วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เทคนิคการทำงานร่วมกับชาวบ้านและภาคี

ชื่อ – นามสกุล    นางอนัญพร    ลีรัตนชัย
ตำแหน่ง            นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด               สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก    0-8993-9848-8
ชื่อเรื่อง             เทคนิคการทำงานร่วมกับชาวบ้านและภาคี


เนื้อเรื่อง
จากคำกล่าวโบราณที่ว่าไว้ว่า คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย หลายคนทุกอย่างสบาย”  (ประโยคที่ 3 ข้าพเจ้าคิดเอง) ซึ่งเป็นคำพูดที่จริงแท้แน่นอน เพราะการจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราจะทำคนเดียวไม่ได้ ถึงทำได้ก็ไม่ดีเท่าที่ควร อย่างไรเสียเพื่อนร่วมงาน ย่อมมีส่วนสำคัญช่วยให้งานทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และ   ที่สำคัญคือการรู้เขารู้เรา และมธุรสวาจา  จะทำให้การประสานการทำงานเป็นไปด้วยความชื่นมื่น และงานต่างๆ    จะสำเร็จตามวัตถุประสงค์ทุกประการและที่สำคัญที่สุดคือ  ผู้ร่วมงานทุกคนจะรู้สึกภาคภูมิใจกับผลงานเหล่านั้นเพราะทุกคนมีส่วนร่วม

ทุกคนเมื่อทำงานย่อมมีผลงานที่ความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะกับประชาชน ผู้นำชุมชน และ      องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของตำบลคลองอุดมชลจร และตำบลคลองนครเนื่องเขตผลการปฏิบัติงานของข้าพเจ้า คือการได้รับความไว้วางใจและที่สำคัญคือ เวลาที่ประชาชนหรือผู้นำชุมชนตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบต้องการคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือจากใครสักคนหนึ่ง เขาเหล่านั้นจะนึกถึง ข้าพเจ้าก่อนคนอื่น ทั้งนี้เป็นเพราะข้าพเจ้าเองไม่เคยปฏิเสธงานที่เขาเหล่านั้นขอความช่วยเหลือ  และที่สำคัญข้าพเจ้ายึดหลักการทำงานโดยความซื่อสัตย์สุจริตไม่เคยหวังสิ่งตอบแทน  แม้ในบางครั้งเขาเหล่านั้นจะตอบแทนด้วยสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยรับ  แต่จะบอกเขาเหล่านั้นไปว่า  พี่ยินดีช่วยเหลือเพราะนั่นมันเป็นงานในหน้าที่อย่างหนึ่งที่พี่ต้อง
อำนวยความสะดวกและจัดทำให้ท่านอยู่แล้ว  เอาอย่างนี้แล้วกันเอาไว้เวลามีงานทางราชการเร่งด่วนและจำเป็น  ที่พี่ต้องการความช่วยเหลือท่านก็ช่วยพี่บ้างก็แล้วกันนะ และมีการพูดหยอกเย้ากลับไปบ้างเพื่อสร้างความคุ้นเคยเพิ่มขึ้น  เช่น 
เวลาพี่ต้องการความช่วยเหลือก็มีแต่ท่านนี่แหละช่วยได้”
แต่ถึงแม้เขาเหล่านั้นพร้อมที่จะช่วยเหลือเราทุกเรื่องที่เราร้องขอ  แต่ในฐานะเจ้าหน้าที่ที่
ต้องทำงานร่วมกับชาวบ้าน  ข้าพเจ้าก็ไม่เคยร้องขออะไรจากเขาเหล่านั้น  จนบางครั้งผู้นำหลายคนถามว่ามีอะไร ให้ช่วยบ้างไหม  ข้าพเจ้าก็จะตอบว่า  ตอนนี้พี่ยังไม่รบกวน   เอาไว้มีงานจำเป็นแล้วพี่คงต้องรบกวนบ้าง เมื่อถึง ตอนนั้นแล้วพี่จะบอก งานในพื้นที่  มีงานอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกับสภาวะการในปัจจุบัน ผู้นำท้องถิ่นก็มีงาน ที่ต้องปฏิบัติเร่งด่วนด้วยกันทั้งนั้น  ผู้ใหญ่บ้าน/กำนันก็ได้รับการสั่งการในเรื่องเร่งด่วนที่ต้องปฏิบัติ  โดยที่งานบางอย่างที่ได้รับคำสั่ง เขาเหล่านั้นก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้จะทำอย่างไร  ข้าพเจ้าก็จะแสดงน้ำใจโดยการสอนงานให้กับเขา  จนในบางครั้งเขาเหล่านั้นก็บอกว่า
พี่ช่วยทำให้หน่อยได้ไหม” ข้าพเจ้าก็ไม่อยากทำให้หรอกนะ แต่ก็ขัดไม่ได้ก็ต้องทำให้  แต่จะให้เขามาทำกับเราด้วย โดยบอกว่าพี่อยากทำให้ทั้งหมดนี่แหละ แต่ถ้าทำให้พวกเราก็จะทำไม่เป็น  แล้วถ้าพี่ย้ายไปอยู่ที่อื่นไม่มีคนทำให้ พวกเราก็จะลำบาก  เขาก็เข้าใจ  และนี่แหละคือความสำคัญเล็กๆ น้อยๆ ที่สะสมเอาไว้ เพื่อประโยชน์ในการทำงานภายหน้าของข้าพเจ้าเอง

การออกไปพื้นที่  ข้าพเจ้าจะมีของกิน (ของแห้ง)  น้ำดื่ม  ของใช้ที่จำเป็น  แม้แต่เสื้อผ้าที่เรา   ไม่ใช้แล้วแต่ยังดูดีอยู่  ซึ่งจะเป็นชุดทำงานของข้าพเจ้า สามี และของลูกสาว  ติดรถไปด้วยเสมอ  เพราะเวลาออกไปจะพบคนยากจน  คนชราเราก็เอาไปฝากเขาหรือคนทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา แต่การที่จะให้อะไรใครเราก็ต้องดูว่าผู้รับเขาอยากได้ไหม  เพราะการให้บางครั้งผู้รับอาจจะคิดว่าเป็นการดูถูกเขา (เราต้องคิดให้รอบคอบก่อนให้ทุกครั้ง) บางทีก็จะบอกว่า มีเสื้อผ้าในรถ เป็นของใช้แล้วแต่ยังดีอยู่ลอกเลือกดูชอบก็เอาไปแล้วกัน

และสิ่งที่ภาคภูมิใจในขณะนี้คือ  เรื่องการสนับสนุนค่าจัดเก็บและบันทึกข้อมูล จปฐ.ปี 2555
ซึ่งยังมีความไม่แน่ใจว่า อบต.จะให้การสนับสนุนได้หรือไม่ได้  ซึ่งเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนผู้ประสานตำบลทุกคนกำลัง เป็นทุกข์  บางคนเครียดมากๆ รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย (นี่แหละชีวิตพัฒนากรยุค IT)  ข้าพเจ้าก็จับเข่าคุยกับปลัด อบต.เรื่องนี้  ซึ่งพอข้าพเจ้าพูดว่าปลัดพี่อยากจะคุยเรื่องเงินจัดเก็บและบันทึกข้อมูล จปฐ.ปีนี้สักหน่อย ปลัดพอมีเวลาคุยกับพี่ไหม  ท่านปลัดก็ตอบในทันทีว่า  ผมมีเวลาสำหรับพี่ตลอดแหละ เรื่อง จปฐ. พี่ไม่ต้องกังวล พี่สบายใจได้เลย  ไม่ต้องคิดมาก ผมมีวิธีดำเนินการเบิกจ่ายในเรื่องนี้อยู่แล้ว” และแถมท้ายอีกว่า  พี่มีอะไรให้ อบต.ช่วยบอกล่วงหน้านะผมจะได้จัดหางบประมาณเพื่อสนับสนุนเพราะ อบต. มีงบประมาณในเรื่องทั่วไปอยู่บ้าง พี่ช่วยงานผมไว้เยอะ  ถึงตอนนี้ข้าพเจ้าหมดห่วงไปแล้ว 1 ตำบล  และคาดว่าอีก 1 ตำบลก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะ อบต.เบิกจ่ายเอง ไม่ใช่การสนับสนุนหน่วยงาน  (คิดเข้าข้างตนเองหรือเปล่าเอ่ย)


ถึงตอนนี้  ข้าพเจ้าเชื่อว่าการทำงานทุกอย่างจะสำเร็จได้  อยู่ที่ตัวเราเองเป็นสำคัญ ที่ว่า
ตัวเราเองนั้น  หมายถึง ตัวเราต้องมีความจริงใจต่อเพื่อนร่วมงาน พร้อมที่จะเสียสละเล็กๆน้อยๆเพื่อความสำเร็จ ของงานในอนาคต รู้เขา รู้เรา  ต้องมีกลยุทธ์ กลวิธีในการทำงาน  และที่สำคัญ ต้องสร้าง
  พระคุณ” และในบางครั้งที่ว่างเว้นจากการทำงาน ข้าพเจ้าทบทวนถึงผลการทำงานที่แล้วๆมา  และนึกภาคภูมิใจกับการทำงานของตนเองเล็กๆ ว่า เก่งจริงๆ เลยนะ...?...พวกพัฒนากร.....มัน...!..ทำได้ทุกเรื่องซิน่า”
                       สภาพพื้นที่ตำบลคลองอุดมชลจร และคลองนครเนื่องเขต
                     (เมืองสายน้ำแห่งชีวิต และวิถีชาวบ้านจากอดีต – ปัจจุบัน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น