วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การจัดทำแผนชุมชนโดยใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ชื่อ-นามสกุล    ว่าที่ ร.ต.จักรพันธ์  ศิริรัตน์
ตำแหน่ง   นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด            สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแปลงยาว
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก       087-7157441
ชื่อเรื่อง  การจัดทำแผนชุมชนโดยใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
เป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ  แผนชุมชนใช้ในการแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านได้
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ      ปี พ.ศ. 2554
สถานที่       บ้านหนองน้ำขาว หมู่ที่ ๗ อำเภอแปลงยาว  จังหวัดฉะเชิงเทรา

เนื้อเรื่อง
ในปี พ.ศ. 2554 ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ดำเนินการส่งเสริมกระบวนการแผนชุมชนในหมู่บ้านต่างๆ และบูรณาการแผนชุมชนระดับตำบล/ระดับอำเภอ ของอำเภอแปลงยาว  และจัดทำโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบเฉลิมพระเกียรติฯ โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนแผนชุมชนเป็นประเด็นยุทธศาสตร์หนึ่งในหกประเด็นยุทธศาสตร์ ซึ่งมีเป้าประสงค์ คือแผนชุมชนมีคุณภาพและมีการบูรณาการกับแผนอำเภอ และแผนพัฒนาจังหวัด ประกอบด้วย กลยุทธ์ 3 กลยุทธ์ คือ 1) พัฒนากลไกและระบบการขับเคลื่อนแผนชุมชน 2)พัฒนาระบบรับรองมาตรฐานแผนชุมชน 3)พัฒนากระบวนการบูรณาการแผนชุมชน

หลังจากข้าพเจ้าได้ทำความเข้าใจในแนวทางและหลักเกณฑ์การปฏิบัติในการขับเคลื่อนแผนชุมชนทุกระดับ และโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบเฉลิมพระเกียรติฯ  ได้ร่วมกับทีมงานกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแกนนำหลักประกอบด้วยผู้นำชุมชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนในระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล และระดับอำเภอ  ได้ออกเป็นคำสั่งอำเภอแต่งตั้งคณะทำงานทุกระดับ  มีการประชุมชี้แจงเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และจัดเตรียมเอกสารวัสดุอุปกรณ์  ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง  และมีการกำหนดแผน วัน เวลา สถานที่ ในการลงไปจัดเวทีประชาคมจัดทำแผนชุมชนทุกหมู่บ้าน    เมื่อถึงเวลานัดหมายที่แกนนำหลักต้องลงไปดำเนินการจัดเวทีในหมู่บ้านปรากฏว่าส่วนใหญ่ไปร่วมไม่ได้ ติดราชการบ้างติดภารกิจส่วนตัวบ้าง

ในส่วนของข้าพเจ้า ได้ลงไปร่วมดำเนินการที่ บ้านหนองน้ำขาว หมู่ที่ 7 ตำบลหนองไม้แก่น ผู้เข้าร่วมประชาคมส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญในการคิดค้นปัญหาของหมู่บ้าน คิดได้แต่โครงสร้างพื้นฐาน อ้างว่าทำไปแล้วไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไร  มีการจัดเวทีประชาคมจัดทำแผนบ่อยๆ  ทำแล้วเงียบหายไปไม่มีการขับเคลื่อนต่อ  เสียเวลาทำมาหากิน  การจัดลำดับความสำคัญของโครงการกิจกรรมไม่เห็นทำไปตามลำดับ

จึงได้แก้ไขปัญหาด้วยการปรึกษาหารือกับทีมงาน ตกลงว่าควรให้ความรู้ในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มเติมเป็นการกระตุ้นให้เกิดความอยากของประชาชน ในการพัฒนาหมู่บ้านหนองน้ำขาวให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เพื่อเฉลิมฉลองในการวาระที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 84 พรรษา เริ่มต้นจากแสดงให้คนในหมู่บ้าน เข้าใจในความเหนื่อยยากขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงงานในการพัฒนาประเทศ และเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มาประชุม พูดคุย  ปรึกษาหารือกัน ทำให้

เวทีเกิดความคิดเข้าที่ว่า วันนี้ถ้าคนบ้านหนองน้ำขาวจะแสดงความจงรักภักดีกับพระองค์ท่าน ก็สามารถทำได้และยังเป็นประโยชน์กับครอบครัวของตนเองอีกด้วย ที่จะน้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน จึงร่วมกันคิดทำกิจกรรมต่างๆที่คิดไว้ใส่ในแผนชุมชน และนำกิจกรรมไปปฏิบัติร่วมกัน จะเกิดประโยชน์จากกิจกรรมที่ทำ  แบ่งกิจกรรมเป็น ทำเอง ทำร่วม ทำให้  มีการติดตามตรวจสอบและประเมินผลกันเอง ทำให้หมู่บ้านมีความสามารถในการบริหารจัดการกับปัญหาต่างๆของหมู่บ้านเองได้   หน่วยงานต่างๆ ก็ให้ความสำคัญกับแผนชุมชนมากขึ้น  และได้นำกิจกรรมต่างๆที่ร่วมกัน คิดยกตัวอย่างให้ทุกคนเห็น ทำเองมีกิจกรรมใด ทำให้มีกิจกรรมใดบ้าง และโครงการที่เกินขีดความสามารถต้องขอความช่วยเหลือทั้งหมดกิจกรรมใด  และให้ทุกคนในหมู่บ้านคาดหวังว่าแผนชุมชนจะเป็นเครื่องมือให้หมู่บ้านใช้ในการแก้ไขปัญหา ของหมู่บ้านได้เอง และช่วยให้การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนาต่างๆประสบผลสำเร็จ 

เมื่อทุกคนได้รับฟังคำชี้แจงจากข้าพเจ้ามีความพึงพอใจ  และเข้าใจได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวางโดยใช้ข้อมูล กชช 2 ค  และข้อมูล จปฐ. ประกอบการวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ   ดีใจที่ทำให้การจัดแผนชุมชนของหมู่บ้านนี้เสร็จเรียบร้อยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาด้านต่างๆได้จริง

บันทึกขุมความรู้ (Knowledge Assets)  
  • กระบวนการขับเคลื่อนแผนชุมชน
  • ประชุมชี้แจงเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรที่เป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนแผนชุมชน
  • จัดเวทีประชาคมหมู่บ้านจัดทำแผนชุมชน
  • การไม่เข้าใจในการจัดทำแผนชุมชนได้ประโยชน์อะไร
  • ชี้แจงถึงกระบวนการจัดทำแผนชุมชนที่ทุกคนสามารถคาดหวังจะเป็นเครื่องมือให้หมู่บ้านใช้ในการแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านได้เอง
  • อธิบายด้วยความจริงใจ และมีตัวอย่างประกอบ
  • สร้างความพึ่งพอใจให้กับผู้เข้าร่วมเวทีทุกคน
  • มีแผนชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

แก่นความรู้ (Core Competencies)
  • รับทราบปัญหา 
  • ปรึกษาหารือกับทีมงาน
  • ชี้แจงด้วยหลักการและแนวทางปฏิบัติได้จริง
  • รับรู้ด้วยตัวอย่างที่เห็นทำได้จริง
  • สร้างความพึงพอใจ
  • งานสัมฤทธิ์ผล รู้สึกเป็นสุข

กลยุทธในการทำงาน
1.พัฒนากลไกในการขับเคลื่อนแผนชุมชน   ก่อนที่จะดำเนินการขับเคลื่อนแผนชุมชนทุกระดับต้องสร้างทีมงานโดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย แกนนำหลัก จากผู้นำชุมชนและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยจัดทำคำสั่งอำเภอแต่งตั้งฯ   จัดให้มีการประชุมชี้แจงแนวทางและหลักการปฏิบัติ การจัดเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูล จปฐ.  ข้อมูล กชช. 2 ค และข้อมูลอื่นๆ และจัดเตรียมเอกสาร คู่มือ  วัสดุอุปกรณ์   กำหนดแผนปฏิบัติงาน วัน เวลา สถานที่  ของทุกหมู่บ้าน
2.ปรึกษาหารือ  ในการจัดเวทีประชาคมการพบปัญหาที่ผู้เข้าร่วมเวทีไม่เห็นด้วยกับกระบวนการจัดทำแผนชุมชนทีมงานต้องร่วมกันปรึกษาหารือและหาข้อยุติเพื่อให้การจัดเวทีดำเนินการต่อด้วยดี ด้วยการพูดคุย และชี้แจงกระบวนการเพิ่มเติมพร้อมยกตัวอย่างที่สามารถปฏิบัติได้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น