วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

บ้านบางสวน หมู่ที่ 3 ตำบลบางสวน จังหวัดฉะเชิงเทรา หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงรอบพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ



บ้านบางสวน หมู่ที่ 3 ตำบลบางสวน จังหวัดฉะเชิงเทรา  หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงรอบพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

นางสาวชาลินี จันทรากุล นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ


          บ้านบางสวน มีประชากร จำนวน 79 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 333 คน คนส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เช่น สวนหมาก สวนมะม่วง สวนมะพร้าว เลี้ยงกุ้ง ปลา และ จระเข้ เป็นต้น โดยการทำสวนจะนิยมขุดท้องร่องไว้เป็นแถวสำหรับกักเก็บน้ำเมื่อมีฝนตก เพื่อป้องกันปัญหาน้ำขาดแคลนในฤดูแล้งและสามารถนำปลาไปเลี้ยงในท้องร่องของสวนซึ่งมีระบบนิเวศที่เหมาะสมเป็นธรรมชาติ นอกจากนั้น ชาวสวนนิยมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น หมากนิยมตากให้แห้งก่อนนำไปขาย เพื่อเพิ่มมูลค่าจากการขายหมากได้มากขึ้น นำมะม่วงที่สุกมากๆ และบริโภคไม่ทัน ไปกวนเพื่อถนอมอาหารและเพิ่มมูลค่าผลผิตทางการเกษตร

          ชาวบ้านบางสวน มีวิถีชีวิตแบบชาวสวน ที่ดำเนินชีวิตแบบกึ่งเมืองกึ่งชนบท โดยคนส่วนใหญ่มีการปรับตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาได้เป็นอย่างดี เช่น เทคโนโลยีการสื่อสาร การเมืองการปกครอง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ เช่น เรื่องการเคารพผู้อาวุโสตามระบบเครือญาติ มีลักษณะสังคมที่ใกล้ชิดสนิทสนมกัน รู้จัก แบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  เนื่องจากความสนิทสนมเหมือนเครือญาติทำให้ผู้ที่อยู่ในหมู่บ้านระมัดระวังการกระทำที่ไม่เหมาะสม เมื่อจะทำการสิ่งใดก็คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดกับตนเองและผู้อื่นเสมอ

          แม้ว่ากิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ในบ้านบางสวน ยังมีไม่มากนัก แต่เมื่อมีโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงรอบพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชาวบ้านก็ให้ความสนใจ และส่งตัวแทนครอบครัวพัฒนา จำนวน 5 คน ไปศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน เก็บเกี่ยวความรู้ต่างๆ เช่น การเลี้ยงกบในกระชัง การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์เพื่อเร่งผล การหมักปุ๋ยชีวภาพ การเพาะเห็ด การปลูกพืชผักสวนครัวไว้ใช้ในการบริโภคในครัวเรือน และการทำบัญชีรายรับรายจ่าย มาแบ่งปันความรู้ให้กับชาวบ้านที่สนใจ โดยชาวบ้านได้นำความรู้ในการปลูกพืชผักสวนครัวมาใช้ และการนำปุ๋ยชีวภาพมาใช้แทนปุ๋ยเคมีเพราะนอกจากจะทำให้ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะประหยัดต้นทุนในการปลูกพืชแล้ว ยังเป็นการใช้เศษใบไม้  เศษอาหารให้เกิดประโยชน์ และไม่ก่อให้เกิดโทษต่อดินในระยะยาว

          การพัฒนาหมู่บ้านโดยดำเนินการขยายผลการพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในกิจกรรมการจัดเวทีสร้างการเรียนรู้และสาธิตการดำรงชีวิตแบบพอเพียง ชาวบ้านก็ให้ความสนใจเข้ามาเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ เช่น การสาธิตการทำน้ำยาล้างจาน การสาธิตการทำน้ำยาปรับผ้านุ่ม และการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อกวนน้ำยา และแบ่งน้ำยาใส่ขวดแล้วเสร็จแล้ว ชาวบ้านที่มาร่วมประชุมยังนำส่วนหนึ่งไปแจกจ่ายให้กับครัวเรือนที่ไม่ได้มาร่วมโครงการ แม้ว่าจะเป็นสิ่งของเพียงเล็กน้อย แต่แสดงให้เห็นถึงน้ำใจที่คนในหมู่บ้านมีให้กัน นอกจากนั้น สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการจัดประชุมพบว่า  ตัวแทนครัวเรือนส่วนใหญ่ที่มาประชุมเป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากคนหนุ่มสาวและวัยกลางคนมักจะออกไปทำงานนอกบ้านในเวลากลางวัน

          จะเห็นได้ว่า บ้านบางสวนเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นฐานชุมชนที่ดี พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน คนในหมู่บ้านมีจิตสาธารณะและมีผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงสามารถประสบความสำเร็จ และเป็นตัวอย่างที่ดีได้ในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น