วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทุนสะสมที่ใช้ไม่มีหมด


ชื่อ – นามสกุล นายเกียรติศักดิ์ อรัณยะกานนท์
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์ 08 7030 6080
เรื่อง ทุนสะสมที่ใช้ไม่มีหมด
เป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ การปฏิบัติงานราชการที่ได้รับแต่งตั้งมอบหมาย
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
สถานที่ บ้านปากคลองต้นหมัน หมู่ที่ 3 ตำบลคลองบ้านโพธิ์ อำเภอบ้านโพธิ์
จังหวัดฉะเชิงเทรา
.
เนื้อเรื่อง
สภาพปัญหาทางเศรษฐกิจในชุมชนถือเป็นปัญหาสำคัญของชาติ ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ของทุกชนชั้นไม่ว่าจะเป็นในสังคมเมืองหรือในสังคมชนบท โดยทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535 – พ.ศ.2539) ถึงฉบับที่ 10 ปัจจุบันได้กำหนดจุดมุ่งหมายหลักโดยเน้นให้คนเป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนา ซึ่งหมายถึงพัฒนาโดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการเพิ่มศักยภาพของคนทุกกลุ่มเป้าหมาย ให้มีทางเลือกในชีวิตและเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นโยบายกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดจุดมุ่งหมายไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้ประชาชน “มีความสุขสมบูรณ์” โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถช่วยตัวเองได้มากขึ้น พร้อมทั้งสามารถปรับตัวให้เข้ากับทางสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการจะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าวเป้าหมายที่สำคัญคือ “การพัฒนาคน” เพื่อดำเนินการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น บรรลุเป้าหมายตามเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน ในด้านการดำเนินงานพัฒนาชุมชนทุกยุคทุกสมัย
.
ผู้นำชุมชนในตำบลคลองบ้านโพธิ์ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดตั้ง กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตำบลคลองบ้านโพธิ์ขึ้น เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2538 มีสมาชิกก่อตั้ง 10 คน เงินสัจจะ 1,000 บาท มีคณะกรรมการบริหาร 9 คน ต่อมาได้มีการรณรงค์ให้มีการขยายกิจกรรมกลุ่มรับสมัครสมาชิกเพิ่มขันมี จำนวน 237 คนมีเงินสัจจะสะสมรวม 1,311,510 บาท มีคณะกรรมการบริหารงานจำนวน 5 คณะ รวม 20 คน ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้มีการจัดตั้งศูนย์สาธิตการตลาดขึ้น โดยมีคณะกรรมการบริหารดำเนินงานเป็นรูปแบบการสาธิตการตลาด โดยให้สมาชิกสั่งของตามความจำเป็น ไม่มีอาคารที่ถาวร อาศัยศาลาวัดเป็นที่ดำเนินการ สมาชิกมารับของที่สั่งตามวันเวลานัดหมายการดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย มีการปันผลแก่สมาชิกและกิจการของกลุ่มมีความก้าวหน้าเป็นลำดับเรื่อยมา ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์สาธิตการตลาดที่ถาวรนำสินค้ามาวางขายได้ตามรูปแบบของศูนย์สาธิตการตลาด มีการบริหารการจัดการอย่างเป็นระบบ สามารถนำผลกำไรมาบริหารจัดการได้ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการพัฒนาตำบล (คพต.ปี 2540) จำนวนเงิน 443,000 บาท
.
ปี 2542 ดำเนินการก่อสร้างลานค้าชุมชนขึ้นโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการพัฒนาตำบลเพื่อเป็นการขยายบริเวณอาคารศูนย์สาธิตให้กว้างขึ้นและจัดเป็นลานค้าชุมชนจำหน่ายสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกและเกษตรกรในชุมชน ปี พ.ศ.2543 ได้ขยายกิจการโดยการจัดตั้งปั๊มชุมชนจำหน่ายน้ำมันดีเซลและเบนซิน จากบริษัทบางจากมหาชน โดยการระดมหุ้นจากสมาชิก เป็นเงิน 1,008,100 บาท ในปี พ.ศ. 2546 ได้ขยายกิจการเพิ่ม โดยการจำหน่ายสินค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร อาหารกุ้ง อาหารปลา ตามมติที่ประชุมของสมาชิกกลุ่ม จากการดำเนินงานของกลุ่มโดยคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ที่ทุมเทกำลังกาย กำลังใจจนกิจกรรมนี้สำเร็จตามความมุ่งหวังสามารถพึ่งตนเองได้ มีกิน มีงาน มีการออม เกิดจากการช่วยเหลือซึ่งกันและกันร่วมมือร่วมใจทำงานร่วมกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมรับผลประโยชน์ ร่วมดูแลรักษา
.
เมื่อปลาย ปี พ.ศ. 2549 กลุ่มได้รับผลกระทบจากการขอลาออกของสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ และถอนหุ้นจากการลงทุนในกิจกรรมเครือข่าย เป็นจำนวนมาก เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่เอื้ออำนวย และสมาชิกย้ายออกไปทำงานนอกพื้นที่ตำบล การประกอบอาชีพของสมาชิก ในการเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาเกิดผลเสียหาย เกิดโรคระบาดในการเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา กระทบไปถึง กิจการขายน้ำมัน และอาหารกุ้ง อาหารปลา ตลอดจนสินค้าในศูนย์สาธิตการตลาดก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
.
ในฐานะนักวิชาการพัฒนาชุมชนผู้ปฏิบัติงานในท้องที่ จึงได้เป็นผู้ประสานงานกับคณะกรรมการทุกฝ่าย ดำเนินการให้กลุ่มยึดมั่นดำเนินงานตามนโยบายของกรมการพัฒนาชุมชน จะต้องศึกษากิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกิจกรรมเครือข่ายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ว่ามีผลสำเร็จเพียงใด มีปัจจัยอะไรที่สนับสนุนให้เกิดความสำเร็จ และประสบปัญหาอะไรบ้างในการดำเนินงาน มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อจะนำผลการศึกษาที่ได้ไป ปรับใช้หรือปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงานแก่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกิจกรรมเครือข่าย ต่อไป โดยเฉพาะกรณีของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกิจกรรมเครือข่ายตำบลคลองบ้านโพธิ์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
.
ดำเนินการในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ดังนี้
1. ให้กำลังใจในการปฏิบัติงานกับคณะกรรมการทุกฝ่าย
2. ประชุมสมาชิกกลุ่มชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและร่วมแสดงความคิดเห็นในการหาทางแก้ไขปัญหา
3. ประมวลสภาพปัญหา จัดลำดับความสำคัญของปัญหา
4. จัดลำดับแนวทางการแก้ไขปัญหา
5. ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหา
.
ขั้นตอนในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
1. ชี้แจ้งทำความเข้าใจกับสมาชิกกลุ่มถึงผลได้ ผลเสีย ให้กำลังใจ ในการรวมกลุ่ม เพื่อให้สมาชิมีความมั่นใจในการบริหารงานของกลุ่มอย่างเป็นระบบ ผลการดำเนินการ ทำให้สมาชิกมีความเชื่อมั่น ในการบริหารงาน
2. ปรับปรุงระเบียบข้อบังคับในการขยายอัตราการถือหุ้นของสมาชิกเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการขยายการรับซื้อหุ้นจากสมาชิกที่ขอลาออกไปจากกลุ่ม ผลการดำเนินการ ทำให้สมาชิกมีหุ้นเพิ่มมากขึ้น (ตัวหารน้อยลง)
3. ปรับรายการสั่งซื้อสินค้าภายในศูนย์สาธิตการตลาดให้รองรับกับความต้องการของสมาชิก เพื่อเป็นการลดจำนวนของสินค้าที่สมาชิก ไม่จำเป็นต้องซื้อ และปรับเพิ่ม – ลดสินค้าตามความจำเป็น ผลการดำเนินการ เพิ่มสินค้าอุปโภค บริโภคมากขึ้น และลดจำนวน อาหารกุ้ง อาหารปลาน้อยลง
4. ปรับเปลี่ยนอัตราการจ้าง ของผู้ดำเนินการด้านการขายในศูนย์สาธิต และปั้มน้ำมันให้เหมาะสม เพื่อเป็นการปรับสมดุลของรายรับ – รายจ่าย ในศูนย์สาธิตการตลาด และปั้มน้ำมัน ผู้ทำหน้าที่ขายสินค้าไม่จำเป็นต้องพักค้างภายในอาคารศูนย์ และปั้มน้ำมัน ผลการดำเนินการ สามารถลดรายจ่าย และค่าใช้จ่ายบางส่วนในการดำเนินการได้ตามสภาวะ
5. หยุดจำหน่ายน้ำมันชั่วคราว เพื่อปรับปรุงอาคารปั้ม และปรับเปลี่ยนคนจำหน่ายน้ำมัน เพื่อให้เหมาะสม กับสถานการณ์วิกฤตราคาน้ำมัน ขึ้น – ลงไม่ มีมาตรฐาน และลดค่าใช้จ่าย ผลการดำเนินการ สามารถเปิดจำหน่ายน้ำมัน ได้ในเวลาต่อมาที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการขาดทุนจากการปรับลงราคาน้ำมันอย่างลอยตัว
.
ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ตำบลคลองบ้านโพธิ์
สรุปได้ว่า สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ตำบลคลองบ้านโพธิ์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีความพึงพอใจเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปัญหาที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกิดขึ้นส่วนน้อย ได้ชี้แจงทำความเข้าใจและทบทวนหลักการนโยบาย วัตถุประสงค์ของกลุ่มออมทรัพย์ฯ ให้แก่คณะกรรมการฯ และสมาชิก เพิ่มเติมจนเป็นที่เข้าใจ และพอใจในการดำเนินงานในการบริหารงานที่เป็นไปอย่าง บริสุทธิ์ โปร่งใส ยุติธรรม ของคณะกรรมการทุกฝ่าย ทุกคณะ .
หัวใจของกลุ่มออมทรัพย์ ฯ คือ ความ จริงใจ บริสุทธิ์ โปร่งใส ยุติธรรม ซื่อสัตสุจริต ที่เป็น
* ทุนสะสมที่ใช้ไม่มีหมด *
ขอความสำเร็จนี้จงประสบแก่คณะผู้ดำเนินงานทุกฝ่าย ทุกท่าน ขอให้ความดีนี้ได้จารึกไว้ในชุมชนตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น