วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การขับเคลื่อนชุมชนสู่วิถีพอเพียงให้เกิดประสิทธิภาพ


ชื่อ...นางอมรา วงศ์ศรีรัตน์
ตำแหน่ง...นักวิชาการพัฒนาชุมชน ชำนาญการ
สังกัด...สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางน้ำเปรี้ยว
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อสะดวก...089-7542866
เหตุการณ์นี้บันทึกเป็นความรู้จากการปฏิบัติงาน
เมื่อดำรงตำแหน่งพัฒนากร(นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ) อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา

เนื้อเรื่อง
ความรู้ในการปฏิบัติงานต่อไปนี้ เกิดจากประสบการณ์ของข้าพเจ้า ที่ได้ปฏิบัติงานพัฒนาชุมชน ด้านการส่งเสริมชุมชนสู่วิถีชีวิตภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมาจากการวิเคราะห์สถานการณ์ชุมชนแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อค้นหากลยุทธ์การขับเคลื่อนไปสู่ความมีวิถีชุมชนแบบพอเพียง ที่มีความเหมาะสม   โดยวิถีชีวิตชุมชนพอเพียง ในที่นี่  หมายถึงชุมชนที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต  แล้วประสบความสำเร็จ  จนน่าจะสามารถเป็นต้นแบบให้ชุมชน หรือหมู่บ้านอื่นในเขตที่รับผิดชอบต่อไปได้ 

บันทึกขุมความรู้
การขับเคลื่อนอยู่บนรากฐานของการมีส่วนร่วมของชุมชน มีขั้นตอนการดำเนินการ  ดังนี้  
ขั้นเตรียมการ 
1) จัดทำฐานข้อมูล  วิเคราะห์ข้อมูลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมและเทคนิค  SWOT    
2) สร้างทีมส่งเสริมกระบวนการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการบูรณาการจากภาคีทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ/เอกชน  และภาคประชาสังคม โดยใช้หลักการมีส่วนร่วม  แนวคิดการประสานงาน  การประชุมกำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนฯ  การสร้างความรู้ความเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  คณะทำงานส่งเสริมฯ มีความรู้ความเข้าใจในการขับเคลื่อนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
 3)  สร้างวาระชุมชน  กระตุ้นปลุกเร้าผู้ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อเกิดความตระหนัก  โดยใช้หลักการมีส่วนร่วม  การประสานงาน ทำให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดจิตสำนึกให้ความสำคัญตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง     

ขั้นปฏิบัติงาน  
1)  สร้างกลไกระดับหมู่บ้าน  คือ  ชุดปฏิบัติการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงระดับหมู่บ้าน  ผู้นำ/กลุ่ม องค์กรและประชาชน ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ชุดปฏิบัติการ  โดยใช้หลักการมีส่วนร่วม   ทำให้เกิดชุดปฏิบัติการ  1  ชุด  ที่มีความรอบรู้ความเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 
2)  จัดเวทีประชาคมหมู่บ้าน  โดยใช้หลักการมีส่วนร่วม  เทคนิค SWOT  AIC  แล้วใช้กระบวนการเรียนรู้  4  ฐาน  สู่เศรษฐกิจพอเพียง(ตามแนวทางกระทรวงมหาดไทย)  ผลชาวบ้านเรียนรู้ตนเอง , เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง , รู้แหล่งทุนและรู้กระบวนการพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
3)  จัดทำแผนชีวิตชุมชน  ใช้หลักการมีส่วนร่วม แนวคิดการประสานงาน  เทคนิค  SWOT ทำให้หมู่บ้านมีแผนชุมชนที่มีจุดเน้นสู่วิถีพอเพียง และได้ดำเนินการตามแผนฯ
4)  จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง/ค้นหาภูมิปัญญา/ปราชญ์ชาวบ้าน  โดยใช้หลักการมีส่วนร่วม  แนวคิดการประสานงาน  เกิดแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน 

ขั้นติดตามประเมินผล
1)  ประเมินผลโดยเวทีประชาคม  สรุปบทเรียน  ทางเลือกทางรอด  ประเมินผล
2)  ประเมินตามแบบกระทรวงมหาดไทย 23  ตัวชี้วัด และ ตัวชี้วัด 6X2 ของกรมการพัฒนาชุมชน
3)  ติดตามโดยคณะทำงาน  สำรวจ/สังเกตุ  โดยใช้หลักการมีส่วนร่วม  แนวคิดการประสานงาน

ขั้นประชาสัมพันธ์
1)  จัดทำเอกสารสรุปผลการดำเนินงาน โดยประชาสัมพันธ์เสียงตามสายในหมู่บ้าน/แผ่นพับ/วีดีทัศน์/วิทยุชุมชน
 2)  นำผลการดำเนินงานเข้าวาระประชุม องค์การบริหารส่วนตำบล/ประชุมประจำเดือนกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน

แก่นความรู้ : สู่กลยุทธ์การขับเคลื่อนให้เกิดผลเชิงรูปธรรม
การนำตัวชี้วัด 6 X 2 เป็นแกนหลักและร่วมสร้างกลยุทธ์อย่างง่ายที่ประชาชนทุกคน ทุกเพศ วัย สามารถปฏิบัติได้จริง และเกิดผลในการดำเนินชีวิตแบบวิถีพอเพียง ดังนี้
1.  กลยุทธ์ด้านการลดรายจ่าย ได้แก่ การวางแผนร่วมกันระหว่างสมาชิกในหมู่บ้านและภาคีการพัฒนาเกิดการมีส่วนร่วม สร้างแรงจูงใจ โดยให้หมู่บ้านจัดระบบการบริหารจัดการเอง เช่น จัดประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง /จัดสวัสดิการชุมชนจัดซื้อเมล็ดพันธ์ผัก  อาทิเช่นการซื้อเมล็ดพันธ์ผักแจกให้ครัวเรือน/ประชาชนในหมู่บ้านที่ตั้งใจที่ให้ความร่วมมือหากใครสมัครใจเป็นกรรมการในหมู่บ้าน/เข้ากลุ่ม ก็จะได้เมล็ดพันธ์ผักไปปลูกบริโภคโดยไม่ต้องซื้อ หรือ ปลูกผักไว้ที่แปลงสาธิตหลากหลายชนิด แลกเปลี่ยนแบ่งปัน ก็จะเกิดการเกื้อกูลกัน

2.  กลยุทธ์ด้านการเพิ่มรายได้ ได้แก่ สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มอาชีพเสริมตามความสนใจ โดยรับสมัครผู้สนใจและฝึกอบรมวิชาชีพตามความต้องการ โดยอาศัยการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ สอดคล้องกับ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก ด้านโอกาส ที่มีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่หลายหน่วยงาน เช่น พัฒนาชุมชน/ กศน./ เกษตร/ อบต./สาธารณสุข ที่พร้อมจะเอื้ออำนวยในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฝึกอบรมวิชาชีพ เช่น ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน หรือ วิทยาลัยชุมชน เป็นต้น

3.  กลยุทธ์ด้านการประหยัดได้แก่ จัดทำโครงการออมด้วยใจภักดิ์ เรารักในหลวง “เก็บออมวันละ 1 บาท” ครบ1 ปีก็จะมีเงินฝาก365 บาท โดยเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคตะวันออกและนโยบายของผู้อำนวยการเขต2 จังหวัดชลบุรี ที่จัดทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงมีพระชนมายุ 80 พรรษา โดยให้ประชาชนทุก คน  ออมเงินใส่กระบอกที่ให้ครัวเรือนเมื่อครบกำหนดจะนำเงินทูลเกล้าถวายในหลวง  กระตุ้นให้ทุกคนมีเป้าหมายในการออม ออมเพื่ออะไร ออมนานเท่าใด แล้วจึงผ่าออกเพื่อมาดำเนินกิจกรรมนั้นๆ เช่น หวังไว้ว่าจะออมเพื่อจ่ายค่าเทอมลูก  เป็นต้น เพื่อให้ครัวเรือนเกิดความมุมานะ และภาคภูมิใจ     

4.  กลยุทธ์ด้านการเรียนรู้ ได้แก่ ฝึกอบรมเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ของประชาชน ซึ่งกลยุทธ์นี้สอดคล้องกับหลักการของกรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้ให้แนวทางในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน ซึ่งประกอบด้วย ฐานการเรียนรู้ คือ เรียนรู้ตนเอง เรียนรู้ภูมิปัญญา เรียนรู้แหล่งทุน และเรียนรู้ชุมชน  มีคณะกรรมการ   มีข้อมูล มีสถานที่ มีกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบและเป้าหมาย  ทำให้มีแหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอดภูมิปัญญา และบันทึกภูมิปัญญาไว้ให้ลูกหลานสืบทอดต่อไป

5.  กลยุทธ์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ได้แก่ การจัดทำโครงการ 1 คน 1 ต้น 1 ปี เพื่อให้ประชาชนรู้คุณค่า รู้สึกรัก หวงแหนต้นไม้และ โครงการประกวด  หน้าบ้านน่ามอง   เพื่อกระตุ้นให้คนในบ้านเกิดความรู้สึกอยากดูแลรักษาความสะอาดของบ้านเรือนตนเอง นอกจากบ้านเรือนตนจะสะอาดน่าอยู่ปลูกต้นไม้น่ามอง แล้ว ยังได้รับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจอีกด้วย

6.  กลยุทธ์ด้านการเอื้ออารีได้แก่ การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยใช้เงินดอกเบี้ยของกองทุนหมู่บ้าน มาเป็นทุนเบื้องต้นในการจัดสวัสดิการชุมชนรวมทั้ง ประชาคมจัดตั้งกฎระเบียบหมู่บ้านเพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านถือปฏิบัติ ร่วมกันอย่างสันติสุข สมานฉันท์ และ รู้ รัก สามัคคี 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น