วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เทคนิคการลดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน

ชื่อ - นามสกุล  สิบโทศุภฤกษ์      อมรรัตน์
ตำแหน่ง    นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
ปฏิบัติหน้าที่   สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแปลงยาว
เบอร์โทรศัพท์   081-7199381
ชื่อเรื่อง    เทคนิคการลดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ   ปี พ.ศ. 2555
สถานที่เกิดเหตุการณ์   บ้านหนองน้ำขาว  หมู่ 7  ตำบลหนองไม้แก่น  อำเภอแปลงยาว  จังหวัดฉะเชิงเทรา

เรื่องเล่า
เมื่อปลายปี พ.ศ. 2554  ข้าพเจ้าได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นพัฒนากร(นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ) จากผลการสอบแข่งขันของกรมการพัฒนาชุมชน โดยได้บรรจุปฏิบัติราชการประจำสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา  และได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ  ณ  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแปลงยาว  ได้รับผิดชอบเป็นพัฒนากรประจำตำบลหนองไม้แก่น  มีพัฒนากรพี่เลี้ยง  คือ  ว่าที่ ร.ต.จักรพันธ์  ศิริรัตน์  เรียกสั้นๆว่า  พี่จักร  ซึ่งชาวบ้านและผู้นำชุมชนในตำบลหนองไม้แก่นจะรู้จักพี่จักรเป็นอย่างดี  เนื่องจากเป็นพัฒนากรที่อยู่ใกล้ชิดและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2555  

ทางจังหวัดฉะเชิงเทราได้จัดโครงการประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุขประจำปี 2555  โดยให้อำเภอต่างๆส่งหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเข้าร่วมประกวดอำเภอละ  1  หมู่บ้าน  ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแปลงยาวได้ประชุมและลงมติเลือก  บ้านหนองน้ำขาว  หมู่ที่ 7  ตำบลหนองไม้แก่น  เป็นตัวแทนหมู่บ้านเข้าร่วมประกวด   เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีความพร้อมในทุกๆด้าน  คือ  เป็นหมู่บ้านที่มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง  และการส่งบ้านหนองน้ำขาวเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในหมู่บ้าน  อันเนื่องมาจากหมู่บ้านนี้เพิ่งผ่านศึกการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านมาหมาดๆ 

โดยในการเลือกตั้ง ดังกล่าวทำให้ผู้นำในหมู่บ้านมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน  โดยตอนแรกที่ข้าพเจ้าไปคุยกับผู้ใหญ่บ้าน  ทางผู้ใหญ่บ้านปฏิเสธไม่อยากจัดประกวด  เนื่องจากกลัวว่าจะรวมพลังชาวบ้านให้มาร่วมกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้   ข้าพเจ้าก็เลยไปปรึกษากับพี่จักร  และพี่จักรได้มาช่วยเกลี้ยกล่อม  ด้วยความเกรงใจที่ผู้ใหญ่บ้านมีต่อพี่จักรทำให้ผู้ใหญ่บ้านยินยอมที่จะจัดประกวด ซึ่งในการเตรียมการประกวดเทคนิคที่จำเป็นและสำคัญที่ค้นพบ  คือ  การชี้ให้ผู้นำชุมชนกลุ่มต่างๆในหมู่บ้านได้เห็นถึงความสำคัญของการจัดประกวด  ที่จะช่วยให้เกิดความรักความสามัคคีและช่วยลดปัญหาความขัดแย้งลงได้ โดยเริ่มจากการเรียกประชุมผู้นำและชาวบ้านในหมู่บ้านมาพูดคุยหาจุดยืนร่วมกันและแบ่งงานกันทำ  ซึ่งในการทำกิจกรรมดังกล่าวจะต้องมีการประสานกันของผู้นำกลุ่มต่างๆ ทำให้ผู้นำที่ไม่ถูกกัน ต้องมาทำงานร่วมกัน เกิดผลให้ความขุ่นข้องหมองใจที่เคยมีต่อกันลดน้อยลง  และเข้าใจกันมากขึ้น  ทำให้การประกวดดังกล่าวผ่านไปได้ด้วยดี  เป็นไป

ตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้  คือ  เกิดการร่วมแรงร่วมใจในการทำกิจกรรมในครั้งนี้  ยังผลให้ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งและเพิ่มความสุขมวลรวมของหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี
                               
ขุนความรู้ (Knowledge  Asset)
  • การมีพี่เลี้ยง (ที่ปรึกษา) ที่ดี  สามารถทำให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จได้ดี
  • การเข้าถึงชุมชนทำให้ชาวบ้านเกรงอกเกรงใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
  • การค้นหาผู้นำทางธรรมชาติในการขับเคลื่อนงาน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง (ลดการเผชิญหน้า)
  • การแนะนำให้คนในชุมชนเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  สามารถนำมาช่วยในการทำงานร่วมกัน และช่วยลดทิฐิของคนแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายได้ 
  • การดึงแต่ละฝ่ายมาร่วมทำกิจกรรมจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งได้

แก่นความรู้ (Core  Competence) 
  • การมีแบบอย่างที่ดีในการทำงาน
  • การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนและเข้าถึงชุมชน
  • การอาศัยผู้นำทางธรรมชาติในการขับเคลื่อนงาน
  • การทำงานร่วมกันโดยยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  • การชักจูงผู้นำแต่ละฝ่ายให้เข้ามาร่วมกิจกรรมเพื่อส่วนรวม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น