วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การออมแบบพอเพียง...สู่ความยั่งยืนในอาชีพ

หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ยึดหลักทางสายกลาง กล่าวคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยมีสองเงื่อนไขประกอบด้วย เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ความสมดุล ความมั่นคง และความยั่งยืนในการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม การขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงให้ประสบผลสำเร็จตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายนั้น เริ่มตั้งแต่การสำรวจองค์ประกอบที่จำเป็นในการขับเคลื่อนกิจกรรม เช่น ผู้นำ , กลุ่ม , องค์กร , การประกอบอาชีพ , ศักยภาพของพื้นที่ ฯ ลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนกิจกรรมประสบผลสำเร็จ


บ้านปากคลองท่าถั่ว หมู่ที่ ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบชีพประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม และรับจ้างทั่วไป เกษตรกรรมเลี้ยงกุ้ง ปลา มีกลุ่มปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์เป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ประชาชนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเมืองกึ่งชนบท ประชาชนส่วนมากจะต้องไปทำงานรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม และรับจ้างทั่วไป ประชาชนอีกส่วนหนึ่งจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเลี้ยงกุ้ง ปลา อยู่ในหมู่บ้าน และพบว่าในหมู่บ้านมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ประชาชนยังขาดอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ กลุ่มปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ที่มีอยู่ก็มีต้นทุนสูง ตลาดรองรับสินค้ามีน้อยทำให้สมาชิกบางรายเริ่มท้อแท้กับอาชีพนี้ เพราะทำแล้วไม่คุ้มกับต้นทุนดำเนินการ


เมื่อหมู่บ้านนี้ได้รับการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ฯ เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ระดับ พออยู่ พอกิจ มีการประสานกับภาคีการพัฒนา เช่น อบต. , เกษตร , กศน. ฯลฯ บูรณาการการทำงานด้านความรู้ และงบประมาณ สำรวจตลาดในพื้นที่ และตลาดนอกพื้นที่ เพื่อรองรับผลผลิตที่จะเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนกิจกรรม ประสานแกนนำท้องที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน และแกนนำกลุ่ม องค์กร เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการขับเคลื่อนกิจกรรมที่เรียกว่า ครอบครัวพัฒนา โดยค้นหาจากผู้ที่มีความต้องการที่จะร่วมกิจกรรม มีเวลา ที่จะขับเคลื่อนกิจกรรม (การประชุม / สัมมนา / ดำเนินกิจกรรม)


โดยเน้นจากสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ ประชาชนที่อยู่กับบ้านไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพ จำนวน ๓o ครัวเรือน เพื่อประชุมสร้างความรู้ ความเข้าใจ แนวทางการขับเคลื่อนกิจกรรม โดยเน้นการสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ มุ่งเน้นที่การลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนด้านอาหารเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน เช่น การเลี้ยงเป็ดไข่ , การเลี้ยงกบในเปล บ่อปูนซีเมนต์ ล้อยางรถยนต์ การปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ (ผักปลอดสารพิษ) การเลี้ยงปลาดุก ปลานิล ฯลฯ และสิ่งที่สามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก เช่น การทำน้ำยาล้างจาน , การทำน้ำยาซักผ้า , การเผาถ่าน


ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม เมื่อรับวัสดุ – อุปกรณ์ จากโครงการฯ ตามความต้องการของแต่ละครัวเรือน เพื่อไปดำเนินกิจกรรม โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ฯ เพื่อกำหนด กฎ ระเบียบ ในการดำเนินงานของหมู่บ้าน คือ แต่ละครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรม จะต้องออมเงินทุกครัวเรือนที่ประหยัดได้จากกิจกรรมการลดรายจ่าย และมีรายได้จากกิจกรรมดังกล่าว โดยฝากเงินออมไว้กับคณะกรรมการฯ ทุกวันที่ ๕ ของเดือน เพื่อรวบรวมฝากกับธนาคาร


โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แต่ละครัวเรือน ได้นำเงินที่ออมไว้ไปจัดซื้อวัสดุ – อุปกรณ์ พันธุ์พืช / พันธุ์สัตว์ เพื่อต่อยอดการประกอบอาชีพ หรือตามความต้องการของตนเองในยามที่โครงการฯ สิ้นสุดลง เพื่อให้อาชีพและกิจกรรมที่แต่ละครัวเรือนดำเนินการอยู่ เช่น

1. การปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ หรือ ผักสวนครัว

2. การเลี้ยงกบในเปล , บ่อปูนซีเมนต์ , ในล้อยางรถยนต์

3. การทำน้ำยาล้างจาน , น้ำยาซักผ้า

4. การเผาถ่าน

5. การเลี้ยงเป็ดไข่ , การเลี้ยงปลาดุก , การเลี้ยงปลานิล


กิจกรรมดังกล่าวทำให้ครอบครัวพัฒนาสามารถลดรายจ่ายด้านอาหารของครัวเรือน มีการแลกเปลี่ยนผลผลิตที่แต่ละครัวเรือนผลิตได้ เช่น ไข่เป็ด แลก กบ , ผัก แลก ปลา เป็นต้น และมีรายได้จากการขายผลผลิตให้กับครัวเรือนในหมู่บ้าน ร้านค้าในหมู่บ้าน และร้านค้านอกหมู่บ้าน ทำให้ครัวเรือนเป้าหมายสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน มีถ่านสำหรับหุงต้ม , มีน้ำยาล้างจาน และนำยาซักผ้าใช้ในครัวเรือน ไม่ต้องซื้อจากร้านค้า


สรุปแล้ว การขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง สามารถทำให้ครัวเรือนเป้าหมายมีอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะการเก็บออมเพื่อจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ในการประกอบอาชีพ เป็นการรักษาสภาพอาชีพที่แต่ละครัวเรือนดำเนินการอยู่ให้ต่อเนื่อง และสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ตลอดไป ส่งผลให้หมู่บ้านมีอาชีพที่จะเป็นอาชีพหลักของหมู่บ้านในอนาคต เพิ่มเติมจากอาชีพดั้งเดิมที่ทำอยู่แล้ว สร้างวินัยในการออมเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในการประกอบอาชีพ เกิดทักษะ ด้านความรู้ เกิดการบูรณาการ การทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาคีการพัฒนา มีการแลกเปลี่ยนผลผลิตที่ตนเองผลิตได้กับครัวเรือนอื่นๆ ก่อเกิดความสามัคคี ความเอื้ออารีย์ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ปากคลองท่าถั่ว หมู่ที่ ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีความเข้มแข็งด้านอาชีพ พึ่งตนเองได้ โดยยึดหลักการออมแบบพอเพียงตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


ขุมความรู้
1.
การสำรวจข้อมูลหมู่บ้าน ศักยภาพพื้นที่ การประกอบอาชีพ อุปนิสัยของทีมงาน และประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้งาน และภารกิจ ที่ได้รับมอบหมายประสบผลสำเร็จ

2. การทำงานเป็นทีม หมายถึง การวางแผนการทำงานร่วมกันภายในหน่วยงาน และระหว่างหน่วยงาน หรือกลุ่มเป้าหมายที่ร่วมโครงการ สามารถทำให้กิจกรรม – โครงการ ดำเนินการได้โดยไม่มีปัญหา – อุปสรรค

3. ความรู้ในการปฏิบัติงาน คือ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับงานที่ดำเนินการ เช่น การประกอบอาชีพ วัสดุ – อุปกรณ์ ที่ใช้ดำเนินกิจกรรม ฯลฯ และสามารถชี้แจง ทำความเข้าใจ อธิบายแนวทางการขับเคลื่อนกิจกรรมได้อย่างชัดเจน

4. ความต้องการของประชาชน หมายถึง กิจกรรม – โครงการ ต้องมาจากความต้องการของประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม หากไม่เกิดจากความต้องการแล้ว อาจส่งผลต่อเสียต่อโครงการ และความเชื่อถือของประชาชน


แก่นความรู้

1. เทคนิคการเป็นวิทยากรกระบวนการ เป็นสิ่งจำเป็นในการจัดเวทีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อทำให้เกิดการยอมรับจากประชาชน และหน่วยงานที่เข้าร่วมกิจกรรม และเพื่อลดความเบื่อหน่าย และความจำเจ ในการจัดเวทีประชาคม

2. การใช้ (SWOT) วิเคราะห์ศักยภาพของหมู่บ้าน จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค เพื่อนำมาใช้วางแผนการดำเนินกิจกรรม ได้ตรงเป้าหมาย

3. กระบวนการมีส่วนร่วม คือ การประสานการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในพื้นที่ เช่น การบูรณาการด้านงบประมาณ , การจัดเวทีประชาคม ฯลฯ


นายสุรินทร์ เทศกิจ

นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบ้านโพธิ์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น