วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

กองทุนหมู่บ้าน : ทุนชุมชนฐานรากที่เข้มแข็ง


"กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง" เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการมาแล้ว เป็นปีที่ 11 เป็นกองทุนที่สร้างโอกาสให้กับชาวบ้าน ที่จะร่วมกันคิด ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผนการบริหารจัดการชุมชน  โดยใช้เงินทุนจัดสรรจากรัฐบาล เริ่มต้นที่ 1 ล้านบาททุกหมู่บ้านและชุมชน กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน สู่กองทุนที่เข้มแข็งที่มีพลังในการสร้างหมู่บ้านชุมชนให้เข็มแข็ง  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 10 ปี  กองทุนได้มีการพัฒนามาโดยตลอด มีการประเมินประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุน เมื่อปี 2546 ต่อมามีการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง พ.ศ. 2547 เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง คือ ให้กองทุนที่มีความพร้อมด้านการบริหารกองทุน จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จุดประสงค์ คือต้องการยกระดับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้บริหารจัดการกองทุนได้ด้วยตนเอง  ปี 2552 รัฐบาลได้มีนโยบายของกองทุนสร้างความเข้มแข็งให้กองทุน ได้มีโอกาสเพิ่มทุนระยะที่ 2 สำหรับกองทุนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล  สามารถขอเพิ่มทุนระยะที่ 2 ได้  ตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 600,000 บาท 

ปรัชญาของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
  1. เสริมสร้างสำนึกความเป็นชุมชนและท้องถิ่น
  2. ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคต และจัดการหมู่บ้านและชุมชนด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเอง
  3. เกื้อกูลประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้านและชุมชน
  4. เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน ราชการ เอกชนและประชาสังคม
  5. กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และพัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐาน..

วัตถุประสงค์กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
  1. เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน สำหรับการลงทุนพัฒนาอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ หรือเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย  บรรเทาเหตุฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วน
  2. ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถจัดระบบเงินกองทุนบริหารจัดการเงินกองทุน
  3. เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตัวเองของหมู่บ้านและชุมชนเมือง  การเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง
  4. กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
  5. เกิดศักยภาพ / ความเข้มแข็งของประชาชนในหมู่บ้าน / ชุมชนเมือง ด้านเศรษฐกิจ สังคม

การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา มีผลการดำเนินงานที่อยู่ในระดับที่ดีมีประสิทธิภาพซึ่งเกิดจากการมีเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในระดับจังหวัด อำเภอและตำบลที่เข้มแข็ง  มีการเชื่อมโยงประสานงานกันทุกระดับ  ประกอบกับคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง  ได้มีการกำกับดูแล สนับสนุน ส่งเสริม การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับจังหวัด มีการประชุมกันทุก 2 เดือน ทำให้กองทุนหมู่บ้านทุกแห่งมีการเชื่อมประสานกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง

เครือข่ายเข้มแข็ง กองทุนยั่งยืน  ผลจากการทำงานของเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับจังหวัด  ได้ติดตามผลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านระดับอำเภอ/ตำบล ซึ่งสรุปรายงานผลการดำเนินงานเมื่อสิ้นปีบัญชี 2554  (31 ธันวาคม 2554) จากเป้าหมาย 913 กองทุน  มีเงินทุนที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลทั้งสิ้น 1,084.60 ล้านบาท  เงินสมทบ 79.46 ล้านบาท  เงินฝากบัญชี 2   175.41 ล้านบาท  สมาชิก 92,750 คน  กรรมการกองทุน 11,543 คน อาชีพที่กู้เงินไปประกอบอาชีพมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ การเกษตร ค้าขาย และด้านช่าง/บริการ  ตามลำดับ  ในจำนวนกองทุน 913 กองทุน จดทะเบียนเป็นนิติบุคลแล้ว  879 กองทุน  คิดเป็นร้อยละ 96.30  กองทุนที่พัฒนาเป็นสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน จำนวน 9 กองทุน
    
การทำบัญชีและการตรวจสอบกองทุนหมู่บ้าน
  1. คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านจัดทำบัญชีตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด  จัดทำบัญชีรับ – จ่าย อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
  2. สรุปผลการดำเนินงานประจำปีรายงานต่อคณะกรรมการ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  3. กองทุนหมู่บ้านจะต้องจัดให้มีระบบการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน การบัญชี และการพัสดุ
  4. ตั้งผู้ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและการดำเนินงานของคณะกรรมการ
  5. จัดส่งผลประกอบการและงบการเงินให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ภายใน หกสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชี
  6. การจัดสรรกำไรสุทธิบัญชีที่ 1 ให้จัดสรรเป็นเงินสมทบกองทุน เงินประกันความเสี่ยง และเงินอื่น  ห้ามนำไปจัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้น  สำหรับเงินสมทบกองทุนและเงินประกันความเสี่ยงให้คงไว้ในบัญชีที่ 1

นายชวลิต ศิริวัฒนโยธิน

นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
โทร.038-511239

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

การเบิกจ่ายค่าพาหนะส่วนตัวต้องเบิกตามระยะทาง ไม่ใช่เบิกตามการใช้เชื้อเพลิง



การเบิกเงินชดเชยในการใช้พาหนะส่วนตัวในการเดินทางไปราชการ ต้องใช้ ใบเสร็จค่าน้ำมัน มาแนบด้วยหรือไม่ เป็นคำถามที่หลายคนถาม และพยายามหาคำตอบให้กับตนเองว่าจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้องตามระเบียบ

ขอให้ผู้ที่กำลังสับสนและหาคำตอบ ลองอ่านระเบียบและหนังสือที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.. ๒๕๕๐

คำจำกัดความ  คำว่า พาหนะส่วนตัวหมายความว่า รถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลซึ่งมิใช่ของทางราชการ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เดินทางไปราชการหรือไม่ก็ตาม

ระเบียบ ข้อ ๕ การอนุมัติระยะเวลาเดินทางไปราชการ ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการและการจัดการประชุมของทางราชการอนุมัติระยะเวลาเดินทางล่วงหน้าหรือระยะเวลาหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติราชการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

ระเบียบ ข้อ ๑๑ การใช้พาหนะส่วนตัวเดินทางไปราชการ ให้เบิกเงินชดเชยเป็นค่าพาหนะในลักษณะเหมาจ่ายให้แก่ผู้เดินทางไปราชการ ซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแล้วแต่กรณีในอัตราต่อ ๑ คัน ตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยให้คำนวณระยะทางเพื่อเบิกเงินชดเชยตามเส้นทางของกรมทางหลวงในทางสั้นและตรง ซึ่งสามารถเดินทางได้โดยสะดวกและปลอดภัยในกรณีที่ไม่มีเส้นทางของกรมทางหลวง ให้ใช้ระยะทางตามเส้นทางของหน่วยงานอื่นที่ตัดผ่านเช่น เส้นทางของเทศบาล เป็นต้น และในกรณีที่ไม่มีเส้นทางกรมทางหลวงและของหน่วยงานอื่นให้ผู้เดินทางเป็นผู้รับรองระยะทางในการเดินทาง

หนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค ๐๔๐๙.๖ /ว ๔๒ ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐  ข้อความ ในย่อหน้าที่ ๒  เพื่ออนุวัตตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๑๐ ข้อ ๑๑ และ ข้อ ๑๕ จึงเห็นสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้ส่วนราชการถือปฏิบัติตามสิ่งที่ส่งมาด้วยนี้  ข้อ ๒ เงินชดเชยในการใช้พาหนะส่วนตัวในการเดินทางไปราชการ (๑) รถยนต์ส่วนบุคคล  กิโลเมตรละ ๔ บาท (๒) รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล กิโลเมตรละ ๒ บาท
เมื่อดูแล้วจะพบว่า จะเบิกได้ก็ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้มีอำนาจให้ไปราชการ ซึ่งระบุไว้ ในข้อ ๕

ถ้าใช้พาหนะส่วนตัวจะเบิกได้เท่าไร ตามข้อ ๑๑  กรณีใช้พาหนะส่วนตัว ให้เบิกในลักษณะเหมาจ่ายตามระยะทางไปราชการ โดยให้ ผู้เบิกเป็นผู้รับรองความถูกต้องของระยะทาง

หนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค ๐๔๐๙.๖ /ว ๔๒ ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐  กำหนดอัตราการชดเชยไว้ตามระยะทาง
โดยสรุปแล้ว คือ ระเบียบกำหนดให้เบิกลักษณะเหมาจ่ายตามระยะทาง มิได้ให้เบิกตามการใช้เชื้อเพลิง  ซึ่งหากเบิกไม่เป็นไปตามความเป็นจริง ความผิดก็เป็นของผู้เบิกเนื่องจากเป็นผู้รับรองระยะทางเอง  จึงขอสรุปว่า  ไม่จำเป็นต้องใช้สำคัญรับเงินค่าน้ำมัน แต่ที่ต้องใช้คือต้องได้รับการอนุมัติโดยผู้มีอำนาจ ก่อนไปครับ

กิตติศักดิ์  ดาวนพเก้า
หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
038-511239
 

วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิธีการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนโดยใช้เศรษฐกิจพอเพียง

ในปีงบประมาณ พ.ศ.2555 สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 11 หมู่บ้าน (อำเภอละ 1 หมู่บ้าน) และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 22 หมู่บ้าน (อำเภอละ 2 หมู่บ้าน) และดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ ทั้ง 2 โครงการ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนไปดำเนินการขับเคลื่อน

จากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างการสัมมนาของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 ณ โรงแรมแกรนด์ รอยัล พลาซ่า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ทำให้เราได้องค์ความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ในประเด็น “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงช่วยเหลือครัวเรือนยากจนได้อย่างไร” มีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนและผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยใช้เศรษฐกิจพอเพียง ทำสำเร็จมาแล้ว จากเวทีเราได้ข้อสรุป ดังนี้

วิธีการทำงานในการช่วยเหลือครัวเรือนยากจน
1. ต้องมีการส่งเสริมการออม
2. ต้องให้ครัวเรือนยากจนทำแผนชีวิต ชี้เป้าชีวิต และบริหารจัดการชีวิต
3. ต้องมีติดตาม สนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้อง
4. ต้องมีการถอดบทเรียนความสำเร็จ
5. ต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
6. ต้องมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน
7. ต้องทำ Family Folder
8. ต้องมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

เทคนิคการช่วยเหลือครัวเรือนยากจน
1. ให้ทำบัญชีครัวเรือน
2. กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน
3. ให้ใช้หัวใจแห่งความพอเพียง
4. ให้ขยายผลไปยังครัวเรือนใกล้เคียงด้วย

เคล็ดลับที่ทำให้สำเร็จ
1. ให้ส่งเสริมอาชีพตามความต้องการของครัวเรือนยากจน
2. อย่าให้เกิดการชี้นำทางความคิด
3. เอาปัญหาของครัวเรือนยากจนบรรจุในแผนของหมู่บ้าน/ตำบล
4. ติดตามเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจแก่ครัวเรือนยากจนบ่อยๆ สม่ำเสมอ
5. ทุกฝ่ายต้องเข้าไปช่วยเหลือส่งเสริม สนับสนุน
6. มีการสร้างแรงจูงใจให้แก่หมู่บ้าน เช่น รางวัล หรืองบประมาณสนับสนุน

ข้อพึงระวัง
1. เจ้าหน้าที่อย่าคิดแทนครัวเรือนยากจน (ช่วยกันคิดได้แต่อย่าคิดแทน)
2. การนำเสนอแนวคิด หลักการ วิธีการต่างๆ ของวิทยากรและเจ้าหน้าที่ต้องชัดเจน

ถ้าเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนของเรานำไปปฏิบัติ ก็จะแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับครัวเรือนยากจนในหมู่บ้านได้ครับ


นายสุรเดช  วรรณศิริ
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
โทร.081-2993477

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การทำหนังสือเชิญประชุมหรืออบรม


ชื่อ-สกุล  นายสุริยน โอมวัฒนา
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอราชสาส์น
บันทึกเมื่อ 30 พฤษภาคม 2555
สถานที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอราชสาส์น
ชื่อองค์ความรู้ การประทับ “ด่วนมาก” หรือ “ด่วนที่สุด” ด้วยหมึกสี่แดงที่หนังสือเชิญประชุมทุกฉบับ

การเขียนเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อความหมาย ซึ่งเป็นการแสดงความรู้ ความคิด ความรู้สึก หรือข้อมูล เพื่อถ่ายทอดไปยังผู้อ่าน การเขียนจึงเป็นสื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นสื่อของความต้องการ และเป็นตัวแทนของการติดต่อ จึงต้องเขียนโดยคำนึงถึงการเขียน เพื่อให้เข้าใจความหมาย บรรลุวัตถุประสงค์ และเขียนในเชิงบวก เมื่อเขียนหนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องรู้กลุ่มเป้าหมาย ต้องวางแผนในการเขียน แล้วจึงลงมือเขียน เมื่อเสร็จจึงควรสอบทาน ย้อนกลับไปอ่านทวนอีกครั้งหนึ่งจนมั่นใจ เพื่อส่งถึงผู้บังคับชา

ข้าพเจ้าเห็นว่าหนังสือที่เชิญประชุมส่งให้กับผู้เข้าร่วมประชุมแล้ว ตัวเราเองยังไม่สะดุดตาเลย จึงนึกได้ว่าสี่แดงเป็นสีที่เข้าตาตามที่ทุกคนรู้กัน และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 และแก้ไขเพิ่มเติม ก็มีเครื่องมือนี้อยู่แล้ว จึงนำมาใช้เมื่อปีที่แล้ว

การทำหนังสือเชิญประชุมกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมประชุมอบรมโครงการของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ เมื่อส่งให้ผู้อบรมแล้วหรือให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยแจกแล้ว กลุ่มเป้าหมายมาอบรมน้อยไม่ครบจำนวนเป้าหมาย ข้าพเจ้าจึงได้แก้ไขด้วยการใช้การประทับ “ด่วนมาก” หรือ “ด่วนที่สุด” ด้วยหมึกสี่แดงที่หนังสือเชิญประชุมทุกฉบับ เพราะ สีแดงทำให้ผู้อ่านสะดุดสายตาทำให้ต้องอ่านหนังสือฉบับนั้น บวกกับคำว่า ด่วนมาก หรือ ด่วนที่สุด จะต้องเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างรีบด่วน ทำให้ผู้อ่านต้องจดจำได้ดี  ทำให้ไม่ลืมว่าเรามีนัดหมายกับใครไว้ และโทรบอกด้วยในกรณีเป็นเรื่องสำคัญ

การส่งหนังสือเชิญประชุมก็ต้องส่งถึงผู้ร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 5 วัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบและเตรียมความพร้อม  ซึ่งผลปรากฏว่า จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก

บันทึกขุมความรู้
  1. ศึกษาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 และแก้ไขเพิ่มเติม
  2. เทคนิคการเขียนหนังสือราชการ
กลยุทธ์ในการทำงาน
  1. ต้องวางแผนการส่งหนังสือให้ผู้รับอบรมได้รับทราบ โดยทำเป็นหนังสือและโทรบอกด้วย
  2. หนังสือเชิญประชุมก็ต้องส่งถึงผู้ร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 5 วัน
  3. ประทับ “ด่วนมาก” หรือ “ด่วนที่สุด” ด้วยหมึกสี่แดงที่หนังสือเชิญประชุมทุกฉบับ
  4. ข้อความในหนังสือต้องสื่อความหมายได้อย่างเข้าใจว่าประชุมที่ไหน เวลาเท่าไร
   

ส่งเสริมให้ดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง


ชื่อ นามสกุล นายอภินันท์  เกิดสุข
ตำแหน่ง  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด   สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอราชสาส์น        

ในการปฏิบัติงานในพื้นที่นั้น ได้ทำงานกับผู้นำ ประชาชนในหมู่บ้าน/ตำบล เรื่องที่เข้าไปส่งเสริมให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมอีกอย่างหนึ่งก็ในเรื่องของการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้นำหลักการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาอธิบายให้ผู้นำ และประชาชนได้เข้าใจ วิธีการที่จะให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายนั้น ต้องให้ประชาชนได้เรียนรู้และเห็นของจริงที่ประสบความสำเร็จแล้ว โดยจากการศึกษาดูงาน หรือได้เห็นจากเครือข่ายใกล้เคียงในหมู่บ้าน/ตำบล จึงจะทำให้ประชาชนเห็นพ้องต้องตาม และยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ที่ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ครบวงจร  จึงจะทำให้ประชาชนเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วเล็งเห็นเป็นรูปธรรม  ประชาชนก็จะเกิดความตระหนักและจะได้ดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเมื่อประชาชนทุกคนได้ดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ย่อมส่งผลให้ครอบครัว  หมู่บ้าน ตำบล  อำเภอ จังหวัด และประเทศชาติ มั่นคงแข็งแรงอย่างยั่งยืน

ขุมความรู้
เทคนิคการส่งเสริมให้ดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
  1. การศึกษาดูงาน
  2. เครือข่ายในหมู่บ้าน/ตำบล ที่ใกล้เคียง
  3. ยกปัญหาต่างๆที่ได้แก้ไขตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแล้วสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครบวงจร         
แก่นความรู้
การทำให้ชุมชนเข้มแข็งนั้น กลไกของชุมชนส่วนที่สำคัญก็คือ ประชาชน เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนพึ่งตนเองได้และไม่สร้างปัญหาในระดับครอบครัว หมู่บ้าน/ชุมชน  ตำบล  อำเภอ จังหวัด และประเทศ ดังนั้นต้องใช้เครื่องมือคือให้ประชาชนดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ประชาชนเห็นการปฏิบัติที่เกิดผลจริง เห็นปัญหาที่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  ประชาชนถึงจะเข้าใจและปฏิบัติตามด้วยความมุ่งมั่นเต็มใจ ประชาชนก็จะได้เห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม
   

ทำอย่างไรกลุ่มกิจกรรมจะยั่งยืน


ชื่อ สกุล       สิรีภรณ์  ยงศิริ
ตำแหน่ง          นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
สังกัด             สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคลองเขื่อน

งานพัฒนาชุมชนเป็นงานที่ทำโดยประชาชน เพื่อประชาชนจากการสนับสนุนช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการประสานความร่วมมือทั้งนี้กิจกรรมต่าง ๆ จะยั่งยืนได้นั้นต้องอยู่บนพื้นฐานความต้องการของชาวบ้านซึ่งพวกเขาเหล่านั้นต้องตระหนักว่ากิจกรรมนั้น ๆ จะช่วยลดทอน หรือยับยั้งปัญหาที่เผชิญอยู่ และช่วยให้ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นดีขึ้นจริง ๆ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งประสบความสำเร็จ ก้าวหน้า  เจริญเติบโต  คุณภาพชีวิตของสมาชิก และชาวบ้านโดยรวมดีขึ้น

ขณะเดียวกันอีกหลายกิจกรรมที่ต้องยุติ และล้มเลิกไปในที่สุดเพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้ ซึ่งเหตุของความล้มเหลวที่เกิดขึ้นนั้น อาจมาจากตัวบุคคลเช่น เจ้าหน้าที่ ผู้นำท้องถิ่น จากชาวบ้านเองหรือเป็นปัจจัยร่วมกันก็เป็นได้ หากพิจารณาแยกย่อยแล้วสามารถสรุปได้ดังนี้

เจ้าหน้าที่
  • มุ่งให้เกิดกิจกรรม ทั้งที่ชาวบ้านยังไม่มีฐานความรู้และความเข้าใจ และความต้องการในกิจกรรม
  • เมื่อตั้งกลุ่มกิจกรรมแล้ว ขาดการประสานงานและติดตามอย่างต่อเนื่อง
ผู้นำกลุ่มกิจกรรม
  • ขาดความรู้และความเข้าใจ ในการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ อย่างถ่องแท้
  • ขาดภาวะความเป็นผู้นำ ระเบียบกฎเกณฑ์ของกลุ่มไม่เที่ยงธรรมไม่โปร่งใส ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมเกิดความเบื่อหน่าย และขาดความน่าเชื่อถือ
  • การปรับเปลี่ยนตัวผู้นำตามวาระ หรือการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงของ ระเบียบกฎเกณฑ์กลุ่มโดยพลการ ทำให้สมาชิกในกลุ่มเกิดความไม่พอใจ
ชาวบ้าน
  • ขาดความรู้และความเข้าใจ ในประโยชน์ของกิจกรรมนั้นๆ
  • ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เคารพเชื่อถือระเบียบกฎเกณฑ์ของกลุ่ม ทำให้กิจกรรมไม่ก้าวหน้า
กลุ่มกิจกรรมจะยั่งยืน เจ้าหน้าที่จะต้องทำความเข้าใจกับผู้นำและชาวบ้านให้ตระหนักถึงปัญหาและความจำเป็นที่แท้จริงซึ่งจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับประโยชน์สูงสุดจากกิจกรรมนั้นๆ โดยเจ้าหน้าที่อย่ายึดความต้องการและเหตุผลของตนเป็นหลัก ต้องทำหน้าที่ด้วยความจริงใจมีวินัยในตนเอง ดังนั้นการตั้งกลุ่มกิจกรรมจะยั่งยืนควรมีการดำเนินการดังนี้

  1. เจ้าหน้าที่ต้องติดตาม ตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลือ อย่างต่อเนื่องและมีความจริงใจ เพื่อให้ชาวบ้านมีกำลังใจและความเชื่อมั่นที่จะดำเนินกิจกรรมของกลุ่มต่อไปได้
  2. สร้างศรัทธาและการยอมรับให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อถือและเห็นความสำคัญของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่จริง
  3. ใช้เวลาในการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการรวมกลุ่มกิจกรรม ทำให้เกิดการยอมรับและควรยึดความต้องการของชาวบ้านส่วนรวมเป็นหลักไม่เห็นแก่ความคิดส่วนตัวของใครเป็นหลัก
  4. ทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงขั้นตอน การดำเนินกิจกรรม การบริหารจัดการตลอดจนการแก้ไขปัญหาในการดำเนินกิจกรรม
  5. มีการประสานความร่วมมือล่วงหน้า ในเรื่องของขั้นตอนการศึกษาดูงาน อบรมเพิ่มพูนองค์ความรู้ การสนับสนุนงบประมาณ จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
  6. ขณะกลุ่มกิจกรรมยังไม่เข้มแข็งเจ้าหน้าที่ต้องวางแนวทางเพื่อพัฒนาศักยภาพให้กลุ่มสามารถยืดหยัด และเติบโตได้โดยให้การอบรม การศึกษาดูงานเป็นการเปิดโลกทัศน์เพื่อให้กลุ่มเกิดแนวคิดใหม่ๆในการบริหารจัดการกลุ่มได้

กลุ่มกิจกรรมต่างๆ หากดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องและเป็นระบบ เชื่อได้ว่ากลุ่มกิจกรรมจะมีความก้าวหน้าและสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืน  และสนองตอบความต้องการและเอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกกลุ่มได้อย่างแท้จริง