ในปัจจุบันได้มีกองทุนหมู่บ้านหลายกองทุน ที่ประสบกับปัญหาด้านการบริหารจัดการกองทุน ทำให้เกิดการชะงักงัน หรือแม้กระทั่งไม่สามารถดำเนินกิจกรรมของกองทุนต่อไปได้ ซึ่งปัญหาหนึ่งที่กองทุนหมู่บ้านส่วนใหญ่มักประสบ ก็คือ ปัญหาหนี้ค้างชำระ โดยสมาชิกที่กู้ยืมเงินไป เมื่อถึงกำหนดการชำระคืนเงิน ก็บิดพลิ้วไม่นำเงินมาชำระคืน สาเหตุเกิดจากการได้นำเงินกู้ยืมไปใช้จ่ายจนหมดสิ้นแล้ว โดยเงินที่นำไปใช้นั้นไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ตามมา เช่น นำไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือในกรณีที่มีการนำเงินไปลงทุน แต่ก็ประสบกับปัญหาการขาดทุน ทำให้ไม่มีเงินมาคืน อีกกรณีหนึ่งที่ทำให้สมาชิกไม่คืนเงินกู้ยืม ก็เนื่องจากการจงใจผิดสัญญา โดยเห็นตัวอย่างหรือลอกเลียนพฤติกรรมจากคนเก่าที่ไม่คืนเงินนั่นเอง
ในการติดตามหนี้ของคณะกรรมการ ก็ยังมีอุปสรรคอีกหลายๆด้าน เช่น ลูกหนี้ไม่อยู่ในพื้นที่แล้ว หรือกรณีที่ลูกหนี้เป็นขั้วการเมืองฝั่งตรงกันข้าม ทำให้ยากต่อการเจรจา หรือกรณีลูกหนี้เป็นเครือญาติ ทำให้เกิดความเกรงใจกัน หรือกรณีที่กรรมการไม่อยากติดตามหนี้ เนื่องด้วยคำนึงถึงฐานเสียงของตนในการที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นต่อไป หรือแม้กระทั่งในบางกองทุน คณะกรรมการกลับเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมไม่ชำระหนี้เสียเอง จึงไม่ใส่ใจที่จะติดตามหนี้ เมื่อคณะกรรมการเพิกเฉยแล้ว กองทุนก็ไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้
ทางแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระ ต้องเริ่มต้นจากการที่คณะกรรมการต้องเข้าใจปัญหา และเอาจริงเอาจังต่อการแก้ไขปัญหา โดยอาจจำแนกกลุ่มลูกหนี้ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1. กลุ่มลูกหนี้ที่มีฐานะยากจนหรือมีเหตุสุดวิสัยในการชำระเงินคืน และ 2.ลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระ แต่เจตนาไม่ชำระเงินคืน โดยในกลุ่มแรกนั้น คณะกรรมการอาจทำการเจรจาประนอมหนี้ โดยให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเงินคืนเป็นรายงวดตามความสามารถของแต่ละราย สำหรับกลุ่มที่สอง คณะกรรมการอาจส่งหนังสือเตือนให้ลูกหนี้ชำระเงินคืนภายในเวลาที่กำหนด เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ลูกหนี้ยังคงไม่ชำระ ก็ให้ประชุมคณะกรรมการเพื่อแต่งตั้งตัวแทนในการดำเนินการทางกฎหมายกับลูกหนี้นั้นๆต่อไป
นายสิทธิชัย ปาหุไณยกุล
นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางน้ำเปรี้ยว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น