วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เทคนิคการใช้เวทีประชาคมในการคัดเลือกกิจกรรมสาธิตการดำรงชีวิตแบบพอเพียง

บ้านคลองเอวจระเข้ หมู่ที่ 11 ตำบลท่าไข่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีจำนวน 70 ครัวเรือน ประชากร รวม 274 คน เป็นชาย 132 คน หญิง 142 คน ประชาชนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพทำนา อาชีพเสริม ปลูกข่า,ตะไคร้ ไว้ที่หัวไร่ปลายนา เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ระดับพออยู่ พอกิน ระดับจังหวัด ปี 2553

กรมการพัฒนาชุมชนได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อรักษาและพัฒนาคุณภาพความเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบปีที่ผ่านมาให้คงมาตรฐานตามเกณฑ์การประเมินหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ปี 2553 และให้ดำเนินการใน 4 กิจกรรม ดังนี้
1. กิจกรรมการเรียนรู้ตนเองและกำหนดการพัฒนาคุณภาพชีวิต
2. กิจกรรมสาธิตการดำรงชีวิตแบบพอเพียง
3. กิจกรรมเสริมสร้างระบบการบริหารจัดการชุมชน การเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และการสร้างความสมานฉันท์สามัคคีของหมู่บ้าน
4. กิจกรรมการจัดการความรู้

เมื่อได้รับแจ้งจากจังหวัดว่าให้ดำเนินการโครงการรักษามาตรฐานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ปี 2552-2553 ผู้เขียนก็ดำเนินการตามโครงการ ดังนี้

1. ศึกษาทำความเข้าใจแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด ประสานงานกับผู้นำชุมชน และประชาชน ให้ทราบวัตถุประสงค์ และรายละเอียดโครงการ

2. ร่วมกับผู้นำชุมชน กลุ่ม องค์กรในชุมชน วางแผนการดำเนินงานโครงการ กิจกรรมที่ 1-4 และกำหนดวัน เวลา และสถานที่ฝึกอบรม รวมทั้งคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ารับการอบรม จำนวน 30 คน

3. จัดทำหนังสือเชิญประชุมเวทีประชาคม เพื่อดำเนินการในกิจกรรมที่ 2 กิจกรรมสาธิตการดำรงชีวิตแบบพอเพียง และส่งหนังสือเชิญประชุมให้กับกลุ่มเป้าหมาย

4. จัดเตรียมเอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเลือกตามโครงการรักษามาตรฐานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ปี 2552-2553

5. จัดเวทีประชาคมคัดเลือกกิจกรรมสาธิตการดำรงชีวิตแบบพอเพียง เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณาคัดเลือกกิจกรรมทางเลือกตามแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด อย่างน้อย 2 กิจกรรม ซึ่งการจัดเวทีประชาคมในครั้งนี้ไม่มีงบประมาณสนับสนุนแต่อย่างได ผู้เขียนเห็นว่าควรจะจัดเวทีประชาคม เพราะกิจกรรมทางเลือกมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และจะได้กิจกรรมทางเลือกที่ตรงกับความต้องการของประชาชน

ผู้เขียนมองว่าการจัดเวทีประชาคมเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ และตระหนักเกี่ยวกับการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมานั้น เพื่อแก้ไขปัญหาและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในชุมชน การพัฒนาจะต้องทำให้มีการพัฒนาในหลายด้านในเวลาเดียวกัน การบริหารจะต้องมีความพร้อมทั้งคน เงิน วัสดุ และการบริหารจัดการ

6. จัดทำโครงการรักษามาตรฐานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ปี 2552-2553 โดยในกิจกรรมที่ 2 ซึ่งเป็นกิจกรรมทางเลือกในการสาธิตการดำรงชีวิตแบบพอเพียง มีจำนวน 5 กิจกรรม คือ ทำน้ำยาซักผ้า,น้ำยาปรับผ้านุ่ม,สบู่เหลว,พิมเสนน้ำ,ปลูกพืชผักสวนครัว (มะนาว) และพืชเศรษฐกิจ (มะม่วง) เสนอนายอำเภอเห็นชอบ และส่งโครงการให้จังหวัด เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด อนุมัติ

บันทึกขุมความรู้
1. จัดเวทีประชาคมให้ความรู้เรื่องการดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และคัดเลือกกิจกรรมสาธิตการดำรงชีวิตแบบพอเพียง
2. ประสานงานกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ และผู้นำชุมชน
3. สนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนกิจกรรมรักษามาตรฐานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ปี 2553
4. การทำงานเป็นทีม

แก่นความรู้
1. จัดเวทีประชาคมให้ความรู้เรื่องการดำรงชีวิตแบบพอเพียง
2. ประสานงานกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ และผู้นำชุมชน
3. สนับสนุนงบประมาณ
4. การทำงานเป็นทีม

กลยุทธ์ในการทำงาน
1. จัดเวทีประชาคมให้ความรู้การดำรงชีวิตแบบพอเพียง

การจัดเวทีประชาคมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพราะจะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรคของการทำงาน และเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น โดยผู้เขียนได้กำหนดให้ผู้เข้าร่วมเวทีประชาคมประกอบด้วยแกนนำชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่ม องค์กร ในชุมชนในการร่วมกันจัดเวทีประชาคม เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในกิจกรรมทางเลือกสาธิตการดำรงชีวิตแบบพอเพียง

2. ประสานงานกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่
โดยประสานงานเป็นการส่วนตัวกับ ครู กศน. ในพื้นที่ สำหรับการให้ความรู้ในกิจกรรมที่ 2 การสาธิตการดำรงชีวิตแบบพอเพียง

3. สนับสนุนงบประมาณ
จัดทำโครงการ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัด และให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการสาธิตทำน้ำยาซักผ้า
,น้ำยาปรับผ้านุ่ม,สบู่เหลว,พิมเสนน้ำ,ปลูกพืชผักสวนครัว (มะนาว) และพืชเศรษฐกิจ (มะม่วง)

4. การทำงานเป็นทีม
การทำงานเป็นทีมมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะทำให้งานประสบผลสำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การทำงานเป็นทีมเป็นการนำความรู้ ความสามารถของแต่ละคน แต่ละหน่วยงานมารวมกัน เพราะความรู้ความสามารถของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

นายสมศักดิ์ จิตรวิไลย
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น