วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผู้นำชุมชนคนเก่ง

ความสามารถของผู้นำชุมชน + พลังชุมชน
ปี พ.ศ. 2528 ขณะนั้นข้าพเจ้ารับราชการอยู่ในอำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ได้มีโอกาสได้รับรู้ความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งนำไปสู่ความร่วมแรงร่วมใจแก้ไขปัญหาของเขาเอง เพราะไม่อาจทนรอความช่วยเหลือจากทางราชการ ซึ่งไม่รู้ว่าโอกาสนั้นจะมาถึงเมื่อใด หรือจะไม่มีโอกาสเลย

ตำบลหนองโพรง เป็นตำบลขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก ส่วนใหญ่ของประชากรประกอบอาชีพทำการเกษตร ทำนา ไร่มันสำปะหลัง โดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เนื่องจากไม่มีระบบชลประทาน อาศัยได้เพียงคลองธรรมชาติ ซึ่งในฤดูฝนปริมาณน้ำมาก จะมีน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ทำการเกษตรในฤดูอื่น ๆ น้ำจะแห้งขอด ไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้ สภาตำบลหนองโพรง(ในขณะนั้น) ถือเป็นปัญหาสำคัญและมีความเร่งด่วนที่จะต้องหาทางแก้ไขปัญหา ได้ประสานขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ มาตลอด

แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุน มีเพียงเจ้าหน้าที่ชลประทานจังหวัด ส่งทีมสำรวจออกมาดูพื้นที่คำนวณค่าก่อสร้างว่าต้องสร้างคันคอนกรีตเพื่อกั้นน้ำ แต่ต้องมีการเปลี่ยนทางไหลของน้ำจากคลองธรรมชาติเดิม ไปสู่พื้นที่ซึ่งเป็นเนินดินสูงบริเวณใกล้เคียง เพื่อกักเก็บน้ำให้มากพอเพียงให้ใช้ทำการเกษตรได้ตลอดปี คำนวณว่าค่าก่อสร้างแล้วจะเป็นเงิน 7 ล้านบาทเศษ ในขณะนั้น แล้วก็เงียบหายไป เมื่อสอบถามไปก็ตอบว่าไม่มีงบประมาณ

กำนันตำบลหนองโพรง ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานสภาตำบลหนองโพรงอีกตำแหน่งหนึ่ง มีความเห็นว่า ถ้ายังรอการสนับสนุนจากภายนอก คงต้องรอต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาที่จะดำเนินการ เพราะที่ผ่านมาก็ได้พยายามประสานขอรับการสนับสนุน ทั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) หน่วยงานราชการต่าง ๆ มามากแล้ว คณะกรรมการสภาตำบล ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกำนันที่จะดำเนินการเนื่องจากมีความมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมาก แต่ก็เกรงกันว่าจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากงบประมาณที่สภาตำบลมีอยู่จากงบ กสช. มีน้อยไม่เพียงพอ

แต่กำนันขอให้ทุกคนมีความมั่นใจ ปรับเปลี่ยนทัศนคติความเชื่อของตนเองว่าถ้าเรามีความตั้งใจแน่วแน่ มีความมุ่งมั่น มีการหาข้อมูลรอบด้าน และวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบเราจะทำงานได้สำเร็จลุล่วง คณะกรรมการสภาตำบลมีมติที่จะดำเนินการกันเองโดยใช้งบประมาณจากโครงการสร้างงานในชนบทของตำบลปี พ.ศ. 2528 จำนวน 380,000 บาท เพื่อก่อสร้างฝายน้ำล้น ปัญหาที่ตามมาคือ ถ้าสร้างฝายน้ำล้นในคลองธรรมชาติจะกับเก็บน้ำได้น้อยเพราะคลองอยู่ในที่ต่ำ ถ้าไปสร้างฝายบนเนินดินต้องขุดคลองขึ้นใหม่ เพื่อกักเก็บน้ำให้มากขึ้นเพียงพอที่จะใช้ได้ตลอดทั้งปี การจะถมคลองเดิม ขุดลอกคลองสายใหม่ ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก งบ กสช. ของตำบลมีเพียง 380,000 บาท ก็ต้องใช้ในการก่อสร้างฝายน้ำล้น

ที่ประชุมสภาตำบลปรึกษากันแล้วมีความเห็นว่า ทุกคนต้องช่วยกันแสวงหาความร่วมมือจากทุกส่วนเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจากผู้นำ คหบดี ประชาชน ภาคเอกชนที่จะได้รับประโยชน์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ทำการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจรอบทิศทาง ผลที่ได้คือ ราษฎร ได้ระดมรถไถมาช่วยปรับแต่งพื้นที่จำนวนมากถึง 60 คัน ส่วนตัวฝายน้ำล้นก็ใช้จ่ายในส่วนของค่าวัสดุ ค่าแรงงานซึ่งใช้ฝีมือ ส่วนพวกลูกมือชาวบ้านเข้าร่วมโดยไม่คิดค่าแรง การร่วมแรงร่วมใจของผู้นำและราษฎร ดำเนินการอยู่ได้ราว 21 วัน ผลงานคืบหน้าไปได้ระดับหนึ่งไม่มากนัก เนื่องจากรถไถส่วนใหญ่สภาพเก่า

ผู้นำต้องออกประชาสัมพันธ์ เพื่อขอความร่วมมือกันอีกครั้ง โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายคือ บริษัทขนาดใหญ่ทางด้านการเกษตร เมื่อทางเอกชนเข้าใจเห็นความสำคัญของโครงการ และทางบริษัทเองก็เล็งเห็นประโยชน์ที่จะไดรับ จากข้อมูลของสภาตำบลในด้านปริมาณน้ำที่จะกักเก็บ พื้นที่ที่ได้ประโยชน์ก็ถึงพื้นที่ทำการเกษตรของบริษัทด้วย เริ่มส่งคนและเครื่องมือเข้าร่วมงาน รายใหญ่คือ บริษัทสวนกิตติ ส่งรถไถสภาพใหม่เอี่ยม 10 คัน รถตักดิน 2 คัน พร้อมพนักงานขับ และน้ำมันเข้าร่วมโดยไม่กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จ อีก 45วันต่อมา โครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นก็แล้วเสร็จสมบูรณ์ แถมได้สระน้ำขนาด 80 x 80 x 6 เมตร อีก 1 แห่ง บริเวณหน้าฝาย จากการบริจาคที่ดินของเกษตรกร และในเวลาต่อมาสถานที่แห่งนี้ยังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ ของคนในพื้นที่ คนพื้นที่ข้างเคียงซึ่งนำรายได้จากการค้าขายมาสู่ราษฎรอีกทางหนึ่ง

จากโอกาสที่น่าจะเป็นศูนย์มาสู่ความสำเร็จ เหตุผลสำคัญคือความมุ่งมัน ตั้งใจจริงของผู้นำ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านต่าง ๆ ที่จัดเตรียมการวางแผนดำเนินการที่รอบคอบรัดกุม ความสามารถในการประชาสัมพันธ์ คิดต่อ ประสานงาน ที่ร่วมด้วยช่วยกัน พัฒนาปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ทำให้สามารถดึงราษฎร ภาคเอกชน ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ตั้งแต่เริ่มจนสำเร็จเกิดเป้าหมาย

ขุมความรู้
-
การเป็นผู้นำ ต้องมีความกล้าหาญ กล้าที่จะรับผิดชอบ มีความมั่นใจในตนเองและทีมงาน

-
มีความพร้อม ที่จะนำการเปลี่ยนแปลง จากทัศนคติ หลักคิดแบบเดิม ๆ คือทำเท่าที่จะทำได้ ทำตามวงเงินที่มีอยู่ ไม่เปิดกว้างยอมรับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต้องเป็นคนหัวไว ใจสู้

-การเตรียมความพร้อม โดยศึกษาพื้นที่ แสวงหาข้อมูลว่า พื้นที่บริเวณก่อสร้างฝายน้ำล้มจะมีผลกระทบอะไรบ้างถ้ามีการก่อสร้าง พื้นที่ทำการเกษตรที่อยู่ข้างเคียงเป็นของใคร จำนวนเท่าใด พื้นที่ทำการเกษตรจะได้รับประโยชน์มีจำนวนเท่าใด มีใครได้รับประโยชน์บ้าง เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ แสวงหาซึ่งความร่วมมือ

- ยึดหลักการมีส่วนร่วม และสร้างความสัมพันธ์กับราษฎร ตลอดจนภาคเอกชน ชักชวนเข้าร่วมดำเนินการ โดยชี้แจงให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ โดยการเข้าถึงบุคคล กลุ่มบุคคลเป้าหมาย ตามข้อมูลที่มีอยู่


แก่นความรู้

- การสร้างความเชื่อมั่น ความมั่นใจ ต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับทีมงาน เพราะเป็นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่เป้าประสงค์ของทีมงาน

- การสื่อสาร ทำความเข้าใจ โดยนำข้อมูลที่จัดเก็บมาวิเคราะห์ และจัดทำแผนชี้แจงต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง บุคคลเป้าหมายที่ต้องการขอความร่วมมือ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าสื่อสานให้เห็นโอกาส ประโยชน์ ที่เขาจะได้รับชัดเจน ย่อมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

- การสร้างความไว้วางใจ ต้องชี้แจงทำความเข้าใจให้เห็นถึงความโปร่งใส ในการทำโครงการ การใช้เงินงบประมาณในแต่ละขั้นตอน เงินบริจาคสมทบค่าอาหาร ค่าน้ำมัน ที่ได้รับใช้ไปอย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้ร่วมโครงการทุกคนมีความสบายใจ

นายอนิรุธ ชาตะวราหะ
พัฒนาการอำเภอสนามชัยเขต
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสนามชัยเขต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น