วันหนึ่งข้าพเจ้าได้เข้าร่วมประชุมกับสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ในที่ประชุมก็พูดถึงเรื่องวัชพืชหน้าบ้านของราษฎรรวมถึงในลำคลองมีวัชพืชปกคลุม เรือพายเข้าบ้านไม่สะดวกทำไม อบต.ไม่ไปทำความสะอาดให้เสียที พอถึงช่วงเก็บข้อมูล จปฐ.ข้อมูลเรื่องการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมสาธารณะของหมู่บ้าน/ชุมชน จะตกเกณฑ์เป็นจำนวนมากทั้งที่ข้อมูลตัวนี้ไม่น่าจะตกเกณฑ์เมื่อตกเกณฑ์แล้ว เราในฐานะพัฒนากรก็ต้องหาทางแก้ไข โดยที่ไม่มีงบประมาณมาจัดทำโครงการ มีเพียงแต่กระบวนการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน
ขุมความรู้
ใช้วิธีกระตุ้นให้คิดสร้างจิตสำนึกในการรักหวงแหนชุมชนของอดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนท่าน ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี หลักการมีส่วนร่วม คือ 1. ร่วมคิด 2.ร่วมตัดสินใจ 2.ร่วมวางแผน 3.ร่วมแก้ไขปัญหา 4.ร่วมประเมินผล 5.ร่วมรับผิดชอบ 6.ร่วมรับผลของการพัฒนาทั้งในรูปบุคคลและกลุ่ม ด้วยความจริงใจ ไม่ใช่ความเกรงใจหรือถูกบังคับ การมีส่วนร่วมเป็นพื้นฐานของงานพัฒนาชุมชนเพราะเป็นการสร้างความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชน ทำให้งานพัฒนาชุมชนดำเนินไปสู่ความสำเร็จและสามารถพัฒนาด้านอื่นๆโดยไม่หยุดยั้ง
จุดมุ่งหมายสูงสุดของการพัฒนาชุมชนคือการพึ่งตนเองของประชาชนเพราะประชาชนเป็นผู้รู้สภาพความเป็นจริงของปัญหาในชุมชนมากกว่าผู้อื่นและต้องดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนนานกว่าผู้อื่น ฉะนั้น หน่วยงานต่างๆที่จะเข้าไปพัฒนาต้องตระหนักในเรื่องนี้ เนื่องจากปัญหาบางประการที่เกิดขึ้นหน่วยงานต่างๆให้การช่วยเหลือชุมชนมากเกินไป จนประชาชนเกิดความเคยชินจนชุมชนไม่สามารถช่วยตนเองได้ ดังนั้นจึงต้องสอดแทรกวิธีการ กระตุ้นให้คิดและสร้างจิตสำนึกในการหวงแหนชุมชนในช่วงที่มีการจัดประชาคมในชุมชนของหน่วยงานต่างๆและการประชุมต่างๆของกรมการพัฒนาชุมชนเมื่อมีโอกาส โดยการยกตัวอย่างการทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรมดังนี้
แก่นความรู้
ตัวอย่าง เช่น การขุดบ่อน้ำ 2 บ่อไว้ใช้ในชุมชน บ่อน้ำที่ 1 ประชาชนร่วมกันคิด ร่วมวางแผน ร่วมออกค่าวัสดุรวมถึงร่วมกันขุดทำจนแล้วเสร็จ บ่อน้ำที่ 2 อบต.ทำให้เสร็จเรียบร้อย อยู่มาวันหนึ่ง เกิดมีคนมาทำให้บ่อน้ำทั้ง 2 บ่อชำรุดเสียหาย ประชาชนจะซ่อมบ่อน้ำบ่อไหนก่อน คำตอบคือ ประชาชนเขาจะซ่อมแซมบ่อน้ำที่เขาร่วมกันขุดขึ้นมาก่อน ส่วนบ่อที่ อบต.ทำให้ประชาชนเขาจะรอให้ อบต.มาซ่อมให้ งานพัฒนาชุมชนต้องทำแบบการขุดบ่อน้ำบ่อที่ 1 ถึงจะยั่งยืน
นอกจากใช้วิธีกระตุ้นให้คิดสร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมแล้วยังต้องใช้เทคนิคการทำงานแบบ 3 ช.ของอดีดผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เมื่อครั้งข้าพเจ้าไปรายงานตัวเข้ารับราชการครั้งแรก ปี 2529 ดังนี้
ช.(ชอบ) ช.(เชื่อ) ช.(ช่วย)
ช.ที่1 คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนชอบ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาโดยนำหลักการมีส่วนร่วมเข้ามาดำเนินการในช่วง ช.ที่ 1 เมื่อกระบวนการ ช.ที่ 1 บรรลุเป้าหมายแล้ว ช.ที่ 2 จะตามมา คือการเชื่อถือ ถ้าเราพูดสิ่งใดไปในชุมชนประชาชนจะให้น้ำหนักความเชื่อถือแก่เรามาก เมื่อได้ ช.ที่ 2 บรรลุเป้าหมายแล้ว เมื่อมีงานหรือขอความร่วมมือประชาชนจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มใจโดยไม่ต้องบังคับ
งานที่ประสบความสำเร็จเช่นการจัดให้มีการรณรงค์เกี่ยวกับการต่อต้านยาเสพติด การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีในวันแม่ (12 สิงหาคม,วันพัฒนา 5 ธันวาคม) การจัดกิจกรรมวันสำคัญต่างๆที่มีการระดมกำลังได้แก่วันแม่ วันสตรีสากล งานอาสาพัฒนาชุมชนทำความสะอาดบริเวณสาธารณะประโยชน์ บริเวณไหล่ทางถนนเข้าหมู่บ้าน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชน การรณรงค์ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สมาชิก อบต. /สท./สส./สว. การจัดเวทีประชาคมต่างๆ
นายรุ่ง วีระพันธุ์
เจ้าพนักงานพัฒนาชุมชนชำนาญงาน
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางปะกง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น