วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

บูรณาการแก้จน อดทน พอเพียง เลี้ยงชีวีเป็นสุข



ชื่อ นางวินิจ  บัวเจริญ
ตำแหน่ง
พัฒนาการอำเภอบางน้ำเปรี้ยว
สังกัด
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางน้ำเปรี้ยว
เรื่อง  
บูรณาการแก้จน อดทน พอเพียง เลี้ยงชีวีเป็นสุข

ที่มาขององค์ความรู้
... จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้นำแนวทางการดำเนินกิจกรรม ตามยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชนเรื่องการบริหารจัดการครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการ มาดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยใช้งบประมาณ จากกรมการพัฒนาชุมชนและ ได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งดำเนินการ 4 ขั้นตอน ได้แก่ ชี้เป้าชีวิต เข็มทิศชีวิต การบริหารจัดการชีวิต และการดูแลชีวิต สร้างกระบวนการเรียนรู้ในระดับครัวเรือน และทีมงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ เน้นการทำงานแบบบูรณการร่วมกันของภาคีการพัฒนา กระบวนการทำงานเป็นแบบขั้นตอน วิธีการ ติดตาม ประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

จากผลการดำเนินงานบริหารจัดการครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการ ครัวเรือนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความสุข มีสุขภาพจิตดีขึ้น เกิดการเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพ ชุดปฏิบัติการตำบลมีส่วนร่วมในการศึกษาข้อมูล วางแผน ตัดสินใจ ติดตาม ประเมินผล และสรุปรายงานผล ภาคีการพัฒนามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายของทางราชการ การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ
ถือเป็นแบบอย่างในงานพัฒนาชุมชน ที่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยืน

เนื้อหาองค์ความรู้...
จากมติของกรรมการสำหรับคณะมนตรีประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพหลักขับเคลื่อนแผนงานด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนภายใต้แผนงานประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio – Cultural Community :ASSCC Blueprint) ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย ที่เห็นการแก้ไขปัญหาความยากจน ต้องแก้ปัญหารายครัวเรือน เนื่องจากเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนและตรงประเด็น และการดำเนินโครงการลดความเลื่อมล้ำด้านรายได้ ด้วยการขจัดความยากจนในชนบท กระทรวงมหาดไทย สามารถขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ ได้อย่างเป็นรูปธรรมบูรณาการ โดยการประสานความร่วมมือดำเนินการตามกระบวนการบริหารจัดการชีวิตครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการ 4 กระบวนการ คือ ชี้เป้าชีวิตครัวเรือนยากจน (Life Identification ) จัดทำเข็มทิศชีวิต หรือแผนที่ชีวิต (Life Compass) บริหารจัดการชีวิต (การบูรณาการ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน) (Life Management) และดูแลชีวิต (Life  improvement)

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ครัวเรือนยากจนให้สามารถบริหารจัดการชีวิตตนเองได้อย่างเหมาะสมดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน 
  2. เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจน 
  3. เพื่อส่งเสริมการบูรณาการ การแก้ไขปัญหาความยากจนระหว่างหน่วยงาน
กระบวนการ/ขั้นตอนการทำงาน
  1. จัดทำฐานข้อมูลครัวเรือนเป้าหมาย...สำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ใช้จำนวนครัวเรือนที่ตกเกณฑ์ จปฐ.ข้อ 23 เรื่องรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. 30,000 บาท/คน/ปี แยกเป็นครัวเรือนที่พัฒนาอาชีพได้และครัวเรือนที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ 
  2. ประชุมเตรียมความพร้อมแก่ทีมปฏิบัติการระดับตำบลและครัวเรือนยากจนเป้าหมาย...จัดเวทีตรวจสอบข้อมูลและจำแนกสถานะครัวเรือน โดยคณะทำงานปฏิบัติการระดับตำบล  และครัวเรือนยากจนเป้าหมาย  กำหนดครัวเรือนเป้าหมาย  จำแนกสถานะครัวเรือน สร้างความเข้าใจการดำเนินงานโครงการแก้ไขความยากจนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  การบริหารจัดการครัวเรือนการใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยเหลือส่งเสริม และสนับสนุนให้ครัวเรือนยากจนเป้าหมายให้มีความเป็นอยู่ในครัวเรือนที่ดีขึ้น 
  3. ทีมปฏิบัติการระดับตำบลร่วมกันจัดทำข้อมูลครัวเรือนยากจนเป้าหมาย เพื่อสร้างทางเลือกและข้อตกลงในการหาทางออกตามเข็มทิศชีวิต...ชุดปฏิบัติการระดับตำบลๆ ละ 7 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนระดับตำบล สาธารณสุข เกษตรตำบล ปลัด อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำ อช.ประจำตำบล ร่วมกันจัดทำข้อมูลครัวเรือนยากจนเป้าหมาย เพื่อสร้างทางเลือกและข้อตกลงในการหาทางออกตามเข็มทิศชีวิต 
  4. จัดอบรมและสาธิตอาชีพทางเลือกแก่ครัวเรือนยากจนเป้าหมาย...จัดอบรมให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และการประกอบอาชีพ เช่น การทำน้ำยาล้างจาน การทำไข่เค็ม การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำไม้กวาด การปลูกมะนาว แก่ครัวเรือนยากจนเป้าหมายเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และประกอบอาชีพเพิ่มรายได้ 
  5. จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ประกอบอาชีพตามความต้องการของครัวเรือนเป้าหมาย...จัดหาและมอบวัสดุในการประกอบอาชีพเสริม เพิ่มรายได้  พร้อมทั้งสมุดบัญชีครัวเรือน ให้ครัวเรือนยากจนเป้าหมาย  ได้จัดทำรายรับ รายจ่าย  เพื่อเป็นการวางแผนการใช้จ่ายเงิน  ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น  ใช้ชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มอบอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพได้แก่ ไก่ เป็ด กบ ปลา อุปกรณ์การทำไม้กวาด มะนาว อุปกรณ์พ่นยาฆ่าแมลง 
  6. ติดตาม ประเมินผล...ชุดปฏิบัติการตำบลร่วมกับครัวเรือนยากจนวิเคราะห์ศักยภาพของครัวเรือนเป้าหมาย เพื่อสร้างทางเลือกและข้อตกลงในการหาทางออกตามเข็มทิศชีวิต  ซึ่งครัวเรือนยากจนเป้าหมาย  มีความสามารถดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาตนเอง  มีกิจกรรมพึ่งตนเอง  เช่น  การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น  จัดทำบัญชีครัวเรือน  มีการดูแลสุขภาพของบุคคลในครัวเรือน 
  7. สรุปผลการดำเนินงาน...ชุดปฎิบัติการตำบลสรุปผลการดำเนินงาน แยกประเภทจำนวนครัวเรือนที่ได้รับการสงเคราะห์ จำนวนครัวเรือนที่ได้รับการพัฒนาทางด้านอาชีพ และแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด และจัดทำรายงานเสนออำเภอและจังหวัด

ผลการดำเนินงาน
ครัวเรือนเป้าหมาย/ผู้นำ/องค์กร/เครือข่าย
  1. เกิดการเรียนรู้สาเหตุของความยากจน และสามารถเสนอความต้องการประกอบอาชีพจากความพร้อมของตนเอง 
  2. ได้รับการสนับสนุนวัสดุประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 
  3. มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เนื่องจากมีงานทำไม่ว่างงาน และมีรายได้ต่อเนื่อง 
  4. ตระหนักถึงความสำคัญและดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การทำน้ำยางล้างจานไว้ใช้เอง เป็นการลดรายจ่าย การทำบัญชีครัวเรือน การเก็บออมเงิน 
  5. ผู้นำชุมชน องค์กร เครือข่าย ได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนในพื้นที่ และประสานหน่วยงานต่างๆให้การช่วยเหลือ สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ/จังหวัด 
  1. ได้ดำเนินการตามนโยบาย แผนงาน/โครงการของจังหวัดได้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการ เบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด และบรรลุผลตามตัวชี้วัดคำรับรองการปฏิบัติราชการ และขยายผลครัวเรือนในการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 
  2. สามารถแก้ไขปัญหาความยากจน โดยใช้ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) เป็นข้อมูลในการดำเนินงาน เป็นแบบอย่างให้หน่วยงานอื่นใช้ข้อมูล จปฐ.ในการวางแผนดำเนินงานด้วย

ปัญหา/อุปสรรค
  1. ครัวเรือนเป้าหมายเป็นคนชรา พิการ  อยู่คนเดียว  มีโรคประจำตัว ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ หรือผู้ประกอบอาชีพได้ไม่สะดวกไปประกอบอาชีพไกลๆที่ทำให้มีรายได้มากขึ้น เนื่องจากต้องดูแลคนพิการในบ้าน
  2. ครัวเรือนยากจนมีสมาชิกที่อยู่ในวัยเด็ก จำนวนมาก ไม่สามารถช่วยเหลือหัวหน้าครอบครัวทำงานหารายได้

ขุมความรู้

  1. ครัวเรือนยากจนเป้าหมาย...หัวหน้าครัวเรือน ต้องมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนความคิด ทัศนคติและยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่  โดยมีความเข้าใจในการดำรงชีวิตแบบพอมี  พอกิน ขยัน  อดทนประกอบอาชีพ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น...ครอบครัว...สมาชิกในครัวเรือนมีความสำคัญในการร่วมกันแก้ไขปัญหา  ใช้ชีวิตแบบพอเพียง เป็นกำลังใจแก่กัน  ดูแลเอาใจใส่  รักกัน  ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ครัวเรือนพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน 
  2. ทีมปฏิบัติการตำบล...ทีมปฏิบัติการระดับตำบลถือเป็นองค์ประกอบเสริมในการแก้ไขปัญหาความยากจนของครัวเรือนเป้าหมาย  ประสานหน่วยงานต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนครัวเรือน  และให้ความรู้  แนะนำ  ให้คำปรึกษาในการดำรงชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  การจัดทำบัญชีครัวเรือน  การดูแลรักษาสุขภาพ  ความรู้ในการประกอบอาชีพ  เป็นต้น 
  3. ผู้นำชุมชน...ได้แก่  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำ อช. สมาชิก อบต.นับว่ามีบทบาทในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจน  ร่วมกับชุดปฏิบัติการตำบลในการพูดคุยครัวเรือนเป้าหมาย  และประสานหน่วยงาน องค์กรเพื่อให้การสนับสนุน 
  4. หน่วยงานภาครัฐ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น...ประสานหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับจังหวัด  และระดับอำเภอ  ให้การสนับสนุนครัวเรือนยากจน  ซึ่งส่งผลให้ครัวเรือนยากจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล

แก่นความรู้ 
  1. การแก้ไขปัญหาความยากจนต้องใช้ระยะเวลา จึงต้องมีความอดทนด้วยความมุ่งมั่น ความต่อเนื่อง ของงบประมาณ ความร่วมมือจากครัวเรือนเป้าหมายและผู้เกี่ยวข้อง 
  2. การดำเนินงานต้องเป็นกระบวนการ แต่งตั้งชุดปฏิบัติงานที่ใกล้ชิดพื้นที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการ 
  3. จัดทำข้อตกลงกับภาคีการพัฒนาเพื่อดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง รวมทั้งติดตามให้คำแนะนำ การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สรุปผลและประชาสัมพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น