วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ทางเลือกของการพัฒนาชุมชน



เจ้าของความรู้   นายชูชาติ  เอี่ยมวิจิตร์
ตำแหน่ง  หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน 
สังกัด     สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา 
เบอร์โทรศัพท์  089-9841207 , 081-8198796 
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ  การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ในยุคเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี 
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ  ปี พ.ศ. 2554 ถึงปัจจุบัน 
สถานที่เกิดเหตุ   พื้นที่หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา

เนื้อเรื่อง...กระแสโลกาภิวัฒน์ได้ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีอย่างรุนแรง ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  ไม่ว่าอดีตจะมีการปกครองรูปแบบใด ต่างก้าวเดินไปสู่เศรษฐกิจทุนนิยมที่ เน้นเป้าหมาย คือกำไรสูงสุด (Maximization of Profit) เน้นการบริหารจัดการ คือ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นการเติบโต คือการแข่งขันเสรี และเน้นอนาคต คือการก้าวย่างไปสู่เศรษฐกิจโลก (Global Economy) ภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยม ส่งผลให้เกิดการพัฒนา   ทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในทางตรงกันข้าม ในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีกลับก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจและสังคมในด้านการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจสังคม การเพิ่มของหนี้สินภาคครัวเรือน ปัญหาทางสังคมอีกมากมาย รวมถึงวัฒนธรรมการบริโภคที่เกินจำเป็น การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตมากกว่าความรับผิดชอบต่อสังคม ปัญหาความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำ ความมีและความไม่มีเหล่านี้นับวันจะมีความรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง 

ภายใต้การครอบงำของเศรษฐกิจกระแสหลัก...ที่ก่อให้เกิดปัญหานี้เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทาน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) ซึ่งเป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืนท่านกลางเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีอันเชี่ยวกราก โดยเน้นเป้าหมาย คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นการบริหารจัดการ คือ ความพอเพียง เน้นการเติบโต คือ ความสมดุล และเน้นอนาคต คือการก้าวย่างไปสู่สังคมโลก (Global Society) 

บ้านแพรกวิหารแก้ว... หมู่ที่ 11 ตำบลบางเตย อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่มีปัจจัยของความสำเร็จ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงที่เกิดขึ้น ในปี พ.ศ. 2554 สิ่งสำคัญที่สุด  คือการที่คนในหมู่บ้าน มีความสามัคคี ร่วมมือ ร่วมใจกัน ในการดำเนินการโดยหมู่บ้านมีศูนย์เรียนรู้ชุมชน เพื่อจัดกิจกรรมในการเรียนรู้ร่วมกันของคนในหมู่บ้านและให้การเรียนรู้แก่ผู้สนใจจากภายนอกหมู่บ้าน ภายใต้ความสำเร็จที่เกิดขึ้น จึงทำให้มีการดำเนินการขยายผลเพื่อยกระดับคุณภาพของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมของแต่ละหมู่บ้านและชุมชน โดยได้พัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบขึ้น อีกหลาย ๆ หมู่บ้าน เพื่อให้เป็นจุดเรียนรู้ สำหรับการขยายผลไปสู่หมู่บ้านอื่น โดยให้ชุมชนเรียนรู้จากความสำเร็จของชุมชนเอง

บันทึกขุมความรู้...จากเนื้อเรื่อง ความรู้ดังกล่าวข้างต้น เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับ ในการติดตาม ส่งเสริม สนับสนุนและร่วมปฏิบัติงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ดังนี้
  • การปฏิบัติงานต้องศึกษาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าใจโดยผ่านการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง โดยมีรูปธรรมของความพอเพียงตามเกณฑ์ 6 ด้าน คือ 1) ลดรายจ่าย 2) เพิ่มรายได้ 3) การออม 4) การเรียนรู้  5) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และ 6) ด้านการเอื้ออารีต่อกัน 
  • คนในหมู่บ้าน ต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างสันติสุข มีความเอื้ออารี แบ่งปัน และไม่เบียดเบียนกัน สร้างความรัก ความเป็นเจ้าของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงให้กับคนในหมู่บ้านทุกระดับ 
  • คนต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ไม่ทำลาย เห็นคุณค่า และร่วมกันบำรุงรักษา โดยไม่ไปลุ่มหลงกับทุนนิยมเสรี
แก่นความรู้...ทำให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนและผู้ทีมีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงได้รับความรู้ ความเข้าใจ คือ
  • น้อมนำพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนภารกิจในการพัฒนาชุมชน โดยได้กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในชนบทมีวิถีชีวิตบนความพอประมาณ ดำเนินชีวิตบนพื้นฐานความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน   ที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งภายในและภายนอก 
  • ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ไม่เพียงเป็นปรัชญา ในการดำเนินชีวิตอย่างสมดุล ท่ามกลางเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี แต่เป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องสภาพภูมิสังคม และสร้างภูมิคุ้มกันแห่งการดำเนินชีวิตในบริบทของสังคมชนบทไทยต่อการพัฒนาชุมชนอย่างยิ่ง
กลยุทธ์ในการทำงาน...
  1. สร้างความรู้ ความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนและภาคีการพัฒนาให้มีความเชี่ยวชาญ เกี่ยวกับหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน 
  2. มีการบูรณาการทำงานกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนรวมไปถึงชุมชนและคนในหมู่บ้าน ให้มีการทำงานไปพร้อม ๆกัน ไปด้วยกัน เรียนรู้ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน มีความเข้าใจงานเหมือน ๆกัน และเข้ามา มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน 
  3. เปิดโอกาสให้ผู้นำชุมชนและประชาชนในหมู่บ้านเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาเพื่อตนเองตามแนวคิดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง 
  4. สร้างคนในหมู่บ้านให้พึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง มีทางเลือกให้การดำเนินชีวิต ด้วยความรู้และทักษะของตนเอง มีอาชีพที่เหมาะสม มีสุขภาพที่ดี และมีเสรีภาพโดยคำนึงถึงสิทธิของผู้อื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น