วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

จากการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี ๒๕๕๔ พบว่ายังมีครัวเรือนส่วนใหญ่ขาดการออมทรัพย์ฯ เนื่องจากมีรายได้น้อย,มีภาระหนี้สินมาก ประกอบปัจจุบันที่สินค้าอุปโภค/บริโภคมีราคาแพง ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจนลง และหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาความยากจนของกรมการพัฒนาชุมชน เน้นที่การส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนแก้ไขปัญหาความยาจนโดยชุมชน โดยการปรับกระบวนทัศน์และวิธีปฏิบัติของชุมชนให้อยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองมากขึ้น และพึ่งพาคนอื่นน้อยลงทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตคืออะไร ? กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจำแนกความหมายได้ดังนี้
- กลุ่ม=เป็นการรวมตัวของคนตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายเดียวกัน
- ออมทรัพย์
=เป็นการสะสมเงินหรือทรัพย์ ทีละเล็กทีละน้อย อย่างสม่ำเสมอ จากรายได้ของตนเองหรือภายในครอบครัว
- เพื่อการผลิต=เป็นการประอบอาชีพเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จึงหมายถึง เป็นการรวมตัวกันของชาวบ้าน เพื่อช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยการประหยัดทรัพย์ แล้วนำมาสะสม รวมกันทีละเล็กทีละน้อยเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้ให้เป็นทุนให้สมาชิกที่มีความจำเป็นเดือดร้อนกู้ยืมไปใช้ในการลงทุนประกอบอาชีพ หรือเพื่อสวัสดิการของตนเองและครอบครัว โดยใช้หลักคุณธรรม ๕ ประการ เป็นหลักปฏิบัติ ได้แก่ ๑)ความซื่อสัตย์ ๒)ความเสียสละ๓)การเห็นอกเห็นใจกัน ๔)การไว้วางใจกัน ๕)และความร่วมมือกัน

ประโยชน์ของการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จัดตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาคนในชุมชนในด้านต่าง ๆ คือ
๑.ให้รู้จักประหยัด สะสมเก็บออมทรัพย์
๒.ให้มีเงินทุน สนับสนุนการประกอบอาชีพ
๓.ให้สมาชิกรวมน้ำใน รวมทุนช่วยเหลือกัน
๔.ให้รู้จักการจัดแจง การเงิน และรายได้ในครัวเรือน
๕.ให้มีกองทุนสวัสดิการเพื่อสมาชิก
๖.ให้มีการเรียนรู่สร้างเสริมประสบการณ์เรื่องเงินทุน
๗.ให้รู้จักการมีส่วนร่วมทำงานเป็นทีม
๘.ให้รู้จักผนึกกำลังความสามัคคีช่วยเหลือกัน
๙.ให้มีกองทุนการเงินของชาวบ้าน เพื่อการพึ่งตนเองในชุมชน
๑๐.เพื่อส่งเสริมสินเชื่อแก่สมาชิกในด้านต่าง ๆ

ขั้นตอนในการจัดตั้งและวิธีการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
๑.การสำรวจข้อมูล
โดยการใช้ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) และข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน(กชช.๒ ค.) ข้อมูลอื่น ๆ และจากการสังเกตุ/การเข้าถึงชุมชน(พื้นเพ,วัฒนธรรมประเพณี,ค่านิยม,ลักษณะนิสัย,ความรู้การศึกษา,สิ่งแวดล้อม) เพื่อวิเคราะห์เป็นข้อมูลประกอบในการการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ฯ

๒.การแพร่ความคิด ควรแพร่ความคิดกับบุคคลเป้าหมายที่ดูแล้วเป็นผู้นำที่สำคัญของชุมชนก่อน แล้วค่อยขยายสู่ผู้นำชุมชนรองลงมาจนถึงประชาชนทั่วไปในชุมชน (แพร่ความคิดโดยการพูดคุยตัวต่อตัว,ตามร้านค้าชุมชน,วงประชุมชาวบ้านที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ) และหาผู้นำหรือชาวบ้านที่เป็นแนวร่วมที่เห็นถึงประโยชน์มีแนวคิดเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือในการแพร่ความคิดปากต่อปากขยายวงกว้างขึ้น

๓.การจัดเตรียมการประชุมจัดเวทีจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
๓.๑ สถานที่ ควรเป็นที่จุดศูนย์กลางชุมชนและการเดินทางไปมาสะดวก
๓.๒ เงิน (ถ้ามี) เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เป็นค่าอาหาร
,ค่าวัสดุ/อุปกรณ์, และอื่นๆ
๓.๓ วัสดุ/อุปกรณ์ เช่น ป้ายผ้า
,กระดาษทำเอกสาร,เครื่องเสียง ฯลฯ
๓.๔ เวลา หมายถึง การจัดสรรเวลาในการเตรียมประชุมจัดเวทีจัดตั้งกลุ่มฯ เช่น การจัดทำเอกสาร
,หนังสือเชิญประชุม,การจัดสถานที่,การประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

๔.การวางแผนการดำเนินงาน โดยกำหนดวัน,เวลา,สถานที่ที่จะดำเนินการจัดเวทีจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ฯ โดยแบ่งขั้นตอนดังนี้
๔.๑ แบ่งงาน/แบ่งทีมงาน (ผู้นำชุมชน
,กลุ่มแนวร่วม)
๔.๒ การประชาสัมพันธ์(หนังสือเชิญประชุม)
๔.๓ การประสานงานจัดหางบประมาณ(การขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการและ เอกชน
,การรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาและกองทุนต่างๆ สนับสนุนให้ความช่วยเหลือ ด้านงบประมาณ,วัสดุอุปกรณ์,สถานที่ และวิชาการความรู้เพิ่มเติม (ถ้าทำได้)
๔.๔ การจัดทำข้อมูลเอกสาร
,หนังสือเชิญประชุมฯ,ป้ายโครงการ,
๔.๕ การจัดสถานที่ (จัดโต๊ะ,เก้าอี้,เครื่องเสียง ฯลฯ)
๔.๖. การต้อนรับ การจัดอาหาร(ถ้ามี)

๕.จัดเวทีประชุมดำเนินการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
๕.๑ ชี้แจงวัตถุประสงค์ความเป็นมาและประโยชน์ของกลุ่มออมทรัพย์ฯโครงสร้างการบริหารงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ประกอบด้วย ๑)สมาชิกกกลุ่มออมทรัพย์ ๒)คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯ ๓) การประชุมใหญ่ และบทบาทหน้าที่ของกรรมการและบทบาทหน้าที่ของสมาชิก
,ในการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แก่ผู้ร่วมเวที
๕.๒ รับสมัครสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ จัดทำทะเบียนสมาชิก โดยแบ่งเป็นสมาชิกสามัญ (เป็นสมาชิกโดยการส่งเงิน ไม่ต่ำกว่า ๖ เดือน) และสมาชิกกิตติมศักดิ์ (ฝากเงินสัจจะได้ดอกเบี้ย
,แต่กู้ไม่ได้)

การเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯสมาชิกต้องจ่ายเงินให้กับกลุ่มฯดังนี้
๑.ค่าสมัคร/ค่าธรรมเนียม

- ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ชำระครั้งเดียว
- ค่าธรรมเนียม (ชำระเป็นรายปี)

๒.เงินสัจจะสะสม
- สัจจะสะสมเป็นเงินออมตามความสมัครใจและตามความสามารถของตนเอง
- ส่งเงินสัจจะสะสมสม่ำเสมอเป็นประจำตามระยะเวลาที่กำหนด
- เงินสัจจะสะสมพิเศษ (ไม่ได้บังคับ)เงินฝากพิเศษที่มีรายได้ตามฤดูกาล
,ไม่จำกัดจำนวน,ไม่จำกัดเวลาการฝากและถอนเงิน,แยกประเภทบัญชีเงินฝากไว้ต่างหาก,ส่งเงินฝากด้วยตนเอง

การส่งเงินสัจจะสะสมและเงินสัจจะสะสมพิเศษของสมาชิก ส่งได้ ณ ที่ทำการกลุ่มออมทรัพย์ฯในวัน/เวลาและสถานที่สมาชิกกลุ่มได้ตกลงกันไว้อาจะเป็นเดือนละ ๑-๒ ครั้ง โดยสมาชิกจะเป็นผู้ไปส่งเงินด้วยตนเอง เว้นแต่ว่ามีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็สามารถฝากเพื่อนบ้านที่เป็นสมาชิก ส่งแทนเป็นครั้งคราว ซึ่งในวันดังกล่าวคณะกรรมการอำนวยการ จะเป็นผู้รอรับเงิน สัจจะสะสมหรือเงินสัจจะสะสมพิเศษ จากสมาชิก และประชุมปรึกษาหารือประจำเดือนของคณะกรรมการและสมาชิก

๖. ดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯ โดยให้ที่ประชุม(ต้องเป็นสมาชิกกลุ่มฯที่สมัครแล้ว) เสนอชื่อบุคคลที่เห็นควรเป็นคณะกรรมการตามตำแหน่ง (ต้องอยู่ในที่ประชุมและสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มแล้ว) และมีผู้รับรองตำแหน่งละ ๒ คน และเมื่อได้รายชื่อแล้วให้ที่ประชุมใหญ่ยกมือโหวตให้คะแนนเสียง (ยกมือครั้งเดียว)แก่บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ใครได้รับเสียงข้างมากได้เป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯมีหน้าที่บริหารงานกลุ่มออมทรัพย์ฯ และจะต้องมีการจัดทำระเบียบข้อบังคับกลุ่มออมทรัพย์,ทะเบียนสมาชิก,ทะเบียนกรรมการ,ทะเบียนคุมเงินสัจจะ,ทะเบียนคุมเงินสัจจะสะสมพิเศษ,ทะเบียนคุมเงินกู้ของสมาชิก,ทะเบียนคุมเงินปันผล/เฉลี่ยคืน,ทะเบียนครุภัณฑ์

คณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ฯ ประกอบด้วยคณะกรรมการ ๔ คณะ มาจากการเลือกตั้งของสมาชิก มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๓ ปี หรือตามที่ระบุไว้ในระเบียบข้อบังคับกลุ่ม ดังนี้.

๑. คณะกรรมการอำนวยการ มีจำนวน ๕-๗ คน ประกอบด้วย ๑)ประธาน ๒)รองประธาน ๓)เลขานุการ ๔)เหรัญญิก ๕) กรรมการ ๑-๓ คน มีหน้าที่ ๑) พิจารณารับสมาชิก ๒) พิจารณาเรื่องการสะสมเงินหรือรับฝากเงิน ๓) กำหนการประชุมใหญ่ การจัดทำงบดุลและผลการดำเนินงานเสนอต่อที่ประชุม ๔) พิจารณากำหนดจำนวน เงินหุ้นสูงสุดที่สมาชิกจะถือได้ ๕) กำหนดเขตวงเงินกู้ ๖) จัดสรรเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน

๒. คณะกรรมการส่งเสริมสินเชื่อ(เงินกู้) มีจำนวน ๓-๕ คน ประกอบด้วย ๑)ประธาน ๒)รองประธาน ๓)เลขานุการ ๔) กรรมการ จำนวนไม่เกิน ๒ คน มีหน้าที่ ๑) พิจารณา ใบคำร้องขอกู้เงินของสมาชิก ๒)สอดส่อง ดูแล ติดตาม ความเคลื่อนไหวของสมาชิกผู้กู้ รวมทั้งเยี่ยมเยียนช่วยเหลือสมาชิกที่มีปัญหาไม่สามารถชำระเงินกู้คืนได้

๓.คณะกรรมการตรวจสอบ มีจำนวน ๓-๕ คนประกอบด้วย ๑) ประธาน ๒) รองประธาน ๓) เลขานุการ ๔) กรรมการ จำนวนไม่เกิน ๒ คน มีหน้าที่ ๑) ตรวจบัญชีและเอกสารทางการเงิน ๒) ตรวจสอบเอกสารประกอบต่าง ๆ ๓) ตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการต่าง ๆ ๔) ดูแล หรือติดตามความเห็น ความต้องการของสมาชิกหรือบุคคลภายนอกที่มีต่อกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

๔.คณะกรรมการส่งเสริม มีจำนวน ๓-๑๕ คน ประกอบด้วย ๑)ประธาน ๒)รองประธาน ๓)เลขานุการ ๔) กรรมการ จำนวนไม่เกิน ๑๒ คน มีหน้าที่ ๑) ชักชวน ผู้สนใจสมัครเข้ามาเป็นมาชิกกลุ่ม ๒) ให้การศึกษาและฝึกอบรมสมาชิกเกี่ยวกับการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และความรู้อื่น ๆ ที่สมาชิกต้องการ ๓) ประชาสัมพันธ์ผลงาน และกิจกรรมของกลุ่มให้สมาชิกและบุคคลทั่วไป ได้ทราบความเคลื่อนไหว ๔) เสนอความเห็นเรื่องการรับสมาชิกถาวร ให้คณะกรรมการอำนวยการพิจารณา

๗. การติดตามผลการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
๗.๑ ควรร่วมประชุมประจำเดือนทุกเดือน(ในวันที่กำหนดส่งเงินสัจจะสะสมประจำเดือน) เพื่อทราบปัญหาและร่วมกับคณะกรรมการปรึกษาหารือหาแนวทางแก้ไขและส่งเสริมกิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

๗.๒ กลุ่มออมทรัพย์ควรเริ่มจากกลุ่มที่เล็กแต่มีความตั้งใจที่แก้ไขปัญหาหาความยากจนของสมาชิก การฝากเงินสัจจะสะสมควรฝากเงินสะสมจากน้อยไปหามากตามกำลังและรายได้ที่พอจะเจียดจ่ายได้

สรุป สำหรับการพัฒนาชุมชนแล้ว การพึ่งตนเอง ความพอเพียง และความเข้มแข็งของชุมชน: เป็นทางแก้ความยากจนซึ่งการลดรายจ่าย โดยการสร้างวินัยทางการเงิน และการออมเงินในชุมชน ในรูปแบบ การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นหนทางการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในชุมชนอีกทางหนึ่ง

นายชัยพร เพชรโชคชัย
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา

2 ความคิดเห็น: