1.ปัจจัยพื้นฐาน เช่น สภาพครอบครัวและชุมชนบกพร่องไม่สามารถ ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันปัญหายาเสพติดที่เข้ามาถึงตัวลูกหลานได้
2.ปัจจัยปัญหาตัวยาเสพติด เพราะประเทศเรามีขบวนการค้าการผลิตที่ใหญ่โตและมีบุคคลที่มีอิทธิพลหรือเป็นคนมีสีเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหลายระดับ ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ดังนั้น ถ้าเราจะถามว่าเด็กคนหนึ่งติดยาเสพติดเพราะอะไร เราคงตอบไม่ได้ ง่ายนักว่าเป็นเพราะเด็กไม่รักดี แต่เราต้องมองปัญหาหลายๆ ด้านของครอบครัว ชุมชนและสังคมประกอบกันไป นั่นก็หมายความว่า แค่การจับกุม หรือปรายปรามผู้เสพ ผู้ค้า ด้วยวิธีรุนแรง ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดไปได้ เพราะยังไม่ครบวงจรของการแก้ไขและในไม่ช้าปัญหาก็จะกลับมาเกิดซ้ำอีก
ด้วยความห่วงใยต่อปัญหาดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ จึงได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้สำนักงาน ป.ป.ส.นำไปเป็นเงินขวัญถุงสิริมงคล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเกิดศรัทธา ในอันที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยตนเองของชุมชน โดยใช้ชื่อว่า “กองทุนแม่ของแผ่นดิน”
โดยมีวัตถุประสงค์ คือ
1. ขยายพลังแห่งความดี ของคนในชุมชนให้กว้างขวาง
2. เสริมสร้างกระบวนการในชุมชน ทั้งความคิด ความรู้ การแลกเปลี่ยน การรวมกลุ่ม และความตื่นตัวเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาเสพติด เพื่อให้ชุมชนบรรลุถึงความเข้มแข็งอย่างแท้จริง
3. สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ และสนับสนุนให้คนทำความดีและเสียสละเพื่อชุมชน
4. สนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง เพื่อการพึ่งพาตนเอง และพึ่งพากันเองอย่างยั่งยืนทำให้ปัญหาพื้นฐานของชุมชนลดลงได้
5. สนับสนุนกิจกรรมแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนอย่างยั่งยืน และพัฒนาเป็นศูนย์การรียนรู้ชุมชน เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนทั้งภายในและระหว่างหมู่บ้าน
ดังนั้น ชุมชนที่จะขอรับเงินพระราชทานกองทุนแม่ของแผ่นดิน จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. ผ่านกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข้งให้ชุมชนมีองค์ประกอบตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงาน
2. เป็นชุมชนที่แสดงถึง “การพึ่งพาตนเอง” ในการแก้ไขปัญหาของชุมชน
3. เป็นแกนนำสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด
4. เป็นศูนย์การเรียนรู้ ดูงาน หรือกำลังจะเป็น
5. มีความพร้อม เต็มใจที่จะเข้าร่วมโครงการหรือพร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ
ชุมชนเข้มแข็งคืออะไร
ชุมชนเข้มแข็ง คือ การที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมีวัตถุประสงค์ มีอุดมการณ์หรือมีความเชื่อถือในบางเรื่องร่วมกันมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอย่างต่อเนื่องมีการติดต่อสื่อสาร หรือการรวมกลุ่ม จะอยู่ห่างไกลกันก็ได้มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีการเรียนรู้ในการกระทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน และมีการจัดการ มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มจนกลายเป็นชุมชน ก่อให้เกิดพลังในการแก้ไขปัญหาและร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การเมือง และสุขภาพในสังคมนั้นๆ
ปัญหาอยู่ที่ไหน ต้องแก้ไขที่นั้น
จากการที่ปัญหายาเสพติดมีความซับซ้อน ถ้าเช่นนั้นเราต้องมาดูว่าปัญหานั้นเกิดจากอะไรกันแน่ และจะแก้ไขอย่างไรจึงจะเกิดผลอย่างแท้จริง
ความยากจน
จึงกดดันให้เข้าสู่กระบวนการค้ายา ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ เราต้องแก้ที่ปัญหาความยากจน สร้างงาน สร้างอาชีพให้
ครอบครัว
ไม่อบอุ่นหรือพ่อแม่เลี้ยงดูไม่เป็น ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ เราก็ต้องแก้ที่ครอบครัว
ความอยากรู้อยากลอง
ของเยาวชนใช่หรือไม่ ถ้าใช่ เราก็ต้องสร้างเกราะป้องกันพวกเขาจากสื่อที่กระตุ้นความอยากลอง ต้องสร้างค่านิยมที่ถูกต้องต่อการใช้ชีวิต และสร้างการท้าทายที่เหมาะสม
จะเห็นได้ว่าปัญหายาเสพติดไม่ใช่ปัญหาโดดๆ ที่แก้ไขได้โดยไม่ต้องแก้ปัญหาอื่นด้วยจึงต้องย้ำกันอีกทีว่า การจับปราบไม่เพียงพอและชุมชนที่เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาต้องลุกขึ้นมาจัดการร่วมกับภาคส่วนอื่นๆของสังคม
ความจำเป็นที่ชุมชนต้องลุกขึ้นสู้
ที่ผ่านมาเราหวังพึ่งพาภาครัฐในการแก้ไขปัญหายาเสพติดทางเดียว โดย ภาคประชาชน นิ่งเฉยทั้งๆที่รู้ว่าเป็นปัญหา และก็พบว่า ภาครัฐไม่สามารถจัดการปัญหายาเสพติดได้จริงเพราะข้าราชการมีกี่คน ตำรวจมีกี่คน อยู่กับเราในชุมชนนานแค่ไหน และจะรู้ดีเท่ากับคนในชุมชนเราหรือไม่ เข้ามาแล้วแก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นหรือไม่ เราจะเห็นได้ว่า ผลของการจับกุมปราบปราม ได้ลูกหลานของเราเข้าไปกินข้าวในคุก แต่บางส่วนกลับเพิ่มปัญหาให้กับชุมชนและคนที่อยู่ข้างหลัง ดังนั้นชุมชนจึงต้องเป็นหลักในการดำเนินงานโดยประสานงานกับฝ่ายต่างๆ
ความคิดพื้นฐานที่ต้องปรับ
- ต้องเลิกความคิดว่า “ธุระไม่ใช่”
- ตัดความคิดว่า “ชาวบ้านทำเองไม่ได้”ออกไป และหันกลับมาเชื่อมั่นว่า เพื่อลูกหลานของเราแล้ว ทำไมจะทำไม่ได้
- ให้เลิกความคิดที่จะ “พึ่งคนอื่น” ไม่จะพึ่งตำรวจ ผู้ว่าฯ หมอ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.ส. หรือรัฐบาลใดก็ตาม
- มีความเชื่อและศรัทธาว่าเราสามารถ “พึ่งพากันเอง” ได้ แทนที่จะรอว่าใครจะเข้ามาช่วยเรา โดยที่เราเองยังไม่คิดจะช่วยตัวเอง
- มอง “คนเสพว่าเป็นคนป่วย” เพราะเขาเคยเป็นคนปกติแต่เมื่อเขาไปติดยาเหมือนเขากำลังป่วย ดังนั้นเราต้องช่วยกันดูแลคนติดยาเช่นกัน
นายวีรพล โพธิ์ชัย
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น