วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ



ชื่อเรื่อง       การขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
ชื่อองค์ความรู้   แนวทางการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
ชื่อ   นายอดุลย์  ศรีอุดม  ผู้ถอดบทเรียน
ตำแหน่ง      นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
จัดเก็บเมื่อ   วันที่ ๑๕ มิถุนายน  ๒๕๕๗
สถานที่       บ้านเกาะลอย หมู่ที่ ๓ ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา

๑. เนื้อเรื่อง
การดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เป็นการพัฒนาชุมชนด้วยการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมสำหรับปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง ระบบการคิดเพื่อเสริมสร้างวิถีชีวิตที่เหมาะสมเป็นชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ ในการคัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมายและขั้นตอนการดำเนินงานจัดกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ บ้านเกาะลอย หมู่ที่ ๓ ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ระดับ พออยู่ พอกินปีงบประมาณ ๒๕๕๗ จากการค้นหาปัญหา อุปสรรค (SWOT) พบจุดเด่น จุดด้อยของชุมชน ยังขาดการเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะมิติทางสังคม วิธีการแก้ไขปัญหา โดยการน้อมนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประสานบูรณาการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากทุกภาคส่วน โดยใช้หลัก บวรคือ บ้าน วัด โรงเรียน ร่วมกันทำงานแบบบูรณาการ เป็นแนวคิดที่มุ่งพยายามที่จะนำเอา องค์กร และสถาบันหลักในชุมชนท้องถิ่นมาเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนา และสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการพัฒนา ติดสินใจ แก้ปัญหาตนเอง และชุมชน กำหนดแผนชุมชนด้วยการร่วมกัน คิด สร้างและบริหารจัดการชุมชนของตนเอง


๒. ขุมความรู้ (Knorledge Assets)
ในการดำเนินงานการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ บ้านเกาะลอย มีขั้นตอน ดังนี้
๑. ขั้นตอนการเตรียมตัว
  •  ศึกษารายละเอียดแนวทาง ขั้นตอน กระบวนการ และเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ของการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบฯ ให้เข้าใจอย่างชัดเจน
  •  วางแผนกำหนดเส้นทางการขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านฯ ต้นแบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกรมการพัฒนาชุมชน
  •  เตรียมความพร้อมพื้นที่ดำเนินการ กำหนดกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ คัดเลือกครัวเรือนต้นแบบเข้ารับการพัฒนา จำนวน ๓๐ คน/ครัวเรือน และผู้นำชุมชน ๕ คน การสร้างความเข้าใจ ชี้แจงโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
  •  จัดเตรียมเอกสาร/วัสดุอุปกรณ์ในการจัดการประชุมกลุ่มเป้าหมาย
๒. ขั้นตอนดำเนินการ
  •  จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สภาพปัญหามิติทางสังคมในปัจจุบัน และสรุปแนวทางแก้ไขปัญหามิติทางสังคม เรียนรู้การจัดทำแผนชีวิต ประกอบด้วย ผู้แทนครอบครัวพัฒนาตัวอย่าง ๓๐ คน/ครัวเรือน ผู้นำชุมชน ๕ คน ภาคีการพัฒนาส่วนราชการ (เกษตร กศน. สาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบลคลองตะเกรา )
  •  กำหนดกิจกรรมแก้ไขปัญหามิติทางสังคม (ทางออก)
กิจกรรมที่ ๑ ส่งเสริมคุณธรรมทางศาสนา
* ครอบครัวคุณธรรม (พาลูกจูงหลานเข้าวัด) ทำบุญตักบาตร
กิจกรรมที่ ๒ กิจกรรมลด ละ เลิก อบายมุข
* ทำพิธีปฏิญาณตน ลด ละ เลิก อบายมุข
* ผู้ใหญ่บ้าน นำปฏิญาณตน ลด ละ เลิก อบายมุข ทั้งปวง
* ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ลงชื่อในแผ่นผ้า แสดงตนว่าจะลด ละ เลิก อบายมุข

๓. ขั้นติดตามประเมินผล
  •  ติดตามตัวแทนครอบครัวพัฒนา ๓๐ คน
  •  จัดเวทีประชาคมเพื่อติดตามและประเมินผลความสุขมวลรวมของชุมชน/การจัดการความรู้เพื่อติดตามและประเมินผลความสุขมวลรวมของชุมชนและการจัดการความรู้วิธีการปฏิบัติที่ประสบผลสำเร็จ ประเมินผลตัวชี้วัดกระทรวงมหาดไทย ๒๓ ตัวชี้วัด
แก่นความรู้ (Core Competency)
๑. การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เตรียมความพร้อม วางแผน ดำเนินการ ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
๒. ใช้หลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รัฐ องค์กรเครือข่าย และใช้หลัก บวรคือ บ้าน วัด โรงเรียน
๓. ปรับทัศนะ และให้ความรู้ เพื่อเป็นผู้นำในการทำงานพัฒนาหมู่บ้าน
๔. การประชาสัมพันธ์การทำงาน ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการทำงาน
กลยุทธ์ในการทำงาน
๑. การชี้แจงทำความเข้าใจสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
๒. การประสานงาน สร้างความคุ้นเคย ไว้ใจ ให้เกียรติ
๓. ต้องสร้างครัวเรือนตัวอย่างที่ประกอบอาชีพ และดำรงชีพตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
๔. ต้องสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ให้บุคคลอื่นเข้ามาศึกษา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
๕. ปรับทัศนคติ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยันขันแข็ง
๖. การรายงานผลให้ผู้บังคับบัญชารับทราบเป็นระยะ

สรุปบทเรียน

- ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
๑. การสร้างทีมงานเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จเพราะการทำงานพัฒนาชุมชนเป็นงานที่ใช้หลัก "การมีส่วนร่วม" ในทุกระดับภาคส่วนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเพื่อให้การขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงประสบความสำเร็จและพึ่งตนเองได้
๒. การสร้างศรัทธาการยอมรับ เป็นการสร้างศรัทธาที่ประกอบด้วย การสร้างศรัทธาต่อผู้บังคับบัญชา และการสร้างศรัทธาต่อหัวหน้าส่วนราชการในอำเภอ/ตำบล ตลอดจนการสร้างศรัทธาต่อผู้นำกลุ่มองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรและประชาชน เพื่อให้เกิดการยอมรับเชื่อมั่นในการทำงานที่มีหลักการปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือการมุ่งหวังให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้
๓. การประสานงาน เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน แกนนำกลุ่มองค์กรชุมชนแกนนำกลุ่มองค์กรเครือข่าย ทีมงานภาคีการพัฒนาระดับตำบล/อำเภอ เพื่อค้นหาข้อมูล รวบรวมผลงานของกลุ่มองค์กรต่างๆ จัดทำเอกสารความรู้ในการขยายผลสู่หมู่บ้านอื่น
๔. ใช้หลักการมีส่วนร่วม ของคนในชุมชนและการพึ่งตนเอง ผู้นำจะมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ถึงแม้ว่าบางคน จะเป็นคณะกรรมการหลายกลุ่มก็ตามแต่สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเองได้เป็นอย่างดีมุ่งเน้นการทำงานสู่เป้าหมาย คือความสำเร็จ และพึ่งตนเองเองได้ ทุกฝ่ายให้ความเอาใจใส่ และรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ
5. การมีกองทุนชุมชนที่เข้มแข็งสามารถสนับสนุนกิจกรรมชุมชนได้ดี มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กองทุนหมู่บ้าน ก องทุน กข.คจ. กองทุนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  กองทุนแม่ของแผ่นดิน เป็นต้น
- บทเรียนที่ดี
๑. แสวงหางบประมาณจากภายนอกหมู่บ้าน และภายในหมู่บ้านเพื่อการต่อเนื่องของกิจกรรมโครงการในการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง
๒. คนในชุมชนร่วมคิด ร่วมรู้ ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์กับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ทำงานในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบลอย่างบูรณาการ
๓. ส่งเสริมและยกระดับแหล่งเรียนรู้ จุดเรียนรู้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม
๔. ขยายผลครัวเรือนต้นแบบให้ครอบคลุมทั่วทุกครัวเรือนในระดับหมู่บ้าน
- ปัญหาอุปสรรค
๑. งบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานไม่เพียงพอโดยเฉพาะกิจกรรมด้านการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สนับสนุนศูนย์เรียนรู้ชุมชน
๒. การสร้างทัศนคติในการพึ่งพาตนเองและบริหารจัดการชีวิต ครอบครัว ชุมชน ภายในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยังมีคนที่ยังไม่เข้าใจ มักจะให้หน่วยงานราชการต้องช่วยสนับสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา
๓. การปรับเปลี่ยนค่านิยม โดยเฉพาะการจัดงานต้องเลี้ยงเหล้า ต้องค่อยเป็นค่อยไป หากผู้นำชุมชนไม่เริ่มทำเป็นแบบอย่าง ค่านิยมก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้
- ข้อสังเกต/ข้อควรคำนึงถึง
๑. การคัดเลือกหมู่บ้านต้องเป็นความสมัครใจของชาวบ้านและผู้นำในหมู่บ้าน
๒. ควรยึดผลประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
๓. การกำหนดกิจกรรมอย่าให้มากเกินไป และควรมีงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นความต้องการของชุมชน
๔. อย่าเอาหลักเกณฑ์หรือความคาดหวังจากการดำเนินโครงการให้มากนัก
๕. การดำเนินการต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
๖. ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน และให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง มีการติดตามผลการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
๗. ควรมีใบประกาศเกียรติคุณเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่หมู่บ้านต้นแบบ
- กลเม็ดเคล็ดลับ
๑. ให้ความสำคัญกับแผนชุมชน ในการนำมาพัฒนาชุมชนของตนเอง
๒. สร้างเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน
๓. กฎระเบียบ แนวคิด ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้อง
๑. เทคนิคการมีส่วนร่วม และการพึ่งตนเอง
๒. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
๓. ทำแผนชีวิต
๔. การสร้างภาคีการพัฒนาและเครือข่าย
๕. แนวทางการประเมินความสุขมวลรวมของหมู่บ้าน/ชุมชน (Gross Village Happiness: GVH) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
๖. การดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น