ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการบริหารและการใช้จ่ายเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ตามมติเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ จำนวน ๑๑,๖๐๘ หมู่บ้าน และเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐ จำนวน ๒๘,๐๓๘ หมู่บ้าน รวม ๓๙,๖๔๖ หมู่บ้าน เพื่อกระจายโอกาสให้คนยากจนในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ให้มีแหล่งเงินทุนในระดับหมู่บ้าน สำหรับยืมไปประกอบอาชีพ หรือขยายกิจการในอาชีพของตน เพื่อเพิ่มรายได้ให้พ้นเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น [๑]
การยืมและคืนเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน
๑. ครัวเรือนเป้าหมายเสนอโครงการ ขอยืมเงินทุน ทำสัญญายืมเงิน กรอกแบบรับเงินยืม และคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน ประชุมและอนุมัติเงินยืม ภายในเวลา ๑-๒ วัน
๒. ตัวแทนคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน นำเอกสารการยืมเงินของครัวเรือนเป้าหมาย เสนอต่อพัฒนากรประจำตำบล พร้อมแนบรายงานการประชุม รายชื่อและเลขที่บัญชีของครัวเรือนเป้าหมาย และสำเนาบัญชี กข.คจ. หมู่บ้าน ที่ปรับรายการปัจจุบัน
๓. พัฒนากรประจำตำบล ตรวจสอบความเป็นไปได้ของโครงการ และวงเงินขอยืมแต่ละรายและยอดรวมทั้งหมด
๔. พัฒนากรประจำตำบล เสนอพัฒนาการอำเภอ เพื่อออกหนังสือนำส่งให้ธนาคารโอนเงินจากบัญชีธนาคาร กข.คจ. หมู่บ้าน เข้าบัญชีธนาคารครัวเรือนเป้าหมายที่ต้องการยืมเงิน
๕. เมื่อครบกำหนดสัญญายืมเงิน โดยปกติระยะเวลา ๑ ปี คณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน นัดประชุมเพื่อให้ครัวเรือนเป้าหมายชำระเงินที่ธนาคารโดยตรง หรือผ่านตัวแทนของคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน ซึ่งมีการมอบแบบรับคืนเงินยืมไว้เป็นหลักฐาน ในวันเดียวกันนี้อาจมีการเสนอโครงการ ขอยืมเงินทุน ทำสัญญายืมเงิน กรอกแบบรับเงินยืม และคณะกรรมการ กข.ตจ. หมู่บ้าน ประชุมและอนุมัติเงินยืม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนครัวเรือนเป้าหมาย
ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากกระบวนการยืมและคืนเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน
๑. การกรอกเอกสารหลักฐานการยืมเงินค่อนข้างมาก เนื่องจากประกอบด้วย แบบเสนอโครงการ แบบขอยืมเงินทุน แบบสัญญายืมเงินทุน แบบรับเงินยืม และแบบรับคืนเงินยืม ซึ่งมีข้อความซ้ำซ้อนในแต่ละแบบฟอร์มเป็นจำนวนมาก เช่น ชื่อผู้ยืมเงิน ชื่อที่อยู่ เป็นต้น อีกทั้งครัวเรือนเป้าหมายบางครัวเรือนไม่สะดวกที่จะเขียนหนังสือ จึงทำให้การดำเนินงานต่างๆ ค่อนข้างล่าช้า
๒. การอนุมัติหรือไม่อนุมัติเงินยืมตามระเบียบฯ ยังไม่แน่นอน โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน
๓. การเสนอโครงการ การอนุมัติเงินยืม และทำสัญญายืมเงิน เป็นไปอย่างรวดเร็ว จนอาจทำให้การดำเนินงานของโครงการไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด
๔. เนื่องจากข้อมูลการยืมเงินของครัวเรือนเป้าหมายไม่ได้จัดเก็บอย่างเป็นระบบ จึงทำให้การรวบรวมข้อมูล เพื่อสรุปผลการดำเนินงานโครงการบางครั้งขาดช่วง
แนวทางการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน
๑. ลงทะเบียนครัวเรือนเป้าหมายด้วยฐานข้อมูลในระบบออนไลด์ ระยะเวลา ๑ ปี
เอกสารแนบ ๑. แบบเสนอโครงการ ๒. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ๓. สำเนาทะเบียนบ้าน
ผลที่ได้เป็นบัญชีครัวเรือนเป้าหมายที่ขอลงทะเบียน อาจแยกเป็นกลุ่มตกเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน และพัฒนาคุณภาพชีวิต
หมายเหตุ หากสามารถนำฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรมาใช้ร่วมด้วยจะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และข้อมูลมีรายละเอียดของครัวเรือนมากขึ้น
๒. คณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน กำหนดวันนัดประชุมเพื่อทำสัญญายืมเงิน ซึ่งอาจเป็นวันเดียวกับการนัดคืนเงิน หรือประชุมใหญ่ก็ได้
๓. เนื่องจากระบบออนไลด์ที่ใช้ลงทะเบียนพัฒนากรประจำตำบลสามารถตรวจสอบความเป็นไปได้ของโครงการได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ
๔. ก่อนถึงกำหนดวันนัดประชุมเพื่อทำสัญญายืมเงิน จัดพิมพ์แบบขอยืมเงินทุน แบบสัญญายืมเงินทุน แบบรับเงินยืม และแบบรับคืนเงินยืม โดยใช้ฐานข้อมูลจากการลงทะเบียน ซึ่งจะลดระยะเวลาการเขียนข้อมูล
๕. คณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน นัดประชุมอนุมัติเงินยืม และอาจนัดให้ครัวเรือนเป้าหมายชำระเงินที่ธนาคารโดยตรง หรือผ่านตัวแทนของคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน ซึ่งมีการมอบแบบรับคืนเงินยืมไว้เป็นหลักฐาน
๖. พัฒนากรประจำตำบล เสนอพัฒนาการอำเภอ เพื่อออกหนังสือนำส่งให้ธนาคารโอนเงินจากบัญชีธนาคาร กข.คจ. หมู่บ้าน เข้าบัญชีธนาคารครัวเรือนเป้าหมายที่ต้องการยืมเงิน
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการเงินทุนชุมชน
ในการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการเงินทุนชุมชนนั้น ต้องการความถูกต้อง แม่นยำ มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้จริง และกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน มีความพึงพอใจในการใช้งาน ดังเช่นตัวอย่างงานวิจัยนี้
๑. การพัฒนาโปรแกรมการประมวลผลข้อมูลของสมาชิกกองทุนสวัสดิการมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามสามารถใช้งานได้ถูกต้องแม่นยำ และมีประสิทธิภาพ เนื่องจากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ที่มีต่อระบบที่พัฒนาขึ้นอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน (ค่าเฉลี่ย ๔.๗๒ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ๐.๐๔) และความคิดเห็นของผู้ใช้ระบบอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย ๔.๕๖ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ๐.๒๘) [๒]
๒. การพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต กรณีศึกษา กองทุนหมู่บ้านลูกค้าธนาคารออมสิน สาขาบางปะอิน โดยการนำระบบสารสนเทศเข้ามาจัดการร่วมกับระบบงานเดิมให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติโดยทำงานในรูปแบบของเว็บแอพพลิเคชั่น เพื่อให้ระบบสามารถทำงานได้สะดวก รวดเร็ว และลดข้อผิดพลาดในการทำงาน PHP และ ภาษา SQL และใช้ MySQL ในการจัดการฐานข้อมูล ผลการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญพบว่าได้ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๔๙ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ ๐.๔๙ ส่วนผลการประเมินจากผู้ใช้ทั่วไปพบว่าได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๒๕ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ ๐.๐๔ จากการประเมินความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างสามารถสรุปได้ว่า ระบบที่พัฒนาขึ้นมีความพึงพอใจในระดับดี สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง [๓]
๓. การพัฒนาระบบการจัดการบริหารกองทุนหมู่บ้านมะลูจรุง ซึ่งการพัฒนาระบบครั้งนี้ใช้ภาษา PHP เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและใช้ MySQL เป็นระบบฐานข้อมูล จากกระบวนการทดสอบความพึงพอใจ พบว่าความพึงพอใจด้านความสามารถในการทำงานของระบบจากผู้เชี่ยวชาญ มีค่าเฉลี่ย ๔.๒๔ จากผู้ใช้ระบบมีค่าเฉลี่ย ๔.๓๑ ความพึงพอใจด้านความถูกต้องในการทำงานของระบบจากผู้เชี่ยวชาญ มีค่าเฉลี่ย ๔.๒๔ จากผู้ใช้ระบบ มีค่าเฉลี่ย ๔.๔๐ ความพึงพอใจในด้านการใช้งานง่ายของระบบจากผู้เชี่ยวชาญ มีค่าเฉลี่ย ๔.๐๕ จากผู้ใช้ระบบ มีค่าเฉลี่ย ๔.๔๐ ความพึงพอใจด้านความปลอดภัยของระบบจากผู้เชี่ยวชาญ มีค่าเฉลี่ย ๓.๗๓ จากผู้ใช้ระบบ มีค่าเฉลี่ย ๔.๓๕ สรุปได้ว่าระบบมีการทำงานโดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับดี [๔]
สรุป
เมื่อมีการใช้ระบบสารสนเทศเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเงินทุนชุมชน ในกรณีที่นำเสนอเป็นโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนหนึ่งที่ใกล้ชิดประชาชนในหมู่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนแลละคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน แต่จำเป็นต้องทดสอบระบบสารสนเทศ ให้มีความถูกต้อง แม่นยำ มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้จริง และกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน มีความพึงพอใจในการใช้งาน หากมีการเชื่อมต่อ ระบบสารสนเทศอื่นๆ อีก เช่น กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนสวัสดิการต่างๆ ภายในชุมชน รายรับ-รายจ่ายครัวเรือน เมื่อนำมาวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูล จะสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาเป้าหมาย ในระดับครัวเรือน หมู่บ้าน ชุมชน และสังคม ซึ่งจะสะท้อนถึงระดับการพัฒนาของประเทศได้อีกทางหนึ่ง
เอกสารอ้างอิง
[๑] กระทรวงมหาดไทย. ๒๕๕๓. ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการบริหารและการใช้จ่ายเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. ๒๕๕๓. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๑๒๕ ง. หน้า ๑-๘.
[๒] ธีรยุทธ บุญมาธรรม, พิสุทธา อารีราษฎร์ และกัณหา รักษาวงค์. ๒๕๕๒. การพัฒนาระบบสารสนเทศกองทุนสวัสดิการมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม. The 5th National Conference on Computing and Information Technology (NCCIT 2009). หน้า ๕๒๑-๕๒๕.
[๓] ศิริพร มหาพรหมณ์ และทองพูล หีบไธสง. ๒๕๕๑. ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต กรณีศึกษา กองทุนหมู่บ้านลูกค้าธนาคารออมสินสาขาบางปะอิน. The 4th National Conference on Computing and Information Technology (NCCIT 2008). หน้า ๑๐๔-๑๑๐.
[๔] จุฑารัตน์ ทุนทอง. ๒๕๕๓. ระบบการจัดการบริหารกองทุนหมู่บ้านมะลูจรุง. ปริญญานิพนธ์ บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาระบบสารสนเทศ. คณะเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์. หน้าบทคัดย่อ.
นายชลิต นพรัตน์
นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอท่าตะเกียบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น