วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคการทำงานพัฒนาชุมชนบนความต่างทางศาสนา “บ้านสมอเซ”



สถานการณ์ที่ทำให้เราต้องไปศึกษา... ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรามีประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ กระจายอยู่ด้วยกันในหลายพื้นที่ ความยากลำบากของการทำงานในพื้นที่เหล่านี้ คือ ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และผู้นำชุมชนจะต้องเข้าใจ และเข้าถึง ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ และวิถีชีวิตของชาวบ้านทุกฝ่าย เพื่อให้การพัฒนาหมู่บ้านเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น หากมีปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ด้วยสันติวิธี

เหตุผลที่เลือกพื้นที่
บ้านสมอเซเพื่อถอดบทเรียนการทำงาน...
เนื่องจากบ้านสมอเซเป็นพื้นที่ที่มีผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชนค่อนข้างโดดเด่น การพัฒนาหมู่บ้านด้านอื่นๆ ก็เป็นไปด้วยความราบรื่น เรียบร้อย ชาวบ้านให้ความร่วมมือ มีความสามัคคี และที่สำคัญคือที่นี่มีชาวบ้านที่นับถือศาสนาอิสลาม และชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธอยู่ด้วยกัน ประกอบกับบริบทของพื้นที่มีคลอง การติดต่อ ประสานงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก เราจึงต้องการศึกษาว่าผู้นำชุมชน เขามีเทคนิควิธีการทำงานอย่างไร เพื่อจะได้นำเอาวิธีการเหล่านี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีสภาพของหมู่บ้านใกล้เคียงกันได้บ้าง

ทำไมพื้นที่ที่มีทั้งพุทธและอิสลามอยู่ด้วยกันจึงแตกต่างจากพื้นที่อื่น...
เหตุผลที่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ คือ ความแตกต่างทางด้านการนับถือศาสนา ทำให้ทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด และวิถีชีวิตของชาวบ้านแตกต่างกัน ดังนั้น การทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่ทั้งผู้ที่นับศาสนาพุทธและอิสลามอยู่ด้วยกัน จึงต้องมีวิธีการทำงานที่แตกต่างจากพื้นที่ที่มีชาวบ้านนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเพียงศาสนาเดียว

บริบทของบ้านสมอเซ...
ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมคลองสมอเซทั้งสองฝั่งคลอง ซึ่งจากการเล่าขานว่าในอดีตกาลพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นอ่าวชายฝั่ง เป็นเส้นทางเดินเรือสำเภา ครั้งเมื่อเกิดเหตุพายุพัดแรง ชาวเรือจึงทิ้งสมอเพื่อหยุดเรือ แต่เรือเกิดเสียการทรงตัวไปติดอยู่ที่เกาะไร่ จึงกลายเป็นชื่อเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “สมอเซ” ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลคลองเปรง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา มีจำนวนครัวเรือน 55 ครัวเรือน ประชากร 272 คน แยกเป็นเพศหญิง 132 คน เพศชาย  140 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และบางส่วนนับถือศาสนาอิสลาม

ลักษณะการประกอบอาชีพและประเพณีวัฒนธรรม...
ชาวบ้านสมอเซห์ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ประมาณร้อยละ 60 รองลงมา คือ อาชีพรับจ้างทั่วไป ประมาณร้อยละ 29 และอาชีพอื่นๆ อีกประมาณร้อยละ 11 มีประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละศาสนาของหมู่บ้าน คือ ศาสนาอิสลาม มีประเพณีการขึ้นสปัน การแต่งงาน (ตามหลักศาสนาอิสลาม) ดื่มน้ำชาการกุศล นาเสป ลิเกฮูลู และศาสนาพุทธมีประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญ เช่น รดน้ำดำหัว ทำบุญขวัญข้าว งานแต่งงาน งานบวช เป็นต้น

วิธีการทำงานพัฒนาชุมชนของผู้นำชุมชนบ้านสมอเซ... จาการถอดบทเรียน มีวิธีการทำงานที่สำคัญ 4 ข้อ ดังนี้
1. การประสานงานสื่อสารข้อมูลข่าวสารในหมู่บ้าน...
จะใช้วิธีออกหนังสือไปยังคณะกรรมการหมู่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้านจะนำไปบอกต่อลูกบ้านโดยแบ่งโซนการประสานงาน จะมีการโทรศัพท์บอก และก่อนจะเริ่มการประชุมหรือเริ่มกิจกรรมก็จะประกาศเสียงตามสาย เตือนให้ชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมอีกครั้งหนึ่ง และที่เกี่ยวข้องกับศาสนาจะประสานผู้นำศาสนา

2. การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน...
เพื่อให้บ้านสมอเซได้รับความร่วมมือ ข้อมูลข่าวสารทั่วถึง โดยการใช้วิธีประชาคมหมู่บ้าน ในการประชาคมให้ตัวแทนครัวเรือนเข้าร่วมอย่างน้อย 1 คน ในการจัดประชุม/ประชาคมของหมู่บ้านต้องเลือกเวลาและโอกาสที่สะดวกของชาวบ้านส่วนใหญ่ โดยเลี่ยงเวลาที่มีการละหมาด (ศาสนาอิสลาม) เพื่อให้ชาวบ้านได้มีมาร่วมกิจกรรมของหมู่บ้านอย่างครบถ้วน

3. การจัดการกับปัญหาของชุมชน...
บ้านสมอเซ ใช้วิธีการไกล่เกลี่ย หากเป็นเรื่องปัญหาทั่วไปมีศูนย์ไกล่ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล หากเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างศาสนาใช้ผู้นำศาสนามาเกี่ยวข้อง โดยหลักศาสนาอิสลามจะมีหลักทางศาสนาที่ยึดถือและปฏิบัติ ปัญหาที่เป็นลักษณะของชุมชนใช้วิธีประชาคม เพื่อหาข้อมูล แนวทางการแก้ไขปัญหา และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกิจกรรมด้วย

4. การใช้เครื่องมือดำเนินกิจกรรมในหมู่บ้าน...
จะยึดหลักในการใช้แผนชุมชนเป็นเครื่องมือในการทำงาน ใช้วันสำคัญทางศาสนา และวันสำคัญทางราชการ เป็นวันกำหนดทำกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้าน มีการจัดเก็บข้อมูลของชุมชน เช่น จปฐ. กชช.2ค ข้อมูลประชากร ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มการประกอบอาชีพในหมู่บ้าน ได้แก่ กลุ่มขนมหวาน กลุ่มทำไม้กวาด

ปัจจัยความสำเร็จของหมู่บ้านในวันนี้...
จากการถอดบทเรียนเราพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาบ้านสมอเซ ดังนี้

  1. ความเชื่อถือศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อผู้นำชุมชน
  2. ความเป็นกลางของผู้นำชุมชน
  3. ความศรัทธาต่อผู้นำศาสนา/ผู้นำธรรมชาติ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ
  4. ผู้นำชุมชนได้รับการยอมรับจากประชาชน
  5. ความเข้มแข็งของชุมชน
  6. บรรพบุรุษที่มีจิตอาสาและเป็นแบบอย่างที่ดี
  7. ชุมชนมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย
  8. มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ลูกหลาน
  9. มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสม่ำเสมอ
  10. มีจุดศูนย์รวมทางจิตใจ วัดและมัสยิด

เทคนิคการทำงานพัฒนาชุมชนในชุมชนไทยพุทธและไทยอิสลาม “บ้านหนองปลาไหล”



สถานการณ์ที่ทำให้เราต้องไปศึกษา... อำเภอแปลงยาว  เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนความหลากหลายทางสังคม ทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรม ชุมชนในเมืองและชนบท วัฒนธรรมความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และทางศาสนา ทำให้การดำเนินชีวิตของอำเภอแปลงยาวจึงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ ด้านศาสนา  ซึ่งในอำเภอแปลงยาว มีทั้งหมด 4 ตำบล 48 หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านจะประกอบอาชีพการทำสวนยางพารา และรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นจำนวนมาก วิถีชีวิตของชาวบ้านก็เปลี่ยนไปจากเดิมแต่ก่อน  ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกข้าว ปลูกพริก ปลูกสับปะรด  แต่ในปัจจุบันหันมาปลูกยางพารากันมาก คิดเป็นร้อยละ 86 ในอำเภอแปลงยาว การดำรงชีวิตก็เปลี่ยนไปเข้านอนเร็วเพื่อตื่นแต่เช้ามืด บางครอบครัวต้องลุกขึ้นตื่นมากรีดยาง บางก็รับจ้างกรีดยาง ตั้งแต่สี่ถึงห้านาฬิกา จะเสร็จก็ประมาณ เจ็ดถึงแปดนาฬิกา  แต่อย่างไรก็ตามในอำเภอนี้ ก็ยังมีหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มี การนับถือศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 60 ของหมู่บ้านนั้น คือ บ้านหนองปลาไหล หมู่ที่ 1 ตำบลอหนองไม้แก่น อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา

เหตุผลที่เลือกพื้นที่
บ้านหนองปลาไหลเพื่อถอดบทเรียนการทำงาน... เนื่องจากบ้านหนองปลาไหลนับถือศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 60 ของหมู่บ้าน เป็นพื้นที่ที่มีผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชนค่อนข้างโดดเด่น การมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้นำเข้มแข็ง และชุมชนมีความสามัคคีกัน และตรงต่อเวลาในการประชุมทุกครั้ง และที่สำคัญคือที่นี่มีชาวบ้านที่นับถือศาสนาอิสลาม และชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธอยู่ด้วยกัน เราจึงต้องการศึกษาว่าทำอย่างไรชุมชนนี้จึงอยู่กันได้อย่างพี่น้อง ทั้ง ๆ ที่มีการนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน เขามีเทคนิควิธีการทำงานอย่างไร เพื่อจะได้นำเอาวิธีการเหล่านี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีสภาพของหมู่บ้านใกล้เคียงกันได้บ้าง
ทำไมพื้นที่ที่มีทั้งพุทธและอิสลามอยู่ด้วยกันจึงแตกต่างจากพื้นที่อื่น... เหตุผลที่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ คือ ความแตกต่างทางด้านการนับถือศาสนา ทำให้ทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด และวิถีชีวิตของชาวบ้านแตกต่างกัน ดังนั้น การทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่ทั้งผู้ที่นับศาสนาพุทธและอิสลามอยู่ด้วยกัน จึงต้องมีวิธีการทำงานที่แตกต่างจากพื้นที่ที่มีชาวบ้านนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเพียงศาสนาเดียว

หลักคิดในการทำงานของพัฒนาชุมชน...
ความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนมีแนวคิดในการทำงาน ดังนี้
1.การพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มองค์กร/ประชาชนในและนอกชุมชน เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่

2.ระดมพลังความคิดจากกลุ่มองค์กร ผู้นำ ประชาชน กำหนดแนวทางการบริหารร่วมกัน
3.มีแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและถ่ายทอดองค์ความรู้ของชุมชนสู่เยาวชนและผู้สนใจ
4.ระดมทุนและทรัพยากร ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
5.จัดให้มีสวัสดิการต่าง ๆ ในชุมชน
6.การบูรณาการทำงานของหน่วยงานภาคีต่าง ๆ
7.การสร้างความเป็นผู้นำ


วิธีการทำงานพัฒนาชุมชนของผู้นำชุมชนบ้านหนองปลาไหล...
มีวิธีการทำงานของที่นี่ก็น่าจะได้วิธีการที่สำคัญ 4 ข้อ ดังนี้
1.การประสานงาน...
การประสานงานกันในหมู่บ้านได้แบ่งหน้าที่การทำงานตามผู้นำชุมชนโดยการนำผู้นำของศาสนาของตนเองเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านการบริหารชุมชน ด้านการบริหารกองทุนหมู่บ้าน ด้านการบริหารคณะกรรมการหมู่บ้าน ด้านการบริหารการจัดการป้องกันยาเสพติดในชุมชน โดยเลือกผู้นำชุมชน ประกอบไปด้วย  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาพัฒนาชุมชน รวมทั้งอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน  จึงทำให้การทำงานของไทยพุทธ และไทยอิสลาม อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข

2.การสื่อสารข้อมูลข่าวสารในหมู่บ้าน...
ชาวบ้านไทยพุทธ และไทยอิสลาม มีการสื่อสารประสานงาน โดยใช้แกนนำของผู้นำ/กรรมการแต่ละศาสนาที่แต่งตั้งในการบริหารชุมชน แยกเป็นสาย ๆ หรือคุ้มต่าง ๆ ในการสื่อสารติดต่อประสานงาน เช่น หากมีหนังสือจากทางราชการ จะถ่ายเอกสารส่งให้ชุมชนตามเป้าหมายที่ทางราชการกำหนด ในกรณีที่เป้าหมายไม่มากนัก ประมาณ 10-20 คน การสื่อสารทางโทรศัพท์มีความจำเป็นมากของชุมชนบ้านหนองปลาไหล  เป็นการลดระยะทางในการเดินทางไปแจกหนังสือให้กับชุมชน อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คณะกรรมการหมู่บ้าน และอาสาพัฒนาชุมชนในหมู่บ้าน ได้รับผิดชอบในการเรียกชาวบ้านมาประชุมประจำเดือน และโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการ  ในอัตรา 1 : 15 ครัวเรือน

3. การสร้างการมีส่วนร่วม... ได้มีการร่วมกันคิดและหาทางออกในการทำงานร่วมกัน เช่น การบริหารงานกองทุนหมู่บ้าน  การประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านทุกวันที่ 10 ของเดือน การจัดทำแผนชุมชน การจัดกิจกรรมวันสำคัญ เช่น วันเด็กแห่งชาติ การแข่งกีฬาโรงเรียน/ชุมชน วันที่12สิงหาคม และวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี กิจกรรมทางศาสนา มีการเชิญผู้นำทั้ง 2 ศาสนาเข้าร่วมกิจกรรม

การร่วมคิด วางแผนและดำเนินการ หมู่บ้านไทยพุทธและไทยอิสลาม ได้มีการจัดระเบียบหมู่บ้านในการมีส่วนร่วมของทั้งสองศาสนา โดยการใช้โรงเรียนบ้านหนองปลาไหลเป็นศูนย์กลางในการร่วมคิด วางแผนและดำเนินการต่าง ๆ ของกิจกรรมในหมู่บ้าน เช่นการจัดกิจกรรมวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม และวันที่เฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นต้น

กองทุนหมู่บ้านของชุมชน เป็นการบริหารการจัดการของคนในชุมชน และร่วมกันกำหนดแผนการดำเนินงานในการบริหารและจัดการกองทุนหมู่บ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสมาชิกไทยพุทธก็คิดดอกเบี้ยตามปกติ แต่ถ้าเป็นสมาชิกไทยอิสลามกู้เงิน การคิดดอกเบี้ยมาเป็นค่าบำรุงให้กับกองทุนหมู่บ้าน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าบำรุงคิดในอัตราร้อยละ 6 เท่ากัน

ดอกเบี้ยและค่าบำรุงของกองทุนหมู่บ้าน นำมาจัดสรรประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านหนองปลาไหล ได้แก่
1. เป็นทุนการศึกษาบุตรของสมาชิก
2. สวัสดิการในการรักษาพยาบาล ในกรณีนอนโรงพยาบาล วันละ 350 บาท
3. ฌาปนกิจสงเคราะห์ของหมู่บ้าน
4. อสม.ดูแลสุขภาพคนในชุมชน


4. การจัดการกับปัญหาในชุมชน...
หมู่บ้านหนองปลาไหลมีชาวบ้านไทยพุทธและไทยอิสลาม มีแนวทางการจัดการปัญหาในหมู่บ้าน/ชุมชน ดังนี้

  • ให้ผู้ใหญ่บ้าน ไกล่เกลี่ย ให้ผู้นำชุมชน/คณะกรรมการหมู่บ้าน ที่ใกล้ชิดกับคู่กรณี ไกล่เกลี่ย
  • ให้บิดา มารดา และญาติพี่น้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในกรณีของบุตรหลานของตนประพฤติไม่ดี
  • หากเกิดกรณีของคนในทางศาสนาใดศาสนาหนึ่งประพฤติไม่ดี ก็ให้ผู้นำศาสนานั้น ๆ มาไกล่เกลี่ย เรียกประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านของทั้งสองศาสนา มาประชุมแก้ไขปัญหา หาทางออกร่วมกันในกรณีข้อ 1-4  ไม่สามารถตกลงกันได้
5. หลักในการดำเนินกิจกรรมในหมู่บ้าน... ผู้นำชุมชนจะยึดหลักความร่วมมือร่วมใจกัน ความซื่อสัตย์สุจริต ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา ความไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เป็นพรรคเป็นพวก ความสามัคคีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความรู้จักหน้าที่ของตนเอง  ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และการยึดหลักประชาธิปไตยในการดำเนินงาน
เทคนิคการทำงานในพื้นที่ที่มีไทยพุทธและไทยอิสลาม...
  • P1 : People การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีผู้นำชุมชนเป็นผู้ใหญ่บ้าน ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมอย่างมาก  ประกอบกับมีคณะทำงานบริหารกรรมการของหมู่บ้านมีความเข้มแข็ง    สามารถเป็นตัวอย่าง และต้นแบบในการเผยแพร่ให้คนทั้งในและนอกชุมชนได้ดำเนินตามได้
  • P2 : Place การพัฒนาพื้นที่  ได้มีการยึดพื้นที่เป็นหลักในการทำให้ชุมชนน่าอยู่มีการจัดการชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยความร่วมมือของผู้นำทั้งสองศาสนา
  • P3 : Product  การกำหนดอัตลักษณ์ของชุมชน  Positioning ร่วมกันวิเคราะห์ ในรูปของการจัดเวทีประชาคม เพื่อหาแนวทางหรือทิศทางที่เป็นจุดแข็ง หรือจุดเด่นของชุมชน ซึ่งบ้านหนองปลาไหล หมู่ที่ 1  ได้กำหนดอัตลักษณ์ เป็นศาสนาพุทธและอิสลาม มีการบูรณาการในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน และการรักษาประเพณีวัฒนธรรมของศาสนาทั้งสองอย่างดี
  • P4 : Planning การพัฒนาแผนชุมชน ได้มีการจัดประชุมประจำเดือนทุกวันที่ 10 ของเดือน และมีการประชาคมทำแผนชุมชน มีครัวเรือนเข้าร่วมในการจัดทำแผน โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไม้แก่น สำนักงานพัฒนาชุมชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ เข้าร่วมตั้งแต่ต้น มีแผนชุมชนเป็นรูปเล่มในหมู่บ้าน
เทคนิคการทำงานของพัฒนากรสู่ความสำเร็จของหมู่บ้าน...จากการถอดบทเรียนพบว่า สิ่งที่พัฒนากรต้องปฏิบัติมี ดังนี้  ควรตรงต่อเวลา ต้องนอบน้อมถ่อมตน ต้องมีวาจาอ่อนหวานต้องเป็นคนที่มีกัลยาณมิตรที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น

เทคนิคการแก้ไขปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน “บ้านสกัดสี่สิบ”



สถานการณ์ที่ทำให้เราต้องไปศึกษา... บ้านสกัดสี่สิบ หมู่ที่ 17 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร เนื่องจากในพื้นที่หมู่บ้านและใกล้เคียงมีโรงงานอุตสาหกรรม จึงมีประชากรแฝงที่มาอาศัยเพื่อทำงานในโรงงาน ซึ่งมาจากต่างพื้นที่ทั้งต่างจังหวัดและต่างด้าว ทำให้การบริหารงานในชุมชน โดยเฉพาะผู้นำชุมชนต้องมีการเข้าถึง ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ และวิถีชีวิตของชาวบ้านทุกฝ่าย เพื่อให้การพัฒนาหมู่บ้านเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน การพัฒนาหมู่บ้านให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้มีความราบรื่น หากมีปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ด้วยสันติวิธี

เหตุผลที่เลือกบ้านสกัดสี่สิบเป็นพื้นที่ศึกษา...
เนื่องจากบ้านสกัดสี่สิบเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่หมู่บ้าน ชาวบ้านมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบกับประชาชนในพื้นที่มีทั้งคนดั้งเดิม ต่างถิ่น ต่างด้าว แต่ก็ปรากฏว่ากิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากชาวบ้าน ไม่มีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น ระหว่างชาวบ้าน ผู้นำชุมชน โรงงาน และผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นหมู่บ้านที่เป็นต้นแบบการทำงานหลายอย่างและได้รับรางวัลดีเด่นระดับจังหวัด หลายอย่าง เช่น หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ปี 2555 หมู่บ้านปลอดยาเสพติดและอำเภอบางปะกงเสนอให้เป็นกองทุนแม่ดีเด่น ปี 2556 ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในการประกวดหมู่บ้านปลอดยุงลาย ได้รับโล่เกียรติคุณครอบครัวร่มเย็นจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดฉะเชิงเทรา และผู้ใหญ่บ้านได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านดีเด่น (แหนบทองคำ) ปี 2556 จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บ้านสกัดสี่สิบเป็นพื้นที่ที่น่าศึกษาเพื่อถอดบทเรียนไปใช้เป็นแบบอย่างให้กับหมู่บ้านอื่นๆ ที่มีสภาพสังคมที่คล้ายคลึงกัน

บริบทของบ้านสกัดสี่สิบ... บ้านสกัดสี่สิบ เดิมอยู่กับหมู่ที่ 14 ตำบล ตำบลบางปะกง แยกเป็นบ้านสกัดสี่สิบ หมู่ที่ 17 ตำบลบางปะกง เมื่อปี พ.ศ.2531 ที่ชาวบ้านเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “สกัดสี่สิบ” เพราะในหมู่บ้านอยู่ห่างจากตำบลบางเกลือ 40 เส้น เมื่อทางราชการให้ตั้งชื่อหมู่บ้าน ผู้นำชุมชนในสมัยนั้นตั้งชื่อหมู่บ้านตามสภาพพื้นที่เรียกว่า “สกัดสี่สิบ” ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

เทคนิคการทำงานของผู้นำชุมชน...
ความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนของบ้านสกัดสี่สิบเกิดจากการมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ทำงานเป็นทีม โดยยึดหลักคิดในการทำงานเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน ได้แก่

  1. การรู้จักแบ่งการทำงานผู้นำชุมชน 1 คน ต่อ 20 ครอบครัว ในการส่งข่าวสารในการประชุม
  2. มีการประชุมกันอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน โดยการจัดประชุมในวันหยุด คือ วันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือน เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าร่วมอย่างครบถ้วน และได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง
  3. ผู้นำชุมชนที่เป็นแกนนำ แกนกลางในการประสานงานต้องมีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ ในครัวเรือนที่รับผิดชอบการประสาน
  4. ผู้นำชุมชนต้องเป็นแบบอย่างที่ดี การมีภาวะผู้นำ และใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง

คำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่ในการทำงานพื้นที่... ผู้นำชุมชนให้คำแนะนำไว้ว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ ดังนี้
  1. ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนพื้นที่นั้น ๆ
  2. ต้องรู้จักชุมชน และประชาชนในวิธีการทำงานของบุคคลนั้น ๆ
  3. ให้เวลากับชุมชนตามความเหมาะสม


ปัจจัยความสำเร็จของหมู่บ้านในวันนี้...จากการถอดบทเรียนเราพบว่า สิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาหมู่บ้าน ดังนี้
  1. การรู้จักตนเอง รู้จักชุมชน โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในหมู่บ้าน แบ่งความรับผิดชอบ เพื่อความสะดวกในการทำงานในทุก ๆ ด้าน
  2. ยึดทางสายกลาง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิตและการทำงานพัฒนาชุมชน
  3. การรู้จักใช้คนตามวุฒิภาวะ ความรับผิดชอบ

วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคการทำงานพัฒนาชุมชนบนความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม “บ้านสระไม้แดง”


สถานการณ์ที่ทำให้เราต้องไปศึกษา... บ้านสระไม้แดง  เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนความหลากหลายทางสังคม ทางด้านการเกษตร ชาวบ้านในชุมชน มีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมประเพณี ภาษาพูด ความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และทางศาสนา    ทำให้การดำเนินชีวิตของชาวบ้านสระไม้แดงจึงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ ด้านศาสนา ทางด้านวัฒนธรรมประเพณี และภาษาพูด ชาวบ้านจะประกอบอาชีพการเพาะเห็ดฟาง ทำนา และรับจ้าง 
 
เหตุผลที่เลือกพื้นที่ สระไม้แดงเพื่อถอดบทเรียนการทำงาน... เนื่องจากบ้านสระไม้แดงเป็นพื้นที่ที่มีผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชนค่อนข้างโดดเด่น เป็นหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลดีเด่นระดับจังหวัดมากมาย มีวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (ลงแขกถือแรง) ด้านการเกษตรอย่างเห็นได้ชัดเจน การดำเนินงานกองทุนต่างๆ และการพัฒนาหมู่บ้านด้านอื่นๆ ก็เป็นไปด้วยความราบรื่น เรียบร้อย ชาวบ้านให้ความร่วมมือดีมาก ที่สำคัญคือที่นี่มีชาวบ้านนับถือศาสนาหลายศาสนา ได้แก่ศาสนาพุทธ ร้อยละ 60 ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 30 และศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 10 ประกอบกับประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลายและภาษาพูดที่แตกต่างกัน ได้แก่ ลาว(ภาคอีสาน) ร้อยละ 40 ภูไท ร้อยละ 30 เขมร ร้อยละ 20 และลาวพวน ร้อยละ 10 อิสลาม แต่ชาวบ้านสามารถอยู่ด้วยกันอย่างรักใคร่ สามัคคี ร่วมมือ ร่วมใจกันพัฒนาหมู่บ้าน จึงต้องการศึกษาว่าทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชน เขามีเทคนิควิธีการทำงานอย่างไร เพื่อจะได้นำเอาวิธีการเหล่านี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีสภาพของหมู่บ้านใกล้เคียงกันได้บ้าง 
วิธีการทำงานพัฒนาชุมชนของผู้นำชุมชน... มีที่สำคัญ 4 ข้อ ดังนี้

1. ด้านการประสานงาน แบ่งหน้าที่การทำงานตามผู้นำชุมชนโดยการนำผู้นำของศาสนาของตนเองเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านการบริหารชุมชน  ด้านการบริหารกองทุนหมู่บ้าน  ด้านการบริหารคณะกรรมการหมู่บ้าน ด้านการบริหารการจัดการป้องกันยาเสพติดในชุมชน โดยเลือกผู้นำชุมชน ประกอบไปด้วย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาพัฒนาชุมชน รวมทั้งอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน  จึงทำให้การทำงานของศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์ อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข 
  
2. ด้านการสื่อสาร... ชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์มีการสื่อสารประสานงาน โดยใช้แกนนำของผู้นำ/กรรมการแต่ละศาสนาที่แต่งตั้งในการบริหารชุมชน แยกเป็นสาย ๆ  หรือคุ้มต่าง ๆ ในการสื่อสารติดต่อประสานงาน เช่น หากมีหนังสือจากทางราชการ กรรมการหมู่บ้านจะเดินบอกตามบ้าน (ในกรณีที่เป้าหมายไม่มากนัก ประมาณ 10-20 คน)  หากเป้าหมายมีจำนวนมากจะออกเสียงตามสาย หรือใช้การสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือ เป็นการลดระยะทางในการเดินทางไปแจกหนังสือให้กับชุมชน อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คณะกรรมการหมู่บ้าน และอาสาพัฒนาชุมชนในหมู่บ้าน ได้รับผิดชอบในการเรียกชาวบ้านมาประชุมประจำเดือน และโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการ  ในอัตรา 1 ต่อ 15 ครัวเรือน 
  
3. ด้านการมีส่วนร่วม... ชาวบ้านสระไม้แดง ได้มีการร่วมกันคิดและหาทางออกในการทำงานร่วมกัน เช่น การบริหารงานกองทุนหมู่บ้าน การประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านทุกวันที่ 5 ของเดือน การจัดทำแผนชุมชน การจัดกิจกรรมวันสำคัญ เช่น วันเด็กแห่งชาติ การแข่งกีฬาโรงเรียน/ชุมชน วันที่ 12 สิงหาคม และวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี กิจกรรมทางศาสนา มีการเชิญผู้นำทั้ง 2 ศาสนาเข้าร่วมกิจกรรม 
  
การร่วมคิด วางแผนและดำเนินการ... หมู่บ้านได้มีการจัดระเบียบหมู่บ้านในการมีส่วนร่วมของทั้งสองศาสนา โดยการใช้โรงเรียนบ้านสระไม้แดงเป็นศูนย์กลางในการร่วมคิด วางแผนและดำเนินการต่าง ๆ ของกิจกรรมในหมู่บ้าน เช่นการจัดกิจกรรมวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม และวันที่เฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นต้น 
  
กองทุนหมู่บ้านฯของชุมชน... เป็นการบริหารการจัดการของคนในชุมชน และร่วมกันกำหนดแผนการดำเนินงานในการบริหารและจัดการกองทุนหมู่บ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิก โดยคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าบำรุงคิดในอัตราร้อยละ 6 ดอกเบี้ยและค่าบำรุงของกองทุนหมู่บ้าน นำมาจัดสรรประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านสระไม้แดง ได้แก่
  • เป็นทุนการศึกษาบุตรของสมาชิก
  • สวัสดิการในการรักษาพยาบาล ในกรณีนอนโรงพยาบาล วันละ 350 บาท
  • ฌาปนกิจสงเคราะห์ของหมู่บ้าน
  • อสม.ดูแลสุขภาพคนในชุมชน 
4. การจัดการปัญหาในหมู่บ้าน... ชาวบ้านสระไม้แดง มีการจัดการปัญหาในหมู่บ้าน/ชุมชน ดังนี้
  1. ให้ผู้ใหญ่บ้าน ไกล่เกลี่ย ให้ผู้นำชุมชน/คณะกรรมการหมู่บ้าน ที่ใกล้ชิดกับคู่กรณี ไกล่เกลี่ย
  2. ให้บิดา มารดา และญาติพี่น้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในกรณีของบุตรหลานของตนประพฤติไม่ดี
  3. หากเกิดกรณีของคนในทางศาสนาใดศาสนาหนึ่งประพฤติไม่ดี ก็ให้ผู้นำศาสนานั้น ๆ มาไกล่เกลี่ย
  4. เรียกประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านของทั้งสองศาสนา มาประชุมแก้ไขปัญหา หาทางออกร่วมกันในกรณีข้อ 1-4  ไม่สามารถตกลงกันได้ 
แนวคิดในการดำเนินการ 
  1. มีศาลาประชาคมหมู่บ้านใช้เป็นที่พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ของกลุ่ม องค์กร / ประชาชน ในและนอกตำบล อำเภอ จังหวัดต่าง ๆ 
  2. ระดมพลังความคิด กลุ่ม องค์กร ผู้นำ ประชาชน  กำหนดแนวทางการบริหารร่วมกัน 
  3. ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและถ่ายทอดความรู้ของชุมชนด้านเศรษฐกิจพอเพียง 
  4. ระดมทุนและทรัพยากร ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมในชุมชน 
บ้านสระไม้แดงมีความสำเร็จโดยผู้นำชุมชนมีหลักการดำเนินการ... อยู่การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ให้ความร่วมมือร่วมใจกัน ความซื่อสัตย์สุจริต มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา ความไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เป็นพรรคเป็นพวก สร้างความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และการยึดหลักประชาธิปไตยในการดำเนินงาน
เทคนิคการทำงานบนความแตกต่าง...
  • P1 : People การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีผู้นำชุมชนเป็นผู้ใหญ่บ้าน ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมอย่างมาก ประกอบกับมีคณะทำงานบริหารกรรมการของหมู่บ้านมีความเข้มแข็ง    สามารถเป็นตัวอย่าง และต้นแบบในการเผยแพร่ให้คนทั้งในและนอกชุมชนได้ดำเนินตามได้
  • P2 : Place การพัฒนาพื้นที่  ได้มีการยึดพื้นที่เป็นหลักในการทำให้ชุมชนน่าอยู่ มีการจัดการชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยความร่วมมือของผู้นำทั้งสองศาสนา
  • P3 : Product  การกำหนดอัตลักษณ์ของชุมชน Positioning ร่วมกันวิเคราะห์ ในรูปของการจัดเวทีประชาคม เพื่อหาแนวทางหรือทิศทางที่เป็นจุดแข็ง หรือจุดเด่นของชุมชน ซึ่งบ้านสระไม้แดง หมู่ที่  5 ได้กำหนดอัตลักษณ์ เป็นศาสนาพุทธและคริสต์ ชาวภูไทและพวน เขมรและลาว มีการบูรณาการในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน และการรักษาประเพณีวัฒนธรรมของศาสนาทั้งสองได้อย่างดี
  • P4 : Planning  การพัฒนาแผนชุมชน  ได้มีการจัดประชุมประจำเดือนทุกวันที่ 5 ของเดือน และมีการประชาคมทำแผนชุมชน มีครัวเรือนเข้าร่วมในการจัดทำแผน โดยมีเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลคู้ยายหมี สำนักงานพัฒนาชุมชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ  เข้าร่วมตั้งแต่ต้น  มีแผนชุมชนเป็นรูปเล่มในหมู่บ้าน 
เทคนิคการทำงานของพัฒนากรสู่ความสำเร็จของหมู่บ้าน... จากการถอดบทเรียนพบว่า สิ่งที่พัฒนากรต้องปฏิบัติมี ดังนี้  ตรงต่อเวลา มีวาจาสุภาพ อ่อนหวาน ต้องเป็นมิตรกับชาวบ้าน ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของแต่ละคน ยอมรับฟังเหตุผลเสมอ และคิดก่อนพูดเสมอ