วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ศูนย์เรียนรู้ชุมชน


ชื่อ – นามสกุล นายสมเดช พันแอ
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชน ชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก 081-5514288
ชื่อเรื่อง ศูนย์เรียนรู้ชุมชน
เป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ แหล่งเรียนรู้
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2551
สถานที่เกิดเหตุ บ้านวังตะเคียน หมู่ที่ 8 ตำบลวังตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

เนื้อเรื่อง
ข้าพเจ้า นายสมเดช พันแอ ตำแหน่งนักวิชาการพัฒนาชุมชน ชำนาญการ ข้าพเจ้ารับผิดชอบ ตำบลวังตะเคียน มีทั้งหมด 10 หมู่บ้านโดย บ้านวังตะเคียน หมู่ที่ 8 เป็นชุมชนที่มีหมู่บ้านจัดสรรมีจำนวนประชากรค่อนข้างมากกว่าหมู่บ้านอื่นๆในตำบล ประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านมีอาชีพรับจ้าง อาชีพเกษตรกรรม อาชีพ ค้าขาย บริการและอื่นๆ เป็นที่ตั้งของ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลวังตะเคียน โรงเรียน และวัดนครเนื่องเขต (วัดต้นตาล)ซึ่งเป็นวัดที่มีโบสกระเบื้องเคลือบแห่งเดียวในภาคตะวันออก
.
มีภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดนตรีไทยวงปีพาทย์ นวดแผนไทย การเกษตรผสมผสาน มีผู้นำชุมชนที่มีความพร้อมมีจิตอาสามีความมุ่งมั่นในการพัฒนาหมู่บ้านตำบลและชุมชนจึงมีความเห็นว่าหมู่บ้านควรจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนของหมู่บ้านตำบลเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนและผู้สนใจเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่งเสริมสืบสานภูมิปัญญาไทยตลอดจนมุงหวังจัดแหล่งท่องเที่ยวในหมู่บ้านเนื่องจากมีโบราณสถานคือโบสถ์วัดต้นตาลหลังเก่าที่มีอายุมากกว่า 100 ปี และมีโบสถ์ที่ก่อสร้างด้วยกระเบื้องเคลือบทั้งหลัง มีวังมัจฉาหน้าวัดสามารถชมและให้อาหารปลาได้ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมประชาชนในหมู่บ้านชุมชนให้มีอาชีพและรายได้ ช่วยลดปัญหาการว่างงานและอาชญากรรม ทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจดีขึ้น สร้างความเจริญแก่หมู่บ้านตำบลต่อไป
.
ความหมายของศูนย์เรียนรู้ชุมชน

ศูนย์เรียนรู้ชุมชน เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลข่าวสารความรู้ของชุมชนที่จะนำไปสู่การ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้สำหรับประชาชน ในชุมชน เป็นแหล่งเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ การถ่ายทอด การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การสืบทอดภูมิปัญญา วัฒนธรรม ค่านิยม และเอกลักษณ์ของชุมชน อีกทั้งเป็นแหล่งบริการชุมชนด้านต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการเรียนรู้ ของชุมชน โดยเน้นการกระบวนการเรียนรู้เพื่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ก่อให้เกิดชุมชนแห่ง เรียนรู้ และมุ่งการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง เป็นศูนย์ฯ ของประชาชน ที่ดำเนินการโดยประชาชน และเพื่อประชาชน ที่จะก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน
.
ภารกิจของศูนย์เรียนรู้ชุมชน
1. จัดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ การถ่ายทอด การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ของประชาชนในชุมชน
2. เป็นศูนย์รวมของข้อมูล เช่น ข้อมูล จปฐ. กชช.2ค.แหล่งน้ำ กลุ่มอาชีพ ฯลฯ รวมทั้งข่าวสาร สาระความรู้ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เท่าทันสถานการณ์โลก
3. รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน องค์ความรู้ที่มีอยู่กระจัดกระจายในชุมชน และจัดการให้เป็นหมวดหมู่ มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม ที่ประชาชนสามารถเข้าไปสืบค้นศึกษาและ เรียนรู้ได้ทุกเวลา
4. เป็นศูนย์กลางในการจัดการความรู้ ที่ดำเนินการโดยประชาชนและเพื่อประชาชน
5. เป็นศูนย์ประสานและบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ภาคประชาชน ได้แก่ ผู้นำ กลุ่ม/องค์กร เครือข่าย ภาคเอกชน และภาคีการพัฒนาภาครัฐ
6. เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน เป็นสถานที่ที่มีโครงสร้างเป็นอาคาร หรือสถานที่ใด ๆ ก็ได้ ที่มีองค์ความรู้ สามารถให้การเรียนรู้แก่ประชาชนที่ต้องการความรู้ สามารถเข้าถึงได้

องค์ประกอบศูนย์เรียนรู้ชุมชน
1) วิธีการก่อเกิด
ศูนย์เรียนรู้ชุมชน จะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นความต้องการของประชาชนในชุมชน เพราะจะเป็นสมบัติของชุมชน จึงควรนำแนวคิดเข้าเวที ประชุมประชาคมของหมู่บ้าน เผยแพร่ความคิด โน้มน้าวสร้างการยอมรับ และชี้ให้เห็นความสำคัญของการมีแหล่งเรียนรู้ของชุมชน การจัดเก็บองค์ความรู้ ประวัติชุมชน และภูมิปัญญาของชุมชนอย่างเป็นระบบ การแสดงข้อมูลข่าวสารของชุมชนให้ได้เรียนรู้กันอย่าง ทั่วถึง รวมทั้งการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สม่ำเสมอ โดยเริ่มจากการจัดระเบียบแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในชุมชน และให้เป็นไปตามกำลังที่ชุมชนจะสามารถดำเนินการได้ อีกทั้งให้มีขอบเขต และลักษณะตามความเห็นของชุมชน
.
2) โครงสร้าง ของศูนย์เรียนรู้ชุมชน
ประกอบด้วย
คณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้แทนจากผู้นำชุมชน กลุ่ม/องค์กร เครือข่ายองค์กรชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน อาสาสมัคร ฯลฯ โดยมาจากการคัดเลือกของชาวบ้านเอง และชาวบ้านให้การยอมรับ ซึ่งคณะกรรมการจะร่วมมือกันวางแผน และดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ที่ได้ร่วมกันกำหนด เพื่อระดมพลังให้เกิดการเรียนรู้และบริหารจัดการในศูนย์เรียนรู้ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมี ประสิทธิภาพ
ที่ปรึกษา เป็นภาคีการพัฒนาภาครัฐ เช่น พัฒนาชุมชน การศึกษานอกโรงเรียน เกษตร สาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ระเบียบข้อบังคับ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้จัดทำขึ้นที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารศูนย์ฯ
สถานที่ เล็กใหญ่ไม่สำคัญ อาจจะอยู่ในห้องของอาคาร อบต. บ้านผู้ใหญ่บ้าน บ้านผู้นำ บ้านปราชญ์ชาวบ้าน ศาลาวัด ใต้ต้นไม้ ศาลากลางบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ให้พบปะ ประชุม ทำงานกันได้ตลอดเวลา ให้เป็นสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวกัน เพื่อการเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องหางบประมาณมาก่อสร้างศูนย์ใหม่
การบริหารจัดการศูนย์ฯ คณะกรรมการฯ ที่ได้รับการคัดเลือก มีการบริหารจัดการเพื่อให้ศูนย์ฯ สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นรูปธรรม
งบประมาณ เพื่อพัฒนาคณะกรรมการของศูนย์เรียนรู้ชุมชนให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ที่จำเป็นในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชน
โครงสร้างทั้งหมดนี้ ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นมาครบถ้วนในระยะเริ่มแรก ขอให้ศึกษาเพิ่มเติมในแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งอยู่ในบทต่อไป
.
3) กิจกรรมการเรียนรู้ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
3.1 สถานที่จัดกิจกรรมเรียนรู้ อาจดำเนินการได้ทั้งในอาคารศูนย์ฯ และนอกอาคารศูนย์ฯ โดยมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน เช่น บ้านปราชญ์ชาวบ้าน ในไร่นา เพื่อสาธิตกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น การปลูกผัก การเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ
3.2 กิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ การเรียน/การสอน การจัดการความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชาติพันธุ์ ขนบประเพณี วัฒนธรรม การรับความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน การจัดเวทีประชาคมเพื่อการเรียนรู้และการตัดสินใจร่วมกัน การเรียนรู้ผ่าน E-Learningการสาธิต การจัดนิทรรศการ การจัดสัมมนา อภิปราย ฯลฯ
.
4) เนื้อหาสาระข่าวสารความรู้ ประกอบด้วย
4.1 ข้อมูล ได้แก่ ข้อมูล จปฐ. กชช.2ค ทะเบียนผู้นำ กลุ่ม/องค์กร ข้อมูลผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น อัตลักษณ์ของชุมชน แผนชุมชน โครงการกิจกรรม ฯลฯ
4.2 ข่าวสาร (สารสนเทศ) ได้แก่ สารสนเทศชุมชน 13 องค์ประกอบ ได้แก่ ประวัติหมู่บ้าน แผนที่ตั้ง ลักษณะภูมิประเทศ (ภูมิอากาศ/ฤดูกาล) ลักษณะของประชากร (อัตราความหนาแน่น/โครงสร้างประชากร) ลักษณะการประกอบอาชีพของชุมชน (เกษตร/อุตสาหกรรม/รับจ้าง ฯลฯ) ผลิตภัณฑ์มวลรวมของหมู่บ้าน ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจของหมู่บ้านศิลปะ/วัฒนธรรม/ภูมิปัญญาของหมู่บ้าน สถานที่ท่องเที่ยว/สถานที่บริการ การคมนาคม(การเดินทางไปยังหมู่บ้าน) ประเพณี/เทศกาลประจำปี ทักษะ/ฝีมือ/แรงงานของหมู่บ้าน อื่น ๆ
4.3 ความรู้ ได้แก่ ความรู้ด้านวัฒนธรรม การประกอบอาชีพ/ผลิตภัณฑ์ชุมชน องค์ความรู้ที่ชุมชนต้องการ เพื่อค้นหาอัตตลักษณ์ชุมชน ความรู้ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ความรู้ข่าวสารจากภายนอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น