วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กิจกรรมทางเลือกด้านอาชีพหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านสามกอ

การสนับสนุนกิจกรรมทางเลือกด้านอาชีพแก่หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ในพื้นที่ขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านสามกอ หมู่ที่ 2 ตำบลสิบเอ็ดศอก อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีครัวเรือน จำนวน 74 ครัวเรือน สมัครใจเข้าร่วมโครงการ เป็นครัวเรือนต้นแบบในการพัฒนา มีนายมาโนช บุญเพ็ง เป็นผู้ใหญ่บ้าน และแกนนำรวมอีก 14 คนที่คัดเลือกขึ้นมา เป็นผู้ประสานงานดูแลช่วยเหลือในการดำเนินงานขยายผล ครัวเรือนต้นแบบทั้ง 74 ครัวเรือน มีอาชีพหลักด้านเกษตรกรรม และผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ที่มีความสนใจ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนา เป็นผู้ที่มีความสามารถในการประสานงานขอรับงบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

จึงทำให้การพัฒนาหมู่บ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินไปด้วยความราบรื่น และครัวเรือนต้นแบบก็พร้อมที่จะพัฒนาตนเอง ครอบครัว และชุมชน ไปด้วยเช่นกัน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ปรากฏว่า บ้านสามกอ หมู่ที่ 2 ตำบลสิบเอ็ดศอก ได้มีการพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบขยายตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยดำเนินการในกิจกรรม ดังนี้

กิจกรรมที่ 1 จังหวัดดำเนินการประชุมชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการการสนับสนุนกิจกรรมทางเลือกด้านอาชีพแก่หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ในพื้นที่ ขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
กิจกรรมที่ 2
เป็นการศึกษาดูงานลุ่มน้ำบางปะกง และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์พัฒนาเขาหินซ้อน เพื่อให้เกิดจิตสำนึกการอนุรักษ์ลุ่มน้ำบางปะกง และการพัฒนาอาชีพ

กิจกรรมที่ 3
3.1 เป็นกิจกรรมเรียนรู้ตนเอง
และกำหนดเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิต กำหนดอาชีพทางเลือกของตนเอง เพื่อที่จะทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ครัวเรือนทั้ง 74 ครัวเรือน ได้สรุปผลที่ได้จากการไปศึกษาดูงาน และดำเนินการจัดทำแผนชีวิต พิชิตความจน สิ่งที่ได้จากการศึกษาดูงาน คือ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเรียนรู้ และการพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3.2 สนับสนุนอาชีพทางเลือกแก่ครัวเรือนเป้าหมาย โดยดูศักยภาพและความสามารถของตนเองในการประกอบอาชีพ และเสนอความต้องการที่จะมีอาชีพเสริม ครัวเรือนเป้าหมายได้เสนออาชีพตามความถนัดของตนเอง ดังนี้ เลี้ยงปลาดุก ปลาเบญจพันธุ์ เลี้ยงกบ เลี้ยงเป็ดไข่ เลี้ยงไก่ไข่ สนับสนุนเครื่องมือช่าง อุปกรณ์ค้าขาย อุปกรณ์คัดแยกพลาสติก(อาชีพ ซื้อ-ขายของเก่า ปลูกไม้ผล พืชผักสวนครัว เป็นอาชีพผสมผสานในครัวเรือนเดียวกัน ความต้องการของครัวเรือนต้นแบบดังกล่าว ครัวเรือนต้นแบบได้ประมาณการไว้ว่าจะสามารถลดรายจ่ายได้ครัวเรือนละประมาณ 500 บาท/เดือน และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนประมาณ 1000 บาท/เดือน

3.3 งบประมานที่ได้รับจากกลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัด จำนวน 730,000 บาท แยกเป็นสนับสนุนอาชีพทางเลือก จำนวน 570,000 บาท และปรับปรุงภูมิทัศน์ จำนวน 160,000 บาท

บันทึกขุมความรู้ (knowledge)
การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ได้ดำเนินการดังนี้
1. ประสานภาคีพัฒนา เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อวางแผนในการดำเนินงาน แบ่งความรับผิดชอบในการดำเนินงาน
2. คณะกรรมการแต่ละกิจกรรม ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ กำหนดแนวทางการพัฒนากิจกรรม แบ่งความรับผิดชอบในการพัฒนากิจกรรม
3. ภาคีพัฒนาร่วมให้คำปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินกิจกรรมแต่ละกิจกรรม
4. ส่งเสริม สนับสนุนในการขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกับภาคีพัฒนา ทั้งในด้านวิชาการ และงบประมาณ
5. นำผลการขับเคลื่อนกิจกรรมมาพูดคุยเพื่อสรุปบทเรียน

แก่นความรู้ (core competency)
1. การทำงาน ต้องใช้กระบวนการพัฒนาชุมชน
2. การสร้างทีมงาน ซึ่งเป็นทีมบูรณาการ จะสามารถเสริมสร้างศักยภาพในการ ทำงานและช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงได้ทั้งด้านวิชาการและงบประมาณ เป็นการระดมกำลังในการทำงานทั้งในภาครัฐ เอกชน และชุมชน
3. การกำหนดแนวทางในการพัฒนาหมู่บ้าน ครัวเรือน ครัวเรือนต้นแบบและผู้นำ ชุมชนจะต้องร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ จึงจะแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

กลยุทธ์ในการทำงาน
1. ใช้หลักการ การมีส่วนร่วม และหลักการพัฒนาชุมชนทุกขั้นตอน
2. การทำงานเป็นทีม และบูรณาการการทำงาน จะปรากฏผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน และสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง
3. ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการทำงาน
4. สร้างกระบวนการ / กลไกในการทำงานทุกระดับ มีผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนกิจกรรม

กฎระเบียบ / แนวคิด / ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
1. หลักการ / แนวคิด / วิธีการพัฒนาชุมชน
2. หลักการสร้างทีมงานและบูรณาการการทำงาน
3. หลักการพัฒนากลไก / สร้างระบบในการทำงาน / การสนับสนุนการทำงาน

นางกาญจนา ประสพศิลป์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบ้านโพธิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น