วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ


ชื่อ – สกุลผู้ถอดบทเรียน นางสาวขวัญดาว เล้าสุขสุวรรณ์
ตำแหน่ง  นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางปะกง
บันทึกเมื่อ  วันที่  29  พฤษภาคม  2555
สถานที่  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางปะกง  จังหวัดฉะเชิงเทรา

เนื้อเรื่อง
ปัญหาความยากจน  เป็นปัญหาเชิงระบบ เชิงโครงสร้างระดับชาติ ที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งทุกรัฐบาล ได้พยายามหาทางแก้ไข สนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยงานต่าง  ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการขจัดความยากจน  แต่รูปแบบในการบริหารจัดการทั้งแผนงานโครงการงบประมาณและหน่วยงาน  ยังคงเป็นไปแบบแยกดำเนินการ ต่างคนต่างทำจึงทำให้การดำเนินงานขจัดความยากจน ขาดพลังในการขับเคลื่อน ประชาชนยังคงไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่นั้น ประชาชนเป็นผู้รับรู้รับทราบปัญหาอย่างดี และเป็นผู้ที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง จึงเห็นควรให้ประชาชนเป็นผู้แก้ปัญหาของตนเอง โดยมีหน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนช่วยเหลือ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย ขณะนี้ได้หยั่งรากลึกลงในสังคมไทยเป็นปรัชญาชี้นำยุทธศาสตร์ และนโยบายการพัฒนาประเทศไทยในทุกด้าน ซึ่งรัฐบาล ได้น้อมนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายในการพัฒนาคนการพัฒนาประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และการสร้างรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่งคงและยั่งยืน

การดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจน ปี 2555 อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยการนำของ นายสิทธิชัย กิตติกูล นายอำเภอบางปะกง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอบางปะกง (ศจพ.อ.บางปะกง) และนายบรรเทา ดวงนภา พัฒนาการอำเภอบางปะกง ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะทำงาน ศจพ.อ.บางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเป้าหมายที่จะลดจำนวนครัวเรือนยากจนเป้าหมายที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ.  

บันทึกขุมความรู้
มีขั้นตอนการเตรียมตัวเองอย่างไร
 ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณา มีขั้นตอนการเตรียมตัวเอง ดังนี้
1. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
2. ศึกษารายละเอียดกรอบแนวทางในการดำเนินงาน
3. ศึกษารายละเอียดข้อมูลครัวเรือนเป้าหมาย
4. วางแผนการดำเนินงาน

มีขั้นตอนการดำเนินงานอย่างไร
ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการนั้น  มีขั้นตอนในการดำเนินการ ดังนี้
1. ทบทวนคำสั่ง ศจพ. ระดับอำเภอ  ให้เป็นปัจจุบัน   และมีองค์ประกอบจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้สามารถบูรณาการงบประมาณ โครงการ/กิจกรรม เพื่อให้สามารถสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจนได้
2. ดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจน ปี 2555  โดยเข้าตรวจสอบฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนเป้าหมายที่ตกเกณฑ์ จปฐ. พร้อมทำการสำรวจ ศักยภาพครัวเรือน ซึ่งในปี 2555 อำเภอบางปะกง ใช้ฐานครัวเรือนเป้าหมายที่ตกเกณฑ์ จปฐ. ปี 2554 จำนวน 108 ครัวเรือน  ซึ่งอำเภอได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการตำบล(เคาะประตูบ้าน) โดยประกอบด้วยพัฒนากรประจำตำบล เกษตรประจำตำบล สาธารณสุขประจำตำบล กศน.ประจำบลตำบล นักพัฒนาชุมชน ผู้นำ อช. และ อช.ดำเนินการคัดกรองครัวเรือนเป้าหมาย โดยเวทีประชาคม

3. ชุดปฏิบัติการประจำตำบล (เคาะประตู) ออกไปตรวจเยี่ยมครัวเรือนเป้าหมายที่ตกเกณฑ์ จปฐ. ปี 2554 โดยจัดประชุมประชาคม ให้ความรู้ในการดำเนินชีวิต ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แก่ครัวเรือนเป้าหมาย พร้อมทั้งขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการประกอบอาชีพให้กับครัวเรือนเป้าหมาย และทำการคัดกรองครัวเรือนเป้าหมาย ซึ่งสามารถแยกครัวเรือนเป้าหมายเป็น 2 ประเภท คือ 1.ครัวเรือนที่มีศักยภาพ  เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนา โดยได้ประสานการขอรับการสนับสนุนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพ 2.ครัวเรือนที่ไม่มีศักยภาพ  เพื่อเข้าสู่กระบวนการสงเคราะห์  โดยได้ประสานการขอรับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต่อไป

4. ติดตาม ประเมินผลการยกระดับรายได้
5. จัดเวทีถอดบทเรียนแก้จนต้นแบบ

แก่นความรู้ (เทคนิคสำคัญของความสำเร็จ)
 ในการดำเนินงาน แก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการนั้น  มีเทคนิคสำคัญใน การดำเนินงานคือ เทคนิคการทำงานแบบมีส่วนร่วม  เพราะในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ ใช้หลักการมีส่วนร่วมของภาคี  ซึ่งประกอบด้วย  ภาคประชาชน  ภาคราชการ  องค์กรปกกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ

มีกลยุทธ์ในการทำงานอย่างไร
กลยุทธ์ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ  ใช้หลักการทำงานแบบมีส่วนร่วมของภาคี ซึ่งประกอบด้วย ภาคประชาชน ภาคราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น  โดยอาศัยคำสั่ง ศจพ. ระดับอำเภอ เป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการทำงาน ซึ่งคำสั่งดังกล่าว          มีองค์ประกอบจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้สามารถบูรณาการงบประมาณ โครงการ/กิจกรรม เพื่อให้สามารถสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจนได้ การใช้เทคนิค หลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม” ส่งผลให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

สรุปบทเรียน
ปัจจัยสู่ความสำเร็จ ในการแก้ไขปัญหาความยากจน  อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ยึดหลักในการดำเนินงานโดยอาศัยปัจจัย ดังนี้
1. ดำเนินงานแบบบูรณาการ ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาความยากจน
2. การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  ผู้นำ หรือองค์กรของชุมชนเอง
3. ใช้แผนชุมชนในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจน
4. ความพร้อมของประชาชนในชุมชน หรือความสามัคคีของชุมชน
5. มีเงินทุนในการบริหารจัดการและให้สมาชิกกู้ยืมไปประกอบอาชีพ
6. ประชาชนเป้าหมาย ได้รับโอกาสในการกู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพ
7. การส่งเสริมความรู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับประชาชนเป้าหมายอย่างจริงจัง
8. การติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะ
9. การส่งเสริมให้ครัวเรือนยากจนเป้าหมาย จัดทำบัญชีรับ –จ่ายครัวเรือน
10. ส่งเสริมให้ครัวเรือนยากจนเป้าหมาย ดำเนินชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  บทเรียนที่ดี
 ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจน  ข้าพเจ้าได้รับบทเรียนที่ดีในการดำเนินงาน คือ
1. ครัวเรือนยากจนทุกครัวเรือน มีความต้องการที่จะหลุดพ้นจากขีดความยากจน หากแต่บางครั้งติดที่ศักยภาพ  คือบางครัวเรือนที่มีศักยภาพพร้อมที่จะเข้าสู่การพัฒนา ก็จะไม่รอช้าที่จะเข้าสู่การพัฒนาเพื่อให้หลุดพ้นจากขีดความยากจน  เว้นแต่บางครัวเรือนที่ขาดศักยภาพ  ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของศักยภาพทางด้านร่างกาย เช่น คนชรา คนพิการ แต่เขาเหล่านั้นก็มีความต้องการเหมือนกันคือ อยากหลุดพ้นจากขีดความยากจน

2. การทำงานแบบบูรณาการ  จากการที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา  ได้มีคำสั่ง ศจพ. ระดับอำเภอ  ซึ่งคณะทำงานประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ให้สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกัน บูรณาการเรื่องงบประมาณ โครงการ/กิจกรรม เพื่อให้สามารถสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจนได้ ส่งผลให้ครัวเรือนยากจนมีรู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้งให้แก้ไขปัญหาแต่เพียงผู้เดียว  เพราะยังมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แกนนำในหมู่บ้าน  คอยให้คำปรึกษา แนะนำ สนับสนุนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน

ปัญหา อุปสรรค
ในการแก้ไขปัญหาความยากจน  มีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานมากมาย ดังนี้
1. การสนับสนุนในด้านวิชาการ และงบประมาณจากส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ขาดความต่อเนื่อง ทำให้การสนับสนุนเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง
2. ขาดเงินทุน/เงินงบประมาณในการให้การสนับสนุนครัวเรือนยากจนในการประกอบอาชีพ
3. ครัวเรือนยากจนเป้าหมาย ไม่มีความรู้ ขาดประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
4. ครัวเรือนยากจนเป้าหมาย เป็นครัวเรือนที่ไม่มีศักยภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งทางออกคือการเข้าสู่กระบวนการสงเคราะห์จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่ให้การสนับสนุน

ข้อสังเกต/ข้อควรคำนึงถึง
ปัญหาความยากจน เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสนใจในการแก้ไขมาหลายยุคหลายสมัย แต่ปัญหาความยากจนของประชาชนก็ยังไม่หมดสิ้นไป ซึ่งจำเป็นที่ทุกภาคส่วนควรให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้สิ้นไป ครอบคลุมทั่วถึงและประสบผลสำเร็จ  สนับสนุนงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน การส่งเสริมความรู้ ประสบการณ์ในการประกอบอาชีพให้กับครัวเรือนยากจน และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อที่ประชาชนที่ประสบปัญหาความยากจน จะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

กฎระเบียบ  แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
มนุษย์ทุกคน มีศักดิศรี ศักยภาพ และความต้องการที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพียงแต่ถ้ามีโอกาสและความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมทางด้านร่างกาย หรือจิตใจ ก็จะไม่รอช้าที่จะพัฒนาตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น