วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ราษฎร์ รัฐ รวมใจ แก้ไขปัญหาความจน


ชื่อ นามสกุล นางสาวิตรี ประดิษแจ้ง
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ

สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก 089-8899063


นโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการกระทรวงมหาดไทย  กำหนดขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ด้วยการขจัดความยากจนในชนบท ยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมาย คือ ยกระดับรายได้ครัวเรือนยากจนที่ตกเกณฑ์ จปฐ. ให้มีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 23,000 บาท/คน/ปี  เป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ตามที่องค์ปฐมเสนาบดีของกระทรวงมหาดไทยได้ทรงวางรากฐานไว้

สถานที่เกิดเหตุ จังหวัดฉะเชิงเทรา

เนื้อเรื่อง
จากรายงานคุณภาพชีวิต ประจำปี 2554 ได้นำเสนอผลการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) พบว่าจากตัวชี้วัด หมวดที่ 4 รายได้ก้าวหน้า ข้อ 30 คนในครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าคนละ 23,000 บาท/คน/ปี มีจำนวน 53 ครัวเรือน กระจายอยู่ในพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา  และเมื่อทีมเคาะประตูบ้านของตำบลซึ่งประกอบด้วยภาคประชาชน อช., ผู้นำ อช. ผู้นำสตรี และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ครู กศน.  เกษตรตำบล พัฒนากร ปลัดตำบล ได้ออกเยี่ยมเยียนและจัดเก็บข้อมูลในสมุดบันทึกการแก้ไขปัญหาความยากจนรายครัวเรือน (Family Folder) แล้ว จึงจำเป็นต้องมีวิเคราะห์ปัญหาของครัวเรือนเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือให้กับหน่วยราชการ ภาคเอกชน และอื่น ๆ ได้พิจารณาให้การช่วยเหลือ  ผลจากการจำแนกสถานะของครัวเรือนยากจนออกเป็น 2 ประเภท  คือ พัฒนาได้ จำนวน 39 ครัวเรือน และสงเคราะห์อย่างเดียว จำนวน 11  ครัวเรือน

บันทึกขุมความรู้
สาระสำคัญการจำแนกครัวเรือนยากจนเป้าหมาย ประเภทพัฒนาได้และสงเคราะห์อย่างเดียว ต้องพิจารณาศักยภาพในครัวเรือนเป้าหมาย  กรณีหากครัวเรือนดังกล่าวเป็นผู้สูงอายุหรือคนพิการ อาศัยอยู่คนเดียว ไม่มีผู้ดูแล หรืออาศัยรวมกันหลายคน แต่บุคคลเหล่านั้นไม่สามารถประกอบอาชีพได้ด้วยสภาพร่างกาย ไม่มีที่ดินทำกิน เช่นนี้แล้วให้พิจารณาเป็นครัวเรือนที่ต้องได้รับการ “สงเคราะห์”  แต่หากครัวเรือนดังกล่าว  ยังมีบุคคลในครัวเรือนสามารถประกอบอาชีพได้ สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต หากมีปัญหาคือ ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน  ไม่มีเงินเหลือในการออม  ต้องกู้หนี้ยืมสิน  มาเพื่อใช้จ่ายในการดำรงชีวิต  เมื่อพิจารณาแล้วจัดเป็นครัวเรือนที่สามารถ “พัฒนาได้” โดยให้แต่ละครัวเรือนได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต  โดยในขั้นตอนแรก  ต้องสนับสนุนให้ครัวเรือนมีการจัดทำบัญชีครัวเรือน  เพื่อรู้เรา  ซึ่งประกอบด้วยรายรับ รายจ่ายของครัวเรือน  เพื่อสะท้อนการดำเนินชีวิตประจำวัน แล้วนำมาวางแผนในการดำเนินชีวิตแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในครัวเรือน

กลยุทธ์ในการทำงาน
1.  ข้อมูลพื้นฐาน ถูกต้อง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
2. กระบวนการทำงาน
3. แผนปฏิบัติงาน
4. หน่วยงานภาคีภาครัฐ/เอกชน
5. ผู้นำชุมชน ประชาชนในหมู่บ้านที่มีครัวเรือนเป้าหมาย

กฎระเบียบ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
ดำเนินกิจกรรมตามกระบวนการการบริหารจัดการชีวิตครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการ 4 กระบวนการ คือ
กระบวนการที่ 1 ชี้เป้าชีวิตครัวเรือน  : สร้างทีมปฏิบัติการจากการบูรณาการภารกิจ บทบาทจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาข้อมูล จปฐ. เพื่อค้นหา ระบุครัวเรือนเป้าหมาย

กระบวนการที่ 2 จัดทำเข็มทิศชีวิต หรือ แผนที่ชีวิต  : ทีมงานผู้เกี่ยวข้องในชุมชน ร่วมกันจัดการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจทั้งในทีมงานและการค้นหาช่องทาง วิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้ครัวเรือนเป้าหมายมีทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาให้พ้นจน

กระบวนการที่ 3 บริหารจัดการชีวิต : การนำเอาแผนที่ชีวิต ไปปฏิบัติให้เห็นผล โดยครัวเรือนยากจนดำเนินการในส่วนที่ดำเนินการเองได้ ส่วนทีมปฏิบัติการช่วยกันนำแผนที่ชีวิตเสนอให้บรรจุในแผนชุมชน แผนพัฒนาท้องถิ่นของ อบต. แผนพัฒนาอำเภอ แผนพัฒนาจังหวัด รวมทั้งการบูรณาการ การปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบาทภารกิจ

กระบวนการที่ 4 ดูแลชีวิต : ทีมปฏิบัติการและผู้นำชุมชน ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันติดตามความก้าวหน้า การบริหารจัดการชีวิตของครัวเรือนยากจน ให้การสนับสนุน ดูแล ประคับประคอง ปรับปรุงแผนที่ชีวิตให้เหมาะสม สมบูรณ์ขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น