วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การบริหารการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.


ชื่อ – นามสกุล   นางสาวนงลักษณ์  นพกร
ตำแหน่ง  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด     สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพนมสารคาม
ชื่อเรื่อง   การบริหารการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.  
         
จากการที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้านในชุมชน   ทำให้มีประสบการณ์ในการพัฒนาชุมชนและ  รู้เห็นสภาพความเป็นอยู่และสภาพปัญหาของชุมชนเป็นอย่างดี  จึงขอเสนอแนวทางการบริหารการจัดเก็บข้อมูล  จปฐ. ข้อมูล กชช.2 ค  ข้อมูลกลุ่มอาชีพ/องค์กร ข้อมูลกองทุนต่าง ๆ ที่กรมการพัฒนาชุมชนได้ให้การสนับสนุนแก่หมู่บ้าน/ชุมชน  ในมุมมองของพัฒนากรที่ได้ดำเนินการแล้วประสบผลสำเร็จเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

ขุมความรู้
เทคนิคการบริหารการจัดเก็บข้อมูล
  • ประชาสัมพันธ์การจัดเก็บข้อมูลไม่ว่าจะเป็นข้อมูล จปฐ. ข้อมูล กชช.2 ค ข้อมูลกลุ่มอาชีพ/องค์กร  ข้อมูลกองทุนต่าง ๆ  ผ่านทางกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้นำท้องถิ่นในระดับตำบล  ได้รับรู้เรื่องประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดเก็บข้อมูลในครั้งนี้
  • ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดเก็บบันทึก และประมวลผล  หากต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ เช่น ข้อมูล จปฐ. ข้อมูล กชช.2ค  (ซึ่งคาดว่าจะไม่ได้รับ)
  • จัดเตรียมรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูล  เช่น  ข้อมูลครัวเรือนเป้าหมาย  ข้อมูลสถานะเงินกองทุน ณ ปัจจุบัน  ข้อมูลสมาชิกกลุ่ม  เป็นต้น
  • สร้างทีมงาน  ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมในทุกระดับทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร  ภาคีการพัฒนา  มอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบ   จัดเตรียมข้อมูลและรายละเอียดให้ครบถ้วน
  • ค้นหาปัญหาและความต้องการ  โดยการจัดประชุมในระดับหมู่บ้าน ตำบล  เพื่อรับทราบปัญหาในปีที่ผ่านมาและหาความต้องการของชุมชนโดยมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบหรืออาสาสมัครควรเน้นไปที่ ผู้นำ อช. หรือ อช.  ดำเนินการจัดเก็บหรือสำรวจความต้องการ
  • ติดตามสนับสนุน เร่งรัดการจัดเก็บข้อมูล  เป็นระยะตามแผนปฏิบัติการที่กำหนดไว้ให้เสร็จทันตามกำหนดเวลา
  • การขับเคลื่อน  จัดเวทีสรุปผลข้อมูล  เพื่อรับรองข้อมูลและสรุปผลการดำเนินงานพร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากข้อมูลที่ได้รับ
แก่นความรู้
การทำงานในพื้นที่ของพัฒนากร  สิ่งแรกที่ทุกคนต้องดำเนินการ คือ ต้องศึกษาบริบทชุมชน    เมื่อได้ข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ทำอย่างไรจึงจะได้ข้อมูลเชิงคุณภาพเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน  พัฒนากรทุกคนต้องยึดหลักการมีส่วนร่วม (ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ)  อย่างเคร่งครัด เป็นไปตามลำดับขั้นตอน  เพราะคุณภาพของข้อมูลคือต้นทุนการพัฒนา

การประกวดหมู่บ้านประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น

ชื่อ นามสกุล    นางวิจิตร  เรียบร้อย
ตำแหน่ง           นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด              สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพนมสารคาม
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก   084-3624966
ชื่อเรื่อง            การประกวดหมู่บ้านประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น
เป็นการนำเสนอผลงาน    การประกวดหมู่บ้านประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ     ปี 2555
สถานที่เกิดเหตุการณ์   บ้านหนองปรือ หมู่ที่ 14 .เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

เนื้อเรื่อง
กรมการพัฒนาชุมชนได้มีนโยบายให้จังหวัดดำเนินโครงการเชิดชูเกียรติผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่น  ประจำปี  2555  โดยคัดสรรหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น  เป็นสุขและกิจกรรมพัฒนาชุมชนดีเด่น ระดับจังหวัด  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้จังหวัดสรรหาและคัดเลือกผู้นำชุมชน/กลุ่ม/องค์กรฯและชุมชนที่มีผลงานและกิจกรรมพัฒนาชุมชนดีเด่นเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนและเพื่อจัดการความรู้และพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ในการบริหารจัดการชุมชน

อำเภอพนมสารคามโดยพัฒนาการอำเภอและทีมงานสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ มีมติเห็นชอบส่งหมู่บ้านหนองปรือ  หมู่ที่  14  .เขาหินซ้อน  อำเภอพนมสารคาม  จังหวัดฉะเชิงเทรา    เข้าร่วมประกวด โดยมีนางวิจิตร  เรียบร้อย  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ เป็นพัฒนากรผู้ประสานงานตำบล

บันทึกขุมความรู้ (Knowledge Assets)
  • การบริหารจัดการทีมงาน สพอ.พนมสารคาม
  • ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้นำหมู่บ้าน/ชาวบ้าน/กลุ่มองค์กร ให้เข้าใจเป็นไปในทางเดียวกัน
  • ร่วมกับภาคีการพัฒนา ชาวบ้านกำหนดกรอบแนวทางที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการการประกวด
  • คัดเลือกผู้นำ กลุ่ม  องค์กร ดีเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวแทนในการประกวดกิจกรรม พร้อมทบทวนบทบาทหน้าที่ของผู้นำ และคณะกรรมการกลุ่มต่างๆ  ตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กลุ่มองค์กรต่างๆในหมู่บ้าน
  • การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงานของแต่ละกลุ่ม/องค์กร
  • สรุปปัญหาอุปสรรค แนวทางแก้ไขการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม/องค์กร
แก่นความรู้ (Core Competencies)
  • รับทราบข้อมูล  ปัญหาอุปสรรค
  • ความจริงจัง จริงใจที่จะดำเนินงานร่วมกับภาคี และชุมชน
  • จัดเวทีปรึกษาหารือ
  • สรุปหาแนวทางแก้ไข
  • การบริหารจัดการเป็นไปตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กลยุทธ์ในการทำงาน
  • ก่อนการดำเนินการมีการประชุมทีมงานสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอและประชุมผู้นำหมู่บ้าน /  ชาวบ้าน / กลุ่มองค์กร ให้เข้าใจเป็นไปในทางเดียวกันสรุปรวบรวมปัญหาอุปสรรคของแต่ละกลุ่มองค์กร เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้น
  • เมื่อได้ข้อมูลแล้วจัดเวทีปรึกษาหารือ กำหนดแนวทาง วิธีการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาร่วมกัน 
  • ดำเนินงานตามแผนที่กำหนดไว้ร่วมกัน
  • ร่วมประเมิน สรุปผล ทบทวนการดำเนินงานและเติมเต็มในส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์
  • การบริหารจัดการเป็นไปตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง       
ผลการประกวดกิจกรรมหมู่บ้านกิจกรรมพัฒนาชุมชนดีเด่น ปี 2555  บ้านหนองปรือ           หมู่ที่ 14 ต.เขาหินซ้อน  อำเภอพนมสารคาม  จังหวัดฉะเชิงเทรา  ชนะเลิศในระดับจังหวัด  ประจำปี 2552

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การบริหารจัดการเงินทุนตามโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.)

ชื่อ - สกุล    นางพรรณมนต์พร   เข็มประดับ
ตำแหน่ง      นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด         สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพนมสารคาม
เบอร์โทรศัพท์   042-891415
ชื่อเรื่อง        การบริหารจัดการเงินทุนตามโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.)
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ   การจัดการเงินทุนในหมู่บ้าน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ พฤศจิกายน  2554
สถานที่เกิดเหตุการณ์ บ้านต้นตาล  หมู่ที่ 9  ตำบลหนองยาว อำเภอพนมสารคาม  จังหวัดฉะเชิงเทรา

เนื้อหา
บ้านต้นตาล  มีครัวเรือนทั้งหมด 135 ครัวเรือน คนประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร คือการทำนา  ปลูกชะอม บ้านต้นตาล ได้รับงบประมาณในการสนับสนุนในการแก้ไข  ปัญหาความยากจนของครัวเรือน เมื่อปี พ.ศ. 2539 จำนวนเงินทุน 280,000 บาท (สองแสนแปดหมื่นบาทถ้วน)   ครัวเรือนเป้าหมายตามโครงการ ๓๔ ครัวเรือนปัจจุบันเงินทุนหมุนเวียน 281,114.12 บาท (สองแสนแปดหมื่นหนึ่งพันหนึ่งร้อยสิบสี่บาทสิบสองสตางค์)   แม้จะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ก็เป็นเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้าน ให้ครัวเรือนกู้ยืมในการประกอบอาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของ ครัวเรือนในหมู่บ้านให้ดีขึ้นภายใต้การบริหารงานของ นายสำอาง  ระวิโรจน์ ประธานคณะกรรมการ กข.คจ. ปัจจุบัน

บันทึกขุมความรู้ (Knowledge Assets)  
การบริหารจัดการเงินของโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน(กข.คจ.)สามารถบริหารจัดการเงินทุน

เพื่อให้ครัวเรือนสามารถกู้ยืมไปประกอบอาชีพ ทำให้ครัวเรือนมีคุณภาพที่ดีขึ้นเกิดจาก  
  • การแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุน กข.คจ.หมู่บ้านยึดหลักการคัดเลือกคณะกรรมการจากตัวแทน กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในหมู่บ้าน โดยการจัดเวทีประชาคม ถือมติที่ประชุม กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งและอำนาจ หน้าที่ของคณะกรรมการ กข.คจ.หมู่บ้าน (ตามระเบียบฯ พ.ศ. 2553 ข้อ 9 และข้อ 10 ) และมอบหมายหน้าที่ตาม ความเหมาะสม
  • การคัดเลือกและจัดทาบัญชีทะเบียนครัวเรือนเป้าหมาย โดยคณะกรรมการ กข.คจ.หมู่บ้านจะ ปรับปรุงบัญชีทะเบียนครัวเรือนเป้าหมายให้เป็นปัจจุบัน โดยยึดครัวเรือนเป้าหมายเดิมเป็นหลัก เป้าหมายยังคงมี  64 ครัวเรือน เนื่องจากพิจารณาจากคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ ของครัวเรือนยังไม่บรรลุตัวชี้วัด
  • การพิจารณาอนุมัติโครงการและยืมเงิน คณะกรรมการจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเงินกู้ โดย พิจารณาจากความจาเป็นเร่งด่วน การประกอบอาชีพ โดยจะต้องผ่านความเห็นชอบจากพัฒนากรผู้ประสานงาน ประจำตำบลก่อน จึงจะเรียกมาทำสัญญา
  • การทาสัญญายืมเงินตามโครงการ เมื่อผ่านการเห็นชอบจากพัฒนากรผู้ประสานงานประจำตำบล คณะกรรมการจะแจ้งให้ครัวเรือนเป้าหมายที่ได้รับการอนุมัติให้กู้ยืมมาทาสัญญายืมเงิน โดยทำขึ้น 3 ฉบับ(โดยให้ ครัวเรือน 1 ชุด คณะกรรมการเก็บไว้ 1 ชุด และอีก 1 ชุดส่งให้สานักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเก็บ)
  • การโอนเงินทุนให้ครัวเรือนเป้าหมาย  หมู่บ้านใช้บริการกับธนาคาร ธกส. สาขาออมสิน  การโอน เงินจะโอนผ่านบัญชีธนาคารเท่านั้น  เพื่อป้องการความผิดพลาดในการบริหารเงิน
  • การส่งคืนเงินยืม จะใช้เวทีในการกำหนดระยะเวลา เนื่องจากครัวเรือนในหมู่บ้านส่วนใหญ่มีการ ประกอบอาชีพด้านการเกษตร จึงกำหนดระยะเวลาส่งคืนปีต่อปี
  • การติดตาม คณะกรรมการ กข.คจ. จะติดตามให้คำแนะนำในการประกอบอาชีพ สำหรับการ ติดตามในระดับหมู่บ้าน พัฒนากรผู้ประสานงานประจำตำบลและเจ้าหน้าที่ทุกคนจะติดตามให้คำแนะนำการ ดำเนินงาน โดยให้ยึดระเบียบในการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ
  • หมู่บ้านมีการบริหารจัดการเงินกองทุนควบคู่กับการบริหารเงินกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ซึ่งมี เงินสัจจะและดอกผล 1,569,400   บาท หมู่บ้านยึดหลักคุณธรรม 5 ประการในการดำเนินงานพัฒนาหมู่บ้าน
  • คณะกรรมการและสมาชิกยึดระเบียบในการบริหารจัดการเงิน มีการประประชุมปรึกษาหารือ รวมทั้งเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้น
แก่นความรู้ (Core Conpetency)
  • การแก้ไขปัญหาความยากจนของครัวเรือน
  • การบริหารจัดการเงินทุน
  • ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการบริหารและการใช้จ่ายเงินโครงการแก้ไขปัญหาความ ยากจน พ.ศ. 2553
กลยุทธ์ในการทำงาน :
  • ยึดระเบียบในการดำเนินงาน
  • กำหนดขั้นตอนการทางานการคัดเลือกคณะกรรมการและครัวเรือนเป้าหมาย ตามระเบียบกำหนด
  • ติดตามแนะนำสนับสนุนการดำเนินงาน
  • เผยแพร่ประชาสัมพันธ์

หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ “กะหรี่ปั๊บงาดำ” ของ โรงเรียนชุมชนวัดดงยาง หมู่ที่ 3 ต.หนองแหน

ชื่อ สกุล    เบญวลี  อ้นถาวร
ตำแหน่ง       นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
สังกัด          สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพนมสารคาม
ชื่อเรื่อง   หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ กะหรี่ปั๊บงาดำของ โรงเรียนชุมชนวัดดงยาง หมู่ที่ 3 ต.หนองแหน

เนื้อเรื่อง
จากการเข้ามารับผิดชอบพื้นที่ตำบลหนองแหนอำเภอพนมสารคาม  และติดตามงานโครงการ        หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ในพื้นที่ พบกลุ่มที่น่าสนใจและเป็นแบบอย่างให้แก่กลุ่มอื่นๆในพื้นที่ได้     ก็คือ กลุ่มกะหรี่ปั๊บงาดำ หนึ่งในของอร่อยของตำบลหนองแหน ซึ่งข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษา      ความเป็นมา ของกลุ่ม กลุ่มกะหรี่ปั๊บงาดำเป็นกลุ่มของนักเรียนโรงเรียนชุมชนวัดดงยาง หมู่ที่ 3

เริ่มต้นมาจาก
เขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2 ได้จัดการมหกรรมวิชาการ ปี พ.ศ.2547 และให้แต่ละโรงเรียน ส่งผลิตภัณฑ์ 1 อย่างเข้าประกวดแข่งขันในโครงการ 1 โรงเรียน 1 ผลิตภัณฑ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดงยาง จึงได้มอบหมายให้คุณครูรัตนา เศวตสุพร ไปคิดหาผลิตภัณฑ์  เพื่อส่งเข้าประกวดแข่งขันในนามของโรงเรียนวัดดงยาง ครูรัตนา จึงได้ไปหาอาจารย์ที่  โรงเรียนสารพัดช่าง ที่สอนการทำเบเกอรี่เพื่อลงเรียนการทำกะหรี่ปั๊บ จนมีความชำนาญ ครูรัตนา  จึงได้คิดว่าหากทำกะหรี่ปั๊บธรรมดาก็คงไม่มีอะไรเป็นพิเศษจึงได้ ทดลองทำกระปั๊บใส่งา ครั้งแรกทดลองใส่งาขาวก่อนแต่ไม่มีอะไรโดดเด่นเพราะมองเพื่อทำเสร็จออกมาแล้วมองไม่เห็นงาขาวที่ผสมอยู่  จึงได้ปรับเปลี่ยนใช้งาดำมาผสมแทน และได้ทำการปรับปรุงสูตรจนมีความลงตัว  เป็นกะหรี่ปั๊บงาดำนำไปส่งประกวดแข่งขันในงานมหกรรมวิชาการ และติด 1 ใน 10 ของเขตพื้นที่  การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2 จากนั้นก็มีการส่งเข้าประกวดในอีกหลายเวที  ได้แก่ ได้รับคัดสรร เป็นสุดยอดผลงานนักเรียนยอดเยี่ยมระดับประเทศ จากงานสุดยอดเด็กไทยก้าวไกลสู่สากล (Best of Both Worlds) เข้าร่วมสาธิตและจำหน่ายสินค้าในงานเก่งสร้างชาติ Our Best for   Thailand  และได้เข้าโครงการ 1 โรงเรียน 1 ผลิตภัณฑ์  และได้มีการต่อยอดโดยการนำมาบรรจุไว้ในวิชาเรียน คือ วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 โดยในวันหยุดก็จะมีเด็กนักเรียนที่มีความสนใจประมาณ 10 คน เข้ามาร่วมกันผลิตกะหรี่ปั๊บงาดำ โดยใช้เวลาว่างในวันเสาร์  และอาทิตย์ เพื่อออกจำหน่ายในตลาดนัดของชุมชนทุกวันเสาร์ และนำออกจำหน่ายในงานมะม่วงและของดีอำเภอพนมสารคามทุกปี  ทางสำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอพนมสารคามเห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าสนใจ จึงได้ชักชวนไปจดทะเบียนเป็นสินค้า 1 ตำบล 1ผลิตภัณฑ์ เมื่อปี พ.ศ. 2553 สร้างงานสร้างรายได้

กะหรี่ปั๊บงาดำของโรงเรียนชุมชนวัดดงยาง   สามารถ สร้างรายได้ให้แก่เยาวชนที่เข้ามาร่วมทำ และนำออกจำหน่าย แต่ยังมีปัญหาที่รายได้ยังไม่แน่นอนเนื่องจากเป็นการออกจำหน่ายตามงาน วิชาการ หรืองานพิเศษต่างๆ ที่หน่วยงานเชิญให้ไปร่วม ส่วนการออกจำหน่ายประจำจะเป็นทุกวันเสาร์  ซึ่งมีตลาดนัดในชุมชนซึ่งก็ทำให้มีรายได้ส่วนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
กะหรี่ปั๊บงาดำของโรงเรียนชุมชนวัดดงยาง  มีการเปิดสอนในวิชาเรียนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยีระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่ทำให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา และมีการถ่ายทอดอย่างต่อเนื่องรุ่นต่อรุ่น เป็นการส่งเสริมให้เยาวชน   หันมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และเป็นการหารายได้เสริม อีกทั้งยังมีการส่งประกวดแข่งขันและได้รับรางวัลมาจากหลากหลายเวทีเป็นการการนตีคุณภาพและความสามารถของเด็กนักเรียน ช่วยเสริมสร้างกำลังใจทำให้รู้สึกสนุกและมีความสุขไปกับการทำกิจกรรมซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ออกมามีคุณภาพและ   รสชาติที่ดี

ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไข
ปัญหาและอุปสรรคที่พบเกิดจากการที่ผู้ปกครองบางส่วนไม่เข้าใจ และไม่อนุญาตให้บุตรหลานของตน  มาเข้าร่วมกิจกรรมในวันหยุด

แนวทางการแก้ไข
พูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้ชัดเจน โดยมุ่งให้เห็นถึงประโยชน์ที่บุตรหลาน และชุมชนได้รับจากกิจกรรม

ข้อเสนอแนะ
ควร มีการสนับสนุนให้เกิดเป็นกลุ่มเยาวชนและทำการส่งเสริมอาชีพโดยมีผลิตภัณฑ์ กะหรี่ปั๊บงาดำเป็นผลิตภัณฑ์หลัก เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนชุมชนวัดดงยางมาแล้ว ในระดับประเทศ และยังมีการเปิดสอนในวิชาเรียนทำให้มีการเรียนกันรุ่นต่อรุ่นซึ่งถือเป็นข้อ ได้เปรียบในเรื่องของความต่อเนื่องและการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ จึงควรสนับสนุนให้เป็นสินค้า 1 ตำบล 1ผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญของชุมชนต่อไป อีกทั้งยังสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่กลุ่มต่างๆในพื้นที่ตำบลหนองแหนได้เป็น อย่างดี

การพัฒนาศักยภาพสมาชิกชุมชนในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบระดับ พออยู่ พอกิน

ชื่อ - สกุล   รงรอง  พงษ์ชวลิต
เรื่อง    การพัฒนาศักยภาพสมาชิกชุมชนในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบระดับ พออยู่ พอกิน
เพื่อเป็นแกนนำในการยกระดับหมู่บ้านสู่ระดับ อยู่ดี กินดี ในพื้นที่ หมู่ 14 บ้านหนองปรือ
ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม  จังหวัดฉะเชิงเทรา

หลักการและเหตุผล
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นกรอบแนวความคิดและทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาค ของไทย  ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกันเพื่อความอยู่ดีมีสุข มุ่งสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน

กรมการพัฒนาชุมชน
ได้ส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงโดยน้อมนำแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  มาเป็นแนวทางปฏิบัติ  และจัดทำแผนการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ 2555 โดยมีเป้าหมายการให้บริการคือชุมชนมีความสามารถในการวางแผนบริหารจัดการชุมชนพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก  ให้มั่นคงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  โดยการเสริมสร้างขีดความสามารถของพลังชุมชนในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาของชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจขุมชนฐานรากให้มีความมั่นคง  เพื่อส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านที่มีวิธีชีวิต  ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยน้อมนำความคิดตามหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและผู้นำชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการพัฒนาตนเองและพัฒนาชุมชนไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบบรรลุเป้าหมายทั้ง 3 ระดับ คือระดับ “พออยู่ พอกิน” “อยู่ดี กินดี” “มั่งมี ศรีสุข  ซึ่งหมู่บ้านแต่ละระดับที่ได้รับการพัฒนาเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบตามเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย ระดับ พออยู่ พอกิน ต้องผ่านเกณฑ์ จำนวน 10-16 ตัวชี้วัด ระดับ อยู่ดี กินดี ต้องผ่านเกณฑ์ จำนวน 17-22 ตัวชี้วัด ระดับ มั่งมี ศรีสุข ต้องผ่านเกณฑ์ จำนวน 23 ตัวชี้วัด

บทวิเคราะห์
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนเกิดการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงอย่างหยั่งลึกในจิตใจ วิถีชีวิต และขยายผลสู่สังคมไทยอย่างเข้มแข็ง คือ ผู้นำองค์กรและชุมชน ซึ่งทุกฝ่าย/ทุกคน จะต้องร่วมใจเป็นหนึ่ง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นอำเภอเป็นอำเภอที่ประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม และประชากรของอำเภอพนมสารคามประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ เช่น อีสาน ลาวพวน เป็นต้น อาชีพเกษตรกรในปัจจุบันเป็นอาชีพที่มีรายได้น้อย ยากจน ประชาชนขาดความรู้ทางด้านการเกษตรที่ถูกต้องและปลอดภัยจากสารพิษต่าง ๆ ดังนั้น การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนจึงเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการดำเนินชีวิต

แนวคิดที่นำมาใช้ในการกำหนดกรอบในพัฒนางาน ได้แก่
  • แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ของกระทรวงมหาดไทย
  • ยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน
  • แนวคิดหลักธรรมาภิบาล
  • แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  • เกณฑ์การประเมินหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๕๒
  • การวัดความ “อยู่เย็น เป็นสุข”หรือวัดความสุขมวลรวมของหมู่บ้าน/ชุมชน (GVH)
ข้อเสนอ
  • พัฒนาศักยภาพสมาชิกชุมชนในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบระดับ พออยู่ พอกิน เพื่อเป็นแกนนำในการยกระดับหมู่บ้านสู่ระดับ อยู่ดี กินดี ในพื้นที่ หมู่ ๑๔ บ้านหนองปรือ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • จัดทำเอกสารคู่มือการดำเนินงานให้เจ้าหน้าที่ใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติงาน
  • ถอดบทเรียนการยกระดับหมู่บ้านต้นแบบ พออยู่ พอกิน เป็นระดับ อยู่ดี กินดี
ผลที่คาดว่าจะได้รับ 
  • ผู้นำชุมชนและสมาชิกในชุมชนสามารถเป็นแกนนำในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบระดับ มั่งมี ศรีสุข
  • มีหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบระดับ อยู่ดี กินดี เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษา ดูงาน แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง
  • ประชาชนในหมู่บ้านมีรายได้เสริมจากการขายผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้าน



วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เทคนิคการทำงานร่วมกับชาวบ้านและภาคี

ชื่อ – นามสกุล    นางอนัญพร    ลีรัตนชัย
ตำแหน่ง            นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด               สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก    0-8993-9848-8
ชื่อเรื่อง             เทคนิคการทำงานร่วมกับชาวบ้านและภาคี


เนื้อเรื่อง
จากคำกล่าวโบราณที่ว่าไว้ว่า คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย หลายคนทุกอย่างสบาย”  (ประโยคที่ 3 ข้าพเจ้าคิดเอง) ซึ่งเป็นคำพูดที่จริงแท้แน่นอน เพราะการจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราจะทำคนเดียวไม่ได้ ถึงทำได้ก็ไม่ดีเท่าที่ควร อย่างไรเสียเพื่อนร่วมงาน ย่อมมีส่วนสำคัญช่วยให้งานทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และ   ที่สำคัญคือการรู้เขารู้เรา และมธุรสวาจา  จะทำให้การประสานการทำงานเป็นไปด้วยความชื่นมื่น และงานต่างๆ    จะสำเร็จตามวัตถุประสงค์ทุกประการและที่สำคัญที่สุดคือ  ผู้ร่วมงานทุกคนจะรู้สึกภาคภูมิใจกับผลงานเหล่านั้นเพราะทุกคนมีส่วนร่วม

ทุกคนเมื่อทำงานย่อมมีผลงานที่ความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะกับประชาชน ผู้นำชุมชน และ      องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของตำบลคลองอุดมชลจร และตำบลคลองนครเนื่องเขตผลการปฏิบัติงานของข้าพเจ้า คือการได้รับความไว้วางใจและที่สำคัญคือ เวลาที่ประชาชนหรือผู้นำชุมชนตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบต้องการคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือจากใครสักคนหนึ่ง เขาเหล่านั้นจะนึกถึง ข้าพเจ้าก่อนคนอื่น ทั้งนี้เป็นเพราะข้าพเจ้าเองไม่เคยปฏิเสธงานที่เขาเหล่านั้นขอความช่วยเหลือ  และที่สำคัญข้าพเจ้ายึดหลักการทำงานโดยความซื่อสัตย์สุจริตไม่เคยหวังสิ่งตอบแทน  แม้ในบางครั้งเขาเหล่านั้นจะตอบแทนด้วยสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยรับ  แต่จะบอกเขาเหล่านั้นไปว่า  พี่ยินดีช่วยเหลือเพราะนั่นมันเป็นงานในหน้าที่อย่างหนึ่งที่พี่ต้อง
อำนวยความสะดวกและจัดทำให้ท่านอยู่แล้ว  เอาอย่างนี้แล้วกันเอาไว้เวลามีงานทางราชการเร่งด่วนและจำเป็น  ที่พี่ต้องการความช่วยเหลือท่านก็ช่วยพี่บ้างก็แล้วกันนะ และมีการพูดหยอกเย้ากลับไปบ้างเพื่อสร้างความคุ้นเคยเพิ่มขึ้น  เช่น 
เวลาพี่ต้องการความช่วยเหลือก็มีแต่ท่านนี่แหละช่วยได้”
แต่ถึงแม้เขาเหล่านั้นพร้อมที่จะช่วยเหลือเราทุกเรื่องที่เราร้องขอ  แต่ในฐานะเจ้าหน้าที่ที่
ต้องทำงานร่วมกับชาวบ้าน  ข้าพเจ้าก็ไม่เคยร้องขออะไรจากเขาเหล่านั้น  จนบางครั้งผู้นำหลายคนถามว่ามีอะไร ให้ช่วยบ้างไหม  ข้าพเจ้าก็จะตอบว่า  ตอนนี้พี่ยังไม่รบกวน   เอาไว้มีงานจำเป็นแล้วพี่คงต้องรบกวนบ้าง เมื่อถึง ตอนนั้นแล้วพี่จะบอก งานในพื้นที่  มีงานอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกับสภาวะการในปัจจุบัน ผู้นำท้องถิ่นก็มีงาน ที่ต้องปฏิบัติเร่งด่วนด้วยกันทั้งนั้น  ผู้ใหญ่บ้าน/กำนันก็ได้รับการสั่งการในเรื่องเร่งด่วนที่ต้องปฏิบัติ  โดยที่งานบางอย่างที่ได้รับคำสั่ง เขาเหล่านั้นก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้จะทำอย่างไร  ข้าพเจ้าก็จะแสดงน้ำใจโดยการสอนงานให้กับเขา  จนในบางครั้งเขาเหล่านั้นก็บอกว่า
พี่ช่วยทำให้หน่อยได้ไหม” ข้าพเจ้าก็ไม่อยากทำให้หรอกนะ แต่ก็ขัดไม่ได้ก็ต้องทำให้  แต่จะให้เขามาทำกับเราด้วย โดยบอกว่าพี่อยากทำให้ทั้งหมดนี่แหละ แต่ถ้าทำให้พวกเราก็จะทำไม่เป็น  แล้วถ้าพี่ย้ายไปอยู่ที่อื่นไม่มีคนทำให้ พวกเราก็จะลำบาก  เขาก็เข้าใจ  และนี่แหละคือความสำคัญเล็กๆ น้อยๆ ที่สะสมเอาไว้ เพื่อประโยชน์ในการทำงานภายหน้าของข้าพเจ้าเอง

การออกไปพื้นที่  ข้าพเจ้าจะมีของกิน (ของแห้ง)  น้ำดื่ม  ของใช้ที่จำเป็น  แม้แต่เสื้อผ้าที่เรา   ไม่ใช้แล้วแต่ยังดูดีอยู่  ซึ่งจะเป็นชุดทำงานของข้าพเจ้า สามี และของลูกสาว  ติดรถไปด้วยเสมอ  เพราะเวลาออกไปจะพบคนยากจน  คนชราเราก็เอาไปฝากเขาหรือคนทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา แต่การที่จะให้อะไรใครเราก็ต้องดูว่าผู้รับเขาอยากได้ไหม  เพราะการให้บางครั้งผู้รับอาจจะคิดว่าเป็นการดูถูกเขา (เราต้องคิดให้รอบคอบก่อนให้ทุกครั้ง) บางทีก็จะบอกว่า มีเสื้อผ้าในรถ เป็นของใช้แล้วแต่ยังดีอยู่ลอกเลือกดูชอบก็เอาไปแล้วกัน

และสิ่งที่ภาคภูมิใจในขณะนี้คือ  เรื่องการสนับสนุนค่าจัดเก็บและบันทึกข้อมูล จปฐ.ปี 2555
ซึ่งยังมีความไม่แน่ใจว่า อบต.จะให้การสนับสนุนได้หรือไม่ได้  ซึ่งเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนผู้ประสานตำบลทุกคนกำลัง เป็นทุกข์  บางคนเครียดมากๆ รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย (นี่แหละชีวิตพัฒนากรยุค IT)  ข้าพเจ้าก็จับเข่าคุยกับปลัด อบต.เรื่องนี้  ซึ่งพอข้าพเจ้าพูดว่าปลัดพี่อยากจะคุยเรื่องเงินจัดเก็บและบันทึกข้อมูล จปฐ.ปีนี้สักหน่อย ปลัดพอมีเวลาคุยกับพี่ไหม  ท่านปลัดก็ตอบในทันทีว่า  ผมมีเวลาสำหรับพี่ตลอดแหละ เรื่อง จปฐ. พี่ไม่ต้องกังวล พี่สบายใจได้เลย  ไม่ต้องคิดมาก ผมมีวิธีดำเนินการเบิกจ่ายในเรื่องนี้อยู่แล้ว” และแถมท้ายอีกว่า  พี่มีอะไรให้ อบต.ช่วยบอกล่วงหน้านะผมจะได้จัดหางบประมาณเพื่อสนับสนุนเพราะ อบต. มีงบประมาณในเรื่องทั่วไปอยู่บ้าง พี่ช่วยงานผมไว้เยอะ  ถึงตอนนี้ข้าพเจ้าหมดห่วงไปแล้ว 1 ตำบล  และคาดว่าอีก 1 ตำบลก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะ อบต.เบิกจ่ายเอง ไม่ใช่การสนับสนุนหน่วยงาน  (คิดเข้าข้างตนเองหรือเปล่าเอ่ย)


ถึงตอนนี้  ข้าพเจ้าเชื่อว่าการทำงานทุกอย่างจะสำเร็จได้  อยู่ที่ตัวเราเองเป็นสำคัญ ที่ว่า
ตัวเราเองนั้น  หมายถึง ตัวเราต้องมีความจริงใจต่อเพื่อนร่วมงาน พร้อมที่จะเสียสละเล็กๆน้อยๆเพื่อความสำเร็จ ของงานในอนาคต รู้เขา รู้เรา  ต้องมีกลยุทธ์ กลวิธีในการทำงาน  และที่สำคัญ ต้องสร้าง
  พระคุณ” และในบางครั้งที่ว่างเว้นจากการทำงาน ข้าพเจ้าทบทวนถึงผลการทำงานที่แล้วๆมา  และนึกภาคภูมิใจกับการทำงานของตนเองเล็กๆ ว่า เก่งจริงๆ เลยนะ...?...พวกพัฒนากร.....มัน...!..ทำได้ทุกเรื่องซิน่า”
                       สภาพพื้นที่ตำบลคลองอุดมชลจร และคลองนครเนื่องเขต
                     (เมืองสายน้ำแห่งชีวิต และวิถีชาวบ้านจากอดีต – ปัจจุบัน)

การดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง

ชื่อ - นามสกุล     นางสุคนธ์  เจียรมาศ
ตำแหน่ง            นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด               สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์      038-814349
ชื่อเรื่อง             การดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
เหตุเกิดเมื่อ         ปี พ.ศ. 2555
สถานที่             บ้านดอนกา  หมู่ที่ 1   ตำบลบางเตย  อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา  จังหวัดฉะเชิงเทรา

เนื้อเรื่อง
กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ อยู่ดี  มีสุข โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักรับผิดชอบในกาขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้รากฐานของการดำเนินชีวิตของประชาชนให้อยู่ดี มีสุขให้ได้และขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงมีการบูรณาการ การทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้โครงสร้างการทำงานของกระทรวงมหาดไทย 

กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินงานโครงการขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2555  อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ได้รับงบประมาณ จำนวน 1 หมู่บ้านโดยมีการประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่นระดับอำเภอ บ้านดอนกา หมู่ที่ 1 ตำบลบางเตย ได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1จึงรับงบประมาณ จำนวน 120,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นบาทถ้วน)  เพื่อดำเนินงาน  5 กิจกรรม เป้าหมายจำนวน 30 ครัวเรือน โดยได้ดำเนินการ ดังนี้
1.คัดเลือกแกนนำ จำนวน 6 คน ไปร่วมอบรมการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัดจังหวัด
2. ประชาสัมพันธ์คัดเลือกครัวเรือนเป้าหมาย 30 ครัวเรือน เข้าร่วมกิจกรรม
3.ประชุมชี้แจง/รายละเอียดของโครงการให้ครัวเรือนเป้าหมายเข้าใจตรงกันในการดำเนินงาน
4. ดำเนินงานกิจกรรมที่ 1 .
  • ประชุมเชิงปฏิบัติการ/สัมมนาผู้แทนครอบครัวพัฒนา ให้การเรียนรู้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง  จำนวน 1 วัน  ในวันที่ 3 เมษายน 2555
  •  ศึกษาดูงานประสบการณ์การพัฒนาวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงจากแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ  ในวันที่  4-5  เมษายน   2555  ณ โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ และศูนย์กลางการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง จังหวัดเพชรบุรี                       
5. ดำเนินงานกิจกรรมที่ 2 กิจกรรมการเรียนรู้ตนเองและกำหนดเป้าหมายการพัฒนา              ในวันที่  10  เมษายน 2555
6 .ดำเนินงานกิจกรรมที่ .3  กิจกรรมสาธิตการดำรงชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินการระหว่าง           วันที่  11 - 12 เมษายน  2555  ดังนี้
  • สาธิตการทำน้ำพริกปลาสลิด  ปลาดุกย่าง
  • สาธิตการแปรรูปกล้วย
7. ดำเนินงานกิจกรรมที่ 4  กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างระบบการบริหารจัดการชุมชน                          ในวันที่ 17  พฤษภาคม   2555
8. ดำเนินงานกิจกรรมที่ 5 ประชุมเชิงปฏิบัติการกิจกรรมการจัดการความรู้การดำเนินการ             และการเตรียมเป็นหมู่บ้านต้นแบบ  ในวันที่  7  สิงหาคม  2555            

ในการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ได้มีการประเมินความสุขมวลรวม ได้คะแนน 4.03          อยู่ระดับ กินดี อยู่ดี
แก่นความรู้
  • การทำงานแบบบูรณาการ
  • ใช้แผนชุมชนในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  • ผู้นำกลุ่มองค์กรชุมชน คือฐานหลักแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงที่ยั่งยืน
กลยุทธ์ในการทางาน
  • ศึกษาเอกสาร คู่มือ แนวทางการดำเนินงานให้ชัดเจน
  • ให้การศึกษากับผู้นำชุมชน/ประชาชน
  • เน้นทำงานเป็นทีม (ทีมเพื่อนร่วมงานและทีมภาคีการพัฒนา)
  • ติดตาม ส่งเสริม สนับสนุน อย่างต่อเนื่อง
  • ประเมินผลตามแบบที่กำหนด พัฒนาแก้ไขตัวชี้วัดที่ยังไม่บรรลุผลตามเกณฑ์
  • ปรึกษาผู้รู้ / ผู้บังคับบัญชา ตามความเหมาะสม
กฎระเบียบ/แนวคิด/ทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง
  • คู่มือ/เอกสาร แนวทางการดาเนินงานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  • แนวทางการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

สืบทอดภูมิปัญญา ผลิตภัณฑ์จากเขาสัตว์

ชื่อ – สกุล         นายสิรชัย   ศรีภัยพ่าย
ตำแหน่ง            นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
สังกัด               สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมือง จ.ฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์
      08-7695-7674
ชื่อเรื่อง             สืบทอดภูมิปัญญา ผลิตภัณฑ์จากเขาสัตว์
สถานที่             เลขที่
49 หมู่ที่ 7 ตำบลบางขวัญ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา


ความเป็นมา
กลุ่มผลิตภัณฑ์เขาสัตว์แกะสลักภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบทอดมาช้านานที่นับวันกำลังจะสูญหายจากสมัยก่อนที่ใช้การขัดถูด้วยมือและได้ทดลองทำกันมาเรื่อย ๆ ในปัจจุบันมีการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่ว่าจากการทำนาโดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในตำบลบางขวัญและตำบลใกล้เคียงทำให้มีการแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์และการเรียนรู้ให้กว้างขึ้นสามารถทำให้เกิดรูปแบบใหม่ ๆ และพัฒนามาเรื่อย ๆจากของประดับตกแต่งเป็นของใช้ และผสมผสานให้เกิดรูปแบบต่างเพื่อเสนอลูกค้าในรูปแบบใหม่ๆ จนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

องค์ความรู้
ความสำคัญของผลิตภัณฑ์แกะสลักเขาสัตว์  ซึ่งเป็นอาชีพที่สุจริตสามารถพัฒนาเป็นอาชีพที่จะทำรายได้ให้กับชาวบ้านที่สนใจ และอาจจะทำชุมชนมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการพัฒนาด้านอาชีพ มีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความสวยงามโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

การนำสิ่งแวดล้อมมาใช้ประโยชน์
การนำวัสดุ (เขาสัตว์) ที่เหลือใช้จากแหล่งในชุมชน ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่น ทางกลุ่มได้คิดการนำเขาสัตว์มาแกะสลักเป็นผลิตภัณฑ์ในลวดลายต่าง ๆ เช่นปลาโลมา นกฮูก วัวกระทิง นกอินทรีย์ ยีราฟ นกพีรีแกน ปลาเงินปลาทอง พวงกุญแจ เพื่อเป็นของที่ระลึกได้ เพื่อให้เขาสัตว์เกิดประโยชน์มากที่สุด และทำเป็นอาชีพเสริม สามารถสร้างเป็นแหล่งรายได้ให้กับครอบครัวได้ จากการนำเขาสัตว์ไปทิ้งโดยเสียเปล่า

การบริหารจัดการ
ปัจจุบัน มี นายสมนึก แย้มพุชชง เป็นประธานของกลุ่ม โดยสมาชิกในกลุ่มร่วมกันวางแผนการทำงานช่วยกันออกแนวความคิดในการทำลวดลายต่าง ๆ สำหรับการออกแบบสมาชิกทั้งหมด จะมาช่วยกันออกแบบ ส่วนวัตถุดิบโดยมากจะหาจากในท้องถิ่น ถ้าวัตถุดิบเริ่มไม่มีในท้องถิ่น ก็จะสั่งจากนอกท้องถิ่นเข้ามา เช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น มีการทำบัญชีในครัวเรือน ในการทำบัญชีรายรับ รายจ่ายอยู่ตลอด รวมถึงการศึกษาแบบและนำมาดัดแปลงในการทำให้ผลิตภัณฑ์ดูแปลกใหม่ ๆ อยุ่เสมอ

ดำเนินการตามแนวพระราชดำรัชปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
การดำเนินงานของกลุ่มแกะสลักเขาสัตว์ ได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงานของกลุ่มนอกจากจะสร้างอาชีพนำผลผลิตไปขายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกของกลุ่มเพื่อให้สมาชิกมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นพอประมาณ อย่างพอเพียง และสามารถช่วยเหลือกันได้ระหว่างกลุ่ม และทางกลุ่มยังเป็นสถานที่ให้และแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านอาชีพ  สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับประชาชนที่สนใจ จากภูมิปัญญาท้องถิ่น

หน่วยงาน/องค์กรที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่ม
  • พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
  • กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา
  • ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
  • กาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา
  • หอการค้าฉะเชิงเทรา

สรุปประโยชน์ที่ได้รับ
เนื่องจากในสภาพทางเศรษฐกิจของสังคมในปัจจุบัน มีการพัฒนาและเจริญเติบโตขึ้นมาก มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย ประชากรวัยแรงงานส่วนมากจะไปเรียนและทำงานเป็นส่วนมาก ทำให้การสืบสานหรือวัฒนธรรมในสังคมถดถอยลง ทำให้การสืบสานในชุมชนของคนในท้องถิ่นลดน้อยลง การจัดตั้งกลุ่มเขาสัตว์แกะสลักขึ้นมาเพื่อให้มีการปลูกฝังภูมิปัญญาของท้องถิ่นในด้านการแกะสลักเพื่อที่จะได้รู้คุณค่าของการแกะสลักและภูมิปัญญาท้องถิ่นจะได้ไม่สูญหายไปไหนยังคงอยู่จนรุ่นลูก รุ่นหลาน และยังส่งเสริมให้ประชากรในท้องถิ่นสามารถหารายได้เลี้ยงครอบครัว จากอาชีพเสริมจาการทำนา ทำไร่ อีกด้วย และทางภาครัฐและเอกชน ได้ให้ความช่วยเหลือและให้ความสนับสนุนทางด้านวิชาการ วัสดุ งบประมาณ และการส่งเสริมทางด้านการตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากเพราะเมื่อผลิตแล้วก็ต้องมีทางส่งออกเพื่อกระจายผลผลิต และการส่งเสริมการเรียนรู้ในโรงเรียน โดยให้นักเรียนและเยาวชนในโรงเรียนสามารถไปศึกษาดูงาน และยังสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเขาสัตว์แกะสลักในหลาย ๆ รูปแบบอีกด้วย เขาสัตว์เป็นวัสดุที่เหลือใช้ นำมาใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดความสวยงาม เป็นการใช้ภูมิปัญญาในการแกะสลักเพื่อให้เกิดงานที่สวยและสามารถสร้างเป็นรายได้ให้กับชุมชนได้ และเป็นทุนความรู้ได้เป็นอย่างดี.

คนจนผู้ยิ่งใหญ่

ชื่อ – นามสกุล    นายชูชาติ   เอี่ยมวิจิตร์
ตำแหน่ง       พัฒนาการอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา (นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ)
สังกัด          สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา  จังหวัดฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์   089 - 9841207, 081 - 8198924
ชื่อเรื่อง          คนจนผู้ยิ่งใหญ่
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ   ความมั่นคงของเงินทุนชุมชน แก้ไขปัญหาความยากจน(กข.คจ)
เหตุเกิดเมื่อ     ปี พ.ศ. 2552
สถานที่         อำเภอบางน้ำเปรี้ยว  จังหวัดฉะเชิงเทรา

เนื้อเรื่อง
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการโดยการแก้ไขปัญหาความยากจน (ตามมติ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2517) เพื่อกระจายโอกาสให้คนยากจนในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ได้มีแหล่งเงินทุนในระดับหมู่บ้านสำหรับไปประกอบอาชีพ หรือขยายกิจการอาชีพของตน เพื่อเพิ่มรายได้ให้พ้นเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน และมีคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยสนับสนุนงบประมาณจัดตั้งเป็นเงินตามโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับหมู่บ้าน จำนวนหมู่บ้านละ  280,000 บาท (สองแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว โดยควบคุมดูแล และตรวจสอบการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งงบประมาณ และระเบียบของทางราชการ
ในการนี้ ได้กำหนดระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหารและการใช้จ่ายเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. 2536 และได้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหาร และการใช้จ่ายเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. 2553  (ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้) โครงการนี้เป็นที่ทราบโดยทั่วไปเราเรียกกันโดยย่อว่า โครงการ กข.คจ. นั่นเอง ตามระเบียบฯ ได้กำหนดให้เงินโครงการ กข.คจ. เป็นเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ประจำหมู่บ้านโดยอยู่ในความรับผิดชอบการบริหารของคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน

หมู่บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ได้รับงบประมาณโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) มีคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้านเป็นผู้บริหารซึ่งระเบียบฯ กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานคณะกรรมการฯ เหตุเกิดขึ้นสมัยที่ตัวของข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งเป็นพัฒนาการอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ปี พ.ศ.  2547  โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นโครงการที่หน่วยงานพัฒนาชุมชนต้องติดตามสนับสนุน การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและจากการตรวจติดตามปรากฏว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีปัญหาด้านการบริหารงบประมาณโครงการ กข.คจ. (งบประมาณ 280,000) กว่าจะรู้ว่ามีปัญหาต้องใช้เวลาหลายเดือน เพราะอะไรหรือ?
ประการแรก มาจากเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน (พัฒนากร) ที่รับผิดชอบตำบลนี้ย้ายบ่อยเปลี่ยนเจ้าหน้าที่รับผิดชอบอยู่เป็นประจำทำให้การติดตามไม่ต่อเนื่อง
               
ประการที่ 2  คณะกรรมการบริหารกองทุน กข.คจ. ระดับหมู่บ้านไม่มีการประชุมกันอย่างจริงจังใช้ลักษณะการประชุมแบบเวียนขอมติ/แจ้งให้ทราบโดยประธานเป็นผู้ดำเนินการเองภายในครอบครัวเมื่อเจ้าหน้าที่พัฒนากรนัดประชุมก็จะเบี่ยงบ่ายว่าคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่ติดภารกิจไม่ว่างมาประชุมบางครั้งเจ้าหน้าที่พัฒนากร  เข้าไปประชุมก็บอกว่านัดแล้วกรรมการไม่มาเอง

ประการที่ 3 สมาชิกโครงการ กข.คจ. ไม่ทราบความเคลื่อนไหวของการบริหารงานคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้านส่งเงินให้ประธานแล้วก็แล้วกันพอจะยืมเงินใหม่ก็ได้รับการปฏิเสธจากประธานว่า ขณะนี้มีสมาชิกบางรายไม่ส่งเงินคืน ทางอำเภอ (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ) จึงให้ระงับการให้ยืมเงินและเรียกเงินทุนโครงการ กข.คจ. ส่งคืนทั้งหมด และสาเหตุอีกประการหนึ่งคือ
               
ประการที่ 4  ไม่มีการเรียกสมาชิกโครงการ กข.คจ. ทั้งหมดประชุมใหญ่เลยหลายปีมาแล้ว  เมื่อเหตุเป็นเช่นนี้แล้วจึงเริ่มต้นติดตามการดำเนินงานใหม่โดยเริ่มจากการเข้าพบสมาชิกโครงการ กข.คจ. บางคนเก็บข้อมูลและเข้าพบกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน บางคนผลที่ได้ตรงกันตามประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น ขณะเดียวกันในช่วงนั้นประธานกองทุนหมู่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) ครบกำหนดเกษียณอายุ มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนผู้ใหญ่บ้านคนเก่า ดังนั้นตำแหน่งประธานคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้านจึงต้องเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านคนใหม่เข้ามาบริหารแทน (ตามระเบียบฯ เดิม) ปรากฏว่าประธานคนเก่าไม่มอบหมายงานให้คนใหม่ กองทุนหมู่บ้านก็บริหารงานต่อไปไม่ได้ เรื่องจึงต้องถึงอำเภอให้เข้าไปตรวจสอบและแจ้งให้ประธานคนเก่ามอบหมายงานและรายงานผลการบริหารงานกองทุนหมู่บ้านให้กรรมการและสมาชิกได้ทราบ

ผลปรากฏว่าประธานกองทุนหมู่บ้านฯ (คนเก่า) ได้นำเงินที่สมาชิกส่งคืนใช้หนี้ให้กองทุนหมู่บ้านนำไปใช้ส่วนตัวเป็นจำนวนเงิน 260,000 บาท (สองแสนหกหมื่นบาทถ้วน) คงเหลืออยู่ในบัญชีจำนวน 20,000 (สองหมื่นบาทถ้วน) ไม่ได้นำมาลงในบัญชีและได้ยอมรับกับกรรมการกองทุนหมู่บ้าน กข.คจ. และเจ้าหน้าที่คือ พัฒนาการอำเภอ และพัฒนากรผู้รับผิดชอบตำบลทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน โดยขอระยะเวลาส่งใช้เงินคืนกับกองทุนหมู่บ้านเป็นเวลา 3 เดือน ที่ประชุมให้โอกาส เมื่อถึงกำหนดเวลาปรากฏว่าเงียบหายเหมือนเดิม ประธานคนใหม่จึงเรียกประชุมคณะกรรมการพร้อมเชิญเจ้าหน้าที่มาร่วมด้วยก็ได้มีมติเข้าไปสอบถามเกิดการท้าทายให้ไปฟ้องร้องเอา คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน กข.คจ. หมู่บ้านจึงได้แต่งตั้งให้ผู้แทนไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ (โรงพัก)

เรื่องได้ดำเนินไปตามขั้นตอนกระบวนการของกฎหมายมีการเรียกประธานผู้ที่ได้ไปขึ้นชื่อว่า ยักยอกเงินกองทุนหมู่บ้านไปใช้ส่วนตัว เรื่องได้ดำเนินไปโดยทางตำรวจ และอัยการได้ให้โอกาสกับประธานกองทุนหมู่บ้านที่เป็นจำเลย ได้นำเงินมาส่งใช้คืน เรื่องผ่านไปเป็นเวลาเกือบปี ประธานกองทุนหมู่บ้าน (จำเลย) โกหกทุกระดับชั้นจนทางอัยการส่งเรื่องฟ้องศาล (เพราะให้โอกาสมาหลายครั้งแล้ว) ศาลได้ตัดสินจำคุกพร้อมให้ส่งใช้เงินคืนทั้งหมด ทำให้กองทุนหมู่บ้านแห่งนี้ได้มีการบริหารงานอย่างต่อเนื่อง ต่อไป

บันทึกขุมความรู้
จากเนื้อเรื่อง ความรู้ดังกล่าวข้างต้นเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับในการติดตามส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลและความมั่นคงของทุนชุมชนดังนี้
  • การปฏิบัติงานต้องศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบว่าด้วยการบริหารและการใช้จ่ายเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นอย่างดีก่อน
  • ต้องติดตามงานอย่างต่อเนื่องให้ความรู้ความเข้าใจกับคณะกรรมการฯ สมาชิกและประชาชนทั่วไป
  • การแก้ไขปัญหามีหลากหลายวิธี ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
  • สร้างความ รักความเป็นเจ้าของเงินทุน กข.คจ. ให้กับประชาชนในหมู่บ้านทุกระดับ
  • คณะกรรมการ กข.คจ. ส่วนใหญ่ต้องมีการประชุมทุกเดือน และรายงายผลความก้าวหน้า หรือปัญหาอุปสรรคให้อำเภอทราบอย่างต่อเนื่อง
 
แก่นความรู้
ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ได้รับความรู้ความเข้าใจ คือ
  • ศึกษาระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการบริหารและการใช้จ่ายเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. 2553
  • ส่งเสริมขีดสมรรถนะของคณะกรรมการ กข.คจ. หมู่บ้าน ทำให้บริหารงานได้อย่างถูกต้องตามระเบียบฯ
  • เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับมีความรู้ความเข้าใจสามารถติดตาม ส่งเสริม  สนับสนุนการทำงานโครงการ กข.คจ. มีผลงานประสบความสำเร็จตามบทบาทหน้าที่
  • คณะกรรมการ กข.คจ.  ระดับหมู่บ้าน และสมาชิกร่วมกันบริหารงานโครงการ กข.คจ. ให้มีประสิทธิภาพ โครงการ ติดตาม ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับ

กลยุทธ์ในการทำงาน
  • สร้างความรู้ ความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่และภาคีการพัฒนาให้มีความเชี่ยวชาญการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
  • พัฒนาผู้นำชุมชน, คณะกรรมการบริหารงาน กข.คจ. ระดับหมู่บ้าน เป็นแกนนำเอาชนะความยากจนโดยเป็นแบบอย่างที่ดี
  • กำหนดให้ผู้รับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ ได้ติดตาม ส่งเสริม สนับสนุน การบริหารงาน กข.คจ. อย่างต่อเนื่อง
  • แสวงหาภาคีการแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการบริหารงานฯ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านคงได้รับประโยชน์จากการติดตามสนับสนุนการบริหารงานโครงการ กข.คจ. ระดับหมู่บ้านซึ่งถือได้ว่าเป็นผลทำให้ “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” ได้นำเงินมาบริหารฯ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในหมู่บ้านต่อไป และเป็นส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ที่นำมาเผยแพร่เท่านั้นหากมีความสงสัยประการใดโปรดติดต่อสอบถาม

เจ้าของความรู้...  นายชูชาติ  เอี่ยมวิจิตร์  ตำแหน่งพัฒนาการอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
(นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ)
สถานที่ติดต่อ  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา  จังหวัดฉะเชิงเทรา
               

การขับเคลื่อน OTOP to be SMEs

ชื่อ - สกุล          นายสมศักดิ์  จิตรวิไลย
ตำแหน่ง            นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด               สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์      089-8984499
ชื่อเรื่อง             การขับเคลื่อน OTOP to be SMEs
ดำเนินการเมื่อ      พ.ศ. 2554-2555

ความเป็นมา
ตามที่โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 ที่ผ่านมาในกระบวนการพัฒนาได้จัดให้มีการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย (OTOP Product Champion : OPC) โดยจัดระดับผลิตภัณฑ์ OTOP เป็นระดับ 1-5 ดาว และสนับสนุนให้การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ในด้านต่าง ๆ ทั้งกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ การพัฒนาตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งกระบวนการส่งเสริมการดำเนินงาน OTOP ก็ยังสามารถดำเนินการได้อยู่ในขอบเขตจำกัด คือ เมื่อผู้ประกอบการได้รับการคัดสรรเป็นระดับ 5 ดาวแล้ว ก็ไม่มีการสนับสนุนส่งเสริมในระดับที่สูงขึ้นไป 
เพื่อให้กระบวนการส่งเสริม OTOP ที่ดำเนินการได้อยู่ในขอบเขตที่จำกัดได้รับการพัฒนายกระดับสู่ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสากิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้จัดทำโครงการยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ก้าวไปสู่ SMEs  และจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานร่วมดำเนินการ 4 หน่วยงาน คือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ และกรมการพัฒนาชุมชน โดยกรมการพัฒนาชุมชนทำหน้าที่ประสานงานผู้ประกอบการในพื้นที่ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 152 กลุ่ม กลุ่มผ่านการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย  ระดับ 5 ดาว ปี 2552 และปี 2553 ซึ่งผ่านการประเมินศักยภาพโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมว่าสามารถพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการ SMEs ได้  และได้คัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโสธรพัฒนา หมู่ที่ 3 ตำบลโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เป็นกลุ่มเป้าหมาย ของจังหวัดฉะเชิงเทรา
2. แนวทางการดำเนินงาน  
2.1ประสานงานกับผู้ประกอบการในพื้นที่ 
  • จัดประชุมหน่วยงานร่วมดำเนินการและผู้เกี่ยวข้องระดับอำเภอ ได้แก่ หัวหน้าส่วนราชการ เครือข่าย OTOP เครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโสธรพัฒนา ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ก้าวไปสู่ SMEs  และพิจารณา คัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วมเวทีประชาคม ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. ประชาชนในชุมชน สมาชิกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโสธรพัฒนา และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน
  • ประสานความร่วมมือหน่วยงานร่วมดำเนินการ ติดตามให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะกระบวนการดำเนินงาน
2.2 กิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน 
  • จัดเวทีประชาคมครั้งที่ 1 ในชุมชน เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ ระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
  • จัดเวทีประชาคมครั้งที่ 2 ในชุมชน เพื่อพิจารณาคัดเลือกโครงการ/กิจกรรม โดยกรมการพัฒนาชุมชนมีเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน คือจะต้องเป็นโครงการกิจกรรมที่ดำเนินการแล้วส่งผลกระทบให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชนด้านใดด้านหนึ่ง ตาม ใน 6 ด้าน ดังนี้  
  • ด้านการพัฒนาคนและเครือข่ายในชุมชน
  • ด้านการพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่ม
  • ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ
  • ด้านการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น/สืบสานวัฒนธรรม
  • ด้านการจัดการองค์ความรู้ของชุมชน
  • ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และเป็นโครงการ/กิจกรรมที่ดำเนินการแล้วสามารถเชื่อมโยงให้กิจกรรมตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  ซึ่งที่ประชุมมีมติจัดทำโครงการฝึกอบรมการทำขนมไทยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

ฝึกอบรมโครงการฝึกอบรมการทำขนมไทยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน     ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นเยาวชนในชุมชน จำนวน 30 คน หลักสูตรการฝึกอบรมแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม  ได้แก่
กิจกรรมที่ 1  การทำขนมไทยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
ฝึกอบรมให้ความรู้กับเยาวชนในชุมชนเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดร่างกาย สิ่งของ และอธิบายกระบวนการผลิตขนมไทย จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ทองหยิบ,ใส้ไส้,ขนมกล้วย และข้าวตู อธิบายเกี่ยวกับเรื่องวัตถุดิบที่นำมาทำขนมมีอะไรบ้าง จะต้องเตรียมอะไร และสาธิตการทำขนมไทย ที่ละชนิด โดยวิทยากรได้พัฒนาเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ระยะเวลา  2 วัน

กิจกรรมที่ 2  การฝึกอบรมพัฒนาจิต
ฝึกอบรมให้เยาวชนได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องกายและใจ  การพัฒนา หมายความว่า ทำให้เจริญ ให้ดี ให้สูง คือ ให้มีใจเจริญ ไม่ให้มีใจเสื่อม ให้มีใจดี ไม่ให้มีใจเสีย ให้มีใจสูง ไม่ให้มีใจต่ำ ทำจิตใจให้เจริญด้วยความดีต่างๆในตัวคนเรามี 2 อย่าง คือ กายกับใจ กายแยกออกเป็นวาจา เรียกว่า กาย วาจา ใจ กายกับใจ ใจเป็นใหญ่เป็นประธาน กายวาจาจะเป็นอย่างไร ก็สุดแต่ใจจะสั่งให้พูด ถ้าใจดีก็สั่งให้ทำดี พูดดี ถ้าใจเสีย ก็สั่งให้ทำเสีย พูดเสีย  ฝึกการนั่งสมาธิ  การเดินจงกรม ระยะเวลา 2 วัน

3. บันทึกขุมความรู้             
  • การศึกษาข้อมูล
  • การวิเคราะห์ข้อมูลการจัดเวทีประชาคมระดมความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น
  • การมีส่วนร่วมของกลุ่ม OTOP และผู้นำชุมชน
  • การสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • การศึกษาสถานการณ์การประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้าน
  • การมีภาวะผู้นำของผู้นำชุมชน
  • ประสานหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง
4. แก่นความรู้
  • การจัดเวทีประชาคมและเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น
  • การประสานงาน
  • การสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
5. กลยุทธในการทำงาน 
  • ศึกษาหนังสือสั่งการ ทำความเข้าใจรายละเอียดโครงการ แนวทางการดำเนินงานและจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง
  • เน้นการมีส่วนร่วมในการทำงาน
  • ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโสธรพัฒนาและผู้นำชุมชนมีบทบาทในการดำเนินงาน
  • เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนให้แนวทางการดำเนินงาน ประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และกระตุ้นการทำงาน

การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง

ชื่อ-นามสกุล    นายพีรวัฒน์  ช่องท้วม
ตำแหน่ง         นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
สังกัด            สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์   081-4755640
ชื่อเรื่อง          การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ    การขับเคลื่อนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เนื้อเรื่อง
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต  รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง การมีรายได้ที่สามารถอุ้มชูตัวเองให้มีความพอเพียงกับตัวเอง อยู่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อน โดยต้องสร้างพื้นฐานของรายได้ของตนเองให้ดีเสียก่อน   ซึ่งการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง นั้น เป็นเรื่องที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งวิธีการที่จะดำเนินการให้หมู่บ้านนั้นเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงได้      จึงมีวิธีดำเนินการดังนี้
  • กำหนดหมู่บ้านเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยเข้าไปคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง กับกลุ่มย่อย เพื่อที่ให้กลุ่มย่อยได้ขยายผลไปสู่หมู่บ้าน  ให้เกิดแนวร่วมเดียวกัน
  • จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักเศรษฐกิจพอเพียง 6x2  โดยใช้หลักการมีส่วนร่วม จากหน่วยงานภาคี กลุ่มองค์กรในหมู่บ้าน ให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน
  • สนับสนุนให้หมู่บ้านดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การทำแผนชีวิตทำบัญชีครัวเรือน ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง  ทำปุ๋ยไว้ใช้เอง เพื่อเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง
  • ศึกษาดูงานหมู่บ้านที่ประสบผลสำเร็จ จากการเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำมาปรับใช้กับหมู่บ้าน
  • เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เช่น ทำแผ่นพับ ทำเอกสารรูปเล่ม การจัดทำ Website
  • ติดตาม/ประเมินผล/สรุปผลการดำเนินงาน
กลยุทธ์ในการทำงาน
  • ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
  • จัดเก็บข้อมูลเอกสารอย่างเป็นระบบและปัจจุบัน
  • ประสานการดำเนินงานการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอพียงในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
  • ติดตาม/ประเมินผล/สรุปผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
ข้อเสนอแนะ
  • พัฒนากรต้องเข้าใจ เข้าถึงผู้นำและประชาชน
  • พัฒนากรต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ กับผู้นำและประชาชน
  • พัฒนากรจะต้อง ติดตามและประเมินผลเพื่อปรับปรุงการทำงานอย่างสม่ำเสมอ