วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การส่งเสริมภาพลักษณ์หน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์



ชื่อ-นามสกุล  นายพีร ฤทธิ์เดช
ตำแหน่ง
  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ
สังกัด 
กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน สพจ.จังหวัดฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์ 
038-511239
ชื่อเรื่อง 
การส่งเสริมภาพลักษณ์หน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ
 ปี พ.ศ. 2557
สถานที่ 
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา

การสื่อสารเพื่อการพัฒนา
การสื่อสาร เป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนา และงานพัฒนาในทุกแง่มุมและทุกระดับ เปรียบเสมือนสายใยที่เชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่มบุคคล เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าประสงค์ร่วมกัน ในงานพัฒนาชุมชนการขาดกลไกในการสื่อสาร อาจทำให้การบรรลุเป้าประสงค์มีความเสี่ยงสูงต่อภาพลักษณ์ขององค์กร กลไกที่มีบทบาทในการที่จะสร้างความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์และเกิดกระบวนการทำงานร่วมกันให้บรรลุเป้าหมายของงานพัฒนาชุมชน ได้แก่

1. สื่อบุคคล (
Human Media) เป็นสื่อพื้นฐานดั้งเดิมของมนุษย์และเป็นช่องทางสำคัญ แม้ว่าเทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้าไปสักเพียงใดก็ตาม สื่อบุคคลเป็นการสื่อสารแบบเห็นหน้าเห็นตาหรือเป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยเป็นกลไกเชื่อมต่อที่สำคัญของหน่วยงานในการตอกย้ำความเข้าใจและประโยชน์ของโครงการหรือกิจกรรมงานพัฒนาชุมชน ให้คนในชุมชนหรือภาคีการพัฒนามองเห็นและเข้าใจเป้าหมาย

สื่อบุคคลในมุมมองของงานพัฒนามีอยู่ ๒ ประเภท คือ
  • สื่อบุคคลภายในท้องถิ่น ได้แก่ ผู้นำชุมชน พระ ปราชญ์ ชาวบ้าน ฯลฯ
  • สื่อบุคคลภายนอกท้องถิ่น ได้แก่ นักพัฒนาหรือพัฒนากร เจ้าหน้าที่ส่งเสริม นักวิจัย ฯลฯ

2. สื่อมวลชน (
Mass Media) เป็นสื่อที่มีอิทธิพลและบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศด้วยมีลักษณะที่เอื้ออำนวยหลายอย่าง เช่น มีความก้าวไกลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มีความรวดเร็วในการถ่ายทอดข่าวสารได้อย่างแม่นยำ ตรงกับวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสารและมีประสิทธิภาพในการให้ความรู้ สื่อมวลชนเพื่อการพัฒนา ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ และสื่อโทรทัศน์

การประชาสัมพันธ์

เป็นวิธีการของสถาบันหรือองค์กรแห่งใดแห่งหนึ่งอันมีแผนการกระทำการต่อเนื่องกันไป ในการที่จะสร้างหรือก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีกับกลุ่มประชาชน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่จะสนับสนุนความร่วมมือซึ่งกันและกัน อันจะเป็นประโยชน์ให้สถาบันหรือองค์กรนั้น ๆ ดำเนินกิจการไปด้วยดี สมความมุ่งหมาย

การประชาสัมพันธ์งานพัฒนาชุมชนมีจุดมุ่งหมายของการสื่อสารใน ๓ ระดับ คือ

  1. การเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ (Knowledge)
  2. การเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติ (Attitude)
  3. การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมหรือการกระทำ (Behavior/Practice)
ดังนั้น การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กร จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ภาพลักษณ์องค์กร (
Corporate Image) หมายถึง ภาพรวมทั้งหมดขององค์กรที่บุคคลรับรู้ จากประสบการณ์ หรือมีความรู้ความประทับใจ ตลอดจนความรู้สึกที่มีต่อหน่วยงานหรือสถาบันโดยการกระทำ หรือพฤติกรรมองค์การ การบริหาร ผลิตภัณฑ์การบริการและประชาสัมพันธ์ จะเข้ามามีบทบาทอย่างสูงต่อภาพลักษณ์องค์กรด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น