วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เทคนิคการคัดเลือกหมู่บ้านประกวด

ตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นพัฒนาการอำเภอมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ กิจกรรมพัฒนาชุมชนที่ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นกิจกรรมที่ยาก และต้องใช้ความสามารถในการดำเนินการมากที่สุด ก็คือ กิจกรรมการประกวดกิจกรรมงานพัฒนาชุมชนดีเด่น โดยเฉพาะการคัดเลือกหมู่บ้าน ซึ่งจะประกวด “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุข ระดับจังหวัด ซึ่งการประกวดแต่ละครั้งกรมการพัฒนาชุมชนไม่ได้สนับสนุนงบประมาณลงมาในระดับอำเภอ เพราะฉะนั้นในการคัดเลือกนั้นต้องคัดเลือกหมู่บ้านที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง และมีความเข้มแข็งตั้งแต่ ผู้ใหญ่บ้าน,คณะกรรมการหมู่บ้าน พร้อมกับชาวบ้านต้องให้การมีส่วนร่วม

วิธีดำเนินการ
๑. ข้าพเจ้าจะประชุมทีมงานในอำเภอ และดูว่าหมู่บ้านนั้น มีทุนอะไรอยู่ในหมู่บ้านบ้าง และอะไรที่เราจะต้องนำไปเสริมให้เกิดความสมบูรณ์แบบ และในหมู่บ้านนั้นกิจกรรมประกวดด้านอื่น เช่น ผู้นำวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ครอบครัวพัฒนา กลุ่มออมทรัพย์ หรือกลุ่มต่าง ๆ มีความเข้มแข็งหรือไม่

๒. เมื่อได้หมู่บ้านที่ต้องการแล้ว(ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้าพเจ้าได้คัดเลือกบ้านอ่างเตย หมู่ที่ ๙ ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา) รายงานนายอำเภอทราบ ข้าพเจ้าและพัฒนากรประจำตำบล ได้ไปจัดประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้คณะกรรมการหมู่บ้าน รับรู้ถึงการคัดเลือกหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านประกวด นำเสนอหลักการและวัตถุประสงค์ในการประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุข ดีเด่นระดับจังหวัด และกิจกรรมเครือข่าย และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ

๓. ประชาคมชาวบ้านเพื่อสร้างความเข้าใจในโครงการประกวดดังกล่าว
ทีมงานพัฒนาชุมชนประชุมกำหนดรูปแบบการจัดกิจกรรม และวิธีการนำเสนอกิจกรรม ต่าง ๆ ในหมู่บ้าน วิธีการต้อนรับคณะกรรมการ และสถานที่ดูงานที่จะพาคณะกรรมการเยี่ยมชม ทีมงานพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน ได้ร่วมกันจัดสถานที่ต้อนรับ จัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ครบถ้วน และเตรียมเชิญชาวบ้านอ่างเตยได้เข้าร่วมในกิจกรรมประกวดหมู่บ้านในครั้งนี้ด้วย

ข้าพเจ้าได้ประสานหน่วยงานต่าง ๆ และภาคีการพัฒนา รวมถึงผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น เข้าร่วมเป็นเกียรติในการประกวดกิจกรรมในครั้งนี้ โดยเรียนเชิญนายอำเภอ ร่วมต้อนรับคณะกรรมการประกวด มีกิจกรรมการแสดงเพื่อความประทับใจสำหรับกรรมการ

แก่นความรู้
การคัดเลือกหมู่บ้าน ต้องคำนึงถึง
๑.
ความพร้อมของหมู่บ้าน เช่น ผู้นำ คณะกรรมการหมู่บ้าน สถานที่

๒.
การมีกลุ่ม/องค์กรต่าง ๆ ที่หลากหลายและเข้มแข็ง

๓.
ความร่วมมือของชาวบ้าน

๔.
การดำรงชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


และในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ บ้านอ่างเตย หมู่ที่ ๙ ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
อยู่เย็น เป็นสุข ระดับจังหวัด และได้รับโล่พระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวบ้าน อ่างเตยเป็นอย่างยิ่ง

นางรงรอง พงษ์ชวลิต

พัฒนาการอำเภอพนมสารคาม
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพนมสารคาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น