วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

คนจนผู้ยิ่งใหญ่

ชื่อ – นามสกุล    นายชูชาติ   เอี่ยมวิจิตร์
ตำแหน่ง       พัฒนาการอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา (นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ)
สังกัด          สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา  จังหวัดฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์   089 - 9841207, 081 - 8198924
ชื่อเรื่อง          คนจนผู้ยิ่งใหญ่
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ   ความมั่นคงของเงินทุนชุมชน แก้ไขปัญหาความยากจน(กข.คจ)
เหตุเกิดเมื่อ     ปี พ.ศ. 2552
สถานที่         อำเภอบางน้ำเปรี้ยว  จังหวัดฉะเชิงเทรา

เนื้อเรื่อง
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการโดยการแก้ไขปัญหาความยากจน (ตามมติ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2517) เพื่อกระจายโอกาสให้คนยากจนในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ได้มีแหล่งเงินทุนในระดับหมู่บ้านสำหรับไปประกอบอาชีพ หรือขยายกิจการอาชีพของตน เพื่อเพิ่มรายได้ให้พ้นเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน และมีคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยสนับสนุนงบประมาณจัดตั้งเป็นเงินตามโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับหมู่บ้าน จำนวนหมู่บ้านละ  280,000 บาท (สองแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว โดยควบคุมดูแล และตรวจสอบการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งงบประมาณ และระเบียบของทางราชการ
ในการนี้ ได้กำหนดระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหารและการใช้จ่ายเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. 2536 และได้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหาร และการใช้จ่ายเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. 2553  (ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้) โครงการนี้เป็นที่ทราบโดยทั่วไปเราเรียกกันโดยย่อว่า โครงการ กข.คจ. นั่นเอง ตามระเบียบฯ ได้กำหนดให้เงินโครงการ กข.คจ. เป็นเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ประจำหมู่บ้านโดยอยู่ในความรับผิดชอบการบริหารของคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน

หมู่บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ได้รับงบประมาณโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) มีคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้านเป็นผู้บริหารซึ่งระเบียบฯ กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานคณะกรรมการฯ เหตุเกิดขึ้นสมัยที่ตัวของข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งเป็นพัฒนาการอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ปี พ.ศ.  2547  โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นโครงการที่หน่วยงานพัฒนาชุมชนต้องติดตามสนับสนุน การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและจากการตรวจติดตามปรากฏว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีปัญหาด้านการบริหารงบประมาณโครงการ กข.คจ. (งบประมาณ 280,000) กว่าจะรู้ว่ามีปัญหาต้องใช้เวลาหลายเดือน เพราะอะไรหรือ?
ประการแรก มาจากเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน (พัฒนากร) ที่รับผิดชอบตำบลนี้ย้ายบ่อยเปลี่ยนเจ้าหน้าที่รับผิดชอบอยู่เป็นประจำทำให้การติดตามไม่ต่อเนื่อง
               
ประการที่ 2  คณะกรรมการบริหารกองทุน กข.คจ. ระดับหมู่บ้านไม่มีการประชุมกันอย่างจริงจังใช้ลักษณะการประชุมแบบเวียนขอมติ/แจ้งให้ทราบโดยประธานเป็นผู้ดำเนินการเองภายในครอบครัวเมื่อเจ้าหน้าที่พัฒนากรนัดประชุมก็จะเบี่ยงบ่ายว่าคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่ติดภารกิจไม่ว่างมาประชุมบางครั้งเจ้าหน้าที่พัฒนากร  เข้าไปประชุมก็บอกว่านัดแล้วกรรมการไม่มาเอง

ประการที่ 3 สมาชิกโครงการ กข.คจ. ไม่ทราบความเคลื่อนไหวของการบริหารงานคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้านส่งเงินให้ประธานแล้วก็แล้วกันพอจะยืมเงินใหม่ก็ได้รับการปฏิเสธจากประธานว่า ขณะนี้มีสมาชิกบางรายไม่ส่งเงินคืน ทางอำเภอ (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ) จึงให้ระงับการให้ยืมเงินและเรียกเงินทุนโครงการ กข.คจ. ส่งคืนทั้งหมด และสาเหตุอีกประการหนึ่งคือ
               
ประการที่ 4  ไม่มีการเรียกสมาชิกโครงการ กข.คจ. ทั้งหมดประชุมใหญ่เลยหลายปีมาแล้ว  เมื่อเหตุเป็นเช่นนี้แล้วจึงเริ่มต้นติดตามการดำเนินงานใหม่โดยเริ่มจากการเข้าพบสมาชิกโครงการ กข.คจ. บางคนเก็บข้อมูลและเข้าพบกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน บางคนผลที่ได้ตรงกันตามประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น ขณะเดียวกันในช่วงนั้นประธานกองทุนหมู่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) ครบกำหนดเกษียณอายุ มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนผู้ใหญ่บ้านคนเก่า ดังนั้นตำแหน่งประธานคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้านจึงต้องเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านคนใหม่เข้ามาบริหารแทน (ตามระเบียบฯ เดิม) ปรากฏว่าประธานคนเก่าไม่มอบหมายงานให้คนใหม่ กองทุนหมู่บ้านก็บริหารงานต่อไปไม่ได้ เรื่องจึงต้องถึงอำเภอให้เข้าไปตรวจสอบและแจ้งให้ประธานคนเก่ามอบหมายงานและรายงานผลการบริหารงานกองทุนหมู่บ้านให้กรรมการและสมาชิกได้ทราบ

ผลปรากฏว่าประธานกองทุนหมู่บ้านฯ (คนเก่า) ได้นำเงินที่สมาชิกส่งคืนใช้หนี้ให้กองทุนหมู่บ้านนำไปใช้ส่วนตัวเป็นจำนวนเงิน 260,000 บาท (สองแสนหกหมื่นบาทถ้วน) คงเหลืออยู่ในบัญชีจำนวน 20,000 (สองหมื่นบาทถ้วน) ไม่ได้นำมาลงในบัญชีและได้ยอมรับกับกรรมการกองทุนหมู่บ้าน กข.คจ. และเจ้าหน้าที่คือ พัฒนาการอำเภอ และพัฒนากรผู้รับผิดชอบตำบลทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน โดยขอระยะเวลาส่งใช้เงินคืนกับกองทุนหมู่บ้านเป็นเวลา 3 เดือน ที่ประชุมให้โอกาส เมื่อถึงกำหนดเวลาปรากฏว่าเงียบหายเหมือนเดิม ประธานคนใหม่จึงเรียกประชุมคณะกรรมการพร้อมเชิญเจ้าหน้าที่มาร่วมด้วยก็ได้มีมติเข้าไปสอบถามเกิดการท้าทายให้ไปฟ้องร้องเอา คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน กข.คจ. หมู่บ้านจึงได้แต่งตั้งให้ผู้แทนไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ (โรงพัก)

เรื่องได้ดำเนินไปตามขั้นตอนกระบวนการของกฎหมายมีการเรียกประธานผู้ที่ได้ไปขึ้นชื่อว่า ยักยอกเงินกองทุนหมู่บ้านไปใช้ส่วนตัว เรื่องได้ดำเนินไปโดยทางตำรวจ และอัยการได้ให้โอกาสกับประธานกองทุนหมู่บ้านที่เป็นจำเลย ได้นำเงินมาส่งใช้คืน เรื่องผ่านไปเป็นเวลาเกือบปี ประธานกองทุนหมู่บ้าน (จำเลย) โกหกทุกระดับชั้นจนทางอัยการส่งเรื่องฟ้องศาล (เพราะให้โอกาสมาหลายครั้งแล้ว) ศาลได้ตัดสินจำคุกพร้อมให้ส่งใช้เงินคืนทั้งหมด ทำให้กองทุนหมู่บ้านแห่งนี้ได้มีการบริหารงานอย่างต่อเนื่อง ต่อไป

บันทึกขุมความรู้
จากเนื้อเรื่อง ความรู้ดังกล่าวข้างต้นเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับในการติดตามส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลและความมั่นคงของทุนชุมชนดังนี้
  • การปฏิบัติงานต้องศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบว่าด้วยการบริหารและการใช้จ่ายเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นอย่างดีก่อน
  • ต้องติดตามงานอย่างต่อเนื่องให้ความรู้ความเข้าใจกับคณะกรรมการฯ สมาชิกและประชาชนทั่วไป
  • การแก้ไขปัญหามีหลากหลายวิธี ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
  • สร้างความ รักความเป็นเจ้าของเงินทุน กข.คจ. ให้กับประชาชนในหมู่บ้านทุกระดับ
  • คณะกรรมการ กข.คจ. ส่วนใหญ่ต้องมีการประชุมทุกเดือน และรายงายผลความก้าวหน้า หรือปัญหาอุปสรรคให้อำเภอทราบอย่างต่อเนื่อง
 
แก่นความรู้
ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ได้รับความรู้ความเข้าใจ คือ
  • ศึกษาระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการบริหารและการใช้จ่ายเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. 2553
  • ส่งเสริมขีดสมรรถนะของคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน ทำให้บริหารงานได้อย่างถูกต้องตามระเบียบฯ
  • เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับมีความรู้ความเข้าใจสามารถติดตาม ส่งเสริม  สนับสนุนการทำงานโครงการ กข.คจ. มีผลงานประสบความสำเร็จตามบทบาทหน้าที่
  • คณะกรรมการ กข.คจ.  ระดับหมู่บ้าน และสมาชิกร่วมกันบริหารงานโครงการ กข.คจ. ให้มีประสิทธิภาพ โครงการ ติดตาม ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับ

กลยุทธ์ในการทำงาน
  • สร้างความรู้ ความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่และภาคีการพัฒนาให้มีความเชี่ยวชาญการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
  • พัฒนาผู้นำชุมชน, คณะกรรมการบริหารงาน กข.คจ. ระดับหมู่บ้าน เป็นแกนนำเอาชนะความยากจนโดยเป็นแบบอย่างที่ดี
  • กำหนดให้ผู้รับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ ได้ติดตาม ส่งเสริม สนับสนุน การบริหารงาน กข.คจ. อย่างต่อเนื่อง
  • แสวงหาภาคีการแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการบริหารงานฯ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านคงได้รับประโยชน์จากการติดตามสนับสนุนการบริหารงานโครงการ กข.คจ. ระดับหมู่บ้านซึ่งถือได้ว่าเป็นผลทำให้ “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” ได้นำเงินมาบริหารฯ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในหมู่บ้านต่อไป และเป็นส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ที่นำมาเผยแพร่เท่านั้นหากมีความสงสัยประการใดโปรดติดต่อสอบถาม

เจ้าของความรู้...  นายชูชาติ  เอี่ยมวิจิตร์  ตำแหน่งพัฒนาการอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
(นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ)
สถานที่ติดต่อ  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา  จังหวัดฉะเชิงเทรา
               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น