Mind Map ของเราด้วยกล้องดิจิตอล โดยใช้โหมดถ่ายภาพระยะใกล้ เพราะจะได้ภาพที่ชัดเจน นำไปพิมพ์ลงในกระดาษขนาด เอ 4 ใช้งานได้สะดวก

เพียงเท่านี้เราก็ถอดบทเรียนวิธีการพัฒนาของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบได้โดยสมบูรณ์แบบ ทำให้มองเห็นภาพรวมของการทำงานทั้งหมด แถมยังมีเครื่องมือสื่อสารและนำเสนอที่มีประสิทธิภาพด้วย

นายสุรเดช วรรณศิริ
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากๆค่ะ กำลังหาข้อมูลเพื่อจะำไปถอดบทเรียนหมู่บ้านศกพ.พอดีเลยค่ะ

    ตอบลบ