วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แผนชีวิตพิชิตความจนบนความพอเพียง


ชื่อ - สกุล  นางรำพา  ชนะพลชัย
ตำแหน่ง   นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ
สังกัด   สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์  081-7346994

ความยากจนของประชาชนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยให้ความสำคัญและนำมาประกาศเป็นนโยบาย ในการเร่งรัดแก้ไขปัญหา  และในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559 ) กรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ ภายใต้กรอบแนวคิดที่ว่า ความยากจนเกิดจากการบริหารจัดการชีวิตที่ไม่เหมาะสม สามารถแก้ไขด้วยการบริหารจัดการชีวิต ความยากจนเป็นปัญหาเชิงซ้อน ต้องแก้ไขเป็นรายครัวเรือน และต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า พลังที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาความยากจนคือพลังของคนในครัวเรือนผู้ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหานั่นเอง โดยหัวใจสำคัญคือครัวเรือนต้องรู้จักตนเอง รู้ที่จะปรับความคิดในการพิชิตความจน  เนื่องจากความคิด คือ จุดเริ่มต้นของความสำเร็จ ครัวเรือนต้องคิดเป็น และต้องตั้งเป้าหมายในชีวิต ด้วยตัวของครัวเรือนเอง ต้องตั้งสติของตนเองว่าชีวิตนี้เป็นของเรา เราจะทำอย่างไรกับชีวิตของเรา เป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไรบ้าง เช่นต้องการมีเศรษฐกิจแบบพอเพียง มีความสุขแบบพอเพียง มีครอบครัวอบอุ่นแบบพอเพียง สิ่งที่จะนำพาครัวเรือนไปสู่เป้าหมายชีวิตอย่างยั่งยืนบนลำแข้งของตนเอง ดังพุทธสุภาษิต ที่ว่า “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ : ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”   คือ การจัดทำแผนชีวิตครัวเรือน

วิธีการจัดทำแผนชีวิตครัวเรือนบนความพอเพียง  5 ขั้นตอน
1. จับเข่าคุยกัน คนในครัวเรือนต้องหันหน้ามาจับเข่าคุยกัน ถึงปัญหา และสาเหตุของปัญหาความยากจนของครัวเรือน ตนเองว่าบ้านเรามีปัญหาอะไรบ้าง เช่น บ้านเรา มีคนว่างงาน  มีเงินไม่พอใช้  มีหนี้สินรุงรัง ฯลฯ  แล้วอะไร คือ สาเหตุของปัญหาเหล่านั้น     เช่น คนในบ้านไม่สามัคคีกัน ชอบทะเลาะเบาะแว้งกันเอง พ่อกินเหล้า สูบบุหรี่ แม่ชอบเล่นหวย  ลูกเรียนจบแล้วไม่หางานทำ  ไม่ช่วยงานในบ้าน เป็นต้น แต่ทั้งนี้คนในครัวเรือน ผู้เป็นสาเหตุของปัญหาต้องใจกว้างยอมรับความจริง ไม่ชี้หน้ากล่าวโทษกันจนถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้วงแตก และแยกย้ายไปอยู่กันคนละมุมบ้าน ครัวเรือนต้องผ่านขั้นตอนนี้ให้ได้

2. ค้นหาของดีในบ้านเรา และใกล้ตัวเรา เมื่อผ่านขั้นตอนที่ 1 แล้ว มาช่วยกันคิดว่า ในบ้านเรามีดีอะไรบ้าง คนในบ้านมีความรู้ความสามารถในเรื่องอะไรบ้าง เช่น พ่อมีความสามารถในการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า แม่ทำอาหารอร่อย เย็บปักถักร้อยได้ ลูกมีความสามารถในการวาดรูป ยายทำขนมโบราณได้ บ้านเราทำเลดีพอค้าขายได้ บ้านเรามีที่ดินพอเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ได้ ในชุมชนบ้านเราส่วนใหญ่เขาทำมาหากินอะไรกัน มีอะไรบ้างที่เราพอจะทำได้ ในชุมชนของเรามีแหล่งทุนอะไรบ้างที่พอจะใช้บริการได้  เราเป็นสมาชิกแล้วหรือยัง มีผู้เชี่ยวชาญอาชีพอะไรบ้างที่เราพอจะไปขอคำปรึกษาแนะนำ  ฯลฯ

3. หาทางออก ผ่าทางตัน เมื่อครัวเรือนตกผลึก ยอมรับสภาพปัญหาในครัวเรือนว่ามีสาเหตุจากอะไร มีความตั้งใจที่แน่วแน่ที่จะแก้ไขปัญหาโดยการผนึกกำลังกันเองของคนในครัวเรือนก่อนเป็นสำคัญก่อนที่จะหันไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืน โดยค้นพบแล้วว่า ของดีในบ้าน นอกบ้านมีอะไรบ้าง เราจะนำของดีอะไรมาใช้ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความสุขความอบอุ่นในครัวเรือนเรา ในขั้นตอนนี้คนในครัวเรือนต้องร่วมกำหนดเป้าหมายและวิธีการ/กิจกรรมที่เป็นหนทางออกในการแก้จนของครัวเรือน ซึ่งมีได้หลากหลาย เช่น

3.1 วางแผนการใช้จ่ายในครัวเรือน ให้สมดุลกับรายได้ โดยมีกิจกรรมพื้นฐาน คือ การทำบัญชีรับจ่ายในครัวเรือน ควบคุมรายจ่าย โดยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอยู่อย่างพอเพียง ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำ ประหยัดการใช้ไฟฟ้า  ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ไว้บริโภค  และทุกสิ้นเดือนควรมีการสรุปบัญชีรับจ่ายกันในครัวเรือนเพื่อประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลว เบื้องต้น ถ้ามีเหลือก็เก็บออมไว้บ้าง ถ้ายังไม่สำเร็จต้องหาทางปรับปรุงว่าค่าใช้จ่ายอะไรที่ยังลดไม่ได้แล้วเริ่มต้นใหม่

3.2 คิดหาอาชีพหลัก/อาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้  ไม่รองานวิ่งมาหา ต้องสอดส่องหางานหาอาชีพ คนว่างงานต้องไม่รังเกียจงานที่ให้ค่าตอบแทนน้อย หมั่นศึกษาหาความรู้ในการสร้างงานสร้างอาชีพที่จะนำมาซึ่งรายได้

3.3 หลีกเลี่ยงอบายมุข  ลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ การพนัน นำเงินที่เคยต้องเสียไปกับค่าเหล่า บุหรี่ การพนัน ไปหยอดกระปุก แล้วมานับดูเมื่อสิ้นเดือนเพื่อให้เกิดแรงจูงใจมากขึ้น

3.4 สร้างสุขในครัวเรือน ตั้งสติเวลามีเรื่องขัดแย้งกัน หลบไปคนละมุมก่อน อารมณ์ดีแล้วค่อยหันกลับมาคุยกันใหม่หากิจกรรมทำร่วมกัน เช่นช่วยกันทำงานบ้าน ไปทำบุญด้วยกัน  มีปัญหาต้องช่วยกันคิดหาทางออก ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ที่สำคัญยิ้มแย้มแจ่มใสไม่หน้าบึ้งหน้างอใส่กัน

3.5 หากัลยาณมิตร ไม่ปิดกั้นตนเองอยู่แต่ในบ้าน แสวงหาเพื่อนดี ๆ แสวงหาโอกาสในการเรียนรู้สิ่งดีๆที่เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตจากกัลยาณมิตร มีน้ำจิตน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน รู้จักเสียสละเวลาเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน  

4. ร่วมแรงแข็งขันลงมือทำอย่างจริงจัง ขั้นตอนนี้สำคัญที่สุดที่จะให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการบรรลุทางออก ผ่าทางตันได้สำเร็จ คนในครัวเรือนจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง หัวหน้าครัวเรือนต้องหนักแน่น ทำหน้าที่เป็นเสมือนกัปตันทีม คอยควบคุม ดูแล และให้กำลังใจสมาชิกในครัวเรือน ให้ผ่าทางตันให้ได้แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ควบคุมแบบเคร่งเครียด ยึดทางสายกลาง ถือคติค่อยเป็นค่อยไป อะไรทำไม่ดี ไม่เป็นไรตั้งต้นใหม่ได้เสมอ

5. ทบทวน ประเมินตนเอง
5.1 กิจกรรมอะไรที่ทำแล้วได้ผลดี ให้ทำต่อเนื่อง เช่นการทำบัญชีรับจ่าย การประหยัดค่าน้ำค่าไฟฟ้า พฤติกรรมที่ดีทำแล้วคนในครัวเรือนมีความสุข เช่น การกอดกัน เดินจูงมือกัน หอมแก้มกัน ร้องเพลง/เล่นกีฬา /อ่านหนังสือ /ดูทีวีร่วมกัน เป็นต้น

5.2 กิจกรรมหรือพฤติกรรมที่ยังทำไม่ได้ดี ให้หันหน้ามาจับเข่าคุยกันแล้วทบทวนปรับปรุงใหม่
การจัดทำแผนชีวิตของครัวเรือน 5 ขั้นตอนนี้ สามารถนำไปปรับใช้ได้กับครัวเรือนทุกสาขาอาชีพ และในการจัดทำแผนชีวิต นอกจากจะเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนของครัวเรือนแล้ว
ยังสามารถใช้ป้องกันความยากจนที่อาจจะมาเยือนครัวเรือนของผู้มีอันจะกินได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ครัวเรือนต้องมีความมั่นคงและหนักแน่นในการลงมือทำ ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ทำอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นค่านิยมของครัวเรือน ที่มุ่งพึ่งตนเองเป็นสำคัญ ดังพุทธสุภาษิต “อัตตาหิ อัตโน นาโถ”
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น