วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เทคนิคการใช้ Mind Map ถอดบทเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ

Mind Map คือ เครื่องมือในการจัดระบบความคิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและเรียบง่ายที่สุด ที่จะใช้ในการถอดบทเรียนของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ซึ่งมีข้อมูลมากมายมหาศาล แต่สามารถย่อมาให้อยู่ภายในหนึ่งหน้ากระดาษได้ ผมทำมาหลายครั้งหลายหนรู้สึกว่าได้ผลดี จึงอยากนำมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ครับ...

เทคนิคการใช้ Mind Map ถอดบทเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของผมมีดังนี้

1. เริ่มจากกลางหน้ากระดาษฟลิปชาร์ทที่วางตามแนวนอน ทำไมต้องเริ่มกลางหน้ากระดาษ เพราะว่าการเริ่มต้นที่จากตรงกลางหน้า ช่วยให้สมองของเรามีอิสระในการคิดแผ่ขยายแขนงกิ่งออกไปได้ทุกทิศทุกทาง

2. ใช้รูปภาพหรือสัญลักษณ์ แทนข้อหัวเรื่องที่เป็นแกนกลางของเรื่องที่เรากำลังคิด เช่น หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบบ้านดอนทอง เป็นต้น เพราะภาพใช้อธิบายแทนความหมายได้เป็นพันคำและยังช่วยให้เราได้ใช้จินตนาการมากขึ้นด้วย

3. ใช้สีสันให้ทั่วทั้งแผ่น เพราะสีสันช่วยเร้าอารมณ์ให้รู้สึกสนุกสนาน เพิ่มชีวิตชีวาให้กับ Mind Map และยังช่วยเพิ่มหลังความคิดสร้างสรรค์ให้เราอีกด้วย

4. เชื่อมโยง “กิ่งแกน” เข้ากับ “หัวเรื่อง” แล้วเชื่อมความคิดย่อย ๆ แตกต่อออกจาก “กิ่งแกน” เป็น “กิ่งแขนง” เป็นขั้นที่ 2 และ 3 ออกไปตามลำดับ เพราะสมองของเราทำงานด้วยการเชื่อมโยงความคิด จะทำให้เราเข้าใจและจดจำง่ายขึ้น

5. วาดกิ่งให้มีลักษณะเส้นโค้ง แทนที่จะเป็นเส้นตรง เพราะเส้นโค้งจะดูเป็นธรรมชาติ ช่วยดึงดูดสายตามากขึ้น

6. ใช้คำหรือประเด็นสำคัญต่อหนึ่งกิ่งเท่านั้น เพราะคำสำคัญที่กินใจความทั้งหมดเพียงคำเดียว จะทำให้ Mind Map ของเรามีพลังและมีความยืดหยุ่นมากกว่า ยิ่งใช้คำสำคัญสั้นมากเท่าใด ยิ่งมีอิสระในการแตกแขนงกิ่งย่อยออกไปได้มากยิ่งขึ้น

7. ใช้รูปภาพประกอบให้ทั่วทั้ง Mind Map เพราะภาพมีความหมายเท่ากับการบันทึกคำพันคำ

8. หัวข้อที่จะใช้เขียนกับกิ่งแกนเพื่อถอดบทเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ได้แก่ กิจกรรม ,สิ่งที่ทำได้ดี ,สิ่งที่ทำได้ไม่ดี ,สิ่งที่ยังไม่ได้ทำ ,สิ่งที่จะทำต่อไป ,ปัญหาอุปสรรค ,ข้อแนะนำ และแหล่งเรียนรู้ เพราะหัวข้อเหล่านี้คือบทเรียนวิธีการพัฒนาของหมู่บ้าน

9. ถ่ายภาพ Mind Map ของเราด้วยกล้องดิจิตอล โดยใช้โหมดถ่ายภาพระยะใกล้ เพราะจะได้ภาพที่ชัดเจน นำไปพิมพ์ลงในกระดาษขนาด เอ 4 ใช้งานได้สะดวก

เพียงเท่านี้เราก็ถอดบทเรียนวิธีการพัฒนาของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบได้โดยสมบูรณ์แบบ ทำให้มองเห็นภาพรวมของการทำงานทั้งหมด แถมยังมีเครื่องมือสื่อสารและนำเสนอที่มีประสิทธิภาพด้วย

นายสุรเดช วรรณศิริ
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา

การขอรับเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กรณีเกษียณอายุราชการ

การขอรับเงินเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข.)
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.
2539 มาตรา 44 กำหนดไว้ว่า "สมาชิกภาพของสมาชิกจะสิ้นสุดลงเมื่อผู้นั้นออกจากราชการ..." ดังนั้น เมื่อสมาชิก กบข. ออกจากราชการเนื่องจากเกษียณอายุราชการ จึงถือว่าสิ้นสุดการเป็นสมาชิก กบข. ด้วย และสมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งสมาชิกจะได้รับเงินตามเหตุและสิทธิการรับเงิน ดังนี้

*เงินประเดิมและผลประโยชน์เงินประเดิมจะจ่ายให้แก่สมาชิกที่บรรจุเข้ารับราชการ ก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 เท่านั้น

เอกสารหลักฐานการยื่นเรื่องขอรับเงินจาก กบข.
1. แบบฟอร์มขอรับเงินจากกองทุน แบบ กบข. รง 008/1/2551 (กรณีสมาชิกเป็นผู้ขอรับเงิน)
2. สำเนาคำสั่งหรือประกาศออกจากราชการที่มีเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการเจ้าสังกัดรับรองสำเนาถูกต้อง
3. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก (กรณีเลือกวิธีโอนเงินเข้าบัญชี) ที่สมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการเจ้าสังกัดรับรองสำเนาถูกต้อง
4. สำเนาใบแนบหนังสือการสั่งจ่ายบำนาญ (กรณีเลือกรับบำนาญ) ที่มีเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการเจ้าสังกัดรับรองสำเนาถูกต้อง
5. สำเนาหนังสือที่แจ้งเรื่องราวหรือรับรองการสอบวินัยถึงที่สุดของส่วนราชการเจ้าสังกัด หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคคล พร้อมกับคำสั่งถึงที่สุดนั้น (กรณีเลือกรับนำนาญและการสอบสวนทางวินัยถึงที่สุด) ที่มีเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการเจ้าสังกัดรับรองสำเนาถูกต้อง
6. แบบแจ้งความประสงค์ให้กองทุนบริหารต่อหรือขอทยอยรับเงิน (กรณีระบุความประสงค์ในแบบขอรับเงิน ข้อ 3 ขอฝากเงินให้กองทุนบริหารต่อ หรือขอทยอยรับเงิน หรือขอรับเงินบางส่วน ส่วนที่เหลือขอทยอยรับ)

หมายเหตุ
* ผู้ที่แจ้งความประสงค์ให้กองทุนบริหารต่อ หรือขอทยอยรับเงิน ตามแบบ กบข. บต. 001/2551 หากต้องการเปลี่ยนแปลงความประสงค์ ให้แจ้งเปลี่ยนโดยใช้แบบ กบข. บต. 002/2551 โดยเปลี่ยนแปลงได้ ปีละ 1 ครั้ง
* สมาชิกที่ถ่ายโอนไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ออกจากราชการจะต้องส่งเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้

1. สำเนาคำสั่งโอนไปส่วนท้องถิ่น พร้อมเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการเจ้าสังกัดรับรองสำเนาถูกต้อง สำเนาการสั่งจ่ายบำนาญสมาชิก กบข. และแบบคำนวณ บ.ท.4 พร้อมเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการเจ้าสังกัดรับรองสำเนาถูกต้อง (กรณีเลือกรับบำนาญ)
2. สมุดประวัติ / ก.พ.7 ฉบับจริง (กรณีเลือกรับบำนาญ)

ขั้นตอนการปฏิบัติ
1. สมาชิกติดต่อส่วนราชการต้นสังกัดยื่นเรื่องขอรับเงินพร้อมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ
2. ส่วนราชการต้นสังกัดตรวจสอบสิทธิและให้คำแนะนำสมาชิกในการจัดทำแบบขอรับเงินและรวบรวมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ
3. ส่วนราชการต้นสังกัดตรวจสอบสิทธิและเอกสารพร้อมรับรองสำเนาเอกสารทุกฉบับ ส่งให้ กบข.
4. กบข.รับเอกสารและข้อมูลจากสมาชิก โดยรอรับแบบจากสมาชิกตั้งแต่ 1 ตุลาคม และรอรับข้อมูลสำหรับตรวจสอบเงินประเดิมจากกรมบัญชีกลาง ใช้ระยะเวลา 15 วันทำการ
5. กบข.ตรวจสอบเอกสารและข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง คำนวณเงินตามสิทธิและจ่ายเงินคืนให้สมาชิก ตามที่สมาชิกแจ้งความประสงค์ (โอนเข้าบัญชี/สั่งจ่ายเช็ค/จ่ายธนาณัติ) ภายใน 7 วันทำการ

ทางเลือกในการขอรับเงินคืนของสมาชิก
เมื่อสมาชิกยื่นขอรับเงินจากกองทุน สมาชิกมีสิทธิเลือกดำเนินการเกี่ยวกับเงินที่จะได้รับคืนจาก กบข.ได้
5 แนวทาง ตามวัตถุประสงค์ของแผนการใช้เงินหลังเกษียณที่เหมาะสมกับสมาชิก คือ
1. ขอรับเงินที่มีสิทธิได้รับทั้งจำนวน
2. ขอโอนเงินที่มีสิทธิได้รับไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนอื่น ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการออกจากงานหรือการชราภาพ
3. ขอฝากเงินทั้งจำนวนที่มีสิทธิได้รับให้กองทุนบริหารต่อทั้งจำนวน
4. ขอทยอยรับเงินที่มีสิทธิได้รับ

เกร็ดแนะนำและข้อควรระวัง
1. โปรดอ่านและปฏิบัติตามคำอธิบายด้านหลังแบบขอรับเงินจากกองทุน
2. การกรอกข้อมูลในแบบขอรับเงิน แนะนำให้สมาชิกใช้ บริการกรอกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บนเว็บไซต์ กบข. แล้วจึงสั่งพิมพ์เพื่อลงนาม ซึ่งสะดวกกว่าการเขียนด้วยลายมือ
3. แบบขอรับเงินจากกองทุน (แบบ กบข. รง 008/1/2551) ที่ส่งให้ กบข. ต้องเป็นเอกสารตัวจริงที่มีลายเซ็นจริงของสมาชิก
4. กรณีที่ต้องการแก้ไขข้อความในเอกสาร ให้ขีดฆ่าและลงนามกำกับทุกจุดที่แก้ไข
5. การลงนามในเอกสารควรใช้ หมึกสีน้ำเงิน
6. ควรระบุหมายเลขโทรศัพท์ที่ กบข. สามารถติดต่อได้สะดวก สำหรับผู้ที่แจ้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือ กบข. จะส่ง SMS ไปแจ้งเมื่อได้ทำจ่ายคืนให้สมาชิกแล้ว
7. ข้อแนะนำสำหรับการเลือกรับเงินคืนแต่ละช่องทาง

กรณีเลือกให้โอนเข้าบัญชี
ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชีต้องถูกต้องชัดเจน
เป็นบัญชีที่ยังใช้งานได้จริง
กรณีเลือกรับเป็นเช็ค ให้นำเช็คไปเข้าบัญชีภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนนับจากวันที่สั่งจ่ายที่ระบุไว้บนหน้าเช็ค
กรณีเลือกรับเป็นธนาณัติ ให้นำธนาณัติไปขึ้นเงินภายในระยะเวลาไม่เกิน 4 เดือนนับจากวันที่ระบุไว้ในธนาณัติ

นางอังคณา จิตรวิไลย
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา

การส่งเสริมศิลปหัตถกรรมและอุตสาหกรรมในครัวเรือน

เหตุการณนี้เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 23 เมษายน 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริกับนายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรี ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน สรุปประเด็นสำคัญดังนี้

1. พัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำ ปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ ปรับแผนการผลิตของเกษตรกรในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ รวมถึงการทำบัญชีพื้นฐานให้มากขึ้น และส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์
3. ให้ทำวิธีการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวที่ได้ผลแล้ว มาใช้กับพื้นที่ดินเปรี้ยวที่บางคล้า และสาธิตตามแนวทฤษฎีใหม่
4. ให้ศูนย์ศึกษาการเป็นที่ทำการศึกษาการผสมพันธุ์พืชอีกกิจกรรมหนึ่งเพื่อสร้างพันธุ์พืชชนิดใหม่ๆ ที่มีคุณภาพดีให้เป็นที่แพร่หลายสืบไป
5. ให้มีศูนย์ศิลปาชีพฝึกหัดอาชีพพื้นบ้าน การจักสาน ทอผ้า และศิลปหัตถกรรมต่างๆ

จากพระราชดำริดังกล่าว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จึงได้มอบภารกิจให้หน่วยงานพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมศิลปหัตถกรรมและอุตสาหกรรมในครัวเรือน เป็นแหล่งเรียนรู้พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เกษตรกร นิสิตนักศึกษา และคณะกลุ่มองค์กรต่างๆในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และทั่วไปได้มาศึกษาเรียนรู้พร้อมทั้งฝึกอบรม แล้วนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้แก่ครัวเรือนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

สถานที่เกิดเหตุการณ์ งานพัฒนาชุมชน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เนื้อเรื่อง
หญ้าแฝก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Vetiveria zizaniodes เป็นพืชตระกูลหญ้า ขึ้นเป็นกอหนาแน่นอยู่ตามธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศ มีความทนทานต่อสภาวะต่างๆ เส้นผ่าศูนย์กลางกอประมาณ 30 ซม. ความสูงจากยอดประมาณ 50 150 ซม. ใบแคบและยาวประมาณ 75 ซม. กว้างประมาณ 8 มม. รากอาจลึกลงไปในดินถึง 3 เมตร

การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก การปลูกหญ้าแฝกมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ลาดชัน ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่การปลูกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำหรือการปลูกในพื้นที่เกษตรในลักษณะต่างๆนั้น เป็นการใช้ประโยชน์ในแง่ของอนุรักษ์ ซึ่งเป็นคุณค่าไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินให้เกษตรกรเห็นได้ จึงเป็นสาเหตุให้เกษตรกรบางส่วนยังไม่ยอมรับหญ้าแฝก แต่แท้จริงแล้วใบและรากหญ้าแฝกสามารถใช้ประโยชน์อื่นได้อีก โดยเฉพาะส่วนของใบซึ่งต้องตัดออกเป็นประจำในการดูแลแถวแฝก สามารถนำมาใช้มุงหลังคา ใช้ในงานศิลปหัตถกรรมต่างๆเพื่อเป็นอาชีพเสริมทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, 2536 )

การใช้ประโยชน์จากใบหญ้าแฝกสำหรับงานศิลปหัตถกรรม
ชนิดของหญ้าแฝกที่มีใบเหมาะสมจะนำมาทำงานหัตถกรรม 2 สายพันธุ์ คือ
หญ้าแฝกหอม (
Vetiveria zizaniodes Nash) ได้แก่สายพันธุ์ศรีลังกา กำแพงเพชร 2 สุราษฏร์ธานี และสงขลา 3 เป็นต้น ลักษณะใบของหญ้าแฝกหอมนี้จะมีใบมันและยาวเมื่อโดนน้ำใบจะนิ่ม จึงเหมาะสมจะนำมาทำงานหัตถกรรม

หญ้าแฝกดอน (Vetiveria nemoralis A. Camus) หญ้าแฝกดอน หรือที่เรียกว่าแฝกหรือแฝกพื้นบ้านนั้น มีการกระจายพันธุ์อยู่ในวงแคบๆ ตามธรรมชาติ เฉพาะบริเวณแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยอดกอตอนปลายจะแผ่โค้งลงคล้ายกอตะไคร้ ไม่ตั้งมากเหมือนหญ้าแฝกหอม ในบางพื้นที่พบว่า ขึ้นอยู่หนาแน่นในลักษณะเป็นพืชพื้นล่างคลุมดิน เป็นบริเวณกว้าง หญ้าแฝกดอนมีใบยาว 35 60 ซม. กว้าง 0.4 0.6 ซม. ใบมีสีเขียวซีด หลังใบพับเป็นสันสามเหลี่ยม เนื้อใบหยาบสากคาย มีไขเคลือบน้อยทำให้ดูกร้านไม่เหลือบมัน ท้องใบมีสีเดียวกับด้านหลังใบ แต่จะมีสีซีดกว่า แผ่นใบเมื่อส่องกับแดดไม่เห็นรอยเส้นในเนื้อใบ เส้นกลางใบสังเกตได้ชัดเจน มีลักษณะแข็งเป็นแกนนูนทางด้านหลัง เหมาะสำหรับนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ (Camus, n.d.)

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้มีการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก จึงได้ทำการขยายพันธุ์กล้าหญ้าแฝกสำหรับแจกจ่ายให้เกษตรกร (รายงานประจำปีศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน, 2549) ซึ่งกล้าหญ้าแฝกที่แจกจ่ายเป็นหญ้าแฝกพันธุ์สุราษฏร์ธานี จึงได้มอบภารกิจให้หน่วยงานพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมงานหัตถกรรม ทางหน่วยงานพัฒนาชุมชน จึงนำใบหญ้าแฝกพันธุ์สุราษฏร์ธานี เพราะมีคุณสมบัติเหนียวแต่อ่อนนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง หักง่ายเหมือนพันธุ์อื่นๆ ที่มีอยู่ในชุมชน มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนอีกทางหนึ่ง โดยจะนำมาทำการจักสานให้เป็นเครื่องใช้ต่างๆมีความสวยงามเป็นธรรมชาติ ในการจักสานนั้นจะมีลายให้เลือกหลายลายด้วยกัน เช่น ลายน้ำไหล ลายขัด ลายชะลอม ลายทึบ โดยจะทำทั้ง กระเป๋า หมวก ตะกร้า กระบุง กล่องกระดาษทิชชู ประดิษฐ์เป็นดอกไม้จากใบหญ้าแฝก ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีจำหน่ายราคาตั้งแต่ 50 - 300 บาท และมีตลาดรองรับอยู่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

การจักสานจากใบหญ้าแฝก
อุปกรณ์การจักสานจากใบหญ้าแฝก
1. ใบหญ้าแฝก
2. หุ่น (ทำจากโฟม ,กระดาษกาวใส ,กาว,กระดาษเทาขาว) หรือจากวัสดุที่เหลือใช้ เช่น ขวดน้ำโพลาลิส
3. กระบอกฉีดน้ำ
4. เข็มหมุด
,เข็มด้ายและกรรไก ร

วิธีการทำหุ่น
1. นำโฟมมาวาดเป็นแบบที่ต้องการจะทำแล้วตัดโฟมตามแบบที่วาด

2. นำแบบโฟมที่ตัดแล้วมาทาบกับกระดาษเทาขาวแล้ววาดแบบบนกระดาษเทาขาว
3. นำกระดาษเทาขาวที่ตัดแล้วทากาวมาติดบนแบบโฟม
4. ใช้กระดาษกาวติดขอบซ้ำอีกทีกันกระดาษเทาขาวหลุดจากแบบโฟม

วิธีการเตรียมใบหญ้าแฝกไว้ใช้งานตามขั้นตอน ดังนี้
1. คัดเลือกใบหญ้าแฝกที่นำมาใช้งาน มีอายุประมาณ 3 เดือน โดยตัดให้สูงจากโคนต้นประมาณ 15
20 เซนติเมตร
2. นำใบแฝกที่ได้มาแยกเอาส่วนที่ใช้ไม่ได้ทิ้ง และนำใบที่เลือกไว้มามัด
เป็นมัด ๆ ไม่ต้องใหญ่มาก
3.
นำใบหญ้าแฝกที่มัดแล้วไปต้มในน้ำเดือด ประมาณ 15- 20 นาที
4. นำแฝกที่ต้มแล้ว นำมาล้างในน้ำ นำไปผึ่งให้น้ำสะเด็ด
5. นำแฝกที่สะเด็ดน้ำแล้วไปตากแดดประมาณ 3 แดด เพื่อไม่ให้เกิดเชื่อรา
6. เสร็จแล้วก็จะห่อกระดาษหนังสือพิมพ์เพื่อรักษาสภาพของใบแฝกเพื่อไม่ให้หักหรือขาดเก็บไว้ได้นาน

ขั้นตอนการย้อมสีเส้นใยพืช
1. นำใบหญ้าแฝกที่ต้องการจะย้อมแช่น้ำเอาไว้ประมาณ 10 นาที
2. ต้มน้ำที่ต้องการจะย้อมให้ร้อนจักหรือเดือดอ่อนๆ
3. นำสีที่ต้องการจะย้อมใส่ละลายลงไป คนให้ทั่ว
4. นำใบหญ้าแฝกที่จะย้อมใส่ลงไปกลับไปกลับมาประมาณ 30 นาที ยกใบแฝกขึ้นถ้าน้ำใสแล้วแสดงว่าใช้ได้
5. ล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปตากแดด

วิธีจักสานผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพืช
1. นำใบแฝกมาแช่น้ำประมาณ 3 -5 นาที เพื่อเป็นกานเพิ่มความนิ่มและง่ายต่อการจักสาน เพราะเส้นจะไม่หักหรือขาดในระหว่างการจักสาน
2. คัดเลือกใบหญ้าแฝกที่มีลักษณะใบกว้าง สมบูรณ์ ไม่ฉีกขาด โดยใช้เข็มกรีดริมใบ ซึ่งมีความคมออกตลอดความยาวของใบ
3. นำหุ่นที่ทำเตรียมไว้แล้วมาขึ้นก้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าหรืออะไรก็แล้วแต่ต้องเริ่มจากก้นก่อนทุกครั้ง
4.
ลักษณะการจักสาน หมวก และกระเป๋า ตะกร้า จะเป็นดังนี้

ลักษณะลวดลายต่างๆ ที่นิยมจักสานกัน ได้แก่ ลายชะลอม ลายน้ำไหล ลายสามเส้น

การประดิษฐ์ดอกไม้จากใบหญ้าแฝก
อุปกรณ์การประดิษฐ์ดอกไม้จากใบหญ้าแฝก ได้แก่ ใบแฝกที่ทำการย้อมสี ,เกสรเทียม , มอสเทียม ,กรรไกร,ด้าย,ลวด,ปืนกาว ,กระดาษกาวพันก้าน ,ตอไม้, รากไม้ ,สว่าน ,แลกเกอร์เคลือบไม้

ขั้นตอนการประดิษฐ์ดอกไม้จากใบหญ้าแฝก
1. นำเกสรมัดใส่ลวดแล้วนำใบหญ้าแฝกที่ตัดเป็นกลีบแล้วใช้กรรไกรรูดกลีบดอกเพื่อให้กลีบดอกงอ แล้วนำมาประกอบกันทีละกลีบโดยใช้ด้ายมัดรวมกันเป็นดอก
2. นำกระดาษกาวพันก้านมาพันลวดแล้วนำใบหญ้าแฝกที่ตัดทำเป็นใบประกอบกันตรงก้าน แล้วพันกระดาษกาวพันก้านทับใบไปจนสุดใบ
3. นำดอกที่เสร็จแล้วมารวมกันเป็นช่อๆ
4. นำตอไม้ที่ทาแลกเกอร์มาเจาะให้เป็นรูเพื่อใส่ช่อดอกไม้โดยใช้ปืนกาวยึดช่อดอกกับตอไม้
5.
นำมอสเทียมมาปิดรอบโคนช่อที่ติดกับตอไม้ให้ดูสวยงาม
6. ได้ดอกไม้จากใบหญ้าแฝก

นายจรูญ แย้มศรวล
เจ้าพนักงานพัฒนาชุมชนชำนาญงาน
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพนมสารคาม

ก้าวแรกกับงานพัฒนากร

พัฒนากร ในความหมายที่ได้เรียนรู้กับการเริ่มต้นในงานพัฒนาชุมชน ก็คือ ผู้ที่จะต้องไปทำงานร่วมกับประชาชนในระดับตำบล หมู่บ้านและชุมชน ต้องเป็นผู้ที่คอยเอื้ออำนวยความสะดวกและประโยชน์แก่คนในชุมชน และเปิดโอกาสส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมแก้ไขปัญหาของชุมชนด้วยตัวเองด้วยความเข้าใจและเข้าถึง อย่างแท้จริง เราในฐานะพัฒนากรจะต้องพยายามดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของแต่ละบุคคล และชุมชนออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนมากที่สุด ด้วยการที่เราจะต้องเป็นผู้คอยกระตุ้น แนะนำ ส่งเสริม สนับสนุน และนี่คือก้าวแรกของงานพัฒนากรที่จะต้องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และทำให้บรรลุผลให้ได้

นับตั้งแต่วันแรกที่ได้มาบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งพัฒนากรเต็มตัวในฐานะพัฒนากรน้องใหม่ สิ่งที่ต้องทำอย่างเป็นสิ่งแรกก็คือ การที่ต้องปรับตัวเข้ากับงาน เพื่อนร่วมงานและทำการศึกษาชุมชน เรียนรู้งานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และปรับความเข้าใจกับงานที่ทำ งานพัฒนาชุมชน ชื่อก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่า เป็นงานที่ต้องออกไปคิด ไปทำ ร่วมกับชาวบ้าน ร่วมกับชุมชน สถานที่ทำงานส่วนใหญ่คือหมู่บ้านและชุมชน การเรียนรู้คน การเรียนรู้งาน และการเรียนรู้พื้นที่ เป็นสิ่งสำคัญมากกับข้าพเจ้าในการเริ่มต้นกับการเป็นพัฒนากร

เนื่องจากงานด้านพัฒนาชุมชนต้องศึกษาความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ให้รับทราบถึงปัญหาของชุมชนที่ต้องการแก้ไขให้ได้ การศึกษาหาข้อมูลเรื่องกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาชุมชนเพื่อที่จะไป อธิบายให้ความรู้และถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้าน อีกอย่างที่สำคัญคือการออกพื้นที่ไปติดต่อประสานงาน ต้องทำความรู้จักกับผู้นำชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาชุมชน เช่น อง๕การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล เกษตรอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ เป็นต้น เพื่อง่ายต่อการทำงานในพื้นที่

สิ่งที่ได้การออกพื้นที่ไปกับพัฒนาการอำเภอและพัฒนากรรุ่นพี่ที่อยู่ในพื้นที่ แต่ละครั้งที่ ออกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในตำบลที่ตนเองรับผิดชอบหรือพื้นที่ตำบลอื่น ข้าพเจ้าจะพยายามเรียนรู้งานในชุมชนว่ามีอะไรบ้าง ศึกษาพื้นที่นั้นๆ ว่ามีสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร ชาวบ้านมี สภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิตเป็นเช่นไร ชุมชนเป็นเช่นไร มีปัญหาอะไรบ้าง เรียนรู้ถึงสภาพแวดล้อม ทรัพยากรที่มีอยู่เป็นหลักในชุมชน และพยายามศึกษาเรียนรู้งานพัฒนาชุมชน ว่ามีอะไรบ้าง และต้องทำอย่างไร

โดยจะมีพัฒนาการอำเภอและพัฒนากรรุ่นพี่คอยเป็นพี่เลี้ยงคอยสอนงานให้ทั้งในส่วนของงานสำนักงานและงานในชุมชนที่จะต้องลงไปทำในพื้นที่ มีบางครั้งที่ตัวเองรู้สึกว่างานพัฒนาชุมชนมีมีหลายด้านมาก ไม่ใช่เพียงแค่งานในชุมชนเท่านั้น แต่ยังมีงานในสำนักงานที่ต้องรับผิดชอบอีกด้วย แต่ไม่เคยรู้สึกท้อกับงานที่ต้องทำ และยังได้กำลังใจจากพี่ ๆ พัฒนากรรุ่นพี่ในและต่างอำเภอ ที่คอยถามไถ่อยู่เสมอ ว่าเป็นยังไงบ้าง และจะให้คำแนะนำและแง่คิดในการทำงาน ถ้าเราไม่สู้ก็จะแพ้ตลอดไป ทุกอย่างอยู่ที่ใจ พยายามคิดในแง่บวกเข้าไว้ว่าปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาหรือเกิดขึ้นกับเราให้คิดซะว่าเป็นบททดสอบหนึ่งให้เราได้เรียนรู้ ให้เราก้าวผ่านไปให้ได้ ถ้าเราสามารถผ่านมันไปได้ก็จะทำให้เรากลายเป็นคนที่แกร่งและโตขึ้นไปอีกก้าว คงไม่มีใครทุกคนเกิดมาได้ทำในสิ่งที่ตนเองถนัดหรือชอบ

บางครั้งก็ต้องฝืนอยู่ฝืนทำในสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่ถนัดบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปรับตัวให้อยู่กับงานได้มากน้อยแค่ไหน ต้องคิดไว้เสมอว่าไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของคนเรา เมื่อเลือกที่จะอยู่ที่จะทำ ต้องทำให้ได้ และต้องทำให้ดีที่สุด สุดความสามารถ ต้องคิดเสมอว่างานพัฒนาชุมชนคือการท้าทายความสามารถให้เราได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยได้สัมผัส อย่างน้อยก็เป็นประสบการณ์

ถ้าเราผ่านการเป็นพัฒนากรไปได้ ก็คงไม่มีงานที่ไหนที่จะยากสำหรับเราแล้ว เพราะงานพัฒนาชุมชนเป็นงานที่มีความหลากหลาย สอนเราหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง ให้เราได้โตขึ้น สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักเปิดใจยอมรับ คิดในแง่บวกว่าเราต้องทำได้ เดี๋ยวทุกอย่างก็จะผ่านไป ท้อได้แต่อย่าถอย ถ้าเราไม่ลองสู้ เราก็จะไม่มีวันชนะ ชนะงาน ชนะคนอื่น ก็ไม่เท่ากับชนะใจตัวเราเอง

สิ่งที่นำมาปรับใช้ในการทำงานให้มีความสุข ก็คือ
๑. ปรับตัว ปรับใจ ยอมรับกับสิ่งที่ทำ สิ่งที่เป็นสิ่งที่อยู่
๒. เปิดใจในการทำงานให้กว้าง มองโลกในด้านบวกเข้าไว้ ไม่คิดอะไรแบบสุดโต่ง
๓. คิดไว้ว่าปัญหาอุปสรรคคือบททดสอบหนึ่งของชีวิต เราต้องฟันฝ่าไปให้ได้
๔. พัฒนาตนเอง ก่อนที่จะไปพัฒนาคนอื่น

๕. คิดบวก มองโลกในแง่ดี ทุกคนมีศักยภาพ มีความสามารถในตนเอง คนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้ ให้เริ่มจากตัวเราเองก่อน

๖. มุ่งมั่นกับสิ่งงานที่ทำ
ทำให้ดีที่สุด สุดความสามารถเท่าที่เราจะทำได้


นายณัฐพล ปาลิวนิช
นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแปลงยาว