วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยน


ชื่อ – สกุล  นางสาวอำพร  ไม้แก้ว
ตำแหน่ง  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์ 085-9201905
การแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการจัดทำแผนที่ชีวิต
ปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ที่นับวันจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมากขึ้น  ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศ 

กระทรวงมหาดไทย    ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจนที่ตรงจุด ตรงประเด็น  เนื่องจากการแก้ไขปัญหาความยากจน  หรือครัวเรือนยากจน  เป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนและมีความยากในการดำเนินการ  ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการแก้ไขปัญหา  ในการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงวิถีชีวิต หรือวิธีคิด  ที่สำคัญการแก้ไขปัญหาความยากจนหรือครัวเรือนยากจนต้องแก้ไขกันเป็นรายครัวเรือน  ดังนั้น  การดำเนินงานต้องทุ่มเททรัพยากร  และความเสียสละของผู้มีส่วนร่วม  โดยอาศัยความตั้งใจของครัวเรือนยากจน    ความเอื้ออารีของชุมชนที่ครัวเรือนยากจนอยู่อาศัย และการบูรณาการของส่วนราชการ

อำเภอบางน้ำเปรี้ยว มีครัวเรือนยากจนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ (23,000 บาท / คน / ปี)จากข้อมูลการจัดเก็บ จปฐ.  ประจำปี  2554   จำนวน  5  ครัวเรือน   ซึ่งในการดำเนินงานแก้ไขปัญหา  ความยากจนแบบบูรณาการของอำเภอบางน้ำเปรี้ยว  ได้ดำเนินการ  4  ขั้นตอน  ดังนี้
          ขั้นตอนที่  1  ชี้เป้าชีวิต
          ขั้นตอนที่  2  จัดทำเข็มทิศชีวิต (แผนที่ชีวิต)
          ขั้นตอนที่  3  บริหารจัดการชีวิต
          ขั้นตอนที่  4  ดูแลชีวิต

ซึ่งครัวเรือนยากจนเป้าหมาย  5  ครัวเรือน  ได้เข้าร่วมกิจกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการของอำเภอบางน้ำเปรี้ยวเป็นอย่างดี  และในเบื้องต้นครัวเรือนจำนวนดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในบางส่วนแล้ว  และครัวเรือน 1 ครัวเรือนมีรายได้ผ่านเกณฑ์ จปฐ. แล้ว เนื่องจากได้ประกอบอาชีพเสริมจึงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

ในการช่วยเหลือดังกล่าว  ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ  หรือเงินช่วยเหลือ  เป็นการแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง  แต่สิ่งที่สำคัญ  คือ การทำความเข้าใจกับครัวเรือนยากจน ในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง  โดยการวางแผนหรือทำกิจกรรมในการบริหารจัดการชีวิตของตนเอง   เช่น   แผนการลดรายจ่ายของครัวเรือน        โดยการลด  ละ  เลิก  อบายมุข  ประหยัด  ลดการบริโภคที่เกินความจำเป็น  การจัดทำบัญชีครัวเรือนเพื่อเตือนตนเองในการใช้จ่ายเงิน  , แผนการเพิ่มรายได้ของครัวเรือน  โดยการเข้ารับการฝึกอาชีพหากมีการสอนอาชีพเสริมของหมู่บ้านหรือในระดับตำบล  สมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มต่าง ๆ ในหมู่บ้าน  เช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง  , กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต , กลุ่มฌาปนกิจ เป็นต้น  และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นประจำ  เพราะการแก้ไขปัญหาความยากจนที่แท้จริง  และยั่งยืน  อยู่ที่ตัวของครัวเรือนยากจนเอง 

หากยอมเปลี่ยนความคิดในการคิดที่จะพึ่งพาบุคคลอื่นหรือหน่วยงานอื่น  มาเป็นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของตนเอง  ขยัน  อดทน  และใช้ชีวิตแบบพอเพียง  ชีวิตของตนเองและครอบครัวก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น  ดังคำกล่าวที่ว่า “เปลี่ยนความคิด  ชีวิตเปลี่ยน”  ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลากว่าจะเกิดผล แต่หากมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามแผนการบริหารจัดการชีวิตของตนเองแล้ว  วันหนึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง
         
ขุนความรู้
1.เชื่อและศรัทธาในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ทำให้ชีวิตดี  มีความสุข 
2.การแก้ไขปัญหาความยากจนที่แท้จริง และยั่งยืน อยู่ที่ตนเอง
3.ครัวเรือนยากจนที่สามารถพัฒนาได้  ต้องสร้างความเข้าใจในการกำหนดแผนและกิจกรรมในการบริหารจัดการชีวิตตนเอง  ให้เห็นถึงความสำคัญ และประโยชน์ของการปฏิบัติตามแผน และที่สำคัญต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
แก่นความรู้
1.ความยากจนเกิดจากการบริหารจัดการชีวิตที่ไม่เหมาะสม สามารถแก้ไขด้วยการบริหารจัดการชีวิต
2.ปัญหาความยากจนต้องแก้ไขเป็นรายครัวเรือน
3.ปัญหาความยากจนต้องแก้ไขเป็นกระบวนการและใช้เวลาในการดำเนินงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น