การแก้ไขปัญหาเริ่มจากการตั้งสติ รับฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้น หาสาเหตุของปัญหา วิเคราะห์ปัญหา ทบทวนที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ความรุนแรงของเรื่องที่เกิด ผลที่เกิดขึ้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากปัญหายังไม่ยุติ แล้วจึงมารับฟังความต้องการของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร ถ้าจำเป็นให้มีกฎกติกาของการตกลงกัน ก็ให้มี เช่นให้พูดทีละคน และไม่ให้พูดแทรก ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ต้องใช้ไหวพริบ หากมีการโต้เถียงกันก็ให้ดูว่ามีแนวโน้มรุนแรงหรือไม่ ถ้าไม่รุนแรง บางครั้งอารมณ์ขัน...ช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้..และทำให้เราไม่รู้สึกเครียด
เคยเจอเหตุการณ์หนึ่ง พัฒนาการอำเภอ ได้เชิญดิฉันไปร่วมประชุมคณะกรรมการกองทุน กข.คจ. และครัวเรือนเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการไม่ส่งเงินชำระหนี้กองทุน กข.คจ. เมื่อไปประชุมและทราบว่าผู้ใหญ่บ้านยืมเองและเมื่อถึงกำหนดไม่ส่งเงิน และบอกชาวบ้านว่าไม่ต้องส่ง ระหว่างนั้นมีการโต้เถียงกันระหว่างผู้ใหญ่บ้านกับชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้านคุมสติไม่อยู่และใช้วาจาไม่สุภาพ เรียกว่าแจกกล้วยชาวบ้าน นั่นแหละ...ดิฉันและพัฒนาการอำเภอนั่งฟังอยู่ด้วย...ตอนแรกก็รู้สึกตกใจ แต่ต้องตั้งสติและช่วยกันบอกให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ ค่อยพูดกัน และบอกผู้ใหญ่บ้านว่า...หนูยังโสดผู้ใหญ่ไม่ต้องให้หนูค่ะ.... ชาวบ้านได้ยินทุกคนก็หัวเราะบรรยากาศก็ดีขึ้น ผู้ใหญ่ฯ ขอโทษดิฉัน และขอโทษลูกบ้านที่คุมสติไม่อยู่ และชี้ให้เห็นว่าทุกหมู่บ้านในอำเภอนี้ไม่มีปัญหาหนี้ค้างชำระ ทุกคนมีเงินพอชำระ...แล้วเราจะทำให้เสียชื่อหมู่บ้านเราหรือ.....ทุกคนลงมติว่าจะนำเงินมาคืน
การแก้ปัญหา ต้องมีความเชื่อก่อนว่าทุกสิ่งทุกอย่างแก้ไขได้ ต้องให้เกียรติทั้งสองฝ่าย บุคลิกท่าทาง การแสดงออก สีหน้า ต้องแสดงออกถึงความจริงใจ รับฟังทั้งสองฝ่าย แต่ต้องยึดความถูกต้องตามระเบียบแผนทางราชการไว้เป็นหลัก หากปัญหายังยุติไม่ได้ก็หาแนวทาง หรือหาผู้ที่เป็นที่ยอมรับนับถือของทั้งสองฝ่ายมาช่วยเจรจา ประนีประนอม เมื่อปัญหาหาทางออกได้แล้วการติดตามผลภายหลังก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก...
นางสาวสุรีวรรณ คณนา
นักวิชาการพัฒนาชมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น