วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วิธีการใช้ข้อมูล จปฐ.ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานหรือ จปฐ. มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศชาติ เพราะเป็นข้อมูลพื้นฐานให้ทั้งตัวประชาชน หน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ได้มองเห็นปัญหาในแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างแท้จริง

จากการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี 2552 ในพื้นที่ชนบท จำนวน 11 อำเภอ 83 ตำบล 790 หมู่บ้าน 87,056 ครัวเรือน ผลการสำรวจจำนวน 42 ตัวชี้วัด ผ่านเกณฑ์ จำนวน 22 ตัวชี้วัด ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 20 ตัวชี้วัด ซึ่งในส่วนที่ไม่ผ่านเกณฑ์นั้น ไม่ได้เป็นปัญหาที่รุนแรงเนื่องจากเป็นตัวชี้วัด ที่ตั้งเป้าหมายไว้ ร้อยละ 100 แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล ก็ให้ความสำคัญ ในการแก้ไขทุกปัญหา โดยให้แต่ละพื้นที่และหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องนำข้อมูลไปวิเคราะห์ หาสาเหตุของปัญหาและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเน้นการ บูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความยากจน ของประชาชนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. และได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของจังหวัดฉะเชิงเทรา ประจำปี 2553 ตัวชี้วัดที่ 3.1 ระดับความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาเพื่อลดจำนวนครัวเรือนยากจนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ.

ผลการสำรวจข้อมูล จปฐ. ปี 2552 จังหวัดฉะเชิงเทรา มีครัวเรือนตกเกณฑ์ จปฐ.ข้อ 30 จำนวน 103 ครัวเรือน ได้มีการวิเคราะห์ศักยภาพของครัวเรือนที่ตกเกณฑ์ จปฐ. ข้อ 30 ว่ามีศักยภาพช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ เช่น เป็นคนชรา คนพิการ ได้ส่งข้อมูล ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสงเคราะห์ ส่วนคนที่มีศักยภาพพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้นำมาเป็นกลุ่มเป้าหมายในหากิจกรรมทางเลือกเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทราได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน เสนอขอรับการสนุนงบประมาณจากงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2553 จำนวน 2,527,500 บาท


ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล ได้อนุมัติโครงการนี้เนื่องจากท่านเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ขั้นตอนการดำเนินการ อันดับแรกเรานำกลุ่มเป้าหมายของโครงการคือผู้ที่ตกเกณฑ์ จปฐ. ข้อ 30 และผู้ที่จดทะเบียน สย.หรือมติเวทีประชาคม จำนวน 255 ครัวเรือน มาเตรียมความพร้อมปรับทัศนคติ สร้างการเรียนรู้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความเข้าใจในการดำเนินกิจกรรมทางเลือกเพื่อยกระดับรายได้ ดำเนินการ 1 วัน ในครั้งนี้ได้สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลความต้องการกิจกรรมทางเลือกด้านอาชีพของครัวเรือนเป้าหมายเพื่อความสะดวก และรวดเร็วในการช่วยเหลือภายหลังจากอบรมแล้วให้ครัวเรือนเป้าหมายกลับไปคิดทบทวนอีกครั้งว่าตนเองมีความพร้อมจะประกอบอาชีพอะไร

พัฒนากร และพัฒนาการอำเภอ ติดตาม ตรวจเยี่ยมแนะนำ ครัวเรือนว่าเขาพร้อมที่จะทำอาชีพอะไรที่จะสร้างรายได้แก่ตัวเขา ตามความพร้อมและความถนัด จัดทำรายการวัสดุสิ่งที่จะสนับสนุนกิจกรรมทางเลือก อำเภอดำเนินการจัดซื้อวัสดุสิ่งของปัจจัยการผลิต ส่งมอบให้ครัวเรือนไปประกอบอาชีพ กิจกรรมทางเลือกเพื่อยกระดับรายได้ เป็นการเปิดโอกาสให้ครัวเรือนเป้าหมายได้เลือกอาชีพได้ตรงกับความต้องการ ดังนี้
- ด้านการเกษตร จำนวน 188 ราย คิดเป็นร้อยละ 74
- ด้านค้าขาย จำนวน 37 ราย คิดเป็นร้อยละ 14
- ช่าง/บริการ จำนวน 27 ราย คิดเป็นร้อยละ 11
- อื่น ๆ จำนวน 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 1

ในการสนับสนุนครัวเรือนได้มีการให้การช่วยเหลือแบบบูรณาการ ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม มีนายอำเภอมอบปัจจัยการผลิตในระดับอำเภอและไปมอบด้วยตัวเองถึงครัวเรือน นอกจากนี้ มีเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ให้คำแนะนำติดอาวุธทางอาชีพแก่ครัวเรือน อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำอช.เป็นกำลังใจให้อีกทางหนึ่ง พร้อมกันนี้จังหวัดได้กำหนดให้มีการสรรหาคนต้นแบบไว้ทุกอำเภอ เพื่อประชาสัมพันธ์และยกย่องครัวเรือนต้นแบบ

จากการไปติดตามการประกอบอาชีพ ครัวเรือนบอกว่าการได้รับสิ่งของนั้นดีกว่าได้รับเงินสนับสนุน ได้เงินไปเดี๋ยวก็หมดไม่ได้ซื้อของ ไม่เคยมีโครงการแบบนี้มาก่อน เมื่อมีโครงการนี้เข้ามามีคนเข้ามาเยี่ยม ไม่เหงา มีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิต การได้รับสิ่งของปัจจัยการผลิต หากตีเป็นมูลค่าไม่มากเจ็ดแปดพันบาท แต่เป็นสิ่งของที่เราอยากได้ใฝ่ผันอยากทำอาชีพนี้มานานแล้ว แต่ไม่มีโอกาส เมื่อทางราชการเปิดโอกาส เกิดความภาคภูมิใจที่ทางราชการไม่ทอดทิ้ง ชีวิตความเป็นอยู่คงจะดีขึ้น เป็นคำกล่าวที่ออกมาหัวใจของ ผู้ที่ได้เข้าร่วมโครงการ... และนี่เป็นบทเรียนหนึ่งของจังหวัดฉะเชิงเทรา ในการนำข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน หรือ จปฐ.แก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง พวกเราชาวพัฒนาชุมชนจะมุ่งมั่นตั้งใจแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้พ้นเกณฑ์ จปฐ. โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกลไกในการปฏิบัติงานต่อไป.

นางสาวสุรีวรรณ คณนา
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น