วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

“พออยู่ พอกิน”ในท้องถิ่นสมอเซ



นายสมเดช  พันแอ

นักวิชาการพัฒนาชุมชน ชำนาญการ

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา


         พออยู่ พอกินในที่นี้ข้าพเจ้าได้นำมาจากการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง  บ้านสมอเซ   หมู่ที่ 10  ตำบลคลองเปรง  อำเภอเมือง  จังหวัดฉะเชิงเทรา 

         ชาวสมอเซส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา และรับจ้าง ที่ผ่านมาหลายปีก่อน เกษตรกรมักประสบปัญหาขาดทุน และปัญหาสุขภาพ เนื่องจากเกษตรกรใช้สารเคมีในการทำเกษตรทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทำให้ต้นทุนสูง และและเจ็บป่วยเนื่องจากสารเคมีตกค้าง ผู้นำหมู่บ้าน จึงปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หลายส่วนแนะนำให้หมู่บ้านและประชาชนหันมายยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต

         ในปีงบประมาณ 2556 อำเภอได้ขอการสนับสนุนไปยังจังหวัด และได้รับอนุมัติงบประมาณโครงการขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ตามยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชนในปี 2557  ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำ ประชาชนและภาครัฐ ได้ร่วมกันจัดเวทีประชาคมวางแผนการดำเนินงานและคัดเลือกครัวเรือนเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ  พร้อมทั้งทำการประเมินความสุขมวลรวม และประเมินหมู่บ้านผลการประเมินหมู่บ้านอยู่ในระดับ พออยู่ พอกิน

         พัฒนาชุมชนอำเภอเมืองและทีมงานไดจัดดำเนินงานตามกิจกรรมต่างๆ ของโครงการฯ โดยอบรมให้การเรียนรู้ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ครัวเรือนเป้าหมายได้นำไปปรับใช้การประกอบอาชีพ โดยเฉพาะในเรื่องของการลดการใช้สารเคมี และหันมาทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพใช้เอง ปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคเองในครัวเรือน มีการจัดทำแผนชีวิต และสาธิตอาชีพ อบรมให้ครัวเรือนเป้าหมายจัดทำบัญชีรับ-จ่ายของครัวเรือน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการดำรงชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และท้ายโครงการได้จัดให้มีการประเมินความสุขมวลรวมและประเมินหมู่บาน พร้อมบันทึกองค์ความรู้/ถอดบทเรียน

บันทึกขุมความรู้

          เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง(Self Sufficiency) อยู่ได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น ซึ่งต้องสร้างพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีเสียก่อน มีความพอกินพอใช้สามารถพึ่งตนเองได้ ย่อมสามารถ สร้างความเจริญก้าวหน้าและฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยดำเนินการในลักษณะของการส่งเสริมและสนับสนุนให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้เกณฑ์ชี้วัด 6 ด้าน ประกอบด้วย การลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้ การออม การดำรงชีวิต การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเอื้ออาทร

แก่นความรู้  บ้านสมอเซ หมู่ที่ 10  ตำบลคลองเปรง  อำเภอเมือง  จังหวัดฉะเชิงเทรา  มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น มีกระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญ 6 กระบวนการ ดังนี้
     1. การศึกษาวิเคราะห์ชุมชน เป็นการประเมินการพัฒนาในปัจจุบันของชุมชนโดยการวิเคราะห์ปัญหาและทุนทางสังคม ประสบการณ์งานพัฒนา รวมทั้งการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อชุมชน

     2. กำหนดเป้าหมายหรือทิศทางการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่นและการกำหนดวาระการพัฒนาของชุมชน

     3. การจัดทำตัวชี้วัดความสำเร็จการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและวิธีการดำเนินงานที่สำคัญ รวมทั้งการระบุแหล่งที่มาของข้อมูลตัวชี้วัดเพื่อการวัดผล ทั้งนี้ในการจัดทำตัวชี้วัดนี้ขบวนชุมชนอาจต้องการจัดเวทีหมุนเวียนรายชุมชน ในลักษณะ เวทีประชาคมหมู่บ้าน เพื่อการสื่อสารและสร้างการยอมรับร่วมกันแล้วสรุปเป็นตัวชี้วัดร่วมของคนทั้งตำบลและจัดเวทีรวม เพื่อเชื่อมโยงกับภาคีการพัฒนาในพื้นที่

     4. การกำหนดวิธีการได้มาซึ่งข้อมูล ตัวชี้วัด ว่าข้อมูลนั้นได้มาอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะมีข้อมูลสนับสนุนการวัดผลอย่างต่อเนื่องได้

     5. การจัดระบบสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาของกลุ่มองค์กรชุมชนหรือเครือข่ายองค์กรชุมชนตามแผนงาน ให้บรรลุผลตามตัวชี้วัด

     6. การจัดระบบการติดตาม/ประเมินผลภายในตามตัวชี้วัดเพื่อติดตามความก้าวหน้าตามตัวชี้วัด ทบทวนผลการดำเนินงานที่ชุมชนดำเนินการว่ามีกิจกรรมใดที่ทำเพื่อตอบสนองความต้องการ มีการจัดเก็บข้อมูล บันทึกข้อมูลจากการติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อใช้เปรียบเทียบและประเมินผลและการจัดทำรายงานผล เสนอผลต่อชุมชน /ผู้เกี่ยวข้อง/ภาคีการพัฒนารวมทั้งการสรุปบทเรียน(AAR) และการสรุปเป็นชุดองค์ความรู้เชิงประสบการณ์ เพื่อการขยายผลการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนต่อไป


กลยุทธ์ในการทำงาน

     1. ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

     2. จัดเก็บข้อมูลเอกสารอย่างเป็นระบบและปัจจุบัน

     3. ประสานการดำเนินงานการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอพียงในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

     4. ติดตาม/ประเมินผล/สรุปผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น