วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบริหารจัดการกลุ่มอาชีพ

ข้าพเจ้าบรรจุรับราชการใหม่ในจังหวัดอุดรธานี ในปีพ.ศ.2537 อำเภอหนองหาร จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดได้ย้ายไป กิ่งอำเภอพิบูลย์รักษ์ ในปี 2539 ได้มีงบประมาณของกรมการพัฒนาชุมชน ด้านการพัฒนาอาชีพสตรี โครงการสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาสตรีโดยองค์กรสตรี งบประมาณ 25,000 บาท /หมู่บ้าน จำนวน 4 หมู่บ้าน ซึ่งแต่ละหมู่บ้าน จะทำอาชีพคล้ายกัน คือ ทอผ้า แต่มีอยู่หมู่บ้านหนึ่ง ได้จะทอผ้าไหม ได้มาขอให้ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนให้ความรู้เรื่อง การบริหารจัดการกลุ่มอาชีพ ข้าพเจ้าได้เข้าไปประชุมสมาชิกกลุ่มและได้สอบถามสมาชิกว่า

จะทำให้ธุรกิจกลุ่มอาชีพมั่นคงและยั่งยืนก้าวหน้าได้อย่างไร
ข้าพเจ้าให้คำตอบ คือ ต้องมีความรู้
, ความเข้าใจ, ความชำนาญในเรื่องการจัดการธุรกิจของกลุ่มอาชีพ ให้ชัดเจน เพราะหากไม่มีความรู้ความชำนาญก็เปรียบเหมือนนักกีฬาฟุตบอลที่ไม่รู้วิธีการเตะลูก เลี้ยงลูก ไม่รู้กติกาการเล่น ย่อมไม่สามารถจะเป็นนักกีฬาที่ดีได้เลย แล้วจะต้องมีความรู้ในเรื่องใดบ้าง ก็ต้องรู้หลักการ และวิธีการจัดการคน การจัดการงานด้านต่าง ๆ ตามขั้นตอนของการทำธุรกิจกลุ่มอาชีพ และได้มีคำถามว่า

ธุรกิจคืออะไร
ข้าพเจ้าให้คำตอบ คือ ความพยายามที่เป็นระบบของผู้ประกอบการในการทำสินค้าและบริการที่ดีมี คุณภาพ ราคาเหมาะสม ส่งมอบตรงเวลา เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า
โดยมุ่งหวังผลตอบแทนที่เรียกว่า กำไรและเพื่อเป้าหมายอื่นตามต้องการ

ขุมความรู้
การทำธุรกิจ คือ การบริหารทรัพยากร ประกอบด้วย
1. วัสดุ ได้แก่ วัตถุดิบ อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์
2. คน ได้แก่ คนงาน สมาชิก ผู้จัดการ
3. เงิน ได้แก่ เงินทุน ค่าใช้จ่าย รายได้ รายจ่าย

4. ข้อมูล ได้แก่ ข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยี หลักการ, วิธีการ

การทำธุรกิจให้ได้ผลสำเร็จเปรียบได้กับการทำโต๊ะ 4 ขา ให้แข็งแรงใช้งานได้ ซึ่งต้องมีการจัดการที่ดีทั้ง 4 ขา ได้แก่

1. การจัดการคนที่ดี คนที่เป็นปัจจัยหลักในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจกลุ่มอาชีพ ที่มีเป้าหมายเพื่อความผาสุกของคนในกลุ่ม ดังนั้น ต้องมีวิธีการจัดหน้าที่ ความรับผิดชอบของคนที่เกี่ยวข้อง ให้มีขวัญกำลังใจ ความรู้ ความสามารถ ที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายได้

2. การจัดการผลิตที่ดี การทำธุรกิจต้องมีการนำทรัพยากรมาผลิตให้เป็นสินค้าและบริการ ที่สนองความต้องการของลูกค้าได้ การผลิตต้องมีการจัดการให้ถูกขั้นตอน ถูกวิธีการ ถูกต้อง ถูกเวลา เพื่อให้ได้ สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ต้นทุนต่ำ และส่งมอบสินค้าตรงตามเวลาตามสัญญา

3. การจัดการตลาดที่ดี การทำการตลาดที่ดีจะทำให้รู้ความต้องการลูกค้าแต่ละกลุ่ม รู้เรื่อง คู่แข่งขัน รู้เรื่องราคาขาย รู้ช่องทาง การใช้สื่อให้ลูกค้าเข้าใจโดยเร็ว ซึ่งต้องมีการจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้

4. การจัดการเงินที่ดี การทำธุรกิจต้องมีเงินเป็นปัจจัยในการทำงาน ทั้งการซื้อวัตถุดิบ จ่ายค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และต้องมีรายได้จากการขายสินค้าเข้ามา จึงต้องมีการจัดการให้รายได้กับรายจ่ายเหมาะสม มีกำไรและต้องรู้การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของเงินเข้าเงินออกตลอดเวลา

บันได 3 ขั้นของการทำธุรกิจกลุ่มอาชีพให้ได้ผลสำเร็จ
บันไดขั้นที่ 1 ต้องรู้ว่า ลูกค้าเป้าหมายของเรามีความต้องการสินค้าและบริการอะไรแน่
บันไดขั้นที่
2 ต้องรู้ว่า จะจัดการทรัพยากรที่มีให้เกิดสินค้าที่มีคุณภาพดีและราคาถูกได้อย่างไร
บันไดขั้นที่
3 ต้องรู้ว่า จะคิดสร้างสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพและมีข้อดีข้อเด่นกว่าสินค้าของคู่แข่งได้อย่างไร

เส้นทางพัฒนาธุรกิจกลุ่มอาชีพสู่ความยั่งยืน
อย่าลืมดูแลคน
3 กลุ่ม คือ

ดูแลลูกค้า ในเรื่องทำสินค้าที่ดี มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ทำสินค้าที่มีต้นทุนต่ำ ทำให้ขายในราคาต่ำได้ สามารถส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ถูกต้องตรงเวลา

ดูแลสมาชิก ในเรื่องจัดการให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับการทำงานของสมาชิก จัดการเรื่องผลประโยชน์ สวัสดิการ ค่าตอบแทนที่ยุติธรรม รวมทั้งการเสริมความรู้ทักษะให้ด้วย

ดูแลชุมชน ในเรื่องจัดการทำสินค้าที่ไม่ทำลาย ไม่รบกวนความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมที่ดีของชุมชน ยึดมั่นในจริยธรรม ศีลธรรมอันดีงาม ไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่เอารัดเอาเปรียบสังคมและชุมชน

เส้นทางพัฒนาธุรกิจกลุ่มอาชีพสู่ความยั่งยืน คือ ผู้บริหารกลุ่มอาชีพต้องรู้วิธีการจัดการที่ดี วิธีการจัดการที่ดีต้องรู้หลักการจัดการที่ดี 4 ขั้นตอน

การจัดการที่ดี 4 ขั้นตอน

ดูเหมือนจะเป็นขั้นตอนทั่วไป แต่พบว่าผู้บริหารกลุ่มอาชีพมักไม่ได้ทำตามขั้นตอนของการจัดการที่ดีกันมากนัก ส่วนใหญ่จะชอบทำ ไม่ชอบคิดวางแผน ไม่ชอบตรวจสอบ และไม่แก้ไขปรับปรุง ดูจากเหตุการณ์ที่ผิดพลาดจะเกิดซ้ำ ๆ ผิดแล้วผิดอีกในเรื่องเดิมอยู่เป็นประจำ

1. คิด เป็นขั้นตอนของ
๐ การกำหนดเป้าหมาย แผนงาน ทิศทาง เวลา ขั้นตอนทำงาน ผู้รับผิดชอบ การใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์ เครื่องจักร

๐ วิธีการประเมินติดตามงาน

๐ การตรวจวัด

2. ทำ เป็นขั้นตอนของ
๐ การปฏิบัติหรือการลงมือทำตามแผนงานที่วางไว้
๐ มีการสื่อสารทำความเข้าใจขั้นตอนของงานให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง
๐ มีการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับแผนงานที่วางไว้

3. ตรวจ เป็นขั้นตอนของ
๐ การตรวจสอบติดตามประเมินผลเป็นระยะเพื่อดูความก้าวหน้าของงานที่ทำไปตามแผน

4. แก้ เป็นขั้นตอนของ
๐ การปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามเป้าหมาย หากมีปัญหาอุปสรรคจะได้ปรับแก้อย่างทันเวลา
๐ ในกรณีที่ทำได้ตามเป้าหมาย ควรมีการปรับปรุงให้ทำได้ดีกว่าเดิม

๐ ต้องมีการสรุปผลเป็นบทเรียนที่ได้รับทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว

การที่จะให้การจัดการที่ดี 4 ขั้นตอน มุ่งสู่เป้าหมายและประสบผลสำเร็จตามต้องการนั้น ต้องมีการตัดสินใจที่รอบคอบ ไม่ประมาท คิดพิจารณาเหตุปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกให้รอบด้าน เสียก่อน

ปัจจัยภายใน หมายถึง การคิดพิจารณาดูจากจุดอ่อน จุดแข็ง ที่เราหรือกลุ่มผลิตมีอยู่ เช่น เราเก่งด้านไหน เก่งอะไร มีข้อได้เปรียบด้านใด ด้านวัตถุดิบ อุปกรณ์ ด้านที่ตั้ง ด้านชื่อเสียง มีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงอะไรบ้างเพื่อให้สามารถทำธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายได้เหมาะสมกับจุดแข็งที่เรามี

ปัจจัยภายนอก หมายถึง การคิดพิจารณาสิ่งแวดล้อมภายนอกที่มีผลกระทบต่อการทำธุรกิจของเรา อาทิเช่น ความต้องการลูกค้า คู่แข่ง กฏระเบียบ กฎหมาย ราคาวัสดุอุปกรณ์ ราคาน้ำมัน ค่าแรงขั้นต่ำ สภาพดินฟ้าอากาศ สภาพการค้าของตลาด เป็นต้น โดยต้องมีการพิจารณาปัจจัยภายนอกเหล่านี้ว่ามีผลกระทบต่อการขาย ต่อต้นทุนของเราอย่างไร

แก่นความรู้
สิ่งที่กลุ่มอาชีพต้องทำเป็นหลัก คือ การทุ่มเทความตั้งใจ ความพยายาม และเวลาเพื่อนำทรัพยากรทั้งหลายที่มี มาดำเนินการเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามเป้าหมายที่ต้องการให้ได้

นายธีรยุทธ เปลี่ยนผัน
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางปะกง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น