วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางการดำเนินงาน ศอช.ต.

ชื่อ – สกุล ว่าที่ ร.ต.จักพันธ์ คำแท้
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก 08-6816-9973
ชื่อเรื่อง ขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนอย่างไรให้เข้มแข็ง
เป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ แนวทางการดำเนินงาน ศอช.ต.
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2551
สถานที่ ต.ท่าถ่าน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
.

เนื้อเรื่อง
ศอช. เป็นการผนึกกำลังของผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กรเครือข่าย ให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน ดำเนินการในรูปแบบเครือข่าย เป็นองค์การภาคประชาชน ชื่อเต็มว่า
“ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชน” ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งในงานพัฒนาชุมชนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถผู้นำ /กลุ่ม/องค์กร/เครือข่ายองค์การชุมชน ฉะนั้นหน่วยงานจำเป็นต้องกำหนดผู้รับผิดชอบและผู้รับผิดชอบต้องกระตุ้นคณะกรรมการ ศอช.ทุกระดับให้เข้าใจในบทบาทหน้าที่ และประโยชน์ที่จะได้รับต่อชุมชน เกิดจิตอาสาในการแก้ไขปัญหาชุมชน ในที่สุดความสำเร็จในการขับเคลื่อน ศอช.เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน

.
การก่อเกิด ศอช.ต.ท่าถ่าน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา นั้น..ได้แรงผลักดันทั้งส่วนภาคราชการเอกชนภายในตำบลโดยมีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนคอยให้คำปรึกษาและในฐานะเป็นกรรมการและเลขานุการคณะทำงานส่งเสริมศูนย์ประสานงานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่าน เริ่มแรกการประสานงานเป็นไปด้วยความล่าช้าเนื่องจากกลุ่มองค์กรยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ยังไม่มีจิตอาสา ต่อมามีการประชุมบ่อยขึ้นคณะกรรมการเริ่มเข้าใจในบทบาทมากขึ้นทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
.

กว่าจะเป็น ศอช.ต.ท่าถ่าน ที่เข้มแข็งเริ่มแรก ผู้รับผิดชอบต้องศึกษาทำเข้าใจในระเบียบกระทรวงมหาไทยว่าด้วยการดำเนินงานศูนย์ประสานงานองค์การชุมชน พ.ศ.2551 ต่อจากนั้นต้องสร้างความใจในเวทีสาธารณะต่างๆ กับ ผู้นำชุมชน /กลุ่ม/ องค์กร เครือข่าย ว่า ศอช. คืออะไร ได้ประโยชน์อะไร ทำไมต้องมี ศอช. หน้าที่สำคัญของ ศอช.มีอะไรบ้าง และประกอบด้วยใครบ้าง
.

เมื่อสร้างความเข้าใจในเบื้องต้นแล้วให้เวทีคัดเลือกคณะกรรมการกรรมการศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่าน เมื่อได้คณะกรรมการฯเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อำเภอรับรองผลการคัดเลือกคณะกรรมการฯโดยออกเป็นประกาศอำเภอ ต่อจากนั้น ประธาน ศอช.ต. เรียกประชุมคณะกรรมการฯ ในการจัดทำแผนการดำเนินงาน จัดทำระเบียบข้อบังคับ ดำเนินการสำรวจกลุ่มองค์กรภายในตำบล ว่ามีกลุ่มอะไรบ้าง ใครเป็นประธาน มีเงินทุนเท่าไร มีผลิตภัณฑ์อะไร ซึ่งมีที่ทำการ ศอช.ต.ท่าถ่าน ตั้งอยู่ ณ อบต.ท่าถ่าน
.
เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าว ได้จัดทำแผนผังคณะกรรมการ ข้อมูลกลุ่มองค์กรต่างๆติดตั้งภายในศูนย์ฯ ต่อจากนั้น กรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้เลือก ศอช.ต.ท่าถ่านเป็นพื้นที่นำร่องศูนย์ประสานงานองค์การชุมชน(ภาคกลาง) ดำเนินโครงการตำบลนำร่องสมานฉันท์ด้วยมาตรฐานงานชุมชนและจิตสำนึกพลเมืองด้านการจัดการความขัดแย้งของชุมชน ผลผลิตที่ได้จากโครงการนี้ คือ โครงสร้างและกระบวนการทำงาน ด้านการบริหารงบประมาณ และทรัพยากร ด้านการพัฒนาขีดความสามารถของเครือข่าย ด้านการจัดสรรผลประโยชน์ต่อสมาชิก และได้ดำเนินโครงการอบรมหลักสูตรพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ให้กับคณะกรรมการ ศอช.ต.ท่าถ่าน ทำให้คณะกรรมการ ศอช.ได้รับความรู้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
.
การแก้ปัญหาชุมชนโดยศูนย์ยุติธรรมชุมชนพนมสารคาม การจัดเวทีพูดคุยหาทางออกของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย การป้องกันและเผยแพร่ให้ความรู้ เช่น การจัดบอร์ดกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจแนวทางการปฏิบัติ เรื่องการลดความขัดแย้งภายในชุมชนเพื่อยุติคดีก่อนถึงกระบวนการทางศาลยุติธรรมทางสถานีวิทยุชุมชนพนมสารคาม ในที่สุดคณะกรรมการ ศอช.ต.ท่าถ่าน เริ่มเข้าใจในบทบาทหน้าที่/เข้าใจแนวทางในการแก้ไขปัญหาชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชน การทำงานโดยมีแผนปฏิบัติการ ทำงานร่วมกับภาคี และดำเนินการจัดเวที ศอช.ต.สัญจรเพื่อได้รับทราบปัญหาต่างๆภายในหมู่บ้านตำบลทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิด วิเคราะห์ปัญหา การแก้ปัญหาของชุมชนด้วยวิถีทางชุมชน คือ คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของชุมชน
.

การขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนให้เข้มแข็ง ผู้รับผิดชอบต้องศึกษาให้เข้าใจในแนวทางการดำเนินงาน ศอช. ต้องสร้างความเข้าใจแก่คณะกรรมการ ศอช.และภาคีเครือข่าย และที่สำคัญต้องกระตุ้นให้คณะกรรมการ ศอช.มีจิตอาสารับใช้ชุมชนโดยไม่หวังค่าตอบแทน แล้วผู้รับผิดชอบต้องมีการติดตามเป็นที่ปรึกษาอย่างต่อเนื่อง
.
แนวคิดทฤษฏีที่นำมาใช้
การมีส่วนร่วม/การทำงานเป็นทีม/การจัดการความรู้/การบริหารจัดการ/การสร้างเครือข่าย/
หลักการดำเนินงานตามระบบมาตรฐานงานชุมชน
.

บันทึกขุมความรู้ (Knowledge Assets)
1. ความร่วมมือขององค์กรต่าง ๆ ในชุมชนตำบลท่าถ่าน โดยการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก
และเป็นคณะกรรมการ
2. ประชาชนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี มีวินัยในตนเองจะเห็นได้จากความร่วมมือ
ในการทำกิจกรรม ทุกคนให้ความร่วมมือพึ่งพอใจในการปฏิบัติงาน
3. การบริหารงานเป็นไปอย่างโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้
4. คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ตลอดจนสมาชิกมีความรับผิดชอบสูง จึงทำให้งานดำเนิน
ไปด้วยความเรียบร้อย
5. ชุมชนมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ ศอช.ต. สังเกตได้จากชุมชนไม่มีความขัดแย้ง และไม่มีการทะเลาะวิวาท เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ปฏิบัติอยู่ในกรอบของผู้ปกครอง
6. มีตัวแทนภูมิปัญญาชาวบ้านในคณะกรรมการ ศอช.ต.ในการเผยแพร่ข่าวสาร วิชาชีพ
กฎหมาย ศิลปะ วัฒนธรรมของชุมชน
7. กองทุนหมู่บ้านสามารถให้ทุนในการกู้ยืมกับชาวบ้านในการประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง
8. มีศูนย์เรียนรู้ มีวิทยากรให้ความรู้ด้านวิชาชีพ
9. กลุ่มสตรีร่วมทำกิจกรรมในการพัฒนาหมู่บ้าน กิจกรรมสตรีอำเภอ กิจกรรมสตรีจังหวัด
10.กลุ่มฌาปนกิจช่วยเหลือเงินเบื้องต้นกับสมาชิกที่เสียชีวิต
11.มีการถ่ายทอดความรู้ระหว่างเครือข่ายโดยคณะกรรมการ ศอช.ต.ในหมู่บ้าน ตำบล
.

แก่นความรู้ ( Core Competencies)
1. สร้างความพอใจ
2. วิธีการยุติข้อพิพาทก่อนถึงศาลพิจารณาคดี
3. จัดเวทีประชาพิจารณ์
4. จัดหาคนกลางเพื่อไกล่เกลี่ย/ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในรูปแบบ ศอช.ต.
5. ความเชื่อมั่นในตนเอง
6. คณะกรรมการ ศอช.ต.เข้าใจในบทบาทหน้าที่
7. การได้รบผลประโยชน์ร่วมกัน
8. การพัฒนาความรู้ของคณะกรรมการ ศอช.ต โดยจัดเวทีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง การเข้ารับการอบรมจากหน่วยราชการ
9. การระงับข้อพิพาทภายในหมูบ้าน ตำบล ในรูปแบบการทำงาน ศอช.ต.ร่วมกับศูนย์
ยุติธรรมชุมชนพนมสารคาม
10. จัดทำระเบียบ ศอช.ต. ภายใต้ระเบียบกระทรวงมหาไทยว่าด้วยการดำเนินงานศูนย์
ประสานงานองค์การชุมชน พ.ศ.2551
11. ส่งเสริมให้ชุมชนรู้กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิพึงได้/กฎหมายประจำวัน
12. สร้างให้เกิดการยอมรับโดยเปิดโอกาสให้ผู้อื่นแต่คงความสามารถ/คิดเห็น โดยเริ่มปลูกฝังตั้งแต่วัยเรียน/ชุมชน เสริมให้ตระหนักโดยการรับฟังความคิดเห็น
13. ประกาศทางอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการ ศอช.ต.ท่าถ่าน
14. คำสั่งอำเภอแต่งตั้งทำงานส่งเสริม ศอช.ต.ท่าถ่าน
.

กลยุทธ์ในการทำงาน
1. วัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน ศอช.ต.ท่าถ่าน
1.1เพื่อให้ผู้นำชุมชน/กลุ่ม/องค์กรชุมชน/เครือข่ายองค์การชุมชน/ชุมชน ตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดความรู้ความเข้าใจการดำเนินงานศูนย์ประสานงานองค์การชุมชน
1.2เพื่อให้ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่านมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ
.

2. ขั้นตอน วิธีการดำเนินงาน
ในฐานะพัฒนากรได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่าน ดังนี้
1. จัดประชุมชาวบ้าน/ผู้นำ/กลุ่มองค์กร เพื่อสร้างความเข้าใจถึงหลักการแนวทาง
ดำเนินงานประสานงานองค์การชุมชนตำบล ท่าถ่าน โดยมีผู้เข้ร่วม 50 คน
2. นัดประชุมผู้แทนกลุ่มองค์กรต่างๆ เพื่อพิจารณาคัดเลือกคณะกรรมการบริหาร
ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่าน
3. ออกหนังสือประกาศอำเภอพนมสารคาม เรื่องรับรองผลการคัดเลือกคณะกรรมการ
ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่าน ประกาศ ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2551
4. เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอพนมสารคามขอความร่วมมือจากหัวหน้างานในสังกัด
มท.ระดับอำเภอและหน่วยภาคีการพัฒนาฯ พิจารณาคัดเลือกข้าราชการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่
และ อปท.เป็นคณะทำงาน ร่วมกับ นายก อบต.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน(คณะส่งเสริม ศอช.ต.ท่าถ่าน)
5. ออกคำสั่งอำเภอพนมสารคาม เรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่าน ที่ 111/2551 สั่ง ณ วันที่ 19 มีนาคม 2551
6. ประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่าน
และคณะทำงานส่งเสริมศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่านเพื่อร่างระเบียบและกำหนดแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่าน
7. ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่าน ตามแผนที่กำหนด
8. ติดตามความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่าน
9. สรุปบทเรียนในการดำเนินงานศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่าน
10. ประเมินผลการขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่าน
.

3. ผลสำเร็จของงาน (เชิงประมาณ/คุณภาพ)
1.มีสถานที่ทำการศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่าน จำนวน 1 แห่ง ที่ตั้งอยู่ที่
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าถ่าน
2.ได้คณะกรรมการบริหารศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่านที่มีความสามารถในการบริหารจัดการจากกลุ่ม/องค์กร 7 หมู่บ้าน ได้คณะทำงาน 1 คณะ 25 คน
3.มีแผนปฏิบัติงานประจำปีของศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถาน ดังนี้
3.1 การประชุมเครือข่าย
3.2 การประชุมระหว่างเครือข่าย
3.3 การสัมมนาเครือข่าย
3.4 จัดฝึกอบรม
3.5 ข้อตกลงในการแบ่งปันผลประโยชน์ชัดเจน
3.6 จัดทำเอกสารผลการดำเนินงานของเครือข่าย
3.7 ประสานงานเพื่อช่องทางการตลาดต่อชุมชน
3.8 ตั้งกองทุนสวัสดิการเครือข่าย
4. ดำเนินการตามกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการทำงานของศูนย์ประสานงานองค์การชุมชน
5. ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่านมีความสามารถในการขับเคลื่อนกิจกรรมและเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแก่กลุ่ม/องค์กรต่างๆ ในหมู่บ้าน/ตำบลได้

.
4. การนำไปใช้ประโยชน์
1. เป็นแบบอย่างในการขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบล
2. เกิดช่องทางการพัฒนาหมู่บ้าน / ตำบล และรู้ปัญหาของหมู่บ้าน
3. สามารถนำปัญหาที่ได้ในหมู่บ้านเสนอไว้เป็นแผนชุมชนระดับหมู่บ้าน ตำบล
4. สามารถนำฐานข้อมูลต่าง ๆ ภายในตำบล ไปใช้ในการวางแผนพัฒนาหมู่บ้าน/ตำบล
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.
5. ความยุ่งยากในการดำเนินการ/ปัญหา/อุปสรรค
1. การประสานงานกลุ่ม / องค์กร / หน่วยงานภาคีการพัฒนา
2. การให้ข้อมูลของกลุ่ม/องค์กรไม่ชัดเจนในการจัดเก็บข้อมูล
.

6. ข้อเสนอแนะ
1. ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่านควรทำงานร่วมกับอาสาพัฒนาชุมชน/ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนของหมู่บ้าน/ตำบลในการจัดเก็บข้อมูลให้เพียงพอ
2. ควรจัดเวที ประชาคมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การขับเคลื่อน ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่านเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
3. เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนต้องติดตามความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่านอย่างต่อเนื่อง
4. เจ้าหน้าที่คณะกรรมการบริหารศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่านมีการจัดการความรู้อย่างต่อเนื่อง
5. ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชน พัฒนากร หน่วยงานภาคี ร่วม สรุปบทเรียนการขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่าน
6. คณะกรรมการศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่านเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนตำบลท่าถ่าน

.
กฎระเบียบ แนวคิด ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้อง
- แนวคิดการจัดตั้งเครือข่ายเนื่องจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนมีผู้คนอยู่รวมกันแบบ พึ่งพาอาศัยใกล้ชิดกันความสัมพันธ์ในลักษณะเครือข่าย ถือเป็นหัวใจของการเชื่อมโยงชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้ชุมชนอยู่รอดจากปัญหา หรือวิกฤติต่าง ๆ
- แนวคิดการมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมของชุมชนจะต้องมีขึ้นโดยตลอดตั้งแต่ขั้นการร่วม วางแผนโครงการ การเสียสละกำลัง แรงงาน วัสดุ กำลังเงิน หรือทรัพยากรใด ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน แนวคิดภาวะผู้นำ หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนคนหนึ่ง (ผู้นำ) กับกลุ่ม (ผู้ตาม) ที่มีประโยชน์ร่วมกันและพฤติกรรมตนอยู่ภายใต้อำนวยการและการกำหนดแนวทางของผู้นำ
- ระบบมาตรฐานงานชุมชนเป็นเครื่องมือสำหรับผู้นำชุมชนกลุ่ม / องค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กระชุมชนและชุมชน ใช้เพื่อทำให้รู้จักตนเอง สามารถประเมินและพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ เป็นกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนร่วมกับภาคีการพัฒนา โดยผ่านกระบวนการ ร่วมคิด ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมสรุปถอดบทเรียน รวมทั้งการกำหนดทิศทางพัฒนาที่ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างเป็นระบบ
- ระเบียบกระทรวงมหาไทยว่าด้วยการดำเนินงานศูนย์ประสานงานองค์การชุมชน พ.ศ.2551

9 ความคิดเห็น:

  1. ได้ความรู้เพิ่มขึ้นเยอะเลย..แล้วจะเอาไปปรับใช้ในพื้นที่นะครับ

    ตอบลบ
  2. ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยคะ...

    จะนำความรู้นี้ไปปรับใช้ในการทำงานค่ะ....

    ตอบลบ
  3. สุดยอด km เลยนะเนี่ย สมแล้วที่เป็นอันดับ2ยกย่องฯ อิอิ

    ตอบลบ
  4. บางน้ำเปรี้ยวเยี่ยมมากๆ ครับ

    ตอบลบ
  5. ดีมากครับ เป็นตัวอย่างที่ดีมาก

    ตอบลบ
  6. ข้อความค่อนข้างยาว แต่ได้รายละเอียดดี สามารถนำไปเป็นแบบอย่างได้ครับ

    ตอบลบ
  7. ดีมากครับ ศอช.ต.ต้นแบบ..

    ตอบลบ
  8. ข้อความยาวไปหน่อยแต่ก็ดีนะคะ

    ตอบลบ
  9. ยาวมากๆอ่านไม่ใหว

    ตอบลบ