วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ “พออยู่ พอกิน”

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวทางการดำรงชีวิตและการปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ มุ่งให้เกิดความสมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งทางวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว พอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ ความระมัดระวัง ความซื่อสัตย์สุจริตและดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ มีปัญญาและความรอบคอบ

บันทึกขุมความรู้
เศรษฐกิจพอเพียง
หมายถึง เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีความพอเพียงกันตัวเอง(Self Sufficiency) อยู่ได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น ซึ่งต้องสร้างพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีเสียก่อน มีความพอกินพอใช้สามารถพึ่งตนเองได้ ย่อมสามารถ สร้างความเจริญก้าวหน้าและฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยดำเนินการในลักษณะของการส่งเสริมและสนับสนุนให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้เกณฑ์ชี้วัด 6 ด้าน ประกอบด้วย การลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้ การออม การดำรงชีวิต การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเอื้ออาทร

ในปี พ.ศ. 2554 ได้มีการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ตาม โครงการสนับสนุนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ พออยู่ พอกินภายใต้โครงการตามยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน ปี 2554 ซึ่งอำเภอได้คัดเลือกให้บ้านบางเรือน หมู่ที่ 9 ตำบลบางกะไห อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้เป็น หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบระดับอำเภอ จำนวน 2 หมู่บ้าน คือหมู่บ้านบางเรือน หมู่ที่ 9 ตำบลบางกะไห และ บ้านแพรกชุมรุม หมู่ที่ 13 ตำบลบางเตย อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา

แนวทางการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้น้อมนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจตามทางสายกลาง
3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ ภายใต้ เงื่อนไขที่ 1 เงื่อนไขความรู้ (รอบรู้รอบคอบระมัดระวัง) เงื่อนไขที่ 2 เงื่อนไขคุณธรรม (ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน แบ่งปัน) เพื่อนำไปสู่ ชีวิต/เศรษฐกิจ/สังคม/สิ่งแวดล้อมสมดุล/มั่นคงและยั่งยืน

ในปัจจุบันการดำเนินงานการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้หลักบันได 3 ขั้น ของการพัฒนา จากรายคน สู่ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้

บันได ขั้นที่ 1 การ พึ่งตนเอง เริ่มจากการพัฒนาตนเองและครอบครัวทั้งด้านจิตภาพ(ลด ละเลิก อบายมุข) กายภาพ (การทำกิจกรรมกิน ทำใช้)และการบริหารจัดการ การเงินของตนเองและครอบครัว(บัญชีครัวเรือน) เพื่อให้เกิดความพอเพียงสามารถพึ่งตนเอง

บันได ขั้นที่ 2 การ พึ่งพาซึ่งกันและกัน เริ่มต่อยอดจากการพัฒนา ขั้นที่ 1 คือการพัฒนาตนเอง และครอบครัวให้เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ สู่ขั้นที่ 2 คือ การรวมกลุ่มหรือชุมชนเข้มแข็งทางสังคมและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำกิน ทำใช้ ตลอดจนสร้างเครือข่าย กลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์พัฒนาในลักษณะพึ่งกันและกัน

บันได ขั้นที่ 3 การ เติบโตเป็นกลุ่ม/สถาบัน เริ่มต่อยอดจากการพัฒนา ขั้นที่ 2 เพื่อคัดสรรจุดเด่นวิสาหกิจชุมชน อันเป็นภูมิปัญญาชุมชนผสานกับภูมิปัญญาสากล เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจเชื่อมโยงธุรกิจกับองค์กรภายนอกชุมชน

แก่นความรู้
บ้านบางเรือน หมู่ที่
9 ตำบลบางกะไห อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น มีกระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญ 6 กระบวนการ ดังนี้

1. การศึกษาวิเคราะห์ชุมชน เป็นการประเมินการพัฒนาในปัจจุบันของชุมชนโดยการวิเคราะห์ปัญหาและทุนทางสังคม ประสบการณ์งานพัฒนา รวมทั้งการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อชุมชน

2. กำหนดเป้าหมายหรือทิศทางการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่นและการกำหนดวาระการพัฒนาของชุมชน

3. การจัดทำตัวชี้วัดความสำเร็จการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและวิธีการดำเนินงานที่สำคัญ รวมทั้งการระบุแหล่งที่มาของข้อมูลตัวชี้วัดเพื่อการวัดผล ทั้งนี้ในการจัดทำตัวชี้วัดนี้ขบวนชุมชนอาจต้องการจัดเวทีหมุนเวียนรายชุมชน ในลักษณะ เวทีประชาคมหมู่บ้าน เพื่อการสื่อสารและสร้างการยอมรับร่วมกันแล้วสรุปเป็นตัวชี้วัดร่วมของคนทั้งตำบลและจัดเวทีรวม เพื่อเชื่อมโยงกับภาคีการพัฒนาในพื้นที่

4. การกำหนดวิธีการได้มาซึ่งข้อมูล ตัวชี้วัด ว่าข้อมูลนั้นได้มาอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะมีข้อมูลสนับสนุนการวัดผลอย่างต่อเนื่องได้

5. การจัดระบบสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาของกลุ่มองค์กรชุมชนหรือเครือข่ายองค์กรชุมชนตามแผนงาน ให้บรรลุผลตามตัวชี้วัด

6. การจัดระบบการติดตาม/ประเมินผลภายในตามตัวชี้วัดเพื่อติดตามความก้าวหน้าตามตัวชี้วัด ทบทวนผลการดำเนินงานที่ชุมชนดำเนินการว่ามีกิจกรรมใดที่ทำเพื่อตอบสนองความต้องการ มีการจัดเก็บข้อมูล บันทึกข้อมูลจากการติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อใช้เปรียบเทียบและประเมินผลและการจัดทำรายงานผล เสนอผลต่อชุมชน /ผู้เกี่ยวข้อง/ภาคีการพัฒนารวมทั้งการสรุปบทเรียน(AAR) และการสรุปเป็นชุดองค์ความรู้เชิงประสบการณ์ เพื่อการขยายผลการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนต่อไป

กลยุทธ์ในการทำงาน
1.
ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
2.
จัดเก็บข้อมูลเอกสารอย่างเป็นระบบและปัจจุบัน
3.
ประสานการดำเนินงานการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอพียงในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
4.
ติดตาม/ประเมินผล/สรุปผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ

นายสมเดช พันแอ
นักวิชาการพัฒนาชุมชน ชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา

1 ความคิดเห็น: