วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การขับเคลื่อน OTOP to be SMEs

ชื่อ - สกุล          นายสมศักดิ์  จิตรวิไลย
ตำแหน่ง            นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด               สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์      089-8984499
ชื่อเรื่อง             การขับเคลื่อน OTOP to be SMEs
ดำเนินการเมื่อ      พ.ศ. 2554-2555

ความเป็นมา
ตามที่โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 ที่ผ่านมาในกระบวนการพัฒนาได้จัดให้มีการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย (OTOP Product Champion : OPC) โดยจัดระดับผลิตภัณฑ์ OTOP เป็นระดับ 1-5 ดาว และสนับสนุนให้การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ในด้านต่าง ๆ ทั้งกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ การพัฒนาตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งกระบวนการส่งเสริมการดำเนินงาน OTOP ก็ยังสามารถดำเนินการได้อยู่ในขอบเขตจำกัด คือ เมื่อผู้ประกอบการได้รับการคัดสรรเป็นระดับ 5 ดาวแล้ว ก็ไม่มีการสนับสนุนส่งเสริมในระดับที่สูงขึ้นไป 
เพื่อให้กระบวนการส่งเสริม OTOP ที่ดำเนินการได้อยู่ในขอบเขตที่จำกัดได้รับการพัฒนายกระดับสู่ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสากิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้จัดทำโครงการยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ก้าวไปสู่ SMEs  และจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานร่วมดำเนินการ 4 หน่วยงาน คือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ และกรมการพัฒนาชุมชน โดยกรมการพัฒนาชุมชนทำหน้าที่ประสานงานผู้ประกอบการในพื้นที่ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 152 กลุ่ม กลุ่มผ่านการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย  ระดับ 5 ดาว ปี 2552 และปี 2553 ซึ่งผ่านการประเมินศักยภาพโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมว่าสามารถพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการ SMEs ได้  และได้คัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโสธรพัฒนา หมู่ที่ 3 ตำบลโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เป็นกลุ่มเป้าหมาย ของจังหวัดฉะเชิงเทรา
2. แนวทางการดำเนินงาน  
2.1ประสานงานกับผู้ประกอบการในพื้นที่ 
  • จัดประชุมหน่วยงานร่วมดำเนินการและผู้เกี่ยวข้องระดับอำเภอ ได้แก่ หัวหน้าส่วนราชการ เครือข่าย OTOP เครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโสธรพัฒนา ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ก้าวไปสู่ SMEs  และพิจารณา คัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วมเวทีประชาคม ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. ประชาชนในชุมชน สมาชิกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโสธรพัฒนา และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน
  • ประสานความร่วมมือหน่วยงานร่วมดำเนินการ ติดตามให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะกระบวนการดำเนินงาน
2.2 กิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน 
  • จัดเวทีประชาคมครั้งที่ 1 ในชุมชน เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ ระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
  • จัดเวทีประชาคมครั้งที่ 2 ในชุมชน เพื่อพิจารณาคัดเลือกโครงการ/กิจกรรม โดยกรมการพัฒนาชุมชนมีเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน คือจะต้องเป็นโครงการกิจกรรมที่ดำเนินการแล้วส่งผลกระทบให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชนด้านใดด้านหนึ่ง ตาม ใน 6 ด้าน ดังนี้  
  • ด้านการพัฒนาคนและเครือข่ายในชุมชน
  • ด้านการพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่ม
  • ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ
  • ด้านการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น/สืบสานวัฒนธรรม
  • ด้านการจัดการองค์ความรู้ของชุมชน
  • ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และเป็นโครงการ/กิจกรรมที่ดำเนินการแล้วสามารถเชื่อมโยงให้กิจกรรมตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  ซึ่งที่ประชุมมีมติจัดทำโครงการฝึกอบรมการทำขนมไทยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

ฝึกอบรมโครงการฝึกอบรมการทำขนมไทยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน     ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นเยาวชนในชุมชน จำนวน 30 คน หลักสูตรการฝึกอบรมแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม  ได้แก่
กิจกรรมที่ 1  การทำขนมไทยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
ฝึกอบรมให้ความรู้กับเยาวชนในชุมชนเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดร่างกาย สิ่งของ และอธิบายกระบวนการผลิตขนมไทย จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ทองหยิบ,ใส้ไส้,ขนมกล้วย และข้าวตู อธิบายเกี่ยวกับเรื่องวัตถุดิบที่นำมาทำขนมมีอะไรบ้าง จะต้องเตรียมอะไร และสาธิตการทำขนมไทย ที่ละชนิด โดยวิทยากรได้พัฒนาเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ระยะเวลา  2 วัน

กิจกรรมที่ 2  การฝึกอบรมพัฒนาจิต
ฝึกอบรมให้เยาวชนได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องกายและใจ  การพัฒนา หมายความว่า ทำให้เจริญ ให้ดี ให้สูง คือ ให้มีใจเจริญ ไม่ให้มีใจเสื่อม ให้มีใจดี ไม่ให้มีใจเสีย ให้มีใจสูง ไม่ให้มีใจต่ำ ทำจิตใจให้เจริญด้วยความดีต่างๆในตัวคนเรามี 2 อย่าง คือ กายกับใจ กายแยกออกเป็นวาจา เรียกว่า กาย วาจา ใจ กายกับใจ ใจเป็นใหญ่เป็นประธาน กายวาจาจะเป็นอย่างไร ก็สุดแต่ใจจะสั่งให้พูด ถ้าใจดีก็สั่งให้ทำดี พูดดี ถ้าใจเสีย ก็สั่งให้ทำเสีย พูดเสีย  ฝึกการนั่งสมาธิ  การเดินจงกรม ระยะเวลา 2 วัน

3. บันทึกขุมความรู้             
  • การศึกษาข้อมูล
  • การวิเคราะห์ข้อมูลการจัดเวทีประชาคมระดมความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น
  • การมีส่วนร่วมของกลุ่ม OTOP และผู้นำชุมชน
  • การสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • การศึกษาสถานการณ์การประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้าน
  • การมีภาวะผู้นำของผู้นำชุมชน
  • ประสานหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง
4. แก่นความรู้
  • การจัดเวทีประชาคมและเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น
  • การประสานงาน
  • การสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
5. กลยุทธในการทำงาน 
  • ศึกษาหนังสือสั่งการ ทำความเข้าใจรายละเอียดโครงการ แนวทางการดำเนินงานและจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง
  • เน้นการมีส่วนร่วมในการทำงาน
  • ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโสธรพัฒนาและผู้นำชุมชนมีบทบาทในการดำเนินงาน
  • เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนให้แนวทางการดำเนินงาน ประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และกระตุ้นการทำงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น