วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กระตุ้นต่อมพอเพียง

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2552 ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานแทนพัฒนาการอำเภอคลองเขื่อน เนื่องจากท่านพัฒนาการอำเภอไปอบรมผู้บริหารระดับสูง ในช่วงนั้นจังหวัดได้รับงบประมาณในเรื่องตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทุกอำเภอสามารถนำเสนอกิจกรรมที่จะเสนอขอรับงบประมาณได้ และอยู่ในช่วงที่จะต้องส่งประกวดกิจกรรมของหมู่บ้านอีกด้วย

ทำให้ข้าพเจ้าได้คิดว่าหากเราส่งหมู่บ้านที่ดีมาก หรือดีเข้าประกวด และพิจารณาในเรื่องของงบประมาณที่จะได้รับตามที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น จะทำให้หมู่บ้านที่กำลังคิดที่จะทำก็ไม่สามารถจะทำได้ จึงมีความคิดที่จะใช้หมู่บ้านที่ไม่ค่อยมีผลงานมากนัก แต่มีผู้นำและประชาชนที่สนใจ(วิเคราะห์จากการเข้าร่วมเวทีประชาคมหมู่บ้าน) จึงออกไปขายความคิดขายฝันในเรื่องกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาหมู่บ้านในด้านต่างๆ (เวลาไปต้องนำภาคีการพัฒนาไปด้วยนะ)

เริ่มจากกับผู้นำหมู่บ้านทั้งทางการ และทางธรรมชาติ ก็ได้แนวร่วมเล็กๆ ในการที่จะกระตุ้นต่อมการดำเนินงานเศรษฐกิจพอเพียงบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่พอที่จะกระตุกต่อมพอเพียงของประชาชนได้ทั้งหมด จึงปรึกษาแนวร่วมเล็กๆ ที่ประกอบด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน อบต. เพื่อนภาคีการพัฒนาคิดและมีมติที่จะใช้โครงการประกวดกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านของกรมการพัฒนาชุมชน มาล้อเพื่อจะกระตุ้นต่อมเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในหมู่บ้าน (หมู่ที่ 2 ตำบลบางเล่า) โดยวางแผนให้ประชาชนแข่งขันกันเอง ในการพัฒนาครัวเรือนให้เป็นครัวเรือนพอเพียงเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

วิธีการคือการเรียกประชุมครัวเรือนทั้งหมดของหมู่บ้าน ช่วยกันคิดวิธีการร่วมกัน (จริงแล้วแนวร่วมเล็กๆของเราคิดช่วยไว้ก่อนแล้วนะ) แต่หมู่บ้านแห่งนี้พื้นที่จะเป็นภาคการเกษตรทั้งหมดทำให้ง่ายขึ้นที่จะทำ เวทีจึงร่วมกันกำหนดให้จัดซื้อวัสดุที่จะใช้ในการดำเนินกิจกรรมของหมู่บ้าน และกำหนดของรางวัลสำหรับผู้ชนะในการเป็นครัวเรือนพอเพียง พร้อมทำประกาศติดไว้เพื่อเป็นเกียรติ ณ ที่ทำการหมู่บ้าน เตรียมการติดตามผลของครัวเรือนทุกครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรม ผลการดำเนินการดังกล่าว จึงทำให้หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านส่งเข้าประกวดกิจกรรมการพัฒนาชุมชนดีเด่นไปด้วย ผลการประกวดแม้ไม่ชนะใจกรรมการของจังหวัด แต่ชนะใจพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านนั้นเอง

บันทึกขุมความรู้ (Knowledge Assets)
- การสร้างความเข้มแข็งให้กับครัวเรือนในระดับรากหญ้า
- การพัฒนาตามกิจกรรมที่จะส่งเข้าประกวดแข่งขันของหมู่บ้านที่ยังไม่มีความพร้อม
- การกระตุ้นให้ครัวเรือนมีความต้องการดำเนินรอยตามแนวเศรษฐบกิจพอเพียง

แก่นความรู้ (Core Competencies)
- การวิเคราะห์ปัญหา
- การให้การปรึกษาจากผู้รู้ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
- การกระตุ้นให้เกิดผล

กลยุทธ์ในการทำงาน
1.การวิเคราะห์ปัญหา
พิจารณาจากหมู่บ้านที่ยังมีความพร้อมไม่พอ หรือกำลังที่จะมีความพร้อมในการดำเนินงาน เพื่อผลักดันให้เกิดความพร้อมในการดำเนินงาน

2. การให้การปรึกษาจากผู้รู้ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อจัดเวทีประชุมขึ้นในหมู่บ้าน จะต้องมีทีมเจ้าหน้าที่ และภาคีการพัฒนาเข้าร่วมช่วยเหลือให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อแกนนำการพัฒนา และขยายผลให้แกนนำการพัฒนาในหมู่บ้านอธิบายกับประชาชนถึงงานโครงการที่จะดำเนินการในหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันในการทำงาน

3. การกระตุ้นให้เกิดผล
หากมองในภาพรวมจากทุกๆ ที่ เห็นว่าหากไม่มีผลประโยชน์กับตนเองแล้วนั้น มักจะได้รับความร่วมมือน้อย แต่ถ้ามีผลประโยชน์ก็จะได้รับความร่วมมือมาก การแข่งขันเพื่อดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นอีกหนึ่งกลยุทธที่จะทำให้คนเกิดความต้องการทำ และทำอย่างเต็มที่เพื่อที่จะเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นในหมู่บ้านตำบล อีกทั้งยังอาจจะได้รับรางวัลกรณีที่ประสบความสำเร็จในการทำ

กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
แนวทางตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ว่าที่ ร.ต.จักรพันธ์ ศิริรัตน์
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแปลงยาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น