วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เทคนิคการแบ่งกลุ่มให้รวดเร็ว

พวกเราพัฒนากรมักต้องทำงานโดยวิธีการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมสมองอยู่บ่อย ๆ ปัญหาคือ เราจะแบ่งอย่างไรให้เหมาะสมและรวดเร็ว เพราะถ้าช้าก็จะเสียเวลาไปกับการแบ่งกลุ่มมากเกินไป แทนที่จะได้เนื้อหาสาระมากขึ้น
วิธีการที่ผมใช้แบ่งกลุ่มคน มีหลายวิธีครับ แล้วแต่กลุ่มเป้าหมายและความจำเป็น เช่น
1. ให้นับเลข สมมุติว่าต้องการแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ก็ให้ผู้เข้าประชุมนับเลข 1 ถึง 5 เรื่อยไปจนครบทุกคน ใครนับหมายเลข 1 ไปอยู่กลุ่มที่ 1 ใครนับหมายเลข 2 ไปอยู่กลุ่มที่ 2 จนครบ 5 กลุ่ม วิธีนี้ใช้กับกลุ่มเป้าหมายที่นั่งหรือยืนเป็นแถวอยู่แล้วจะสะดวกดี
2. แจกลูกอม สมมุติต้องการแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ก็ให้เตรียมลูกอมไว้ 5 ชนิด ๆ ละเท่ากัน และเท่าจำนวนผู้เข้าประชุมทั้งหมด เมื่อผู้เข้าประชุมเข้าห้อง เราก็แจกลูกอม แล้วให้เขาเก็บไว้ เมื่อถึงเวลาแบ่งกลุ่ม ก็แบ่งตามสีหรือชนิดของลูกอมที่เขาได้รับ วิธีนี้จะแบ่งกลุ่มเมื่อไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องยืนหรือนั่งเป็นแถว
3. แบ่งตามวันเกิด วิธีนี้เป็นการแบ่งกลุ่มแบบหลวม ๆ พอให้เป็นกลุ่มขึ้นมาเท่านั้น เนื่องจากอาจต้องการความรวดเร็ว เราก็แบ่งตามวันเกิดไปเลย จะแบ่งกี่กลุ่มก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น 7 กลุ่ม ให้เราสังเกตดูว่าวันไหนมีจำนวนคนเกิดน้อย จะให้เอาคนมารวมกันก็ได้ ข้อเสียของวิธีนี้ คือ ได้จำนวนที่ไม่เท่ากัน และบางคนไม่เข้ากลุ่มตามวันเกิด
4. แบ่งเองตามการคาดคะเน วิธีนี้เป็นการแบ่งกลุ่มแบบหลวม ๆ และต้องการความรวดเร็วมากๆ เราอาจแบ่งเองก็ได้ เช่น ผู้เข้าประชุมนั่งอยู่ในห้องที่มีช่องทางเดินระหว่างกลาง มีแถวทั้งหมด 10 แถว เราอาจแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่ม คือ ซ้าย,ขวา หรือแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มละ 2 แถว หรือ 5 แถวบนด้านซ้าย ,5 แถวบนด้านขวา ,5 แถวล่างด้านซ้าย และ 5 แถวล่างด้านขวา
5. แบ่งโดยจัดรายชื่อให้มีคุณสมบัติคล้ายกัน บางทีเราต้องแบ่งกลุ่มโดยต้องการกลุ่มเป้าหมายที่มาจากต่างที่กัน มีผู้หญิง ผู้ชาย ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน หรือต้องการคนที่มีคุณสมบัติบางประการในทุกกลุ่ม ถ้าเป็นอย่างนี้ ต้องใช้เวลาจัดรายชื่อเอาเองครับ ต้องดูคุณสมบัติแต่ละคน แล้วค่อยคัดออกมาอยู่แต่ละกลุ่ม วิธีนี้จะเสียเวลานิดหน่อย แต่ก็ได้คุณสมบัติที่เราต้องการครับ...
นี่คือวิธีการที่ผมใช้ในการแบ่งกลุ่มอยู่บ่อยๆ วิธีการอื่นก็มี แต่ผมไม่ค่อยได้ใช้ครับ...

สุรเดช วรรณศิริ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
โทร.038-511239

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การจัดทำแผนงาน/โครงการตามแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด

เรื่องนี้เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนงบประมาณดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2552 ถึงพฤษภาคม 2553 สถานที่เกิดเหตุการณ์ คือ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา เรื่องมาอยู่ว่า...

การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติงานในส่วนของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดในการขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชนให้ประสบผลสำเร็จ จากผลกระทบในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณที่กรมฯ ได้รับการจัดสรรลดลงทุกปี จึงเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินงานในระดับพื้นที่ในการขับเคลื่อนนโยบายกรมฯ นโยบายกระทรวงให้ประสบผลสำเร็จ การแสวงหาโอกาสการเข้าถึงแหล่งงบประมาณจึงเป็นเรื่องสำคัญ การสอดแทรกแผนงาน/โครงการเข้าไปบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินงาน เพราะนั่นหมายถึง การมีงบประมาณในการทำงาน การขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล กระทรวง กรมฯ และจังหวัดในประสบผลสำเร็จ

การขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการที่สำคัญให้เข้าบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ไม่ได้หมายถึงการเขียนแผนงาน/โครงการส่งสำนักงานจังหวัดให้บรรจุเข้าไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดเท่านั้น แต่หมายถึงแผนงาน/โครงการที่ทำขึ้นนั้นจะต้องมีการวิเคราะห์ถึงต้นทุนที่ลงไปกับผลที่จะได้รับว่าคุ้มทุนหรือไม่ นอกจากนั้น ยังต้องรู้และเข้าใจในวิสัยทัศน์จังหวัด เข้าใจในยุทธศาสตร์จังหวัดว่าต้องการอะไร วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์กรมฯ วิสัยทัศน์สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และยุทธศาสตร์สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สอดรับกับวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์หรือไม่ ดังนั้น การจะทำให้แผนงาน/โครงการที่เขียนได้รับการตอบสนอง กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนจังหวัดจึงต้องพยายามแสดงวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ ทั้ง 3 ส่วน ให้มีความสอดรับและมีความเชื่อมโยงกันให้ได้ เพื่อสะดวกต่อการเขียนแผนงาน/โครงการ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดในแต่ละปี

ดังนั้น นักวิชาการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนทุกคน ต้องมีพื้นฐานองค์ความรู้เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ของจังหวัด/กรมฯ/และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอย่างละเอียดลึกซึ้ง เพื่อนำองค์ความรู้มาใช้ในการจัดทำแผนงาน/โครงการ เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดได้ ประการสำคัญต้องตอบให้ได้ว่าแผนงาน/โครงการที่ทำนั้นตอบสนองยุทธศาสตร์/ตัวชี้วัดอะไร และจะส่งผลต่อความสำเร็จของวิสัยทัศน์ได้อย่างไร

กลยุทธ์ในการจัดทำแผนงาน/โครงการ
1. ศึกษาการเขียนแผนงาน/โครงการ ที่มีประสิทธิภาพ
2. ศึกษาวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์
3. ศึกษากรอบระยะเวลาการจัดทำแผนงาน/โครงการ

แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
1. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551
2. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550
3. การติดตามผลและการประเมินผลด้วยเครื่องมือ
PART

นายอรชุน ธิวรรณลักษณ์
หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน
รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา