วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การดำเนินการวินัยข้าราชการ



นางอังคณา จิตรวิไลย
นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา

การดำเนินการวินัยข้าราชการรายนี้เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของการรับราชการตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ เมื่อได้รับรายงานจากอำเภอแห่งหนึ่งว่าเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนได้ขาดราชการติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร  ซึ่งทางอำเภอติดต่อกับทางบ้านและญาติแล้วไม่มีผู้ใดสามารถติดต่อได้ โดยเจ้าหน้าที่ผู้นี้เคยขาดราชการติดต่อกันในลักษณะนี้มาแล้ว ได้รับการว่ากล่าวตักเตือนเป็นวาจาและลายลักษณ์อักษรจากผู้บังคับบัญชา และไม่ได้รับการเลื่อนเงินเดือนมาก่อน เมื่อได้รับรายงานจากอำเภอจึงได้ดำเนินการ ดังนี้

  1. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงหามูลเหตุแห่งความผิดพิจารณาว่าผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง
  2. คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงดำเนินการสอบข้อเท็จจริงรวบรวมพยานบุคคลและพยานเอกสาร
  3. สอบข้อเท็จจริงพยานบุคคลในสถานที่ทำงาน และบุคคลใกล้เคียง โดยใช้บันทึก ปค.14
  4. รวบรวมเอกสาร อาทิ คำสั่งแต่งตั้งรับผิดชอบงาน สมุดบันทึกขออนุญาตไปราชการ บัญชีลงเวลาปฏิบัติราชการทะเบียนวันลา
  5. คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่ากระทำผิดวินัยฐานใด ทำบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา (แบบ สว.3 เดิม)
  6. คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงรายงานการสอบข้อเท็จจริงให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้งตามมาตรา 57 พิจารณาสั่งลงโทษ และมีคำสั่งลงโทษ
  7. แจ้งการลงโทษข้าราชการกระทำผิดวินัยให้อำเภอและกรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการ
  8. รายงานการดำเนินการทางวินัยต่อ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย


ข้อระเบียบ
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
มาตรา 82 (5) ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องอุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการมิได้

มาตรา 85 (2) ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

มาตรา 92 ในกรณีที่ผลการสืบสวนหรือพิจารณาตามมาตรา ๙๑ ปรากฏว่ากรณีมีมูลถ้าความผิดนั้นมิใช่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ พร้อมทั้งรับฟังคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาแล้วผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษตามควรแก่กรณีโดยไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ได้

มาตรา 96 ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ สั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือนหรือลดเงินเดือนตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด

มาตรา 103 เมื่อผู้บังคับบัญชาได้สั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้หรือลงทัณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยข้าราชการโดยเฉพาะ หรือสั่งยุติเรื่อง หรืองดโทษแล้ว ให้รายงาน อ.ก.พ.กระทรวงซึ่งผู้ถูกดำเนินการทางวินัยสังกัดอยู่พิจารณา

มาตรา 114  ผู้ใดถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา ๑๑๐ () () () () () และ () ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก... ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่ง

กฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556
ข้อ 11 เมื่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ได้ดำเนินการตามข้อ 10 แล้ว
(2) ในกรณีที่เห็นว่าผู้ถูกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้สั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดเงินเดือน ตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิดตามมาตรา 96 และที่กำหนดไว้ในข้อ 67 โดยทำเป็นคำสั่งตามข้อ 69

ข้อ 67 โทษสำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงตามมาตรา 96 ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 มีอำนาจสั่งลงโทษได้ ดังนี้
(1) ภาคทัณฑ์

(2) ตัดเงินเดือนได้ครั้งหนึ่งในอัตราร้อยละ 2 หรือร้อยละ 4 ของเงินเดือนที่ผู้นั้นได้รับในวันที่มีคำสั่งลงโทษเป็นเวลาหนึ่งเดือน สองเดือน หรือสามเดือน

ข้อ 69 การสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดเงินเดือน ปลดออก หรือไล่ออก ให้ทำเป็นคำสั่ง ระบุชื่อและตำแหน่งของผู้ถูกลงโทษ แสดงข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญว่าผู้ลูกลงโทษกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงหรืออย่างร้ายแรงในกรณีใด ตามมาตราใด พร้อมทั้งสิทธิในการอุทธรณ์และระยะเวลาในการอุทธรณ์ตามมาตรา 114 ไว้ในคำสั่งนั้นด้วย

ข้อเสนอแนะ

การดำเนินการทางวินัยเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานการเจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในระเบียบ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง กรณีมีข้อสงสัยให้ขอคำแนะนำ และปรึกษากับนิติกร กองการเจ้าหน้าที่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย หรือ นิติกร กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล สำนักงานจังหวัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น