วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความสนใจที่ตรงกับความต้องการ


ชื่อ-สกุล  นางพัชรา  ปัญจพิทยากุล 
ตำแหน่ง  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
ที่ทำงาน  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบ้านโพธิ์  จังหวัดฉะเชิงเทรา 
โทร 089-4051653

การทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่ ถ้าจะทำงานให้สนุกและได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน ต้องเป็นงานที่ตรงกับความต้องการ ความต้องการในที่นี้หมายถึง เป็นงานที่ตรงกับอาชีพเพื่อนำไปพัฒนาในการสร้างรายได้ให้กับครอบครัว หรืออาชีพอื่นที่สามารถนำไปประยุกต์และสามารถทำได้จริง ๆ ตัวอย่างที่ประสบการณ์จริงในเร็ว ๆ นี้ คือ โครงการขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงแบบ “พออยู่  พอกิน”บ้านไผ่แถว หมู่ 2 ตำบลคลองขุด อำเภอบ้านโพธิ์  จังหวัดฉะเชิงเทรา หมู่บ้านนี้ชาวบ้านทั่ว ๆ ไปประกอบอาชีพด้านการเกษตร เช่น ปลูกผัก ไม้ผล เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา ทำนา ซึ่งอาชีพที่ทำในปัจจุบันเป็นอาชีพที่สืบต่อกันมา ส่วนหลักการปฏิบัติในการดูแลก็ได้จากการดู การจำที่พบเห็นกันมา และมีการดูแลเอาใจใส่ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชีวิตในการประกอบอาชีพสำเร็จ คือการสังเกต มีการพลิกแพลง ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

จนกระทั่งวันหนึ่งมีการสาธิตการขยายพันธุ์ไม้ในโครงการเศรษฐกิจพอเพียง จากเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และการปฏิบัติมีความชำนาญ ประสบการณ์สูง จากศูนย์ส่งเสริมพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา (พืชสวน) ตำบลเขาหินซ้อน ซึ่งมีที่ทำการอยู่ใน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เข้ามาสอนการเสียบยอดมะนาว โดยใช้ต้นตอส้มโอหรือจะใช้ต้นตอมะขวิด  ชาวบ้านมีความสนใจมาก เพราะได้เข้าใจในขั้นตอนที่ถูกต้อง เช่น มะนาวพันธุ์แป้นพิจิตรมีความสามารถต้านทานโรค      แคงเกอร์ได้สูง (โรคราสนิมเหล็ก)  การเตรียมต้นตอต้องมีขาดประมาณเท่าตะเกียบที่ใช้คีบเส้นก๋วยเตี๋ยว  การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี การเชือนกิ่งพันธุ์เป็นรูปปากฉลาม  ห้ามใช้มือสัมผัสกับแผลที่จะเสียบยอดเพราะจะทำให้เกิดเชื้อราได้ วิธีการเสียบยอด การใช้พลาสติกพันกิ่งพันธุ์เข้ากับต้นตอ การใช้ถุงพลาสติกคุมกันความชื้น การดูแลหลังจากการเสียบยอดพันธุ์ดี

การสอนภาคปฏิบัติในครั้งนี้ชาวบ้านสนใจและตั้งใจฟัง  เพราะพวกเขาก็มีความสามารถที่ทำกันได้อยู่แล้ว  แต่ไม่รู้หลักการที่ถูกต้อง และดูแล้วว่าชาวบ้านมีความสุขในการฝึกปฏิบัติในครั้งนี้  ชาวบ้านทุกคนอยากจะฝึกปฏิบัติหลาย ๆ ต้นเพื่อความชำนาญ แต่ก็ฝึกได้แค่คนละ 3-4 ต้น เพราะต้นตอมีจำนวนจำกัด หลังจากปฏิบัติแล้วทุกคนนำกลับไปดูแลที่บ้าน  วิทยากรก็มีความสุขที่ชาวบ้านมีความสนใจและสามารถถ่ายทอดวิชาให้นำไปปฏิบัติได้ 

ส่วนเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบตำบลคือพัฒนากรก็ได้รับฟังเสียงบอกกล่าวจากชาวบ้านถึงความสามารถในการปฏิบัติแต่ละคนว่าสำเร็จแค่ไหน เพราะถ้าประสบความสำเร็จใบของกิ่งพันธ์จะไม่เหี่ยวหลังจากเสียบยอดไปแล้ว 3 วัน และพัฒนากรก็รู้สึกภาคภูมิใจไปกับชาวบ้านที่เข้าร่วมอบรมครั้งนี้ เพราะส่วนมากจะประสบความสำเร็จ ผลพวงจากการปฏิบัติในครั้งนี้มีผลต่อการขยายผลครัวเรือนโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้น เพราะคำพูดปากต่อปากว่าพัฒนาชุมชนมีความสนใจเข้ามาทำงานกับชาวบ้านได้นำสิ่งดี ๆ เข้ามาพัฒนาความเป็นอยู่ ชาวบ้านก็จะให้ความร่วมมือในการเข้าอบรมในครั้งต่อไป พัฒนากรได้ยินแล้วก็มีความสุขใจ มีกำลังใจที่จะหาอาชีพที่เขาสนใจมาสอนต่อไป
   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น