วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บทเรียนจากคณะกรรมการสถาบันการเงินชุมชนบ้านท่าถั่ว

ในการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านท่าถั่ว ตั้งแต่ พ.ศ.2544 ผลในการดำเนินงานก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีความเข้มแข็งตามกฎระเบียบที่วางไว้ ต่อมาในปี พ.ศ.2549 ก็มีการยกระดับพัฒนากองทุนหมู่บ้านเป็นธนาคารชุมชนบ้านท่าถั่วขึ้นมาเพื่อต่อยอดสนับสนุนทุนเพิ่มเติม ขยายโอกาสให้แก่กองทุน โดยชาวบ้านสามารถกู้ยืมเงินได้ทั่วถึงเกือบทุกครัวเรือน เพราะสถาบันการเงินได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมาให้สมาชิกกู้ยืม แต่ยังคงอยู่ในวงเงินจำกัดตามระเบียบเดิม คือ กู้สามัญได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการไม่เกิน 20,000 บาท ยกเว้นกู้เงินเกิน 20,000-50,000 บาท ต้องได้รับการพิจารณาจากสมาชิกจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป

แต่คณะกรรมการเป็นบุคคลที่ทำงานหนักมากขึ้น เพราะเข้ามาบริหารและจัดสวัสดิการให้สมาชิกเพิ่มขึ้นและต้องแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มากขึ้นด้วย ในระยะแรก ๆ มีเจ้าหน้าที่จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร,พัฒนากร เข้ามาแนะนำเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงาน กว่าจะสร้างสมประสบการณ์ บทเรียนในการดำเนินงาน และกลไกในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ก็ใช้เวลาในการสร้างสมประสบการณ์มาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

ประชาชนในพื้นที่ดั้งเดิมส่วนมากมีอาชีพทำการเกษตร เช่น เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ทำนา ต่อมาสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ปัจจัยในการผลิตราคาสูงขึ้น เช่น ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ยราคาแพง แต่ผลผลิตราคาตกต่ำและประสบปัญหาการขาดทุนเนื่องจากการประกอบอาชีพไม่ประสบผลสำเร็จ จากการเกิดโรคระบาด ในไก่ หมู ปลา กุ้งตาย เป็นเหตุให้ประชาชนในพื้นที่ยากจน ต้องกู้ยืมเงินจากที่ต่าง ๆ และประชาชนในพื้นที่หันไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในและต่างจังหวัดใกล้เคียง พอเลี้ยงครอบครัว บางครอบครัวต้องเก็บเงินใช้หนี้ที่กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยที่สูง

เมื่อผู้นำในหมู่บ้านได้มองเห็นปัญหา ก็ได้ศึกษาถึงการแก้ไขปัญหาถึงแหล่งเงินทุนที่จะช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ในเรื่องอัตราการกู้ยืมดอกเบี้ยที่ถูก และสามารถจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกด้วยความพึงพอใจ โดยคณะกรรมการเสียสละเข้าอบรมการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน และเอามาแจ้งในที่ประชุมประชาคมหมู่บ้านถึงข้อดีของการจัดตั้งสาบันการเงินชุมชน ประชาชนในพื้นที่เห็นดีด้วย แต่คณะกรรมการที่จะเสียสละตนเองเข้ามาร่วมกิจกรรมมีน้อย เนื่องจากภาระหน้าที่ในการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงครอบครัว ส่วนมากคณะกรรมการที่ได้จากการเลือกตั้งก็เป็นผู้มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป 3 คน จากคณะกรรมการทั้งหมด 15 คน คนที่อายุน้อย

ส่วนมากเป็นอาสาสมัครจากลูกหลานคณะกรรมการทั้งสิ้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้สูงอายุและเห็นความตั้งใจในการทำงาน คณะกรรมการทั้งหมดส่วนมากจะเป็นผู้นำในพื้นที่ เป็นผู้เสียสละ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความตั้งใจในการพัฒนาหมู่บ้าน เป็นที่เคารพของคนในพื้นที่ และสร้างความหวังว่าหมู่บ้านจะมีความสามัคคี ความสงบสุข มีการพบปะ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี มีการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเป็นหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็งที่ยั่งยืน เพื่อลูกหลานในอนาคตมีความสุข ดังนี้

- คำขวัญ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างชุมชน”
- ปรัชญาของหมู่บ้าน “สุขา สงฆสส สามคคี” ความพร้อมเพียงของหมู่คณะ ย่อมนำมาซึ่งความสุข

หมู่บ้านแห่งนี้มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบางคน แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นคณะกรรมการชุดเดิม ๆ ที่มีอายุ ความอาวุโส ความเป็นแบบอย่างของคนในหมู่บ้าน และเป็นที่เคารพนับถือยอมรับว่ามีความเหมาะสม

การต่อสู้ของคณะกรรมการ ที่เป็นผลงานที่ปรากฏ เช่น
1.การสร้างสถานที่ทำการ โดยแรกเริ่มได้ของบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลบางกรูดสร้างอาคารหลังเล็ก ๆ เป็นที่ทำการ สร้างในที่ดินของวัดมงคลโสภิต (วัดต้นสน) บริเวณที่ดินด้านหน้าของวัด และหางบประมาณมาต่อเติม ปรับปรุงมาเรื่อย ๆ จนเป็นอาคารที่ถาวร ปัจจุบันจัดเป็นอาคารเอนกประสงค์ของทุก ๆ หน่วยงานมาใช้ประโยชน์

2.เปิดทำการ ทุกวันจันทร์ วันพฤหัสบดี เวลา 14.00 – 19.00 น. และทุกวันที่ 7 ของเดือน เวลา 14.00 – 19.00 น.

3.กิจกรรมของสถาบันการเงินชุมชน ได้แก่ ฝากเงิน ถอนเงิน ชำระค่าโทรศัพท์ จำหน่ายบัตรเติมเงิน รับทำประกันอุบัติเหตุ ,พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ รถยนต์

จุดเด่นของการบริหารจัดการ คณะกรรมการสถาบันการเงินชุมชนบ้านท่าถั่ว มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์หลากหลายมาแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบตามความรู้ความสามารถ ซึ่งนับว่าเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการสถาบันการเงินให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้คณะกรรมการ ฯ ยังมีความสามัคคี ความเสียสละ ในการปฏิบัติงานต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย และยังเป็นตัวการในการเชื่อมโยงให้สมาชิกมีความสมัคสมานกันได้เป็นอย่างดี จึงไม่เกิดปัญหาในการดำเนินงานมากนัก และจุดเด่นที่สำคัญคือ สามรถบริหารจัดการให้สมาชิกกู้เงินไปประกอบอาชีพได้อย่างทั่วถึง โดยให้สมาชิกเลือกในการที่จะส่งคืนเงินกู้และใช้ประชามติเป็นเสียงส่วนใหญ่ถือปฏิบัติร่วมกัน

นางพัชรา ปัญจพิทยากุล
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบ้านโพธิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น