โดยบ้านหนองบัวหมู่ที่ 8 มีวิธีการในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้าน ดังนี้
1. ด้านการลดรายจ่าย
การส่งเสริมให้ครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัว ในบริเวณบ้านเรือน โดยเน้นการปลูกเพื่อกินเองภายในครัวเรือน ปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก การเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ สุกร เนื่องจากหมู่บ้านหนองบัวมีลักษณะเป็นชุมชนเกษตรกรรมอยู่เป็นพื้นฐานแล้วทำให้ ทำให้ครัวเรือนส่วนใหญ่จะมีการปลูกพืชผักสวนครัวควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายในการซื้อสินค้าเพื่อมาบริโภคในครัวเรือนได้
การรณรงค์ให้ครัวเรือนต่างๆ ลด ละ เลิก สุรา ยาเสพติด บุหรี่ และการพนัน โดยมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด การรับรองครัวเรือนปลอดยาเสพติด ส่งเสริมการเล่นกีฬาซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมการลด ละ เลิก อบายมุข และส่งเสริมสุขภาพ โดยได้การสนับสนุนจากกองทุนแม่ของแผ่นดิน
การจัดทำบัญชีครัวเรือน ครัวเรือนในบ้านหนองบัวมีการทำบัญชีครัวเรือนอยู่เป็นประจำ เพื่อเป็นการตรวจสอบรายจ่ายประจำวัน และเป็นการช่วยลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น โดยการจัดทำบัญชีครัวเรือนยังช่วยเชื่อมโยงไปสู่การลด ละ เลิก อบายมุข ซึ่งเป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
2. ด้านการเพิ่มรายได้
การส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพ บ้านหนองบัวมีการรวมกลุ่มกันอยู่เป็นประจำ เพื่อจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาทักษะด้านการประกอบอาชีพต่างๆ ได้แก่ การฝึกอบรมการทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำหมักชีวภาพ การเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ การเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การผลิตน้ำส้มควันไม้ เป็นต้น นอกจากนี้บ้านหนองบัวยังมีกลุ่มอาชีพที่ทำเรื่องของหัตกรรมจักรสาน ไม้กวาด ตะกร้าไม้ไผ่ เครื่องประดับ งานฝีมือต่างๆ
การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในครัวเรือน บ้านหนองบัวมีการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้รวมกลุ่มกันฝึกอบรม เช่น ปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำส้มควันไม้ ที่ได้ทำขึ้นเองภายในหมู่บ้าน ซึ่งช่วยเพิ่มผลิตทางการเกษตรและมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของชุมชน
3. ด้านการประหยัด การออม
มีการออมเงิน โดยออมเข้ากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ซึ่งครัวเรือนที่เก็บออมกับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมีจำนวน 272 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ และมีการออมเงินในรูปแบบการออมวันละ 1 บาท
4. ด้านการเรียนรู้
บ้านหนองบัวมีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่รวบรวมประวัติศาสตร์ เรื่องราว และภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ที่มีในหมู่บ้านโดย มีการบันทึกเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร และตีพิมพ์ให้ผู้ที่สนใจได้อ่าน นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มกันศึกษาเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาทั้งจากที่มีการบันทึก จากตัวปราชญ์ชาวบ้าน เช่น การเรียนรู้วิธีการสีข้าวจากโรงสีข้าวโบราณในหมู่บ้าน การทำบายศรีแบบโบราณ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาให้คงอยู่ต่อไป
การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวัน ที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านหนองบัวจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงให้ได้ศึกษาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และมีการจัดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การทำบัญชีครัวเรือน การทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของตนเองได้
5. ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
บ้านหนองบัวมีพื้นที่ป่าชุมชน และมีการจัดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอยู่เสมอ ได้แก่ การปลูกป่าในพื้นที่ป่าชุมชน การปลูกป่าเฉลิมเกียรติฯ การจัดกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเก็บขยะรอบหมู่บ้าน การปรับภูมิทัศน์รอบหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมด้านการลดใช้พลังงาน ได้แก่ การรณรงค์โครงการทางเดียวกันไปด้วยกัน การประหยัดไฟฟ้าปิดเมื่อไม่ใช้ ปิดไฟในเวลาที่กำหนด
การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า บ้านหนองบัวมีกลุ่มผู้ใช้น้ำซึ่งคอยดูแลการใช้น้ำของคนในหมู่บ้านเพื่อให้การใช้ทรัพยากรน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ลดการใช้สารเคมีที่อาจปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดอันตรายโดยส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้ปุ๋ยชีวภาพ และสมุนไพรไล่แมลง
6. ด้านการเอื้ออารีต่อกัน
ชาวบ้านหนองบัวมีความเอื้ออารีต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในเรื่องต่างๆ ทั้งในการจัดสวัสดิการชุมชนก็ยังมีสวัสดิการด้านต่างๆ เพื่อคอยช่วยเหลือคนในชุมชน เช่น ค่าเยี่ยมคนป่วย ฌาปนกิจ ทุนการศึกษา สาธารณประโยชน์ การดูแลคนพิการและด้อยโอกาส การสนับสนุนเครื่องมือในการประกอบอาชีพ
บ้านหนองบัวมีความรักและสามัคคีกันเป็นอย่างมาก เห็นได้จากให้การร่วมมือในการเข้าร่วมประชุมประชาคมต่างๆ การเข้าร่วมประเพณีสำคัญของหมู่บ้าน อย่างพร้อมเพรียงและสม่ำเสมอ เช่น การประชุมประชาคมประจำเดือน ประเพณีทำบุญกลางบ้าน ทำบุญนอกบ้าน ทำบุญในบ้าน นอกจากความรักความสามัคคีที่แสดงออกจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ยังนำไปสู่การจัดทำแผนชุมชน ซึ่งชาวบ้านหนองบัวได้ช่วยกันจัดทำแผนชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาหมู่บ้านของตน และใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาหมู่บ้าน ผ่านกระบวนการและขั้นตอนการประชุมประชาคม เพื่อค้นหาปัญหา วางแผนในการแก้ไขปัญหา การเขียนโครงการ/กิจกรรมพัฒนา ก่อนนำไปเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมา มีโครงการที่เกิดขึ้นจากแผนชุมชนแล้ว 2 โครงการ จาก 9 โครงการ ซึ่งประสบความสำเร็จได้ก็ด้วยความรู้รักสามัคคีของคนในชุมชนเอง
นางสาวเบญวลี อ้นถาวร
นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
พัฒนากรตำบลหนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
พัฒนากรตำบลหนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น