บ้านสระไม้แดง เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ระดับ พออยู่ พอกิน หลังจาก ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการ ตามโครงการเสริมสร้างการบริหารจัดการทุนชุมชน สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทางทีมงานเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนของอำเภอสนามชัยเขต ก็ได้ออกจัดเวทีประชาคมกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยจำนวน กม./ผู้นำชุมชน/ผู้นำกลุ่ม/ปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่น/สมาชิก อบต./องค์กร/เครือข่าย/ประชาชน/ ที่เข้าร่วมกิจกรรม รวม ๓๐ คน ( ชาย ๙ คน , หญิง ๒๑ คน ) จำนวน ๓ ครั้ง ๆ ละ ๑ วัน ดังนี้
วันที่ ๑ วิเคราะห์สถานะของทุนชุมชน/ประเมินศักยภาพทุนชุมชน เพื่อให้ทราบถึงสถานะและศักยภาพ “ทุนชุมชน” ของหมู่บ้านตนเอง/นำไปปรับใช้ในการปรับแผนชุมชนและกำหนดทิศทางในการพัฒนาหมู่บ้าน
วันที่ ๒ จัดทำแผนพัฒนาทุนชุมชน เพื่อนำผลจากการวิเคราะห์ทุนชุมชนไปจัดทำแผนพัฒนาทุนชุมชนและเสนอคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อนำไปปรับปรุง / เพิ่มเติม ในแผนชุมชนของหมู่บ้าน คัดเลือกโครงการ / กิจกรรมพัฒนาทุนชุมชนในแผนชุมชนที่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมแล้วอย่างน้อย ๑ โครงการ/กิจกรรม ไปดำเนินการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มคุณค่าแก่ทุนชุมชน
วันที่ ๓ จัดกิจกรรมพัฒนาทุนชุมชนที่ได้รับคัดเลือกจากเวทีประชาคม(กิจกรรมการรวมกลุ่มกันเพาะเห็ดฟาง/ส่งเสริมการจัดสวัสดิการให้สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสระไม้แดง)ผลจากการจัดเวทีประชาคมทั้ง ๓ วัน ทำให้ผู้ร่วมเวทีประชาคม คิดได้ว่า ที่แท้จริงแล้วทุน ก็มีอยู่รอบๆ ตัวพวกเขานี่เอง
ทุนชุมชนทั้ง ๕ ด้าน ที่มีอยู่ในหมู่บ้านสระไม้แดง และนำมาใช้ประโยชน์ สรุปดังนี้
๑. ทุนมนุษย์ (Human Capital) บ้านสระไม้แดงมีทุนมนุษย์ ที่มีศักยภาพอยู่อย่างหลากหลาย เด็กได้รับการศึกษาตามระบบทั้งในและนอกระบบ มีการแบ่งปันความรู้ คนในชุมชนมีความสุข ด้านสุขภาพอนามัย คนในชุมชนมีอายุยืน ชุมชนมีการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน
๒. ทุนสังคม (Social Capital) บ้านสระไม้แดงมีสังคมที่ประชาชนใช่เพื่อการดำรงชีพ ทุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ รวมทั้งความไว้เนื้อเชื่อใจ การยอมรับซึ่งกันและกันในชุมชน กลุ่ม องค์กร เครือข่ายภาคประชาชน และประชาสังคม รวมถึงวัฒนธรรมที่เป็นวิถีสืบทอดมายาวนาน และเป็นที่ยอมรับในสังคมนั้นๆ ซึ่งมีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ ในรูปแบบความเชื่อ ความศรัทธา มีการรักษาจารีตประเพณีที่ดีงามของชุมชนไว้
๓. ทุนกายภาพ (Physical Capital) บ้านสระไม้แดงมีสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก ในการดำเนินชีวิต ประกอบด้วย โครงสร้างถิ่นฐานและปัจจัยการผลิตที่สนับสนุนการดำรงชีพของประชาชน ได้แก่ ระบบการคมนาคมขนส่ง ที่อยู่อาศัย ประปา และ พลังงานที่หาได้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนในชุมชนมีสูง
๔. ทุนธรรมชาติ (Natural Capital) บ้านสระไม้แดงมีทรัพยากรธรรมชาติ ที่อยู่ในระดับอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ คุณภาพของดิน ป่าไม้ น้ำ คุณภาพอากาศ การป้องกันการพังทลายของดิน การกำจัดขยะ ทุนธรรมชาติเป็นตัวกำหนดศักยภาพในการดำรงชีวิตและการดำเนินอาชีพของประชาชนในชุมชน ชาวบ้านสระไม้แดงจะมีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก
๕. ทุนการเงิน (Financial Capital) บ้านสระไม้แดงมี ทุนการเงินมี 2 แหล่งคือ
๑) การออม (Available stock) กับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นรูปแบบของทุน เงินฝากสัจจะ
๒) ทุนการเงินกองทุนหมู่บ้าน ให้สมาชิกกู้ยืมไปประกอบอาชีพ
แผนชุมชนของบ้านสระไม้แดง มีกิจกรรม/โครงการพัฒนาทุนชุมชนดังนี้
๑. โครงการเพิ่มเงินทุนในกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยรับสมาชิกเพิ่ม และรับฝากสัจจะเพิ่ม
๒. รวมกลุ่มผู้เพาะเห็ดฟาง เพื่อต่อรองราคา ตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง
การบริหารจัดการทุนชุมชน
ให้สามารถแก้ไขปัญหาของชุมชนได้โดยการรวมกลุ่มผู้เพาะเห็ดฟาง ส่งเสริมการออมกับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ตัดปัญหาเรื่อง เงินทุน และเกิดแนวคิด ในการพัฒนาทุนชุมชน โดยสร้างมูลค่า และรักษาคุณค่าของทุนชุมชนนั้นๆ ดังนี้
๑.การรวมกลุ่มเพาะเห็ดฟางเป็นการสร้างความสามัคคีในชุมชนเป็นการอนุรักษ์วัฒธรรมประเพณีพื้นบ้านที่ดีงามไว้ในชุมชน แสดงถึงความเอื้ออาธรของคนในชุมชนที่ยังมีอยู่ โดยไม่ต้องใช้เงินจ้างแรงงาน แต่จะเป็นการถือแรง หรือที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า การลงแขก
๒.การเพาะเห็ดฟางเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับดินเนื่องจาก วัสดุดิบหลักที่นำมาใช้ในการเพาะเห็ดฟาง เป็นวัตถุจากธรรมชาติ เช่นฟางข้าว กากมันสำประหลัง ซึ่งเมื่อย่อยสลายแล้ว จะกลายเป็นปุ๋ยหมัก ที่เพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรดินได้เป็นอย่างดี
๓.การสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสระไม้แดง เป็นการรวมกลุ่มคนให้รู้จักการออม มีวินัย รักษาสัจจะ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่ม เป็นการพัฒนาทุนมนุษย์ และสิ่งที่ตามมาคือทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
ผู้รับผลประโยชน์
จากทุนทั้ง 5 ประเภท ของชาวบ้านสระไม้แดงที่มีอยู่ แล้วนำมาขยายผล ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านสระไม้แดง เช่น รายได้เพิ่ม รายจ่ายลดลง สุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น อย่างน้อย ๓๐ ครัวเรือน ที่ร่วมเวที หลังจากนั้น ๓๐ ครัวเรือนตัวอย่างจะไปขยายผลยังครัวเรือนข้างเคียงต่อไป ซึ่งเป็นการใช้ทุนที่มีอยู่ในชุมชนมาพัฒนาทุนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป
กระบวนการจัดการความรู้ที่ได้รับจากการจัดเวทีประชาคม ที่บ้านสระไม้แดงในครั้งนี้ ทำให้เราในฐานะพัฒนากรประจำตำบล ทราบว่าชาวบ้าน ถ้าไม่มีกระบวนการอะไรมากระตุ้นให้เขาคิด เขาก็จะไม่คิดตาม แต่ถ้ามีหัวข้อให้เขาคิด พวกเขานั้นเหละที่คิดได้ดีและคิดได้มากกว่าเจ้าหน้าที่เสียอีก
นางเยาวเรศ แก้วยงกฎ
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสนามชัยเขต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น