ในการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มีหลายกิจกรรมที่จะต้องดำเนินการ โดยกิจกรรมแรกที่จะต้องทำคือ การคัดเลือกครัวเรือนเป้าหมายเพื่อเข้าร่วมโครงการจำนวน ๓๐ ครัวเรือน ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นกังวลและคิดไปต่าง ๆ นา ๆ ว่าจะหาครัวเรือนมาเข้าร่วมโครงการนี้อย่างไรดี ชาวบ้านยินดีจะร่วมกิจกรรมโครงการนี้กับเราหรือเปล่า และจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งครัวเรือนเป้าหมาย จากที่ข้าพเจ้าได้รับการฝึกอบรมนักพัฒนาชุมชนก่อนประจำการ จำได้ว่ามีการพูดถึงวิธีที่จะทำให้เราทำงานได้ง่ายและประสบผลสำเร็จ คือจะต้องรู้จักผู้นำของชุมชน และสร้างความคุ้นเคย รวมทั้งการศึกษาชุมชนที่เราจะลงไปปฏิบัติงานว่าเป็นอย่างไร
จากนั้นข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่เพื่อพบผู้นำ คือผู้ใหญ่บ้านเสน่ห์ ฤทธิ์ขจร ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านของหมู่ที่ ๑ บ้านหมู่ใหญ่ ที่จะทำโครงการนี้ เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการนี้ทั้งหมด และขอคำแนะนำและหารือกับผู้ใหญ่เรื่องการคัดเลือกครัวเรือนเป้าหมาย ซึ่งผู้ใหญ่แจ้งว่าจะมีการประชุมหมู่บ้านในไม่กี่วันนี้ ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสนี้เพื่อพบปะกับชาวบ้านและแนะนำตนเอง รวมทั้งชี้แจงรายละเอียดของโครงการทั้งหมดให้ชาวบ้านรับทราบและทำความเข้าใจ ซึ่งมีชาวบ้านสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ครบตามจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ
หลังจากที่ได้รายชื่อครัวเรือนเป้าหมายมาแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ติดต่อประสานงานกับทางผู้ใหญ่บ้านเพื่อขอความช่วยเหลือให้ผู้ใหญ่พาลงพื้นที่ไปยังบ้านของครัวเรือนเป้าหมายทั้ง ๓๐ ครัวเรือน ซึ่งผู้ใหญ่ก็ได้มอบหมายให้ทางน้องบี นางสาวบริสุทธิ์ วงษ์ภักดี ซึ่งเป็นเลขาฯ ผู้ใหญ่ พาข้าพเจ้าลงพื้นที่ในครั้งนี้ ซึ่งน้องบีก็จะคอยช่วยเหลือและแนะนำ รวมทั้งบอกรายละเอียดข้อมูลของหมู่บ้านแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจผู้นำของหมู่บ้านนี้รวมทั้งชาวบ้าน ซึ่งมีความเป็นกันเองและพร้อมจะให้ความร่วมมือในการร่วมกิจกรรมของโครงการ เมื่อข้าพเจ้าได้รู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับครัวเรือนเป้าหมายแล้ว หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็เริ่มดำเนินกิจกรรมตามโครงการ
กิจกรรมแรกที่จะต้องทำคือ กิจกรรมส่งเสริมครอบครัวพัฒนา ให้เรียนรู้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งข้าพเจ้าได้ประสานกับผู้ใหญ่บ้าน เพื่อแจ้งให้ครัวเรือนเป้าหมายได้รับทราบและเข้าร่วมกิจกรรม โดยน้องบีจะเป็นผู้ติดต่อประสานงานโดยออกหนังสือแจ้งครัวเรือนเป้าหมายให้รับทราบและเข้าร่วมกิจกรรม กิจกรรมแรกที่ดำเนินการข้าพเจ้าได้รับความร่วมมือจากครัวเรือนเป้าหมายเป็นอย่างดี
กิจกรรมที่ ๒ ก็คือการศึกษาดูงาน ซึ่งอำเภอบางคล้าได้พาครัวเรือนเป้าหมายศึกษาดูงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ณ บ้านคลองตะเคียนชัย ตำบลทุ่งมหาเจริญ และ บ้านเขาดิน ตำบลคลองหาด ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ ที่จะทำให้ครัวเรือนเป้าหมายมองเห็นภาพโครงการนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งครัวเรือนเป้าหมายมีความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ในแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อไว้บริโภค เหลือจากบริโภคก็เอาไปขาย โดยมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ข้าพเจ้าติดตามไปกลับกลุ่มครัวเรือนเป้าหมายในหมู่บ้านที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบ ทุก ๆ จุดที่ไปศึกษาดูงาน ซึ่งสัมผัสได้ว่าพวกเขามีความสนใจ และพูดกันตลอดว่าจะนำกลับไปทำที่หมู่บ้านของเราบ้าง
กิจกรรมที่ ๓ เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ตนเองและกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การจัดทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งจากการสอบถามดูมีหลายครัวเรือนทำอยู่แล้วเป็นปกติ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะทำให้พวกเขารับทราบรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือน เสร็จสิ้นกิจกรรมนี้ข้าพเจ้าก็ได้ลงไปติดตามการจัดทำบัญชีครัวเรือนของครัวเรือนเป้าหมาย และให้คำแนะนำแก่ครัวเรือนในเรื่องการจัดทำบัญชีเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
กิจกรรมที่ ๔ ที่ดำเนินการคือกิจกรรมสาธิตการดำรงชีวิตแบบพอเพียง กิจกรรมสาธิตที่จัดได้แก่การเพาะเห็ดฟาง การทำสมุนไพรหอม น้ำยาล้างจาน แชมพูสระผม และครีมนวดผม การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ครัวเรือนเป้าหมาย มีความสนใจเป็นพิเศษ เพราะบางคนบอกว่าไม่เคยทำ อยากจะรู้ว่ามีวิธีการทำอย่างไร เช่นการเพาะเห็ดฟาง จะได้นำไปทำใช้บริโภค เพื่อลดรายจ่ายของครัวเรือนได้ในอนาคต หลังจากได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามโครงการ ส่วนใหญ่ข้าพเจ้าก็จะลงไปติดตามผล ณ บ้านของครัวเรือนเป้าหมาย ว่าเป็นอย่างไรบ้าง คอยสอบถามว่า มีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อจะได้รับทราบข้อมูล และร่วมกันช่วยปรับปรุงแก้ไขต่อไป
กิจกรรมที่ ๕ ที่ดำเนินการคือกิจกรรมเสริมสร้างระบบการบริหารจัดการชุมชน และการเรียนรู้การพัฒนาประชาธิปไตย เพื่อให้ครัวเรือนเป้าหมายได้รู้ถึงบทบาท สิทธิ หน้าที่ตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และกิจกรรมเสริมสร้างระบบการบริหารจัดการชุมชน และกิจกรรมสุดท้ายคือการถอดบทเรียน วิธีการปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ “พออยู่ พอกิน” ซึ่งในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการได้ดำเนินไปทุกกิจกรรมแล้ว วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้มีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาหมู่บ้าน และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนด้วยการพึ่งตนเอง และสามารถดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
สรุป
โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เป็นโครงการที่มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาหมู่บ้านให้มีระบบบริหารจัดการชุมชน โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน หากชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ โดยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างยั่งยืน
นางสาวสุวัฒนา คงสีพันธ์
นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางคล้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น