นโยบายกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดจุดมุ่งหมายไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้ประชาชน “มีความสุขสมบูรณ์” โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถช่วยตัวเองได้มากขึ้น พร้อมทั้งสามารถปรับตัวให้เข้ากับทางสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการจะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าวเป้าหมายที่สำคัญคือ “การพัฒนาชุมชน” เพื่อดำเนินการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น บรรลุเป้าหมายตามเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน ในด้านการดำเนินงานพัฒนาชุมชนทุกยุคทุกสมัย
เมื่อปี 2521 กิ่งอำเภอที่แยกเขตการปกครองออกมาจากอำเภอยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ที่แยกออกมาจากอำเภอก็เพราะว่าเขตการปกครองกว้าง มีเนื้อที่การปกครองมาก ทุรกันดาร ไม่สะดวกต่อการปกครอง กิ่งอำเภอนาดี เป็นผลผลิตหนึ่งที่ได้แจ้งเกิดขึ้นมา โดยแยกออกมาจากอำเภอ กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
กิ่งอำเภอนาดีเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ ภูเขา สัตว์ป่า ไข้ป่า ยาสั่ง โจร ผู้ร้าย โดยเฉพาะ ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) เป็นเขตการปฏิบัติการทางทหารเรียกว่า พื้นที่สีชมพู ซึ่งเป็นเขตที่ข้อนข้างจะรุนแรง ของการปฏิบัติการของพลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ที่ว่าการกิ่งอำเภอนาดี มีหัวหน้ากิ่งอำเภอเป็นผู้บังคับบัญชา และมีหัวหน้าส่วนราชการกิ่งอำเภอลงมาตามลำดับ เหมือนกับที่ว่าการอำเภอ แต่ที่แปลกกว่าที่อื่นๆเขา ก็คือว่าไม่มีพัฒนาการกิ่งอำเภอในขณะนั้น
เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนระดับ 1 จำนวน 3 นาย เดินทางเข้ารายงานตัวที่กิ่งอำเภอนาดีตามคำสั่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย “น้อง..หัวหน้ากิ่งไม่อยู่ไปราชการหลายวัน”ท่านปลัดพัฒนา บอกด้วยไมตรีจิตและให้การช่วยเหลือเป็นอย่างดี ทั้งสถานที่ทำงานวัสดุ อุปกรณืในการทำงาน บ้านพัก ( มีโอกาสจะเล่าให้ฟังถึงบ้านพัก ในป่าช้า ไม่ต้องถามเลยว่ามี... ผี...หรือเปล่า ขอบอกว่า...มี...) มันจะอะไรกันนัก กันหนา กับข้าราชการแกะกล่อง ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
แล้วจะทำงานกันอย่างไร เป็นคำถามที่เรา 3 คนถามกันเอง งานในหน้าที่ งานนโยบาย งานที่ได้รับมอบหมาย เอาอย่างไรดี ตกลงว่าค่อยๆ ทำไป ถ้ามีใครมาขอให้ช่วยทำเราก็ช่วยเขาไปก่อน เป็นการทำงานแบบประสานงาน ผูกมิตร แล้วค่อยๆ ศึกษางาน ศึกษาสภาพท้องที่ ทำงานเป็นทีม และ แบ่งงานกันทำตามความถนัด และความคล่องตัว เช่นงานที่จำเป็นต้องประสานกับจังหวัดปราจีนบุรี ก็พลัดกันไป ตามสถานการณ์ และความพร้อม จะให้ใครรับผิดชอบไปอยู่คนเดียวก็เกรงใจเพื่อน เพราะระยะทางมันไกล 80 กม.เศษ ( 80 กม.สมัย ปี 2521..สุดยอด )
โชคดีที่ได้รับการอนุเคราะห์จากท่านปลัดพัฒนา ให้ใช้รถ HONDA 125 CC . ใช้ในการปฏิบัติงานคล่องตัวหน่อย สำหรับสภาพถนนดินทราย ที่จะต้องขึ้นเขา ลงห้วย ตามสภาพชนบท ที่เรียกว่าไกลปืนเที่ยง หน่วยงานประชาสงเคราะห์ เป็นหน่วยงานที่ช่วยเราชาวพัฒนาชุมชนในสมัยนั้น ในการ ปรับทุกข์ ผูกมิตรกับชาวบ้านในหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี โดยการมอบ ผ้าห่ม (โบตั๋น) ให้ไปแจกแก่ผู้สูงอายุ และผู้ยากจน ถือว่าเป็นเครื่องมือ หรือสื่อ ในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี ผูกมัดใส่ท้ายรถเข้าไปใน หมู่บ้าน ตำบล ใส่เสื้อทีมสีน้ำเงิน ประดับตรากรมการพัฒนาชุมชน พบชาวบ้านตรงไหนจอดรถทันที ชาวบ้านจะเข้ามาถามว่าเอามาขายหรือ ? ราคาเท่าไร ? ก็ท่าทางมันเหมือน ลักษณะมันให้
ก็ต้องพูดคุยแนะนำตัวกันพอสมควร เพราะเพิ่งเจอกันเป็นครั้งแรก โอกาสหน้าสบาย นอกจากผ้าห่มแล้ว พัฒนากร ยังมีเมล็ดพันธุ์ผัก จากสำนักงานเกษตร ยาสามัญประจำบ้านจากสำนักงานสาธารณะสุข หนังสือราชการจากหน่วยงานราชการต่างๆที่ฝากเราเข้าไปให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ในหมู่บ้านที่จะไป หรือผ่านไป อเนกประสงค์จริง จริง พัฒนากร ไกลปืนเที่ยง
ปฏิบัติงานในหน้าที่ปฏิบัติงานตามนโยบาย ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย ทำบ่อย บ่อย ให้เป็นเอกลักษณ์ จริงใจ จริงจัง ไม่สร้างปัญหา เป็น คาถาป้องกันภัย อันตราย แคล้วคลาด ปราศจากศัตรู ที่จะคิดร้ายไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ ใด ใด ปรับทุกข์ ผูกมิตร ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาเปรียบผู้อื่น แบ่งปัน ช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ภัย เป็นทุนสะสมที่ใช้ไม่หมด ตลอดการปฏิบัติงานในหน้าที่ จริงหรือไม่จริง....ต้องพิสูจน์
พี่ ...พี่...พี่ พัฒนาการของพี่มาแล้ว เสียงเรียกจากน้อง (เจ้าหน้าที่ปกครองฝ่ายทะเบียนราษฎร์) ที่สนิทสนมคุ้นเคยกันเพราะพวกเราส่วนใหญ่ ถึง ใหญ่มาก พักอยู่ด้วยกันที่ห้องแถวสองชั้นสามห้อง (กลางป่าช้าเก่า ) เหตุที่ต้องพักอยู่รวมกัน เพราะการเดินทางไป – กลับ ไม่สะดวก ด้วยประการทั้งปวง
ดีใจครับที่พี่มา พวกเราต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน งานในหน้าที่ งานนโยบาย เบาลงทันตาเห็นพัฒนาการรับไปเต็มๆ ตามหน้าที่ สิ่งที่เหลืออยู่และข้อนข้างเพิ่มมากขึ้น คืองานที่ได้รับมอบหมาย ก็งานของพัฒนากรจะต้องทำนั้นแหละ พัฒนาการมอบหมายงานในหน้าที่รับผิดชอบ เป็นรูปธรรม รับผิดชอบตำบล งานหนังสือประจำสำนักงาน แบ่งปันกันไปตามความเหมาะสม งานทีมหรือทีมงานที่เคยออกไปตามหมู่บ้าน ตำบลด้วยกัน น้อยลง กลายเป็นต่างคนต่างไป นอกจาก มีงานประชุมหรือฝึกอบรมจึงจะออกไปเป็นทีมงาน ความชำนาญในหน้าที่ ตลอดจนเกิดความชำนาญในภูมิประเทศ จากการศึกษา สำรวจ สัมผัส คุกคลี ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกับชาวบ้าน ทำให้เราลืมสภาพของ แสง สี เสียง ในสังคมเมือง อย่างไม่น่าเป็นไปได้
พัฒนาการจะพูดคุยให้นโยบาย หลักการในการทำงาน เป้าหมายของงานไม่ค่อยมี โดยมากจะให้พัฒนากรเข้าไปหางานเองในหมู่บ้าน งานสร้าง ,ปรับปรุง ถนน เป็นงานหลัก พัฒนาอาชีพมีบ้างตามอัตภาพงานปรับปรุงถนนโดยใช้แรงงานชาวบ้านช่วยกันขุดดินทราย ข้างทางเกวียนนั้นหละ ถมขึ้นมาให้สูงประมาณ 50 เซนติเมตร (ครึ่งเมตร) ถึง หนึ่งเมตร ตามสถาพพื้นที่สูงต่ำ ปดอัดด้วยนะ เขาใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านทำรถบดโดยการนำท่อระบายน้ำมาใสทรายอุดหัวอุดท้าย ทำแกนกลางเป็นเพลา ใช้ควายลากเป็นรถบดถนน งบประมาณไม่ต้องพูดถึง ไม่มี ถนนตรงไหนติดคลอง ต้องเว้นไว้ แล้วให้หมู่บ้านตรงข้ามอีกหมู่บ้านหนึ่งทำถนนต่อไป หรือตกแรงช่วยกันจนกว่าจะถึงถนนเดิมที่มีอยู่ ตัดถนนใหม่ โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ เกิดขึ้นหลายสาย ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่มีความต้องการความเจริญ เฉกเช่นคนในสังคมเมืองได้รับเช่นกัน
เด็ก เด็ก ตะโกนลั่น เมื่อนาน นาน มีรถยนต์วิ่งเข้ามาถึงในหมู่บ้านสักคันหนึ่ง สภาพสังคมชนบทที่เรียบง่าย ห่างไกลหูไกลตาจากทางราชการ ย่อมต้องมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปฝังต้วอยู่จะเป็นสิ่งดี หรือไม่ดี ก็แล้ว แต่ ผลลัพธ์จะปรากฏให้เห็น เช่นเดียวกับหมู่บ้านในเขตการปกครองของกิ่งอำเภอนาดี พลพรรค ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้เคลื่อนไหวอยู่ในเขตพื้นที่ โดยใช้หน่วย จรยุทธ ปฏิบัติการในพื้นที่ หาข่าว หาเสบียงอาหาร หาแนวร่วม ตามยุทธการ ปรับทุกข์ ผูกมิตร ขยายเขตพื้นที่ คลอบคลุมพื้นที่กิ่งอำเภอนาดีทั้งหมด และแทรกซึมไปถึง เขตอำเภอกบินทร์บุรี สระแก้ว ประจันตคาม และอีกหลายอำเภอ ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี
เราก็แอบภูมิใจในตัวเองเหมือนกัน ว่าอย่างน้อยเราก็เป็นคนหนึ่งที่ แปลกปลอมเข้าไปฝังต้วอยู่ ได้เคลื่อนไหวอยู่ในเขตพื้นที่ โดยใช้ ปฏิบัติการในหน้าที่นักพัฒนาชุมชน หาข่าว หาแนวร่วม ตามยุทธการ ปรับทุกข์ ผูกมิตร ขยายเขตพื้นที่ คลอบคลุมพื้นที่กิ่งอำเภอนาดีทั้งหมดเช่นกัน นี่ถ้าไม่มีทุนสะสม คง...... ?
นายเกียรติศักดิ์ อรัณยะกานนท์
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบ้านโพธิ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น