วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การเสริมสร้างภาพลักษณ์สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอด้วยการประชาสัมพันธ์เชิงกุลยุทธ์




เจ้าของความรู้   นายเจตพัฒน์  กันยะบุตร
ำแหน่ง  นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางน้ำเปรี้ยว

แก้ปัญหาเกี่ยวกับ การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความรู้ ความเข้าใจ ที่จะก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ  ความศรัทธา ชื่อเสียง ร่วมทั้งความร่วมมือ และการสนับสนุนจากประชาชนทุกภาคส่วน

1. ส่วนนำ
งานประชาสัมพันธ์ เป็นงานที่สำคัญในการช่วยให้กิจกรรมตามยุทธศาสตร์ กรมการพัฒนาชุมชน บรรลุเป้าหมาย  และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความรู้ ความเข้าใจ ที่จะก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ความศรัทธา ชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ร่วมทั้งความร่วมมือ และการสนับสนุนจากประชาชนทุกภาคส่วน สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้มีการประชาสัมพันธ์งานซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะใช้วิธีการกระจายข่าวสาร การเผยแพร่ชี้แจงเกี่ยวกับนโยบาย การดำเนินงาน ผลงานต่างๆ ตลอดจนโดยวิธีอื่นๆ ในอันที่จะสร้างความเข้าใจอันดีและชื่อเสียงเกียรติคุณของหน่วยงานสู่ประชาชน เพื่อให้ได้ความร่วมมือและความนิยมจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ในการสร้างสรรค์ผลสำเร็จแก่พันธะกิจของกรมการพัฒนาชุมชน และของประเทศชาติโดยส่วนรวม

2. ส่วนขยาย
การประชาสัมพันธ์สามารถช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างชื่อเสียง ภาพลักษณ์ให้กับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางน้ำเปรี้ยว อันนำมาซึ่งความนิยมชมชอบ สำหรับการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ในปัจจุบันให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องทำให้คนพูดถึง หรือทำให้เกิดการบอกต่อ (Word of Mouth)

นักประชาสัมพันธ์จะต้องเลือกประเด็นในการสื่อสารและเครื่องมือสื่อสารที่ถูกต้อง เหมาะสมและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในปัจจุบันการดำเนินงานประชาสัมพันธ์มีการปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากการเจริญเติบโตของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก และในประเทศไทย รวมทั้งการเจริญเติบโตของการตลาดธุรกิจมือถือออนไลน์ ทำให้ประชาชนในปัจจุบันเกิดพฤติกรรมการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคม” (Social Network) ซึ่งกำลังมีการขยายตัวและส่งผลต่อกลไกการรับรู่ข่าวสาร การกระตุ้นเชิงพฤติกรรม การบริโภค การมีส่วนร่วม และการสร้างความผูกพันระหว่างสำนักงานฯและประชาชน ดังนั้น การดำเนินงานประชาสัมพันธ์จึงมีความเปลี่ยนแปลงจากในอดีตซึ่งมักจะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารเป็นหลัก แต่ปัจจุบันนักประชาสัมพันธ์จะปรับตัวโดยใช้เครือข่ายสังคม (Social Network) เป็นอีกช่องทางหนึ่งการนำเสนอข้อมูลไปยังชุมชนเพื่อแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยมีกิจกรรมที่มีความสนใจร่วมกัน ซึ่งรูปแบบการประชาสัมพันธ์ผ่าน Social Network ในปัจจุบันมี 4 รูปแบบ ดังนี้
  1. การประชาสัมพันธ์ผ่านบล๊อค (Blog) จะเปิดให้ผู้เข้ามาอ่านข้อมูล สามารถแสดงความคิดเห็นต่อท้ายข้อความที่เจ้าของบล๊อคเป็นคนเขียน ซึ่งทำให้ผู้เขียนสามารถได้ผลตอบกลับโดยทันที ทั้งนี้รูปแบบของบล๊อคเพื่อการประชาสัมพันธ์ 
  2. การประชาสัมพันธ์ผ่านแหล่งข้อมูลหรือความรู้ (Data/ Knowledge) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูล ความรู้ในเรื่องต่างๆ ในลักษณะเนื้อหาอิสระ ทั้งวิชาการ ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ สินค้า หรือบริการ โดยมุ่งเน้นให้บุคคลที่มีความรู้ในเรื่องต่างๆ เหล่านั้นเป็นผู้เข้ามาเขียนหรือแนะนำไว้ ส่วนใหญ่มักเป็นนักวิชาการ นักวิชาชีพ หรือ ผู้เชี่ยวชาญ 
  3. การประชาสัมพันธ์ประเภทชุมชนออนไลน์ (Community) เป็นเว็บที่เน้นการหาเพื่อนใหม่ หรือการตามหาเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันนาน การสร้าง Profile ของตนเอง โดยการใส่รูปภาพ กราฟฟิคที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของเรา (Identity)ให้เพื่อนที่อยู่ในเครือข่ายได้รู้จักเรามากยิ่งขึ้น และยังมีลักษณะของการแลกเปลี่ยนเรื่องราว ถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ร่วมกันเช่น Facebook, และ MySpace , instagram     เป็นต้น สำหรับประเทศไทยปัจจุบันการประชาสัมพันธ์ผ่านชุมชนออนไลน์ที่นิยมใช้กันมากที่สุด ได้แก่ Facebook  เนื่องจากผู้ใช้งาน Facebook สามารถใช้งานผ่านอุปกรณ์พกพา และจากแพลตฟอร์มอื่นๆ รูปแบบที่มักจะนำมาใช้มากก็คือ หน้า Page หรือ Fan Page ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าตาบริษัทบน Facebook และสามารถสร้างได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเริ่มต้นที่การตั้งชื่อเพื่อให้ผู้ใช้สามารถจดจำได้ง่าย รวมถึงชื่อดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ใน URL ด้วย 
  4. การประชาสัมพันธ์ประเภทสื่อ (Media) เว็บที่ใช้ฝากหรือแบ่งปัน (Sharing) ไฟล์ประเภท Multimedia อาทิ คลิปวีดีโอ ภาพยนตร์ เพลง ฯลฯ เช่น YouTube

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางน้ำเปรี้ยว... ได้เลือกการประชาสัมพันธ์ผ่าน Social Network รูปแบบ การประชาสัมพันธ์ประเภทชุมชนออนไลน์ โดยการประชาสัมพันธ์ผ่าน Facebook โดยการสร้าง Facebook สำนักงานในชื่อ พัฒนาชุมชนอำเภอบางน้ำเปรี้ยว (https://www.facebook.com/cdd.bangnampriao) ซึ่งปัจจุบันมีเพื่อนใน จำนวน 1,579 คน ที่เข้ารับข้อมูลข่าวสารการประชาสัมพันธ์ และ ระบบสำนักงานอัตโนมัติ (OA) ชุมชนออนไลน์ ของข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนทุกจังหวัด ทั่วประเทศ ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้
  1. ศึกษากรอบแนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ตามที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชลบุรี และศึกษาช่องทางการประชาสัมพันธ์ 
  2. ประชุมคณะทำงานประชาสัมพันธ์ เพื่อกำหนดกรอบ แนวคิดการดำเนินงานประชาสัมพันธ์งานสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพนัสนิคม 
  3. จัดทำแผนปฏิบัติงานการประชาสัมพันธ์งานพัฒนาชุมชนอำเภอพนัสนิคม 
  4. ปฏิบัติงานตามแผน 
  5. ติดตาม/ประเมินผลการปฏิบัติงาน 
  6. สรุปรายงานผลการดำเนินงาน

การดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่าน Social Network... ให้ประสบความสำเร็จมีแนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่าน Social Network ดังนี้
  1. ต้องให้ความสำคัญทั้งการประชาสัมพันธ์แบบเดิม และการประชาสัมพันธ์ผ่าน Social Network อย่างสมดุลเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย 
  2. สำนักงานฯ ที่จะใช้ Social Media ควรมีการอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และมีการโพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือความคิดเห็นอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ควรมีการสื่อสารผ่าน Social Media ผสมผสานกันหลายรูปแบบ 
  3. การประชาสัมพันธ์ผ่าน Social Network ให้คำนึงว่าประชาชนทุกกลุ่ม อายุ ทุกกลุ่มอาชีพ และทุกระดับการศึกษา ต้องพยายามทราบให้ได้ว่าบุคคลที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงเป็นใคร ซึ่งนักประชาสัมพันธ์สามารถจะดูได้จากการตั้งค่าโปรไฟล์ (Profiles) ของบุคคลดังกล่าวที่ได้กำหนดไว้ 
  4. การประชาสัมพันธ์ผ่าน Social Network สำนักงานจะต้องให้ประชาชน หรือกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานฯ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และสื่อสารแบบมีปฏิสัมพันธ์กับสำนักงานได้ 
  5. การประชาสัมพันธ์ผ่าน Social Network จะช่วยให้สำนักงานสามารถเก็บข้อมูลที่จะเป็นโอกาสในการเพิ่มการเข้าถึงเนื้อหาสาระของสำนักงานให้กับกลุ่มเป้าหมาย 
  6. รูปแบบของการประชาสัมพันธ์ผ่าน Social Network ของสำนักงานฯแต่ละสำนักงานฯ อาจจะแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ของสำนักงานฯ อาจจะใช้ Social Network เพื่อเพิ่มประสิทธิผลทางการสร้างกระแสกิจกรรมสำนักงานฯ แบบปากต่อปาก

ก่อนเขียนข่าวทุกครั้ง... จะต้องทราบก่อนว่าข่าวที่จะเขียนคือเรื่องอะไร หาข้อมูลก่อนการเขียนข่าวทุกครั้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งจะง่ายต่อการจับประเด็นของข่าวนั้น ๆ  เมื่อได้เนื้อหาของข่าวแล้ว นำมาสรุปสาระสำคัญโดยเลือกเนื้อหาที่น่าสนใจ ต้องมีความสมบูรณ์ ไม่คลุมเครือ ใช้ภาษาเขียนที่ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ทันที มีการย่อหน้า เพื่อเน้นหัวข้อสำคัญ และให้ผู้อ่านได้พักสายตา มีการเว้นช่วงวรรค-ตอนที่เหมาะสม  อ่านแล้วสบายตา ไม่หลงบรรทัด ใช้อักษรเข้ม อักษรเอียง เมื่อต้องการเน้นประโยคที่สำคัญ และต้องระมัดระวังในเรื่องของการเขียนตัวสะกดที่ถูกต้องตามหลักภาษาไทย ที่สำคัญ ต้องแม่นยำในเรื่องของการเขียนชื่อ นามสกุล ยศ ตำแหน่ง คำนำหน้าชื่อต่างๆ  เพราะถือว่ามีความสำคัญมาก ไม่เช่นนั้นข่าวจะขาดความน่าเชื่อถือ และอาจถูกบุคคลที่นำมาอ้างอิงในการเขียนข่าวต่อว่าได้ นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่นักประชาสัมพันธ์ต้องคำนึงถึงเสมอในการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ได้แก่
  1. การเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ จะต้องเขียนถึงสิ่งสำคัญที่สุดไว้ตอนแรกเสมอ 
  2. เนื้อหาใจความของข่าวประชาสัมพันธ์ จะต้องตั้งอยู่บนหลักของความถูกต้อง และความเป็นจริง คือสามารถตอบคำถามได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อใด และทำเพื่ออะไร ไม่ควรแสดงความเห็นประกอบเข้าไป 
  3. ต้องศึกษาช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่จะมีกำหนดหลักเกณฑ์การประชาสัมพันธ์ เช่น วันเวลาปิดหน้าข่าว ประเภทและลักษณะของข่าว แนวทางการเขียนข่าว เป็นต้น 
  4. กรณีมีภาพประกอบข่าว ควรใช้ขนาดของภาพที่ใหญ่พอจะมองเห็นได้อย่างชัดเจน และขนาดตามแต่ละช่องทางกำหนดไว้ 
  5. ไม่ควรส่งข่าว/ประชาสัมพันธ์ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันมากเกินไป 
  6. การเขียนข่าวที่มุ่งเน้นเรื่องในของการโฆษณา หรือเน้นในเรื่องของการซื้อขายสินค้าผลิตภัณฑ์  หรือบริการใดๆของสำนักงานฯนั้น พึงตระหนักว่า ข่าวลักษณะดังกล่าว จะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน 
  7. ควรเขียนข่าวอย่างสร้างสรรค์ ไม่กระทบกระทั่ง หรือทำความเดือดร้อนให้กับบุคคลอื่น

3. ส่วนสรุป
กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ภายใต้กระแส Social Network ของสำนักงานฯ ในปัจจุบัน สำนักงานฯต้องปรับตัวโดยการนำเสนอเนื้อหาผ่านเครื่องมือสื่อสารทั้งที่เป็นสื่อออนไลน์ (Online Media) และสื่อออฟไลน์ (Offline Media) ทั้งนี้สำนักงานฯ จะต้องรู้จักปรับสภาพเนื้อหาที่ต้องการประชาสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Blog Twitter Facebook YouTube และเครื่องมือใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดีหัวใจของการประชาสัมพันธ์ผ่าน Social Network ไม่ว่าจะนำเสนอผ่านเครื่องมือใดสำนักงานฯ จะต้องนำ เสนอเนื้อหาที่ผู้รับสารต้องการ เปิดโอกาสให้ผู้รับสารมีส่วนร่วม กระตุ้นให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) รวมทั้งสร้างความผูกพัน (Engagement) ให้เกิดขึ้นในชุมชนออนไลน์นั้น เพื่อนำมาซึ่งความสัมพันธ์ ชื่อเสียง และภาพลักษณ์ที่ดีของสำนักงานฯ

4. ที่อยู่/เบอร์โทรศัพท์
241/55 หมู่ 5 ต.โพรงอากาศ เทศบาลบางน้ำเปรี้ยว ถนนเทศบาล 3/3 อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา รหัสไปรษณีย์ 24150  โทรศัพท์ 085-7581229

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น