วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตกับความเข้มแข็งของชุมชน

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นทุนชุมชน ที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนในชุมชนที่ต้องการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยการรวมเงินจากความสมัครใจฝากให้กับกลุ่ม เป็นจำนวนเท่ากันทุกเดือน เรียกว่าเงินฝากสัจจะ เมื่อกลุ่มรับฝากเงินจากสมาชิกได้จำนวนหนึ่งจะให้สมาชิกที่มีความจำเป็นต้องการเงินทุนไปประกอบอาชีพสามารถกู้เงินจากกลุ่มออมทรัพย์ได้ตามระเบียบของกลุ่ม โดยเสียดอกเบี้ยในอัตราที่กลุ่มกำหนด และเมื่อครบรอบปีกลุ่มจะจัดสรรกำไร และคืนเงินปันผลให้แก่สมาชิก รวมทั้งสวัสดิการแก่สมาชิกเมื่อกลุ่มมีผลกำไรมากขึ้น

จากที่กล่าวในข้างต้น เป็นการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยใช้เงินเป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน ส่งเสริม สนับสนุนให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ดังนี้

1. การบริหารจัดการให้กับคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในการดูแลเงินจำนวนมาก การหาวิธีและสร้างหลักเกณฑ์พิจารณาให้สมาชิกกู้ยืม โดยการบริหารที่เน้นการมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น การตัดสินใจ และรับผิดชอบ ตามระบอบประชาธิปไตย

2. พัฒนาคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ต่อกัน เสียสละเพื่อส่วนรวม ความรับผิดชอบความเห็นอกเห็นใจกัน และมีความไว้วางใจกัน ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ทำให้ชุมชนเกิดความสามัคคี อยู่รวมกันด้วยความสงบสุข เอื้ออาทรต่อกัน ทำให้ชุมชนน่าอยู่

3. เกิดความภาคภูมิใจและรู้สึกเป็นเจ้าของกองทุน เนื่องจากเงินทุนของกลุ่มเป็นเงินจากสมาชิกที่สะสมทีละเล็กละน้อยจนเป็นเงินกองทุนของชุมชนที่สามารถเป็นแหล่งทุนให้สมาชิกได้กู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และชุมชน นอกจากนี้ผลกำไรยังนำมาจัดสรรในส่วนของสาธารณประโยชน์ต่างๆ สมาชิกจึงมีความรู้สึกเป็นของเงินที่เป็นทุนของกลุ่ม และภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือเพื่อนบ้าน หรือคนในชุมชน

4. กู้ง่ายดอกเบี้ยถูกได้รับเงินปันผลคืน การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต นอกจากรับฝากเงินให้สมาชิก บริการของกลุ่มอีกด้านคือการให้กู้เงินแก่สมาชิกโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินกฎหมายกำหนด ร้อยละ 15 บาท/ปี หรืออาจน้อยกว่านี้ สมาชิกกู้ได้ง่าย ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ใช้เพียงสมาชิกในกลุ่มค้ำประกัน ตามระเบียบของกลุ่ม ดอกเบี้ยที่ได้จะคิดเป็นผลกำไรและจัดสรรปันผล และกิจกรรมอื่นๆ

5.เกิดกิจกรรมมากมาย นอกจากการรับฝากเงิน กู้ยืมเงิน จ่ายปันผลแล้ว กิจกรรมของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เมื่อกลุ่มมีเงินทุนเพิ่มขึ้น อาจกำหนดให้มีกิจกรรม เช่น การจัดสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล ทุนการศึกษา ฌาปนกิจสงเคราะห์ และกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งให้คณะกรรมการและสมาชิกโดยการอบรมหรือทัศนศึกษาดูงาน และนำมาปรับปรุงการดำเนินงานของกลุ่ม

6.พึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจและนำไปสู่การพึ่งตนเองด้านอื่นๆ ของชุมชน กล่าวคือ ชุมชนมีแหล่งเงินทุนที่สามารถให้บริการด้านการเงินแก่สมาชิก และผลกำไรจากกลุ่มสามารถนำไปจัดสรร เพื่อพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆได้ โดยไม่ต้องรองบประมาณ หรือการช่วยเหลือจากทางราชการ

การดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ในปัจจุบันจากผลกำไรสามารถนำไปจัดกิจกรรมมากมาย เช่น กิจการโรงสีข้าว น้ำดื่ม ลานตากข้าว สวัสดิการรักษาพยาบาล การศึกษา ผู้สูงอายุ เงินขวัญถุง ฝึกอบรมและศึกษาดูงาน และกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในชุมชน นำไปสู่ความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองของชุมชน

นางวินิจ บัวเจริญ
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น