วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โครงการเมืองสายน้ำแห่งชีวิตวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

ข้าพเจ้ามีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน ฝ่ายอำนวยการ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ จังหวัดฉะเชิงเทราได้มีคำสั่งให้ข้าพเจ้าเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางคล้า และพัฒนาการอำเภอบางคล้า คือหัวหน้าปรีชา ลีรัตนชัย ได้มอบหมายให้รับผิดชอบงานในตำบลบางกระเจ็ด เนื่องจากข้าพเจ้าไม่เคยได้รับการฝึกอบรมและปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งพัฒนากรมาเลยแม้แต่น้อย จึงได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเพียง ๑ ตำบล ซึ่งจำนวน ๙ หมู่บ้าน

ข้าพเจ้าพบว่า ตำบลบางกระเจ็ดนั้นได้รับงบประมาณในการพัฒนาของกรมการพัฒนาชุมชนน้อยกว่าตำบลอื่น ๆ ของอำเภอบางคล้า ประมาณเดือนมกราคม ๒๕๕๔ จังหวัด ขอให้อำเภอคัดเลือกพื้นที่เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามยุทธศาสตร์จังหวัดหวัด ปี ๒๕๕๔ อำเภอละ ๒ หมู่บ้าน ข้าพเจ้าพิจารณาถึงศักยภาพของพื้นที่ และศักยภาพของผู้นำชุมชนแล้วจึงประสานงานกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ที่คิดว่าจะสามารถดำเนินโครงการได้ ในที่สุดจึงส่งบ้านบางกระดาน หมู่ที่ ๖ ตำบลบางกระเจ็ด ให้จังหวัดเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการเมืองสายน้ำแห่งชีวิตวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ในการนี้ อำเภอบางคล้าได้ส่งบ้านต้นสำโรง หมู่ที่ ๒ ตำบลสาวชะโงก เข้าร่วมโครงการด้วย

ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ จังหวัดได้แจ้งอนุมัติโครงการฯ มาให้อำเภอหมู่บ้านละ ๘๓,๐๐๐ บาท และได้กำหนดกิจกรรมหลักในการดำเนินงาน จำนวน ๔ กิจกรรม ดังนี้
๑. การประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างกลุ่มผู้นำวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้านละ ๕ คน
๒. การจัดเวทีสร้างการเรียนรู้ สาธิตการดำรงชีวิตแบบพอเพียง หมู่บ้านละ ๓๐ ครัวเรือน
๓. กิจกรรมส่งเสริมทางเลือกด้านการประกอบอาชีพให้แก่ครัวเรือนเป้าหมาย ๓๐ ครัวเรือน
๔. การติดตาม ประเมินผล และถอดบทเรียนจากโครงการ

บ้านบางกระดาน โดยผู้ใหญ่ไชยา ผลเจริญ ผู้ใหญ่บ้านร่วมกับแกนนำครัวเรือนเป้าหมายเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ จำนวน ๕ ครัวเรือน ที่โรงแรมแกรนด์ รอยัล พลาซ่า ฉะเชิงเทรา สำหรับกิจกรรมทางเลือกด้านการประกอบอาชีพครัวเรือนเป้าหมายได้เลือกอาชีพเลี้ยงปลาดุก และการทำน้ำยาอเนกประสงค์ (น้ำยาล้างจาน) อำเภอบางคล้า จึงจัดหาและส่งมอบวัสดุสนับสนุนด้านอาชีพให้แก่ครัวเรือนเป้าหมาย ดังนี้
๑. พันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย ครัวเรือนละ ๑๕๐๐ ตัว
๒. วัสดุทำน้ำยาล้างจานชุดใหญ่ ครัวเรือนละ ๑ ชุด

จากการออกติดตามผลการดำเนินโครงการในระยะเวลาประมาณ ๒ เดือนผ่านไป ข้าพเจ้าพบว่าครัวเรือนเป้าหมายกว่าร้อยละ ๙๐ นำปลาดุกที่ได้รับจากโครงการ ไปเลี้ยงไว้ในกระชังหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เปล คือผ้ามุ้งด้ายในล่อนสีฟ้าเป็นผืนใหญ่และมาประกอบกันในลักษณะสีเหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ ๒ คูณ ๔ เมตร แล้วนำไปกางลงในบ่อดินธรรมชาติอีกครั้ง และให้ปลากินอาหารเม็ดของปลาดุกโดยเฉพาะซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ผู้เลี้ยงให้ข้อมูลกับข้าพเจ้าว่า เมื่อเลี้ยงปลาจนโตพอที่จะจับขายได้น้ำมีความเสี่ยงสูงต่อการขาดทุนเนื่องจากอาหารของปลาดุกมีราคาสูง และเมื่อถึงกำหนดจับขายผู้ซื้อมักจะรับซื้อในราคาที่ถูกคือกิโลกรัมละ) ประมาณ ๓๐ ๓๕ บาทเท่านั้น และข้าพเจ้ายังพบว่าพันธุ์ปลาดุกที่ซื้อจากผู้ผลิตได้จำหน่ายให้ผู้นำไปเลี้ยงนั้นมันจะไม่ขยายพันธุ์ไม่ว่าจะเลี้ยงนานเท่าไรก็ตาม ข้าพเจ้าจึงเป็นห่วงครัวเรือนผู้เลี้ยงว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในกิจกรรมอาชีพนี้ที่กลุ่มประสงค์จะทำ

อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าพบว่ากลุ่มผลิตน้ำยาอเนกประสงค์(น้ำยาล้างจาน) ซึ่งที่จริงแล้วนำไปใช้ได้ตั้งแต่ล้างจาน ซักผ้า ทำความสะอาดพื้น และล้างรถ โดยผสมในปริมาณที่เหมาะสม จะเป็นอาชีพที่ประสบความสำเร็จมากกว่า แม้ว่าจะมีผู้ทำใช้เองภายในครัวเรือนหลายรายก็ตาม เพราะจากการติดตามเห็นว่า ผู้นำและกลุ่มมีควากระตือรือร้นที่จะร่วมมือร่วมใจกันจัดทำผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายเริ่มต้นจากการจำหน่ายภายในหมู่บ้าน และคนในชุมชนให้ให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์เป็นอย่างดี

อนึ่ง กลุ่มมีเป้าหมายที่จะจัดตั้งร้านค้าชุมชนภายในหมู่บ้านเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และสินค้าจำเป็นภายในหมู่บ้านอยู่แล้ว เนื่องจากบ้านบางกระดานเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอมากหมู่หนึ่งและเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกับอำเภอบ้านสร้างจังหวัดปราจีนบุรี ข้าพเจ้าได้ให้การสนับสนุนในการจัดทำฉลากติดข้างขวดน้ำยาอเนกประสงค์ และอุปกรณ์เกี่ยวกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเมืองสายน้ำฯ และได้นำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมาวางจำหน่ายที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางคล้าด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้นด้วย และเมื่อกลุ่มเติบโตมีความแข็งแรงดีแล้วก็จะทำการต่อยอดโครงการโดยการจัดทำผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกของกลุ่มอาชีพและขยายผลต่อไป

ขุมความรู้
๑. การปฏิบัติงานในตำแหน่งพัฒนากรที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน ไม่คุ้นเคยทั้งผู้คน และพื้นที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลและขาดความเชื่อมั่นว่าตนเองจะปฏิบัติงานได้
๒. การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและกลุ่มเป้าหมาย จะทำให้งานสำเร็จด้วยดี
๓. มีความจริงใจ โปร่งใสในการดำเนินโครงการทุกขั้นตอน
๔. สร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และมีวิธีการติดตามสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง
๕. สร้างความสมานสามัคคีกันในชุมชน ก่อให้เกิดกำลังใจ และเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานอย่างเข้มแข็ง ใช้การสอบถามที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
๖. ให้คำแนะนำปรึกษา ให้ความสนใจกับทุกประเด็นทุกปัญหาและดำเนินการแก้ไขทุกเรื่อง มีการติดตามอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอโดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มอาชีพของครัวเรือนเป้าหมาย

แก่นความรู้
๑. แนวทางการดำเนินงานโครงการเมืองสายน้ำแห่งชีวิตวิถีเศรษฐกิจพอเพียง
๒. แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

นางสาวบุญสม ทัดละมัย
เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางคล้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น